จุดประกายสู่ “Spark U : ปลุก ใจ เมือง” พื้นที่เรียนรู้ของเยาวชนจากเหนือจรดใต้

จุดประกายสู่ “Spark U : ปลุก ใจ เมือง” พื้นที่เรียนรู้ของเยาวชนจากเหนือจรดใต้

จาก “เด็กบันดาลใจ” จุดประกายสู่ “Spark U : ปลุก ใจ เมือง”

“เด็กบันดาลใจ” งานมหกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่แนวคิด ประสบการณ์ บทเรียนการทำงาน นวัตกรรมด้านสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ รวมทั้งสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของสังคมในทุกระดับ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 2558 โดยได้มีการตอบรับจากสาธารณะและมีข้อเสนอแนะให้มีการดำเนินการต่อเนื่องและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับภูมิภาค

จนในปี 2559-2560 กลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์ภายใต้แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส.จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “Spark U : ปลุก ใจ เมือง” ขึ้น โดยพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเพื่อให้ภาคี หน่วยงาน ชุมชน และประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมมากขึ้น

Spark U มีเป้าหมาย เพื่อให้องค์ความรู้ นวัตกรรม บทเรียนที่ได้จากการทำงานสู่พื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศได้มีการขยายผลและสื่อสาธารณะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้สังคม พื้นที่ ชุมชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง โดยการขับเคลื่อนกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน

มีการบูรณาการงานผ่านการขับเคลื่อนงานของ 3 แผนงานหลัก คือ 1.แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ 2.แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน 3.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างความตระหนัก และระดมความคิด และการมีส่วนร่วมของสังคมในทุกระดับ โดยมุ่งหวังให้หลายภาคส่วนเกิดความตระหนักและตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน กลไกในระดับนโยบายภูมิภาคก็มีการขับเคลื่อน เพื่อจุดประกายให้เกิดชุมชนปฏิบัติการทั่วประเทศ

– มีส่วนร่วมอย่างไร ?

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีภาคี และการสร้างโมเดล ปฏิบัติการปลุกใจ มีการพูดคุยกับพื้นที่ ทั้งเทศบาล เยาวชน ชุมชน ทางโครงการได้เลือก จ.เชียงใหม่ เป็นจังหวัดนำร่องเพราะมีเครือข่ายที่เข็มแข็ง เริ่มจากการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเน้นให้เยาวชนมีส่วนร่วม เริ่มต้นจากการปฎิรูปการศึกษา เด็ก ๆ สามารถออกแบบวิชาท้องถิ่น ในเรื่องที่ตนเองสนใจ โดยในแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน เมื่อเยาวชน เด็ก ๆ สนใจ จะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเก็บข้อมูลจากผู้รู้ ทางกายภาพ จนกลายเป็นพื้นที่ทางความคิดที่หลายภาคส่วน รวมทั้งคนในชุมชนมีส่วนร่วม ส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในเชิงนโยบาย

จากการเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2559 มีโครงการย่อยสำคัญ ๆ เช่น โครงการปลุกใจเหมืองฝายพญาคำ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาการจัดการน้ำใน 8 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่, โครงการกาวิละสวนช่วยอ่าน เปิดพื้นที่สาธารณะในสวนกาวิละให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต ด้วยความร่วมมือของมณฑลทหารบกที่ 33 และอีกหลาย ๆ โครงการที่เกิดขึ้นมาจากการ Spark จุดประกายในพื้นที่

– กระบวนการขับเคลื่อนในพื้นที่ ?

นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า โครงการ Spark U ปลุก ใจ เมือง ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน โดยใช้ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ โดยมีภาคีเครือข่าย 3 ภูมิภาค ร่วมกันขับเคลื่อนสร้างพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จ.ขอนแก่นเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันขยายพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาวะให้ครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคต่อไป

ที่ จ.ขอนแก่นเริ่มต้นจากการปลุกใจเด็กและเยาวชนให้นำเสนอปัญหา เรื่องราวที่อยากจะปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม และต่อยอดเป็นโครงการต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน เช่น โครงการจัดตั้งตลาดท่าพระร้อยปีและศูนย์เรียนรู้ตำบลท่าพระ, โครงการสืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน และอื่น ๆ ทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันได้

– การต่อยอด ?

นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าว่า สสย.ได้ร่วมกันกับภาคีเครือข่ายภาคใต้กว่า 20 เครือข่าย เช่น สงขลาฟอรั่ม กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มมานีมานะ และเครือข่ายอื่น ๆ ในการร่วมกันจัดกระบวนการ Spark U ปลุกใจเมืองใต้ ในแนวคิด Spark ความสุข ความหวังภาคใต้ด้วยพลเมืองคนรุ่นใหม่ ผ่าน 3 ห้องเรียน ได้แก่ห้องเรียนฐานทรัพยากร ห้องเรียนภูมิปัญญา นวัตกรรม และห้องเรียนอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม เน้นให้เยาวชนเรียนรู้จากการลงพื้นที่ ลงมือปฏิบัติจริง และแลกเปลี่ยนความรู้กันข้ามพื้นที่ จนตกผนึกรวมเป็นองค์ความรู้และสื่อสารโดยเยาวชนที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

Spark U #ภาคใต้: ปลุกใจเมืองใต้

กระบวนการ Spark U: ปลุกใจเมืองใต้ ในแนวคิด Spark ความสุข ความหวังภาคใต้ด้วยพลเมืองคนรุ่นใหม่ ใช้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ผ่าน 3 ห้องเรียน หัวใจภาคใต้

ห้องเรียนฐานทรัพยากร แลเลแลหาด
ห้องเรียนภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี
ห้องเรียนอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม

อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life เล่าว่า เขามีกลุ่มเยาชนสงขลาที่ทำงานร่วมกับสงขลาฟอรั่ม หนึ่งในภาคีที่ได้รับงบจาก สสส. เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ก็เลยชวนกันมางานเยาวชน โดยคุยกันว่าจะปลุกใจคนสงขลาด้วยวิธีการยังไง พยายามคุยกันและถอดการทำงานของกลุ่มเยาวชนในสงขลา ทั้งการทำงานกลุ่มต่าง ๆ ในสงขลาและกลุ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ในการปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนรู้สึกรักบ้านเกิด

โดยในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ก็จะมีประเด็นทรัพยากร ประเด็นเรื่องภูมิปัญญา นวัตกรรม แล้วก็สุดท้ายเป็นเรื่องของอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรม 3 ประเด็นนี้ก็จะมีเอกลักษ์ มีความโดดเด่นของตัวเอง

ยกตัวอย่าง เรื่องทรัพยากรธรรมชาติของภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะเรื่องชายหาดกับทะเล เลยอยากจะชูเรื่องนี้ และสิ่งที่มันเป็นปัญหาในภาคใต้เกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรนั่นคือการที่ชุมชนถูกกลุ่มรัฐ กลุ่มทุน เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น การที่มันมีเรื่องพวกนี้ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมา เห็นคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน

“เราทำเรื่องชายหาดที่ จ.สงขลา หาดสมิหลาซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราผูกพัน ดึงกระบวนการแล้วก็พบว่าในเรื่องสิทธิในการแสดงเจตจำนงของตัวเองอยู่”

อภิศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของวัฒนธรรม นวัตกรรมก็มีเรื่องของกระบวนการศึกษาภูมิปัญญานวัตกรรมในชุมชนในเรื่องของป่าชาวบ้าน เรื่องของมโนราห์ เรื่องของการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เรื่องพวกนี้ก็ทำให้เป็นห้องเรียนสำหรับกลุ่มพลเมืองได้

“เรื่องสุดท้ายเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3 จังหวัดนี้เป็นความหลากหลายของวัฒนธรรม พุทธ จีน มุสลิมแล้วก็ชนชาติมลายู ทำให้เรื่องพวกนี้ถูกผสมผสานกลมกลืนกัน แต่ด้วยมายาคติความรุนแรงที่เรามักจะทำให้เกิดคุ้นชินกับภาพเหล่านั้น เป็นเรื่องน่ากลัว ผมก็อยากจะชูเรื่องพวกนี้มา เพราะว่ามีเรื่องวัฒนธรรมและธรรมชาติเกี่ยวข้องด้วย กับพื้นที่ 3 จังหวัดที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทั้งภูเขา ทะเลมากมาย”

ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเกิดกระบวนการ Spark U อย่างเป็นทางการในพื้นที่ภาคใต้ อภิศักดิ์กล่าวถึงคาดหวังของเขาในฐานะเยาวชนในพื้นที่ว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเหมือนกับการเปิดประเด็นของพื้นที่ ได้เรียนรู้มูฟเมนต์ จะเป็นการเรียนรู้จากเพื่อน ๆ โดยการเปิดห้องเรียนหนึ่ง แล้วอีก 2 ห้องเรียนก็จะไปเรียนรู้ หลังจากเสร็จ 3 ห้องเรียน มีเรียนรู้ด้วยกัน ก็จะมาออกแบบงาน spark u ที่จะจัดขึ้นที่ จ.สงขลา เป็นการแลกเปลี่ยน 3 ประเด็นนี้ร่วมกัน

“ผมคิดว่าที่ภาคใต้อาจต่างจากที่อื่น สิ่งที่เราคาดหวังคือต้อง spark แบบมีกระบวนการ เราพยายามทำกระบวนการในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งถ้าดูมันก็จะต่างจากที่อื่น เราพยายามจะเปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้กัน สิ่งที่สำคัญคือเราจะ spark ยังไงให้คนเป็นพลเมืองมากกว่าการ spark ในเชิงพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเรา spark คนที่เป็นพลเมืองให้เค้ามีชิพของความรู้สึกว่าเค้ารักบ้านเกิด เค้าหวงแหนทรัพยากร เค้าอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ sparkได้ เรื่องการที่จะเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ สื่อสร้างสรรค์ มันจะเกิดขึ้นตามมา และการพัฒนาที่ร่วมกันอีกมากมาย”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ