P-move เดินหน้าวงถกปัญหา ‘2 ร่างกฎหมายป่าไม้’ หลัง ‘ตร.-ทหาร’ สกัดกันสื่อทำข่าว

P-move เดินหน้าวงถกปัญหา ‘2 ร่างกฎหมายป่าไม้’ หลัง ‘ตร.-ทหาร’ สกัดกันสื่อทำข่าว

ทหาร-ตำรวจ ตั้งทีมหน้าปากซอยเข้ามูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ตรวจค้นประชาชนที่เข้าร่วมเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ – ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า คาดกันสื่อเข้าทำข่าว ขณะที่แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ถูกตำรวจเข้าพบที่บ้านยามวิกาลสอบถามการเข้าร่วมเวที



12 มิ.ย.2560 เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. รายงานสถานการณ์จากถนนรามคำแหง 39 (เทพลีลา) ซอย 17 มีรถทหาร 1 คัน และตำรวจ 1 คัน ประจำการบริเวณหน้าปากซอย และขอตรวจค้นผู้ที่จะเข้าร่วมเวทีการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนและชุมชนในเขตอนุรักษ์ต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … ที่จัดขึ้นที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งตั้งอยู่ในซอยดังกล่าว

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.2560) เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.วังทองหลางเชิญตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move ร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกรณีการจัดกิจกรรมแถลงข่าวที่อาจกระทบกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาได้ข้อตกลงอนุญาตให้จัดเวทีสัมมนาได้ แต่ไม่ให้แถลงข่าว และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในเวทีสัมมนาตลอดทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษา P-move เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Prayong Doklamyai รายงานผลการเจรจาระหว่าง P-move กับผู้กำกับ สน.วังทองหลางและฝ่ายทหารที่ควบคุมพื้นที่ ซึ่งยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. สรุปได้ว่า

1. กิจกรรมการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกำหนดท่าที่ต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในวันพรุ่งนี้ไม่เข้าข่ายฐานความผิดใด ทั้งตามคำสั่ง คสช.ที่ 3 /2557 (การสัมมนาวิชาการภายในเคหะสถานไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน)

และไม่ได้ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพราะไม่ได้จัดในพื้นที่สาธารณะแต่จัดในสำนักงาน/ที่ทำการของสมาชิก P-move ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อสาธารณะ จึงไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

2.ฝ่ายความมั่นคงไม่สบายใจในเรื่องการแถลงข่าวเพราะจะเป็นเยี่ยงอย่างให้กลุ่มการเมืองอื่นใช้เป็นข้ออ้างได้ในการเคลื่อนไหว ทางฝ่ายความมั่นคงจึงขอให้ P-move ส่งหมายยกเลิกการแถลงข่าวต่อสู่มวลชน

ทาง P-move ยืนยันว่าไม่อาจทำตามข้อเสนอได้เนื่องจากการแถลงข่าวเป็นสิทธิของประชาชนที่จะกระทำได้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่เนื้อหาในการแถลง การแถลงข่าวไม่ผิดกฎหมายใด

การแถลงข่าวของ P-move เป็นการแถลงผลการสัมมนา และความเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนาที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจึงไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่รับจะปรับวิธีการแถลงโดยไม่ตั้งโต๊ะแถลงเป็นการเฉพาะเท่านั้น

3. ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงให้ P-move จัดกิจกรรมการสัมมนาามกำหนดการเดิมแต่ไม่ตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยฝ่ายความมั่นคงจะใช้อำนาจจัดการกับสื่อที่จะเดินทางมาทำข่าวในวันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.2560) เอง (โดยไม่ได้บอกว่าจะใช้วิธีใด)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า P-move ได้เริ่มกระบวนการสัมมนาไปตามกำหนดการที่ได้วางไว้ โดยมีตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ดินและป่าไม้ร่วมรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … ขณะที่นักข่าวโดยเฉพาะช่องโทรทัศน์หลายสำนักไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานข่าวได้

 

โพสต์โดย Tai Oranuch เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2017

 

ด้าน สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานข้อมูลจากนิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ว่าเมื่อคืนวาน (11 มิ.ย. 2560) มีเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรวังฒะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ แต่งกายในชุดเครื่องแบบครึ่งค่อน จำนวน 4 – 5 นาย เข้ามาตะโกนเรียกหาที่หน้าบ้านในเวลาประมาณ 22.55 น. ซึ่งขณะนั้นเธอนอนหลับไปแล้ว เมื่อได้ยินเสียงตะโกนเรียกจึงตื่นขึ้นมาดูพร้อมกับแม่จึงพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นิตยา กล่าวว่าจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงความประสงค์ที่มาพบในยามวิกาล ก็ได้รับแจ้งว่าเป็นงานด่วน เพราะได้รับคำสั่งให้เข้ามาถามว่าได้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมเวทีสัมมนาที่จัดขึ้นมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) หรือไม่ จึงตอบกลับว่าไม่ได้เข้าร่วม เพราะเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2560 ในพื้นที่ได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ทั้งเธอและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทยานแห่งชาติไทรทองได้รับทราบข้อมูล และมีข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว

นิตยา ให้ข้อมูลว่า เวทีครั้งนั้นเป็นการระดมความคิดเห็น กำหนดจุดยืนและท่าทีของประชาชน และอยู่ในช่วงกรมอุทยานประกาศให้มีการเสนอข้อคิดเห็นในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 15 มิ.ย. 2560 ซึ่งภาคประชาสังคมกำลังระดมข้อมูลเพื่อเสนอประกอบกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะมีปัญหาตั้งแต่กระบวนการยกร่าง ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งเนื้อหาในร่างก็มีข้อจำกัด และจะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า

“กฎหมายดังกล่าวอาจสร้างปัญหากว้างขวางมากต่อประชาชน ซึ่งรัฐต้องรับฟังผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างละเอียด ไม่ใช่รวบรัดตัดตอน และมาพยายามสกัดกั้นประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนในพื้นที่” นิตยากล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ