P-Move อุบลราชธานี เข้าพบผู้ว่าฯ เร่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่แก้ปัญหาที่ดิน

P-Move อุบลราชธานี เข้าพบผู้ว่าฯ เร่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่แก้ปัญหาที่ดิน

หลังการเดินทางมาร่วมชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพมหนาคร เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาเชิงนโยบาย 15 ข้อ ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move เมื่อปลายมกราคม 2565 และต่อมา พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมร่วมฯ และมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ P-move ทั้ง 15 ข้อ และได้นำผลเข้าสู่การพิจารณารับทราบของ คณะรัฐมนตรี เมื่อ 1 ก.พ. 2565 นั้น

ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 65 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย เครือข่ายฮักน้ำของ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) และเครือข่ายบ้านไร้เสียง เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ดินแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี  ทั้ง 13 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยพื้นที่เคยเสนอรายชื่อเป็นโฉนดชุมชนตามมติครม.เมื่อ 4 มิถุนายน 2553 คือ

1.)  สี่แยกบายพาสกุดลาด ต.กุดลาด อ.เมืองอุบลราชธานี

2.) ชุมชนคุรุมิตร ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี

3.) ชุมชนลับแล ต.วารินชําราบ อ.วารินชําราบ จ.อุบลราชธานี

4.) ชุมชนเกตุแก้ว (บ้านมั่นคง) ต.วารินชําราบ อ.วารินชําราบ จ.อุบลราชธานี

5.) ชุมชนหาดสวนสุข ต.วารินชําราบ อ.วารินชําจ.อุบลราชธานี

6.) ชุมชนโคกบักมา ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี

7.) บ้านนาดี ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี

8.) บ้านโอด ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายชุมชนที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน  ได้แก่

9.) ชุมชนบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

10.) กรณีฝายลำน้ำเซบก

11.) กรณีอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี

12.) กรณีหาดเว ชุมชนคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านเรียกร้องให้เพิกถอนโฉนดออกจากที่สาธารณะ

13.) กรณีนายวิทยา แก้วบัวขาว และพวก ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ  จ.อุบลราชธานี ถูกนายทุนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัย มีการนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ อธิบดีกรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการมาตรา 61 ผ่านมา 5 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่ปี58 อธิบดียังไม่ดำเนินการ ตอนนี้อยู่ในขบวนการแก้ปัญหาของพีมูฟ

นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ คณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move กล่าวว่า เป้าหมายของการเข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเรื่องมติคณะรัฐมนตรี และต้องการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และเป็นประธานแก้ปัญหาทุกกรณีที่ P-move ที่ไปเจรจาจนเกิดเป็นมติครม. 1 กุมภาพันธ์ 65

“ในระดับพื้นที่หลังตั้งคณะทำงานตามมติครม. จะต้องไปดำเนินการต่อ อาทิ หน่วยชุมชนก็ลงไปดูพื้นที่ด้วยกัน เพื่อที่จะได้รู้พิกัดตำแหน่ง และรู้จักชุมชน เพื่อขั้นตอนต่อไปจะเป็นการประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนโดยคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นี่คือเป้าหมาย”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการเข้าพบครั้งนี้เป็นการทำความเข้าใจให้ตรงกันในมติครม.   ยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะทำงาน เนื่องจากยังไม่มีระเบียบรองรับ และกรณีของโฉนดชุมชนยังไม่มีกฏหมาย คำสั่ง หรือระเบียบปฏิบัติ จึงเป็นการประชุมติดตามความคืบหน้าของประเด็นปัญหาเท่านั้น ซึ่งท่าทีของรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คือ จะเสนอ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้รับทราบและสั่งการ ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ตามมติ ครม.1 ก.พ. 65

ทั้งนี้ ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนเกิดขึ้นยาวนานมากกว่า 10 ปี และรวมกันเป็น เครือข่ายที่ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้แนวทางฉโนดชุมชน ซึ่งรายชื่อเสนอโฉนดชุมชนที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สำนักงานโฉนดชุมชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และพื้นที่โฉนดชุมชน ตามมติ ครม. 4 มิ.ย. 2553  ได้แก่

1.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จำนวน 35 ชุมชน ในพื้นที่ พังงา ระนอง ภูเก็ต และอุบลราชธานี 

2.สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 97 ชุมชน ในพื้นที่ แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน เชียงราย และ น่าน

3.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 5 ชุมชน ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี

4.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)  6 ชุมชน ในพื้นที่ ตรัง พัทลุง และประจวบตีรีขันธ์

5.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) 20 ชุมชน ในพื้นที่ ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และเพชรบูรณ์

6.สลัมสี่ภาค 6 ชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี

7.เครือข่ายฮักนํ้าของ บ้านตามุย จ.อุบลราชธานี

8.กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชนไทดํา จ.สุราษฎร์ธานี 9.ชาวเล* (ตามมติ ครม.) 24 ชุมชน ในพื้นที่ ภูเก็ต กระบี่ สตูล ระนอง และพังงา รวมทั้งหมด 195 ชุมชน 

อนึ่ง ข้อเสนอเชิงนโยบาย 15 ข้อของ P MOVE ที่นำเข้ารับทราบเป็นมติคณะรัฐมนตรี คือ

1. ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) และขอให้สำนักงาน คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส. ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี

2.ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน และเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้

3. ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตลอดจนขอให้ยกเลิกมติ

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

4. กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท.

5. รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ….. ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง

6. ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) บจธ. ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ. พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบ ใหม่ๆ พัฒนาช่องทาง กลไกในเข้าถึง ทั้งการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และให้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงานระยะสองซึ่งเป็นสมาชิกของ ขปส. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

7. ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้

8. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบ โฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นกรณีเร่งด่วน

9. ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ

10. รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ

11. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553

12. กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในทุกด้าน ตลอดจนให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน ชาวบ้านเยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย 10 คน

13. สิทธิสถานะบุคคล ให้มีมติคณะรัฐมนตรีสั่งการเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคลของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยมีกลุ่มเป้าหมายดังนี้

เครือข่ายการแก้ไขสัญชาติไทย 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา

เครือข่ายลาวอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี

เครือข่ายชาวเลอันดามัน จังหวัด พังงา กระบี่ ระนองสตูล ภูเก็ต

เครือข่ายไทลื้อ จังหวัดพะเยา และคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์

14. ผลักดันให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตามที่ภาคประชาชนเสนอกฎหมายระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

15. เร่งรัดแก้ไขปัญหาประชาชนผู้ได้ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กรณีอ่างน้ำห้วยฝั่งแดง จ.อุบลราชธานี, กรณีโครงการแก้มลิงทุ่งทับใน จ.นครศรีธรรมราช, กรณีอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง, กรณีอ่างน้ำห้วยน้ำรี จ.อุตรดิตถ์, กรณีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่งาว จ.ลำปาง และโครงการผันแม่ยวม จ.แม่ฮ่องสอน

ซึ่งมติครม.นี้ กลุ่ม P-move มีความหวังและออกแถลงการณ์ว่า จะนำมาซึ่งหลักการ และแนวทางการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนทั้งกลไกนโยบายและโครงสร้าง และสร้างกลไกติดตามระดับพื้นที่ อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตดังนี้

1.)หลักการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการเข้าถึงหลักสิทธิการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน และเพื่อให้คนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เช่น แนวทางการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หลักการแก้ไขปัญหาชุมชน ผู้มีรายได้น้อย ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ การปฏิรูปที่ดินกลไกการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน. (บจธ.) การจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและปรับปรุงที่อยู่อาศัย การเร่งรัดแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมแล้วเสร็จภายใน 2566 การผลักดันระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น ระบบบำนาญ อุดหนุนเด็ก การสรับสนุนและรับรองกฎหมาย สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ พัฒนาของรัฐ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านที่ดินและป่าไม้ เป็นต้น

2.) หลักว่าด้วยการทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เช่น การทบทวนและการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 และร่างกฎหมายระดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติต่างๆ และแต่งตั้งกลไกติดตามปัญหาทั้งในระดับนโยบายเป็นรายกรณี เช่น ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย คณะกรรมการแก้ปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ คณะกรรมการขับเคลื่อนสิทธิกลุ่มชาติพันธ์ุชาวเลและกะเหรี่ยง การปรับปรุงคณะกรรมการอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน เป็นต้น อันจะมาซึ่งถึงความร่วมมือแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ให้เกิดรูปธรรมอย่างสำเร็จโดยเร็ว เราขอยืนยันว่าจะติดตามการดำเนินงานตามมติ ครม.ดังกล่าว อย่างถึงที่สุด หากไม่เป็นตามที่ระบุไว้ เราจะกลับมาพร้อมประชาชนทั่วประเทศ เพราะการดำรงอยู่ของรัฐบาล ก็เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นสำคัญ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ