ปัญหา ‘ม.48 -49’ กม.สิ่งแวดล้อม กรณี ‘เหมืองโปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ บำเหน็จณรงค์

ปัญหา ‘ม.48 -49’ กม.สิ่งแวดล้อม กรณี ‘เหมืองโปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ บำเหน็จณรงค์

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
9 มิถุนายน 2560

คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) ทำจดหมายถึงบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษารับจ้างทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่า ในการประชุมของ คชก. ครั้งที่ 39/2559 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 เพื่อพิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ประกอบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง) หรือ ‘EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ สำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ของบริษัทฯ ดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีมติ ไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว

เป็นการมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นรอบที่ 2 หลังจากที่ คชก. เคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

ในจดหมายยังระบุไว้ด้วยว่า การมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 2 นี้ถือว่าเป็นการจบกระบวนการพิจารณา EIA ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คชก. ก็มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

แต่กรณีที่บริษัทฯ เห็นด้วยกับคำสั่งของ คชก. และต้องการเสนอ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่นหินใหม่ ก็ไม่ตัดสิทธิที่จะเสนอ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับให้ คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งกรณีนี้จะกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 (กฎหมายสิ่งแวดล้อม)

จึงมีประเด็นให้ต้องพิจารณาว่า การกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีรายละเอียดอย่างไร ?

เมื่อพินิจบทบัญญัติของมาตรา 48[1] และ 49[2] ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม จะมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ข้อแรก สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องตรวจสอบ EIA และเอกสารที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่า EIA ที่เสนอมามิได้จัดทําให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในมาตรา 46[3] หรือมีเอกสารข้อมูลไม่ครบถ้วน ให้ สผ. แจ้งให้บริษัทฯ ทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับ EIA

ในกรณีที่ สผ. พิจารณาเห็นว่า EIA และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอมาถูกต้อง และมีข้อมูลครบถ้วน หรือได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ก็ให้ สผ. พิจารณาเสนอความเห็นเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในกําหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้รับ EIA เพื่อนําเสนอให้ คชก. พิจารณาต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาของ คชก. ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับ EIA มาจาก สผ.

ดังนั้น เงื่อนไขแรกของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมคือระยะเวลา 75 วัน[4] เสมือนเป็นการส่ง EIA มาให้ สผ. และ คชก. พิจารณาเป็นครั้งแรก ไม่ใช่ระยะเวลา 30 วันซึ่งเป็นระยะเวลาสำหรับใช้ในการพิจารณา EIA ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ข้อสอง เจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็คือให้ปฎิบัติตามประกาศที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํา EIA สำหรับโครงการหรือกิจการแต่ละประเภทและแต่ละขนาดตามมาตรา 46 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย

ในกรณีนี้ประกาศดังกล่าวก็คือ ‘ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีรายละเอียดกำหนดไว้ในเอกสารท้ายประกาศ 4 ในเรื่องแนวทางการจัดทำ EIA ในส่วนของรายงานฉบับหลักว่า จะต้องดำเนินตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและ ‘การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคม’ และ ‘แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพใน EIA’ ด้วย

ปัจจุบัน สผ. ได้จัดทำเอกสารแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพใน EIA[5] เอาไว้แล้ว โดยมีหลักการทั่วไปให้ต้องคำนึงถึงหลายข้อที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้มีการประชุมหารือร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการตั้งแต่ขั้นตอนของการกลั่นกรองโครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษา ไปจนถึงการประเมินผลกระทบ การพิจารณารายงาน และการติดตามตรวจสอบและประเมินผล

ดังนั้น เงื่อนไขที่ 2 ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมคือการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้มีการจัดเวทีประชุมเพื่อหารือร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คล้อยหลังประมาณครึ่งปีนับจากวันที่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 สผ. และ คชก. กลับรับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 3 เข้ามาพิจารณาใหม่ในคราวประชุม คชก. ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560

โดยสามารถพินิจพิเคราะห์ได้ว่าการรับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 3 ของ สผ. และ คชก. เข้ามาพิจารณาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมตามที่ คชก. เองได้ทำหนังสือแจ้งมีมติไม่เห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 2 ที่ผ่านมา

กล่าวคือ สผ. และ คชก. ดำเนินตามเจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ครบถ้วน มีเพียงข้อแรกข้อเดียว นั่นคือ การพิจารณา EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สามโดยใช้เงื่อนไขระยะเวลา 75 วัน ตามที่ได้แจ้งทางวาจาต่อชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ที่เดินทางไปยื่นหนังสือในวันนั้นให้รับทราบ

แต่ สผ. และ คชก. ทำผิดเจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเงื่อนไขข้อที่ 2 ที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 3 นี้ปรากฎข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อครั้งเก่า ๆ เต็มไปหมด ซึ่งเป็นข้อมูลที่สร้างความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากนำรายชื่อและรูปถ่ายของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการมาบิดเบือนว่าเป็นรายชื่อและรูปถ่ายชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ

โดยเฉพาะในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งที่ 2 ที่โรงเรียนมัธยมบางอำพันธ์วิทยาคมในเขตท้องที่ตำบลบ้านตาลเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 มีประชาชนที่แสดงตัวคัดค้านโครงการออกมาร่วมเวทีเกือบพันคน แต่บริษัทที่ปรึกษารับจ้างทำ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เหมืองโปแตชกลับสร้างหลักฐานเท็จด้วยการนำรูปถ่ายของผู้ที่คัดค้านโครงการมาบิดเบือนว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการ เป็นต้น

ปัญหาสำคัญข้อนี้เกี่ยวโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่เป็นไปตาม ‘แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ที่กำหนดเอาไว้ใน ‘ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ตามมาตรา 46 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม

จึงมีข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ส่งให้กับ สผ. และ คชก. มาตลอดปีครึ่งที่ผ่านมาว่าข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ปรากฎอยู่ใน EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบแรกและรอบที่ 2 ที่ สผ. และ คชก. มีมติไม่ให้ความเห็นชอบนั้นเป็นข้อมูลเท็จ ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม

ดังนั้น การที่ สผ. และ คชก. รับ EIA ในรอบที่ 3 มาพิจารณาโดยใช้ข้อมูลที่เกิดจากเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งเก่า ๆ ที่มีปัญหาตามที่ได้กล่าวไป จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดไปจากเจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเงื่อนไขข้อที่ 2 ที่เกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เสมือนเป็นการเหยียบย่ำหลักการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียเอง

แม้การพิจารณา EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่ 3 เมื่อคราวประชุม คชก. ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 สผ. และ คชก. จะมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ จนถึงกับทำให้เหมืองโปแตชต้องร่อนจดหมายชี้แจงไปตามหน่วยงานราชการ ชาวบ้านในพื้นที่ และสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ ว่าจะขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นกะลาปาล์ม

ก็ยังเป็นที่สงสัยกันในพื้นที่ว่าบริษัทฯ จะจริงใจแค่ไหน หรือหลอกล่อเพียงเพื่อหวังจะให้การยื่น EIA โครงการโรงไฟฟ้า (กะลาปาล์มเพื่อทดแทน) ถ่านหินในรอบที่ 4 ที่จะนำส่งต่อ สผ. และ คชก. ในอนาคตอันใกล้นี้ ผ่านความเห็นชอบให้ได้เสียก่อน ต่อจากนั้น เมื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นแล้วค่อยเปลี่ยนกลับมาใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในภายหลังก็ได้

สองเหตุการณ์นี้ได้สร้างความพอใจให้กับชาวบ้านที่ต้องเสียสละรวบรวมเงินทองกันคนละเล็กละน้อยเช่ารถตู้โดยสารสาธารณะเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อขอร่วมประชุมและเสนอความเห็นในการประชุม คชก. ในวันดังกล่าวได้พอสมควร แต่ก็ไม่ทำให้ความผิดของ สผ. และ คชก. ต้องพ้นผิดตามไปด้วย เพราะเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

เพื่อเตือนสติแก่ สผ. และ คชก. ว่า หากประชาชนไม่ร้องเรียนให้เอาผิดกับ สผ. และ คชก. ในคราวนี้ หน่วยงานทั้ง 2 ก็จะทำผิดซ้ำซากอีกหลายหน และก็จะนิ่งดูดายในความผิดของตัวเองเมื่อเหมืองโปแตชบำเหน็จณรงค์นำส่ง EIA โครงการโรงไฟฟ้า (กะลาปาล์มเพื่อทดแทน) ถ่านหินเป็นรอบที่ 4 เข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ และไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเหมืองโปแตชบำเหน็จณรงค์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง EIA โครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกมากมายที่ประชาชนจะต้องทนเห็นพฤติกรรมที่ชอบฟอกผิดให้เป็นถูกเช่นนี้ของ สผ. และ คชก. ไปอีกนานแสนนาน

………………………………………………………..

[1] มาตรา 48 ในกรณีที่โครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 เป็นโครงการหรือกิจการซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการก่อสร้างหรือดำเนินการ ให้บุคคลผู้ขออนุญาตเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายนั้น และต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเสนอรายงานดังกล่าวอาจจัดทำเป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 46 วรรคสอง ก็ได้

ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายรอการสั่งอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการตามวรรคหนึ่งไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 49 จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอมา หากเห็นว่ารายงานที่เสนอมามิได้จัดทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 วรรคสอง หรือมีเอกสารข้อมูลไม่ครบถ้วน ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งให้บุคคลผู้ขออนุญาตที่เสนอรายงานทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานนั้น

ในกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเห็นว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอมาถูกต้อง และมีข้อมูลครบถ้วน หรือได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนตามวรรคสามแล้ว ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเสนอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานนั้น เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาต่อไป

การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการหรือกิจการนั้น หรือผู้แทนร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

[2] มาตรา 49 การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามมาตรา 48 ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว

ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ หรือในกรณีที่ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายสั่งอนุญาตแก่บุคคลซึ่งขออนุญาตได้

ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่ให้ความเห็นชอบ ให้เจ้าหน้าที่รอการสั่งอนุญาตแก่บุคคลผู้ขออนุญาตไว้ก่อนจนกว่าบุคคลดังกล่าวจะเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการสั่งให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการกำหนด

เมื่อบุคคลดังกล่าวได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือได้จัดทำใหม่ทั้งฉบับแล้ว ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานดังกล่าว แต่ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบ และให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสั่งอนุญาตแก่บุคคลผู้ขออนุญาตได้

ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โครงการหรือกิจการตามประเภทและขนาดที่ประกาศกำหนดตามมาตรา 46 ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการขอต่ออายุใบอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการนั้น ตามวิธีการเช่นเดียวกับการขออนุญาตด้วยก็ได้

[3] มาตรา 46 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอขอความเห็นชอบตามมาตรา 47 มาตรา 48 และมาตรา 49

ในการประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ แนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องเสนอพร้อมกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการแต่ละประเภทและแต่ละขนาดด้วย

ในกรณีที่โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใด หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดมีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกัน หรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันได้ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้โครงการหรือกิจการในทำนองเดียวกันได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ แต่ทั้งนี้ โครงการหรือกิจการนั้นจะต้องแสดงความยินยอมปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด

[4] จำนวนวันอาจมากกว่า 75 วัน หากในชั้นการพิจารณาของ สผ. ไม่ได้ส่งให้ คชก. ทันทีทันใดนับจากระยะเวลา 30 วันแรกที่อยู่ในการพิจารณาของ สผ. หรือจำนวนวันอาจน้อยกว่า 75 วัน หาก สผ. และ/หรือ คชก. ใช้เวลาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ แต่โดยหลักคือ 75 วัน – ผู้เขียน

[5] แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เมษายน 2556

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ