อยู่ดีมีแฮง : 20 ปี เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เสียงชุมชนที่ (ไม่) ถูกได้ยิน

อยู่ดีมีแฮง : 20 ปี เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เสียงชุมชนที่ (ไม่) ถูกได้ยิน

เมื่อปีพ.ศ. 2516 กรมทรัพยากรธรณีได้ขุดเจาะสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลในภาคอีสาน แต่บังเอิญพบชั้นเกลือปริมาณมหาศาลกระจายตัวอยู่ทั่วไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจแหล่งแร่โพแทชบนแผ่นดินที่ราบสูงของประเทศไทย โดยหลักๆ แร่โพแทชที่พบมี 2 ชนิด คือ แร่คาร์นัลไลต์ (Carnallite) ซึ่งเป็นแร่โพแทช ที่มีคุณภาพต่ำเนื่องจากเป็นแร่โพแทชที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมอยู่ด้วย คือมีปริมาณโพแทชเซียม (K) เพียงร้อยละ 14.07 และอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ แร่ซิลไวต์ (Sylvite) เป็นแร่โพแทชที่มีความสำคัญมากที่สุดหรือมีคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะมีปริมาณของโพแทชเซียม (K) สูงสุดถึงร้อยละ 52.44

การสำรวจปฐมฤกษ์หัวเจาะได้ปักลงที่สำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานีเป็นหลุมแรก พบแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลต์ จากนั้นการขุดเจาะสำรวจหาแหล่งแร่โพแทช จึงกระจายไปทั่วทั้งอีสานประมาณ 200 หลุม ถึงปีพ.ศ. 2526 รวมระยะเวลาในการสำรวจ 10 ปี และในปี พ.ศ. 2524 ได้เจาะพบแร่ซิลไวต์ ซึ่งถือว่าเป็นแร่โพแทช ชั้นหนึ่งของโลก ที่บ้านหนองตะไก้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  

กระทั่งปี พ.ศ. 2527 กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำสัญญาเพื่อให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานี กับบริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนเหมืองแร่จากประเทศแคนนาดา โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี จึงเริ่มเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

ต่อมาบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมทั้งมีการขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการขอสัมปทานสำรวจหาแหล่งแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานีอีกครั้ง กับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ 2,333 ตร.กม. หลังทำการสำรวจเบื้องต้นแล้วลดพื้นที่ลงเหลือ 850 ตร.กม. ปีพ.ศ.2547 บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ ซึ่งมีปริมาณแร่โพแทชสำรองมากกว่า 300 ล้านตัน เนื้อที่รวมกว่า 26,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองไผ่, ตำบลโนนสูง, ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี, ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเป็นโครงการทำเหมืองแร่ใต้ดินที่จะมีการขุดเป็นอุโมงค์ชอนไชลึกลงไปจากผิวดินมากกว่า 100 เมตร ตามกฎหมายแร่กำหนด โดยมีพื้นที่ตั้งโรงงานแต่งและแยกแร่ที่บ้านหนองตะไก้นั่นเอง

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

– ปีพ.ศ.2539  ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐนำพาคณะผู้สำรวจแร่ เข้ามาสำรวจหาแร่โพแทชในชุมชน และพื้นที่เรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน โดยแจ้งว่าเป็นการสำรวจหาบ่อน้ำมัน และมีการจ่ายค่าขุดเจาะให้หลุมละ 3,000 บาท เมื่อแล้วเสร็จ แต่พบปัญหาในเวลาต่อมา เนื่องจากบางหลุมสำรวจได้เกิดมีน้ำเค็มแพร่กระจายออกมาจนทำให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรและบริเวณโดยรอบ

– ปลายปีพ.ศ.2544  ชาวบ้านในพื้นตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี จำนวนกว่า 20 หมู่บ้าน รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โปแตช พร้อมทั้งติดป้ายผ้าและประดับธงสีเขียว เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงการคัดค้านการทำเหมืองแร่ในชุมชน

– ปีพ.ศ.2545 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และลงราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่กฎหมายได้ระบุสาระสำคัญ อนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดิน กล่าวคือ ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นขออนุญาตทำเหมืองที่มีความลึกจากผิวดินเกินกว่า 100 เมตร กับหน่วยงานรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่อนุมัติอนุญาตได้ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม) โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินข้างบน

– ปีพ.ศ.2547 บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน จำนวน 4 คำขอ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการรังวัดขึ้นรูปแผนที่เหมือง แต่ถูกกลุ่มชาวบ้านคัดค้านอย่างหนักหน่วง กระทั่งบริษัทฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุก และทำเสียทรัพย์ในบริเวณพื้นที่ตั้งโรงแต่งแร่ (เป็นที่ดินของ บริษัทฯ ซื้อไว้ประมาณ 1,600 ไร่) กับแกนนำชาวบ้านจำนวน 5 รายในเวลาต่อมา แต่ฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งและให้เหตุผลว่า ไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัทฯ นอกจากนี้ชาวบ้านก็มีสิทธิคัดค้านโครงการ และใช้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นตามที่รัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2540 คุ้มครอง จนในที่สุดศาลจังหวัดอุดรธานี มีคำพิพากษายกฟ้อง

– ปีพ.ศ.2549 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากกลุ่มทุนเหมืองแร่สัญชาติแคนนาดา พร้อมแถลงว่าเหมืองเป็นของคนไทย โดยจะเดินหน้าโครงการและสร้างความสมานฉันท์กับชุมชน ด้วยสโลแกน “เหมืองชุมชนนำคนกลับบ้าน”

– เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทำการปักหมุด รังวัด ขึ้นรูปแผนที่เพื่อแสดงขอบเขตเหมืองและไต่สวนพื้นที่ เนื้อที่รวมกว่า 26,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของอำเภอเมืองอุดรธานีและอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และได้มาซึ่งผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จากความพยายามเข้าไปของเจ้าหน้าที่เพื่อทำการรังวัดขึ้นรูปแผนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยืดเยื้อตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 จนกระทั่งปลายปีพ.ศ.2553 จึงดำเนินการสำเร็จโดยใช้วิธีการขึ้นรูปแผนที่ด้วยระบบถ่ายภาพดาวเทียม และการจับพิกัด GPS ท่ามกลางกระแสการต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่

ที่มา : เอกสารประกอบการยื่นคำขอประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน
ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด

– ปีพ.ศ.2554 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้รวบรวมข้อมูลผู้มีส่วนได้เสียในขอบเขตเหมืองตามประกาศของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้แก่ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำนวน 1,580 แปลง และผู้อาศัยในขอบเขตเหมือง จำนวน 5,765 รายชื่อ ยื่นหนังสือโต้แย้งคัดค้าน กับหน่วยงานรัฐตามขั้นตอนของกฎหมายแร่กำหนด

– ปีพ.ศ.2555 จังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งให้ดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านในพื้นที่คำขอประทานบัตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตเหมืองเปิดประชุมสภา เพื่อมีมติให้ความเห็นชอบกับโครงการฯ ตามขั้นตอนการขอประทานบัตร ทว่าหมู่บ้านในตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด เกิดการคัดค้านอย่างหนักจนไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะชาวบ้านเห็นว่าการปักหมุด รังวัดเขตเหมือง และไต่สวนพื้นที่เป็นไปอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นโต้แย้งคัดค้านตามขั้นตอนของกฎหมายแร่แล้ว กระบวนการขอประทานบัตรต้องยุติจนกว่าจะมีการตรวจสอบให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน

– 9 พฤษภาคม 2556 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยตัวแทน 47 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน ทั้ง 4 คำขอ ได้แก่คำขอที่ 1/2547-4/2547 ตามประทานบัตร จำนวน 26,400 ไร่ และเพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการต่อเนื่องตามรายงานในใบไต่สวน  

– 26 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ให้ความเห็นชอบผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี

– 15 กันยายน 2558 ภายใต้การควบคุมอำนาจและบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. จังหวัดอุดรธานี จัดการประชุมรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี หรือเรียกว่า การประชาคมหมู่บ้านในพื้นที่คำขอประทานบัตร เฉพาะตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด โดยจัดขึ้นในค่ายทหารพระยาสุนทรธรรมธาดา ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมนำกองกำลังทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ มาคุ้มกันการจัดเวทีอย่างเข้มงวด

– 25 กันยายน 2558 สภา อบต.นาม่วง และอบต.ห้วยสามพาด เปิดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาผลดี/ผลเสีย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการพิจารณาลงมติคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ในวันเดียวกัน ท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และการคุ้มกันเวทีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ ผลปรากฏว่าสภาอบต.นาม่วง เสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบกับโครงการฯ แต่สภาอบต.ห้วยสามพาด เสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบกับโครงการฯ ด้วยคะแนน 12 ต่อ 9 เสียง

30 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษาให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้องและที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พิจารณาคำขอประทานบัตรของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมาย

กว่า 20 ปี เหมืองโปแตชอุดรธานี เสียงชุมชนยังกู่ก้อง เพื่อปกป้องทรัพยากร

“20 ปี ที่มีการต่อสู้กับเหมืองแร่โปแตช ซึ่งชุมชนนี้แต่ก่อนก็อยู่ดีมีความสุข ทำไร่ทำนา ข้าวในนาปลาในน้ำ ก็รู้สึกว่ามีความสะดวกสบาย” แม่เฒ่าวัย 75 ปี กล่าวถึงปฐมบทของเรื่องราว เมื่อครั้งมีคณะสำรวจแร่ถือหนังสือทางการลงมาในหมู่บ้านพร้อมข่าวลือที่บอกว่า “จะมาขุดเจาะหาบ่อน้ำมัน” ซึ่งใครๆ ก็อยากให้เขาเข้ามาขุดเจาะในที่ดินของตน เผื่อโชคดีเจอบ่อน้ำมันแล้วชีวิตพลิกผันจากชาวนา ชาวไร่ กลายเป็นมหาเศรษฐี

เมื่อปี 2539 มีการเข้ามาสำรวจแร่ในหมู่บ้านของเธอ ขณะนั้น มณี  บุญรอด มีตำแหน่งเป็น ส.อบต.ตำบลห้วยสามพาด “เขาสำรวจไปหมดไม่ว่าจะเป็นที่ไร่ ที่นา หรือที่บ้านก็ไม่เว้น ซึ่งที่นาแม่เขาก็ไปขุดเจาะเหมือนกัน แม่ก็ได้เงิน 3,000 บาท เพราะตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไร รู้แต่ว่าเจ้านายเขาให้มาเจาะหาบ่อน้ำมัน” มณี เล่าขณะเดินพาเราไปดูหลุมสำรวจแร่ในที่ดินของเพื่อนบ้านรายหนึ่ง ซึ่งคณะสำรวจแร่ได้เข้ามาขุดเจาะในชุมชน เสียงเครื่องจักรกลดังระงมเป็นเวลานานแรมเดือนก่อนจะขนย้ายอุปกรณ์ออกไป โดยได้อัดซีเมนต์ลงในหลุมสำรวจและปักแท่งเหล็กพร้อมระบุหมายเลขเอาไว้ให้ดูต่างหน้า

หลายปีต่อมาเรื่องกลับแดงขึ้น เมื่อเกิดปัญหาน้ำเค็มทะลักออกมาในบางหลุมสำรวจแร่ ไหลปนเปื้อนสู่พื้นที่ไร่นาของชาวบ้านจนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย “พวกแม่จึงตั้งคำถามว่ามันคืออะไรกันแน่ ถ้าบอกว่าบ่อน้ำมันทำไมน้ำที่ไหลออกมามันเค็มเหมือนเกลือ จนได้มีเอ็นจีโอเข้ามาและบอกว่า มันคือแร่โปแตช เขาจะทำเหมืองแร่ใต้ดิน โดยขุดเป็นอุโมงค์ใต้ถุนบ้านของเรา พวกแม่จึงลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันคัดค้าน เมื่อปี 2544”

จากผู้นำชุมชน มณี ไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งชีวิตจะกลายมาเป็นผู้นำม็อบ ซึ่งเธอเคยเห็นแต่ในทีวีที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เช่น ชาวบ้านเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

“พวกเราไม่เห็นด้วยถ้าจะมาทำเหมืองลอดใต้ถุนบ้านเรา ชาวบ้านกังวลว่ามันจะพังทลายลง อีกอย่างคือบริษัทฯ เขาบอกว่าจะเอากากแร่ซึ่งเป็นเกลือมากองไว้ข้างบน หากจะมาทำใกล้บ้านเราขนาดนี้ แค่ไอเค็มของเกลือเราก็อยู่ไม่ได้แล้ว ส่วนการต่อสู้ก็มีการไปยื่นหนังสือคัดค้านกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ และฟ้องศาลปกครอง” มิเพียงการต่อสู้ด้วยสองมือสองเท้าเปล่ากับปากที่เปล่งเสียงเรียกร้องบนท้องถนนเท่านั้น การสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชน การรณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนเมืองและสาธารณะ การคัดค้านตามกระบวนการในกฎหมายแร่กำหนด รวมไปถึงการศึกษางานวิชาการ และผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย ตั้งแต่ระดับนายก อบต. ถึงนายกรัฐมนตรี

มณี พาเราไปที่บ้านของเธอ แล้วนำรูปจำนวนหนึ่งที่เป็นอัลบั้ม และบางส่วนถูกอัดกรอบไว้อย่างดีออกมาโชว์ ซึ่งมีทั้งรูปแต่งเครื่องแบบทางราชการ และใส่เสื้อเขียวสัญลักษณ์ของการต้านเหมือง นอกจากนี้ยังมีโล่และรางวัลต่างๆ ที่การันตีจากการต่อสู้ของเธอและกลุ่มชาวบ้าน

“แม่เป็น อบต. มาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน เพิ่งหมดวาระไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งตามระเบียบกำหนดว่า ถ้า อบต. ไม่เอา ก็ทำเหมืองแร่ไม่ได้ ก็เลยชวนเพื่อนสมาชิก อบต. ว่าให้ช่วยกันปฏิเสธโครงการ คือไม่เห็นชอบ”

เมื่อมีการเปิดประชุมสภา อบต. ห้วยสามพาด เพื่อขอมติ จากสมาชิก อบต. 13 หมู่บ้าน ส่วนหนึ่งเอาเหมือง ส่วนหนึ่งไม่เอา แต่ส่วนที่ไม่เอามีจำนวนมากกว่า ผลจึงปรากฏว่า อบต. ห้วยสามพาด ไม่เอาเหมือง

มณีเล่าอย่างภาคภูมิใจ ถึงวันที่สภา อบต.ห้วยสามพาด เปิดประชุม (25 กันยายน 2558) เพื่อชี้ชะตาอนาคต และผลก็เป็นที่ประจักษ์ว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เหมืองแร่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งกระบวนการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรหยุดชะงัก โดยเธอเองมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำทำงานนอกสภาฯ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวบ้านในสภาอบต. อันทรงเกียรตินี้ด้วย

ราวกับว่ามหากาพย์การต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โปแตช ของคนอุดรธานี ได้เริ่มต้นจากวัยกลางคนของมณี จนล่วงเลยมาสู่ปัจฉิมวัย ถึงแม้การผลักดันโครงการฯ ของรัฐและทุนยังคงเดินหน้าต่อ แต่เสียงกู่ก้องเพื่อปกป้องทรัพยากรของชุมชนก็มิได้แผ่วเบาไปตามวัยแม้แต่น้อย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ