เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ้มแม่น้ำโขง ยื่นศาลปกครองฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีโครงการเขื่อนปากแบง

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ้มแม่น้ำโขง ยื่นศาลปกครองฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีโครงการเขื่อนปากแบง

ขอบคุณภาพ : นักข่าวพลเมืองคุณทรายโขง ณ ผาถ่าน

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ยื่นคำฟ้องแก่ศาลปกครอง กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เป็นคดีที่ 2 ที่เป็นโครงการในต่างประเทศ แต่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย

ช่วงเช้าวันที่ 8 มิถุนายน 2560 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง เดินทางมาที่ศาลปกครอง  ที่ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ในแขวงอุดมไซ โดยจะเป็นเขื่อนที่ 3 ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง (ถัดจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง)

โดยผู้ฟ้องคดีคือ กลุ่มรักษ์เชียงของ โดย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว รวม 4 ราย และผู้ถูกฟ้องคดี คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ  และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยทนายความ คือ นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

รายละเอียดที่ขอให้ศาลพิจารณาคือ

1.ขอให้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และขอให้เพิกถอนความเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ทั้งสิ้น

2 ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะรัฐบาลสปป.ลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และ/หรือก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

3 ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง  3 ดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

4 ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง

5 ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อสปป.ลาว

6ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย

สำหรับ โครงการเขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงในลาว ซึ่งอยู่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปราว 92 กิโลเมตร เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 (รายงานข่าวระบุว่าEGCO บริษัทลูกของ กฟผ. ถือหุ้นในโครงการนี้ 30%) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน วันที่ 19 มิถุนายนนี้ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้ (เนื่องจากเขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราว 92 กิโลเมตรเท่านั้น)

ที่น่าสนใจคือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเห็น ว่าการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลเก่าไม่มีการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน และข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมากมาย อาจทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป

มีการตั้งข้อสังเกตุจากการรีวิวข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญได้พบว่ารายงานจำนวน 20 เล่มที่ บริษัทต้าถัง ส่งให้กับ MRC มีข้อบกพร่องจำนวนมาก เช่น การทำประมงและปลา พบว่ามีการเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาน้อยมากๆ และผลการศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่พบนั้นน้อยกว่าข้อมูลของ MRC ที่เคยศึกษาไว้ และกรณีทางปลาผ่าน (Fish passage) ซึ่งออกแบบมาอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลาได้ ฯลฯ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ