“แก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจี้ยุติแก้กฎหมายบัตรทองหวั่นล้มระบบฯ

“แก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจี้ยุติแก้กฎหมายบัตรทองหวั่นล้มระบบฯ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นจดหมายถึงนายกฯ ร้องทบทวนการแก้ไขกฎหมายที่ทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้การแก้ไขต้องคุ้มครองให้ประชาชนได้รับสิทธิบริการสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐานและต้องไม่ทำลายหัวใจของการมีระบบหลักประกันสุขภาพ

6 มิ.ย. 2560 เวลาประมาณ 06.30 น. ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และองค์กรเครือข่ายที่ทำงานในประเด็นต่างๆ จากทั่วประเทศทั้งกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กลุ่มแรงงาน ตลอดไปถึงกลุ่มคนจนเมืองทยอยเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อเดินทางต่อไปยื่นจดหมายเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้หยุดกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

 

[Live] ตอน 1 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวหน้า UN เตรียมเข้ายื่นหนังสือร้องรัฐฯ หยุดแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-ละเมิดสิทธิประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2017

[Live] ตอน 2 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวหน้า UN เตรียมเข้ายื่นหนังสือร้องรัฐฯ หยุดแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-ละเมิดสิทธิประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2017

 

ปัจจุบัน มีการกำหนดจัดเวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ใน 4 จังหวัดกระจายตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2560 แต่ก็ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวของทั้งในส่วนกระบวนการร่างกฎหมาย การมีส่วนร่วม และเนื้อหา เกรงกระทบกับผู้ที่ใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเกือบ 49 ล้านคน ทั่วประเทศ

เตือนใจ สมานมิตร ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ภาคกลาง กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้เห็นชัดว่าพยายามแก้กฎหมายเพื่อที่จะจำกัดช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น การไม่เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรรับงบประมาณจากกองทุนในการร่วมจัดบริการ แต่กลับแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้หน่วยบริการ จากที่เคยถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) บอกว่าจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟไม่ได้ ซึ่งจริงๆ โรงพยาบาลก็ต้องใช้จ่ายได้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ให้ความเห็นว่า ในขณะที่การแก้กฎหมายเอื้อให้โรงพยาบาลดำเนินการได้กลับไปตัดโอกาสภาคประชาชน โดยให้หน่วยบริการพิจารณา หากประเมินว่าจัดบริการบางอย่างไม่ได้ก็สามารถให้ภาคประชาชน หรือองค์กรสาธารณประโยชน์มารับงบจากหน่วยบริการไปดำเนินงานแทน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าไม่มีความจริงใจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้บริการ

“สิ่งที่รับไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือกระบวนการแก้กฎหมายไม่มีธรรมาภิบาล เพราะคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่มีทั้งหมด 26 คน แต่มีตัวแทนภาคประชาชนแค่ 2 คน แม้จะมีการทักท้วงเพื่อขอเพิ่มจำนวนให้เหมาะสมระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการแต่ก็ไม่เป็นผล เนื้อหาที่ออกมาจึงเอื้อประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุข แต่ภาคส่วนอื่นๆ กลับถูกลดบทบาทลง” นางเตือนใจกล่าว

ด้านนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าวว่า หลักการถ่วงดุลอำนาจด้วยการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ หรือกระทรวงสาธารณสุข และผู้ซื้อบริการให้ประชาชน หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นการจัดระบบบริการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ แต่การแก้กฎหมายกลับไปเพิ่มอำนาจผู้ให้บริการ ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการและผู้ประกอบวิชาชีพในกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพียงฝั่งเดียว ในขณะที่ภาคประชาชนมีจำนวนเท่าเดิม ส่วนตัวแทนท้องถิ่นถูกลดจำนวนลง โดยไม่มีเหตุผลอธิบายว่าการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการจะช่วยให้ระบบมีความก้าวหน้าอย่างไร

สุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือลุงดำ จากเครื่อข่ายคนไร้บ้าน กล่าวว่า เขารู้สึกห่วงและกังวลในกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ อย่างมาก เพราะเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายหลายประเด็นเข้าข่ายทำลายหลักการของบัตรทองอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลักการที่ให้ประชาชนทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน

“การแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล หรือกลุ่มคนที่ตกสำรวจจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคนไทยเหมือนกันให้ได้เข้าถึงสิทธิการรักษาในระบบบัตรทอง หรือการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ณ จุดให้บริการ หากมีการกำหนดเพดานในการร่วมจ่ายจะยิ่งลดทอนโอกาสในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชน ซึ่งควรตัดประเด็นนี้ออกจากกฎหมาย และควรระบุให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้กับประชาชน เพราะประชาชนก็ร่วมจ่ายผ่านระบบการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว” ลุงดำกล่าว

ส่วนอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวว่า การแก้กฎหมายแทนที่จะมุ่งแก้สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น กลับไม่ทำ เช่น การไม่ยอมแก้กฎหมายที่จะช่วยให้ สปสช. มีอำนาจเจรจา ต่อรอง จัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อย่างการสำรองยาแก้พิษ เซรุ่ม ยากำพร้า ยารักษาโรคเรื้อรัง เป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของงบประมาณการจัดซื้อยาทั้งหมด เพื่อเป็นหลักประกันว่า ถ้าเมื่อใดมีประชาชนป่วยด้วยโรคที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ก็จะมียารักษาอย่างทันท่วงที มีความต่อเนื่องและยั่งยืน แต่ถ้าให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารเองทั้งหมด ภาคประชาชนยังไม่มั่นใจว่าจะมีกลไกใดมารองรับการจัดซื้อยาที่จำเป็นแต่มีราคาแพงของแต่ละโรงพยาบาล หรือหากเกิดปัญหายาขาดแคลนจะมีแนวทางจัดการอย่างไร

ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ภาคอีสาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมาย ต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ง่ายที่ประชาชนจะได้เข้าร่วม อีกทั้งการจัดเวทียังทำเพียง 4 ครั้ง คือที่เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ และสงขลาเท่านั้น ประชาชนคนใดต้องการมาร่วมต้องหาเงินค่ารถเดินทางมาเอง แต่ผู้ให้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กลับสามารถมาร่วมโดยเบิกจากต้นสังกัดได้

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยว่ากฎหมายที่มีอายุกว่า 15 ปีควรได้รับการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อลดช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของทุกฝ่าย แต่การแก้ไขต้องคุ้มครองให้ประชาชนได้รับสิทธิบริการสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐานและต้องไม่ทำลายหัวใจของการมีระบบหลักประกันสุขภาพ

“การดำเนินการครั้งนี้เห็นชัดว่าไม่ได้เป็นประโยชน์กับระบบ จึงอยากเรียกร้องให้นายกฯ ยุติกระบวนการพิจารณาแก้กฎหมาย แล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่ เพื่อให้กฎหมายเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม และเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ นายกฯ จะได้ไม่ต้องไปตบปากใครที่จะจ้องล้มระบบเหมือนที่เคยเป็นข่าว” ปฏิวัติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่มรวมตตัวกันได้ประกาศว่าจะมีการแถลงข่าวในเวลา 10.00 น. จากนั้นจะมีตัวแทนเดินทางไปยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำโดย พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เดินทางเข้ามาพูดคุยให้ยุติการชุมนุม เพราะอาจผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

อย่างไรก็ตามได้มีการเจรจา จนเจ้าหน้าที่ให้เวลาสำหรับการแถลงข่าว และจัดรถมารับตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมไปยื่นจดหมายที่กพร. หลังจากตัวแทนได้กลับมารายงานผลแล้วก็ให้สลายการชุมนุมโดยทันที

ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมราว 10 คนได้นั่งรถตู่ออกไปจากบริเวณหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (UN) ไปยังกพร. และได้ยื่นจดหมายผ่านศรีประภา ถมกระจ่าง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ก.พ.ร. โดยมีการรับปากว่าจะมีการยื่นหนังสือเข้าครม.ในวันนี้

หลังจากตัวแทนที่ไปยื่นหนังสือเดินทางกลับมาถึงบริเวณที่ชุมชน มีการชี้แจงความคืบหน้าและยืนยันที่จะติดตามการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้สลายตัว

“เราจะกลับมาอีกครั้งถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” กลุ่มผู้ชุมนุมระบุ

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 3 คน ไปร่วมพุดคุยทำความเข้าใจก่อนมีการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ

00000

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

ตามที่มีกระบวนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้สอดรับกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ตามมาตรา 44 ที่ปลดล๊อกปัญหาการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งทางยธ.ได้มอบให้สธ.เป็นผู้ดำเนินการ และรมว.สธ.ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้กฎหมายโดยแต่งตั้งนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานคณะทำงานฯ

จากการติดตามการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างใกล้ชิด พบว่ามีประเด็นในการแก้กฎหมายหลายประเด็นที่ทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนดังนี้

1. องค์ประกอบคณะทำงานแก้ไขกฎหมายที่แต่งตั้งโดยรมว.สธ.ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม โน้มเอียงไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสัดส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของฝ่ายผู้จัดบริการที่มีมากถึง 12 คนจากคณะทำงาน 26 คน ที่เหลือคือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีสัดส่วนประชาชนเพียง 2 คน

2. ประเด็นเนื้อหาของกฎหมายหลายเรื่องมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ต่อผู้จัดบริการ เช่น

  • การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการบอร์ดสปสช.ที่เสนอกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน เท่ากับเป็นการทำลายหลักการสมดุล และการแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อบริการและ ผู้ให้บริการ ซึ่งการแก้ในประเด็นนี้ส่อให้เห็นเจตนาที่จะปล่อยให้ฝ่ายผู้จัดบริการเข้ามาแทรกแซง มีอำนาจในการกำหนดด้านการเงินที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยบริการ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจนและ เป็นการผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง
  • การไม่ยอมแก้ไขให้ระบบหลักประกันสุขภาพโดยสำนักงานสปสช.สามารถบริหารจัดหายารวมบางรายการในยาที่มีราคาแพง หรือมีแน้วโน้มมีปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน เท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจในการบริหารกองทุนของสำนักงานสปสช.
  • การกำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่สามารถซื้อบริการดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟูบำบัด จากภาคส่วนอื่นๆได้ ด้วยการกำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯต้องส่งเงินให้กับหน่วยบริการเท่านั้น เท่ากับเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆรวมถึงประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการทั้งในกองทุนส่งเสริมป้องกันโรค และกองทุนอื่น เป็นต้น

3. ด้านกระบวนการรับฟังความเห็นที่มีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ และมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อการแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใน 4 จังหวัดคือเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกรุงเทพ

เมื่อดูกระบวนการรับฟังความเห็นต่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนกว่า 48 ล้าน พบว่าวิธีการเปิดรับฟังความเห็นข้างต้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งมีคนที่สามารถเข้าถึงได้เพียงจำนวนน้อย หรือกรณีเวทีรับฟังทั้ง 4 จังหวัด แม้กระจายไปตามภูมิภาคแต่ไม่ได้เอื้อให้ประชาชนไปร่วมได้ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประชาชนให้เข้าร่วมเวที ปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง ในขณะผู้เกี่ยวข้องเช่นผู้ให้บริการที่เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขกลับสามารถมาร่วมได้โดยสามารถเบิกจ่ายจากต้นสังกัด ย่อมส่งผลให้สัดส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อพ.ร.บ.นี้ไม่มีความเป็นธรรมและไม่เท่าเทียม

4. กระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันฯ ในครั้งนี้ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 เป็นการดำเนินการที่ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การแก้ไขกฎหมายต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การมีเวทีรับฟังความเห็นเท่านั้น

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายประชาชน 9 ด้านในระบบหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีให้ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และให้มีการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายให้มีความสมดุล และต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

 

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตร.-ทหารเบรก ‘คนรักหลักประกันสุขภาพ’ นับ 1,000 นัดรวมตัวค้านแก้กฎหมายบัตรทอง กระทบสิทธิ ปชช.

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ