กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายจากทั่วประเทศนัดรวมตัวที่บริเวณหน้าตึก UN เรียกร้องหยุดแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกระทบสิทธิประชาชน ด้าน ตร.ติดเบรก ห้ามใช้พื้นที่ชุมนุมค้านแก้กฎหมาย ต่างจังหวัดมีทหารลงพื้นที่ห้ามชาวบ้านเดินทางเข้ากรุงฯ ส่วนเวทีภาคประชาชนย้ำสิทธิการรักษาพยาบาลต้องไม่กลับไปสู่ความอนาถา
6 มิ.ย. 2560 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายจากทั่วประเทศกว่า 1,000 คน นัดรวมตัวที่บริเวณหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยระบุว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและการเข้าถึงโอกาสการรักษาพยาบาลของประชาชนกว่า 48 ล้านคน ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ
สืบเนื่องจากปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และกำลังจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิการรับบริการสาธารณสุขในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “30 บาทรักษาทุกโรค”
ทั้งนี้ ประเด็นหลักของการคัดค้านการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กระบวนการแก้ไขกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 2.เนื้อหาเอื้อประโยชน์ภาครัฐลดบทบาทภาคประชาชน และ 3.อาจลดทอนโอกาสประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า…
รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
สำหรับกำหนดการกิจกรรมประกอบด้วย
08.00 น. เริ่มเวทีชี้แจงต่อสาธารณะ
10.30 น. แถลงข่าวประเด็นการคัดค้าน
11.00 น. ตัวแทนยื่นหนังสือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมการรวมตัวยังถูกยืนยันที่จะมีขึ้นบริเวณหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของ สน.นางเลิ้ง
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เตรียมจัดชุมนุมหน้าทำเนียบ ค้านการแก้ไขกฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเดินหน้า…
โพสต์โดย iLaw เมื่อ วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2017
ตร.ติดเบรก ห้ามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ใช้พื้นที่ชุมนุมค้านแก้กฎหมาย
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLAW รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้แจ้งต่อ สน.ดุสิต ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ว่า จะจัดชุมนุมคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ในวันที่ 6 มิ.ย. 2560 ที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการค่อนไปทางน้ำพุ ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม ถ.ราชดำเนินนอก โดยใช้รถปิคอัพพร้อมเครื่องเสียง 1 คัน
ต่อมา สน.ดุสิต มีหนังสือตอบกลับมาว่า ผู้รับแจ้งพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมบริเวณดังกล่าว อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมได้ ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก อาจเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการใช้สถานที่ของทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการหรือความสะดวกของประชาชน ซึ่งอาจขัดต่อมาตรา 7 และ 8 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
ในหนังสือตอบกลับของ สน.ดุสิต ยังสั่งให้แก้ไขการชุมนุมให้ถูกต้องโดยการให้ไปจัดการชุมนุมในสนามม้านางเลิ้งแทน และส่งตัวแทนมายื่นจดหมายที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน และไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียง
รวมถึงให้งดกิจกรรมที่อาจเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ด้วย ส่วนการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือไม่ จะประสานกับหน่วยงานความมั่นคงเพื่อพิจารณาและแจ้งให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ รัตนา ทองงาม สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เขต 9 จ.สุรินทร์ ยังเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. 2560 มีเจ้าหน้าที่สันติบาลนอกเครื่องแบบเดินทางมาหาที่บ้าน เพื่อต้องการจะทราบว่า จะไปร่วมกิจกรรมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หรือไม่ และจะเดินทางอย่างไร ออกเดินทางเมื่อไร แต่ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม เธอและสมาชิกบางคนจาก จ.สุรินทร์จึงตัดสินใจนั่งรถทัวร์มากรุงเทพล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่
รัตนาเล่าอีกว่า มีข่าวว่า ทหารเข้าไปหาสมาชิกคนอื่น ๆ ที่บ้านใน จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ รวม 5 จุด ซึ่งการเข้าไปจุดอื่นทหารได้สั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปร่วมกิจกรรม ทำให้มีสมาชิกหลายคนตัดสินใจไม่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกิจกรรม เพราะกลัวผลกระทบที่อาจตามมา
"ภาคประชาชนย้ำการรักษาพยาบาลต้องไม่กลับไปสู่ความอนาถา แต่ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน…
โพสต์โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เมื่อ วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2017
ภาคประชาชนย้ำสิทธิการรักษาพยาบาลต้องไม่กลับไปสู่ความอนาถา
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดเสวนา “การประเมินผลงานรัฐบาลรอบ 3 ปีในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและสวัสดิการของประชาชน” ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพและความมีประสิทธิภาพด้านการจัดสวัสดิการของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
สุนทรี เซ่งกิ่ง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าเมื่อ 40 กว่าปีก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า หากคนในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ร้ายแรง หรือมีค่าใช้จ่ายสูง ลูกหลานต้องขายไร่ขายนาขายวัวควาย เพื่อหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล เราจึงเห็นภาพที่คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องล้มละลายจากความเจ็บป่วย
หรือถ้าใครไม่มีเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริง ๆ ก็ต้องไปติดต่อกับฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล เพื่อให้ช่วยอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลให้ แต่ต้องพิสูจน์ให้โรงพยาบาลเห็นว่าคนที่มารับบริการมีฐานะยากจนไม่มีอันจะกิน สมควรได้รับการสงเคราะห์จริง ๆ จึงจะได้รับการงดเว้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยและคนในครอบครัวอย่างมาก
แต่พอประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า (บัตรทอง) การรักษาถูกทำให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยก็ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยรัฐจะนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมมาใช้ในการบริหารจัดการระบบ ซึ่งมีข้อดีคือนอกจากจะไม่ทำให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยแล้ว ยังไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงอีกด้วย
ระบบบัตรทองจึงเป็นแนวทางในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนที่มาถูกทางแล้ว แต่ประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่งว่าไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหารต่างมีแนวคิดที่อยากให้ระบบบัตรทองกลับไปสู่ระบบอนาถาให้เฉพาะคนจนเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเลย กล่าวคือ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะติดภาพว่าระบบบัตรทองเป็นนโยบายหาเสียงจึงอยากสร้างภาพใหม่ให้คนจดจำ
พอเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารก็จะมีแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะมีกระแสมาเป็นระยะตามจำนวนเงินในกระเป๋าที่มีลดลงหรือถ้ารัฐบาลอยากซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม โดยอ้างเหตุผลว่าบัตรทองเป็นภาระงบประมาณประเทศ ทำให้เกิดนโยบายขึ้นทะเบียนคนจน ให้คนจนออกมาประกาศความยากจนของตัวเองเยอะๆ จึงเริ่มสงสัยว่ารัฐบาลชุดนี้มุ่งจัดสวัสดิการให้เฉพาะคนยากคนจนอย่างเดียวไม่คิดจะลดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วใช่หรือไม่ ทั้งที่ต่างประเทศต่างชื่นชมประเทศไทยว่าแม้จะเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางแต่ก็สามารถดูแลการรักษาพยาบาลให้ประชาชนแบบถ้วนหน้าได้
อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของรัฐบาลโดยส่วนตัวยังมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบบัตรทองแบบชั่วคราว เมื่อถึงวาระก็ต้องจากไป แต่ภัยคุกคามระบบบัตรทองที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันจัดการ เพื่อให้การแก้กฎหมายมีประโยชน์ต่อทุกคน โดยเฉพาะการผลักดันให้กฎหมายขยายสิทธิครอบคลุมไปถึงคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย เช่น คนที่รอพิสูจน์สัญชาติ คนที่เข้าสู่กระบวนพิสูจน์สถานะบุคคล คนไร้บ้าน เป็นต้น
รศ.ดร.สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล ที่ปรึกษางานด้านสังคมสูงวัย กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ. 2661 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 10 และในปี พ.ศ. 2564 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นเป็นร้อยละ 30 ประกอบกับในอนาคตลูกหลานจะมีจำนวนลดลงในขณะที่ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงเป็นภาระให้กับลูกหลานที่ต้องเลี้ยงดูทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานของตัวเอง และยังมีผู้สูงอายุที่มีจำนวนต่ำว่าเส้นความยากจนประมาณ 10 ล้านคน (มีผู้สูงอายุที่ไปลงทะเบียนคนจน 2 ล้านคน)
รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายในการดูแลคนกลุ่มคนสูงอายุแบบถ้วนหน้า โดยจัดให้มีระบบบำนาญในรูปแบบปิ่นโต 3 ชั้น คือ ปิ่นโตบำนาญขั้นพื้นฐานแบบพอมีพอกินที่ทุกคนได้เหมือนกันหมด ไม่ต้องไปค้นหาว่าใครจน ใครรวย เพราะจะทำให้รัฐเสียงบประมาณในการค้นหาคนจนอย่างมาก ปิ่นโตชั้นที่ 2 เป็นชั้นอาชีพที่เป็นการบังคับออมเงินของคนทำงาน และปิ่นโตชั้นที่ 3 เป็นการออมเงินลงทุนหวังผลในระยะยาวสำหรับคนที่มีเงินมากพอ
สำหรับแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุมี 4 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจที่ต้องหลักประกันทางรายได้ให้ผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ ด้านสุขภาพที่ต้องสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งอย่างมีส่วนร่วมและการจัดระบบในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ด้านสังคมที่ต้องส่งเสริมการวางแผนชีวิตครอบครัว การพัฒนาศักยภาพของชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น การพัฒนากลไกผู้พิทักษ์ผู้สูงอายุที่อยู่ในฐานะดูแลตัวเองไม่ได้ และด้านสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะในการสร้างชุมชนที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ
ส่วนการประเมินผลงานรัฐบาล คสช. ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นในด้านความรู้ ความเข้าใจ และวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดนี้ถือว่าสอบผ่านประมาณร้อยละ 60 เพราะมีภาคราชการช่วยให้ข้อมูล ซึ่งประเมินได้จากเป็นรัฐบาลที่เริ่มใช้กฎหมายเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) การให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย แนวนโยบายของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่าด้วยการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ และการตั้งคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมด้านการจ้างแรงงานผู้สูงอายุและด้านการออม
แต่สิ่งที่รัฐบาลยังสอบตกคือการนำแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามาทำงานร่วมกัน
จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในประเทศอุตสาหกรรมจะพบว่าการเกิดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามาจากกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เป็นการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองฝ่ายแรงงาน แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมแต่ยังเป็นกึ่ง ๆ สังคมเกษตรกรรม ความเป็นไปได้ที่เกิดการรวมตัวจึงเป็นไปได้น้อย อีกทั้งการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ไม่ยอมให้สหภาพแรงงานรวมตัวกัน หรือแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นผู้นำแรงงานส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง
แต่การเรียกร้องสิทธิเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาจากตัวแทนของคนเล็กคนน้อยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ เช่น การเรียกร้องเรื่องที่ดินทำกินของกลุ่มสมัชชาคนจน หรือระบบบัตรทองที่พวกเราหลายคนสามารถเข้าไปหยิบฉวยโอกาสทางการเมืองในการเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์กับพรรคการเมือง และมีภาคประชาชนหลายคนเข้าไป สส. สว. ช่วยกันผลักดัน แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะช่วงนั้นยังอยู่ในบรรยากาศของประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต่างมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกันได้เต็มที่
พอประเทศไทยเข้าสู่ยุค กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ได้พูดถึงประเด็น “การปฏิรูป” เป็นอย่างมากและเป็นการปูทางให้ คสช. เข้ามาบริหารประเทศต่อ แต่ทั้ง กปปส.และคสช. ไม่เคยมีใครออกมาพูดเลยว่าการปฏิรูปคืออะไร จะช่วยสร้างความเป็นธรรมมากขึ้นหรือไม่ จะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้หรือไม่
แต่สิ่งที่เห็นชัดคือประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิ ให้อำนาจข้าราชการทำงานทำให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิและเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น เช่น การเวนคืนที่ดินประชาชนเพื่อประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการมุ่งสร้างสวัสดิการให้เฉพาะคนที่จนจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งนโยบายการขึ้นทะเบียนคนจนของรัฐบาลเป็นแนวทางที่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ชัดเจน
สำหรับทางออกของการแก้ไขปัญหาความยากจนมีได้ทางเดียวคือ “การลดความเหลื่อมล้ำ” รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก รวมไปถึงการเก็บภาษีจากกำไรการขายหุ้น เพื่อนำรายได้มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่รัฐบาลยังคงเป็นเผด็จทหารไปจนถึงหลังการเลือกตั้งจะทำให้การต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิทำได้ยากลำบากที่สุดแต่พวกเราก็ต้องทำ ถ้าประชาชนจำนวนมากมีการรวมตัวกันที่เข้มแข็งเชื่อว่ารัฐบาลย่อมฟังเสียงพวกเราอย่างแน่นอน