มหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน [2] : ประสบการณ์ฐานชีวิตบนเส้นทาง “เกษตรกรรมยั่งยืน”

มหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน [2] : ประสบการณ์ฐานชีวิตบนเส้นทาง “เกษตรกรรมยั่งยืน”

วันที่สอง ‘งานมหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน’ วงคุยมุมมองของคนรุ่นใหม่กับการทำเกษตร แลกเปลี่ยนบทเรียนในการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของชุมชน และเสวนาแง่มุมประสบการณ์การสร้างฐานชีวิตที่มั่นคงผ่านเกษตรกรรมยั่งยืน

รายงานโดย: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

25 พ.ค. 2560 งานมหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน “ความหลากหลายพันธุกรรม : สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” จัดโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิชีววิถี สำนักงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 2 ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม

เสวนาน่าสนใจในช่วงเช้าเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่กับการทำเกษตร ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนบทเรียนในการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของชุมชน และการเสวนาแง่มุมประสบการณ์ การสร้างฐานชีวิตที่มั่นคงผ่านเกษตรกรรมยั่งยืน

 

คนรุ่นใหม่กับการทำเกษตร

พรทวี ศรีสง่า เครือข่ายปลูกฮัก จ.ยโสธร เล่าประสบการณ์การผลิกชีวิตตนเองว่า จากคนที่จบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ และทำงานห้องแล็บ (ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์) ในบริษัทเอกชน ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน 4 ปี จึงคิดว่าจะมาทนอยู่ทำงานกับสารเคมีทุกวันเพื่ออะไร ทำไมไม่คิดกลับไปพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาที่นาของที่บ้านให้ดี วันหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้าน เพราะเชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์ จะทำให้เกิดความยั่งยืน ทำเอง ใช้เอง เป็นการลดต้นทุน ประกอบกับสินค้าอินทรีย์ในตลาดมีราคาดี จึงคิดตัดสินใจกลับมาทำเกษตร และเป็นความโชคดีที่ทางบ้านไม่ได้คัดค้านอะไร แต่คนรอบข้างในชุมชนก็ห่วงว่าลาออกจากงานมาทำเกษตรแล้วจะไปรอดหรือไม่

เริ่มจากการคิดว่าจะไม่ทำการเกษตรเหมือนที่เคยทำ เพราะทำอย่างไรก็ขายได้ระดับหนึ่ง ต้องทำให้ผลผลิตก้าวข้ามไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ ให้ได้ ทุกวันนี้ปลูกแตงโมหลังฤดูการทำนา ส่งตลาดโมเดิร์นเทรดในห้างสรรพสินค้า ซึ่งผลผลิตยังไม่มีเพียงพอต่อความต้องการ เพราะยังมีขีดจำกัดในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ในวัน 2 วัน แต่ชัดเจนแล้วว่าทุกวันนี้ทำแล้วสามารถเลี้ยงตนเองได้

ชวลิต วิชัย เกษตรกร ต.บุ่งคล้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นไม่สามารถทำคนเดียวได้ แรกๆ ก็ไปชวนผู้เฒ่ามาทำ โดยตนจะเริ่มต้นจากการทำเรื่องวัฒนธรรมเป็นหลัก โดยเข้าไปช่วยงานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน จนมาเป็นเขยอยู่กุฉินารายณ์ปีแรกก็ไปช่วยงานทำบุญใหญ่ฉลองอุโบสถ ก็ได้ทำหน้าที่โฆษกงาน พูดจนหมดวันใช้ผญาคำสอนของผู้เฒ่ามาพูดบอกเล่า จนเริ่มมีคนยอมรับ

พอพี่น้องเชื่อชวนทำอะไรพี่น้องก็ไป เริ่มทำเรื่องข้าวชวนกันลงแขกดำนา ปีนั้นทำนาถวายในหลวง ปลูกข้าว 84 พันธุ์ถวายในหลวง ทำแปลงตกกล้า 84 สายพันธุ์ ตกกลางคืนฝนตกป้ายที่ทำไว้ชื่อหายหมด จึงได้ตกกล้าใหม่อีกครั้ง เป็นการชวนทำเรื่องการรักษาประเพณีการดำนาลงแขก ดำวันแม่เกี่ยววันพ่อ คนเริ่มเข้ามาเรื่อย ๆ จึงชวนทำกลุ่มแม่บ้าน และเริ่มไปเรียนรู้ศึกษาดูงาน กลับมาก็ตั้งกลุ่มวิสาหกิจ มีช่วงหนึ่งที่ต้องเลี้ยงลูกจึงซางานไป

ชวลิต เล่าต่อว่า เริ่มกลับมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการทำวิจัยร่วมกับ สกว. และทำตลาด ทำแล้วขายที่ตลาดโรงพยาบาล ขายทุกวันศุกร์ สมาชิกเริ่มกลับเข้ามา เวลามีงานบุญก็ชักชวนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ชักชวนสมาชิกมาช่วยงานต่าง ๆ ของชุมชน และใช้พลังจากภายนอกมากระตุ้นภายใน ที่ทำหลัก ๆ ก็เรื่องวิถีวัฒนธรรม และช่วยกันทำแปลงให้กับคนอื่น ซึ่งกำลังสืบต่อให้ลูกหลานเยาวชน เพื่อมาสืบต่อการทำเกษตรอินทรีย์ แล้วนำไปขายที่ตลาด รักษาวิถี รักษามูลมังของชุมชน ไม่ได้ทำเรื่องการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ทำงานกับชุมชนในเรื่องต่าง ๆ เพื่อรักษาฐานของชุมชนไว้

สมาชิกกลุ่มแต่ละคนก็ทำอยู่ทำกิน มีสมาชิก 20 ครอบครัว รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน แบ่งปัน และใช้ระบบทีมเข้าไปช่วยเหลือแต่ละครอบครัว ไปเยี่ยมไปยาม ไปช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งทุกวันนี้ทีมมีความเข้มแข็งมาก แล้วค่อยๆ ขยายไปสู่ชุมชน ไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ละทิ้งกัน ทำงานกับชุมชน สร้างรายได้ สร้างตลาดของตนเอง จากการทำเกษตรอินทรีย์ คนที่จะทำเกษตรอินทรีย์ จุดสำคัญคือครอบครัว ต้องถามครอบครัวพ่อแม่ลูกคุยกันว่าความต้องการร่วมกันคืออะไร ปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่น้อย ๆ พ่อแม่ไปไหนก็พาไปด้วยกัน

กรุง ดวงเงิน เกษตรกรบ้านโนนแคน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เล่าให้ฟังว่า ตนเองก็เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่เมื่อก่อนปลูกอ้อยส่งโรงงาน เปลี่ยนมาทำอ้อยคั้นน้ำ จากกิโลกรัมละบาทกลายเป็นกิโลกรัมละ 20 พลิกผืนนา 50 ไร่ ขุดบ่อ 9 บ่อ เลี้ยงปลา ทำเกษตรผสมผสาน เมื่อก่อนอยู่แต่ในกะลาทำแต่ในสวนในไร่ของตัวเอง มีโอกาสเข้าร่วมยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จึงเริ่มเข้าหาเครือข่าย สิ่งที่ภูมิใจคือได้เอาของจากสวนของตนเองที่ปลอดสารเป็นอินทรีย์ไปสู่ผู้บริโภค

กรุง เล่าให้ฟังต่อว่า จากอ้อยธรรมดา ๆ หันมาทำน้ำอ้อยมะนาว ใส่แก้วดี ๆ เพิ่มมูลค่า ให้น่าดึงดูด ทุกวันนี้มีโอกาสได้เข้าไปขายของที่ตลาดพอเพียง จ.มหาสารคาม และเปิดร้านในสวนตนเอง เป็นเกษตรกรต้องเท่และสบาย ไม่ใช่จับจอบอย่างเดียว ทำให้พ่อแม่ลูกเมียตัวเรามีความสุขด้วย เรามีกำลังก็แบ่งปันชาวบ้าน เราปลูกอ้อย ยอดอ้อยบางส่วนก็แบ่งให้ชาวบ้านนำไปปลูก เมื่อได้ผลก็นำกลับมาขายเรา ตอนนี้ชีวิตมีความสุขดี เดินทางมาร้อยกว่ากิโลเพื่อมาขายน้ำอ้อย ไม่ใช่เพื่อเงินอย่างเดียว เขามีความสุขจากการที่ผู้อื่นได้กินของตน

 

บทเรียนในการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของชุมชน

ดาวเรือง พืชผล กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จ.ยโสธร เล่าให้ฟังว่า โดยฐานอาชีพจริง ๆ คือชาวนา ส่วนเรื่องรองคือการทำเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน กว่า 100 สายพันธุ์ และค้าขายเมล็ดพันธุ์ข้าว จุดเริ่มจากการที่ชาวนามีปัญหาเมล็ดพันธุ์ ถ้าจะทำเกษตรให้ยั่งยืน ชาวนาต้องมีเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้เอง รัฐเองก็ต้องสนับสนุนพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อมีเมล็ดพันธุ์เหลือใช้ก็คิดถึงการแบ่งปันค้าขาย

การเข้าไปสู่ธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ข้าว จากความสามารถในการผลิตของกลุ่มที่สามารถผลิตพันธุ์ข้าว 30 ตันต่อปี มีเรื่องความน่าเชื่อถือที่ต้องคำนึง เลยกำหนดเงื่อนไขว่าการผลิตต้องปลอดสารเคมี ต้องผลิตในระบบอินทรีย์ ผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ และใช้การปักดำ ใช้แรงงานคน โดยไม่มีข้าวดำ ข้าวดีด ข้าวเด้งปลอมปนมาก และได้ขยับไปสู่เรื่องมาตรฐาน โดยตอนแรกอิงมาตรฐานจากกรมการข้าว ที่ครึ่งกิโลกรัมต้องมีข้าวปนไม่เกิน 5 เมล็ด ต่อมาจึงได้กำหนดมาตรฐานกลุ่มเองเป็น 3 ระดับ

จากนั้นเพื่อสร้างการยอมรับจึงได้มีการไปจัดงาน จัดนิทรรศการของกลุ่มให้ชาวบ้านรู้ว่ากลุ่มนี้มีข้าวปลูกพันธุ์ดี ว่าข้าวพันธุ์ดีเป็นแบบไหน ปนได้เท่าไหร่

ดาวเรือง เล่าให้ฟังต่อว่า การที่กลุ่มสามารถผลิตข้าวพันธุ์ได้ 30 ตัน ด้านหนึ่งก็เหมือนเยอะ แต่เมื่อข้าวปลูกค้างข้ามปี ก็จะทำให้อัตราการงอกลดลง ก็เกิดปัญหา ขายไม่หมดถือว่ามาก ขายหมดถือว่าน้อย ใน 30 ตัน มี 12 สายพันธุ์ และเราต้องสร้างกลไกการควบคุมมาตรฐาน และให้รู้แหล่งผลิตชัดเจน ตอนนี้ขายอยู่ศูนย์เป็นหลัก และก็ขายผ่านเครือข่าย แต่มีปัญหาขายไม่หมด มีปัญหาทำพันธุ์ข้าวพื้นบ้านได้ปริมาณหลายตัน แต่ขายได้น้อย กลุ่มเองก็พยายามปรับตัว และต้องเรียนรู้ความต้องการตลาด และปรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ตามความต้องการของตลาด อย่างข้าวเหนียว กข.6 เป็นต้น ทุกวันนี้ได้ทำยี่ห้อของตนเองเมื่อหน่วยงานรู้ก็เข้ามาดู ถ้าขายในพื้นที่ไม่มีปัญหา แต่ถ้าข้ามเขตก็อาจมีปัญหา และกำลังขอใบอนุญาตการค้า ขออนุญาตดำเนินวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายอยู่

 

แง่มุมประสบการณ์ การสร้างฐานชีวิตที่มั่นคงผ่านเกษตรกรรมยั่งยืน

บำรุง คะโยธา ผู้นำเกษตรกร เล่าประสบการณ์จากนักพัฒนาสู่ฐานเกษตร ให้ฟังว่า เส้นทางเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นเรื่องในเชิงอุดมคติ ซึ่งก็คือความจริง ก่อนที่จะมาทำเกษตรนั้นตนเองก็เป็นกรรมกร ในช่วงตุลาคม ปี 2519 ก็เป็นกรรมกรอยู่ปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งยุคสมัยนั้นเขาพูดกันถึงความเป็นธรรมทางสังคม ใครไม่พูดนี่ผู้หญิงจะไม่คุยด้วยเลย ช่วงนั้นก็ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิแรงงานโรงโม่หิน ช่วยเหลือพี่น้องกรรมกรเรียกร้องเรื่องสวัสดิการ

เมื่อเกิดเหตุตุลาคม 2519 หลายคนก็เข้าป่า แต่ตนเองใจไม่ถึงเพราะต้องส่งน้อง 3 คนเรียน เลยตัดสินใจบวช 1 พรรษา ทำให้ได้เห็นบรรยากาศความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร หลังจากออกพรรษาก็กลับไปทำงานต่ออีก 1 ปี แต่ก็ไม่มีความสุข และเมื่อได้พบกับอาจารย์บัณฑร อ่อนดำ ซึ่งแกได้ให้ทางสว่าง ช่วยชี้ทางจึงได้กลับไปทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ที่ได้รับสนับสนุนทุนจากมูลนิธิโกมล คีมทอง และทำใช้คืนใน 3 ปี

ตอนนั้นเลี้ยงหมูก็ขาดทุน และก็เข้าร่วมกับสหกรณ์หมูที่ออกไปต่อสู้ปิดถนนในหลายครั้ง แต่ชีวิตก็ผกผัน เมื่อเข้าอบรมวิชาการจัดตั้งมวลชน ไปเรียนในสลัม และไปต่อที่อินโดนีเซีย และตอนนั้นอยากเรียนเกษตรจึงได้ไปที่ญี่ปุ่น เรียนกับสถาบันบ้านนอก ไปเรียนอยู่ 1 ปี ครึ่งปีไปตะลอนอยู่ญี่ปุ่น กลับมาเมืองไทยก็มาทำเกษตรอินทรีย์

ในระหว่างนั้นได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนชาวต่างชาติ และได้ฝึกงานอยู่สนามบินนาริตะ เมื่อ 50 กว่าปีก่อน รัฐบาลจะเอาที่นาไปทำสนามบิน ชาวนากว่า 600 ครอบครัวต่อสู้ สู้จนเหลืออยู่ 3 ครอบครัว การต่อสู้ของชาวนานาริตะ ส่งผลทำให้เกิดเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่น คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นกลับไปทำเกษตร โดยที่เขามีวิธีคิดว่าเราจะต่อสู้ทุนนิยมเราต้องออกจากวิถีของมัน ไม่ใช้เคมี แต่จะใช้อินทรีย์ ไม่ขายในห้างก็ขายตรงด้วยตนเอง

ผู้นำเกษตรกร เล่าต่อว่า แต่ไม่นานเพื่อนก็มาลากไปต่อสู้กับโครงการ คจก. ต่อเนื่องไปสมัชชาเกษตรกรรายย่อย จนยุคสมัชชาคนจน กว่าจะกลับบ้านได้ก็อายุมากแล้ว มีช่วงหนึ่งกลับไปฟื้นสหพันธ์ชาวไร่ชาวนา ตอนนั้นคิดอยู่เสมอว่า จะทำเกษตรที่เลี้ยงตัวเองให้ได้ และไม่ขัดกับสิ่งที่เราคิด ไม่เอาเกษตรแบบทุนนิยม เป็นการทำเกษตรที่สบายๆ และสามารถเลี้ยงตนเองได้

ในปี 2542 ได้กลับมาอยู่บ้าน 38 ปี พึ่งข้างนอก 3 ช่วง ช่วงเป็นเลขา สกยอ. ช่วงโครงการนำร่องเกษตรกรรมยั่งยืน และช่วงเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 8 ปี เพิ่งมาทำงานหนักก็สมัยนี้เพื่อเลี้ยงลูกเพราะมีลูกตอนแก่ วันนี้เลยนำยอดมันมาขายด้วย ทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานกับชาวนาไทยเท่านั้นแต่ทำงานกับชาวนาโลกด้วยในเรื่องพันธุกรรมโลก เพราะพระเจ้าให้

พันธุกรรมมาเพื่อทุกคนไม่ใช่แค่กลุ่มธุรกิจเท่านั้น การที่เราจะทำงานกับเกษตรกร เราต้องรู้ด้านการเกษตร ข้อต่อระหว่างการปรับเปลี่ยนเกษตร เกษตรแปลงใหญ่ไม่ใช่ทางออก เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่นโยบายต้องคิดจากฐานเกษตรกร เรื่องพันธุกรรม ทิศทางเกษตร เครือข่ายจะไปทางไหน ต้องคิดลงไปสู่ชาวบ้านด้วย

ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน ในวันที่ 25 พ.ค. 2560 นอกจากจะมีการเสวนาแล้ว ยังมีการสาธิตเทคโนโลยีการเกษตร การแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ การมอบรางวัล และในช่วงท้ายของการจัดงานได้มีการประกาศเจตนารมณ์ของการจัดงานที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางพันธุกรรม สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืนอีกด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ