งานมหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน “ความหลากหลายพันธุกรรม: สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” ชวนแลกเปลี่ยนสถานการณ์นโยบายเกษตร 7 เรื่องที่ต้องจับตา พร้อมฟันเกษตรแปลงใหญ่ ไปไม่ถึงฝัน
รายงานโดย: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
24 พ.ค. 2560 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิชีววิถี สำนักงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันจัดงานมหกรรมพันธุกรรมภาคอีสาน “ความหลากหลายพันธุกรรม: สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 24-25 พ.ค. 2560 ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม
บำรุง คะโยธา อดีตเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กล่าวว่า งานมหกรรมฯ ในครั้งนี้ต้องการชี้ว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เป็นต้นกำเนิดในการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร มีพื้นฐานอยู่ที่การฟื้นฟูศักยภาพและความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกร และภาคีในการอนุรักษ์พัฒนา การเข้าถึง การใช้ประโยชน์ การตระหนักรู้และเท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ ของพันธุกรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย ที่จะนำไปสู่การประกันการผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร
เครือข่ายผู้จัดงานมหกรรม จึงได้ร่วมกันจัดงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด ความสำคัญของการเก็บรักษา และการแบ่งปันพืชอาหาร แลกเปลี่ยนความรู้ ในการทำการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ ผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อสื่อสารรณรงค์สาธารณะให้เห็นถึงความสำคัญ และตระหนักถึงความหลากหลายของพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วิถีการกินอยู่ เพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืน
“ทำพืชเชิงเดี่ยวก็เหมือนซื้อหวย ถ้าหากผลผลิตราคาดี ก็ดีใจเหมือนถูกหวย พอมีเงินไปใช้หนี้ใช้สิน แต่ถ้าราคาตก ถึงขาดทุนก็ต้องยอมขาย”สวาท อุปฮาด กลุ่มเกษตรกรบึงปากเขื่อน จ.ขอนแก่น
สวาท อุปฮาด เล่าในวงเสวนา “การสร้างเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่น” ว่า หลังจากตนเองกลับมาอยู่บ้าน ก็หวังจะปรับเปลี่ยนให้ที่ดินมีคุณค่าสร้างมูลค่ามากขึ้น ชาวบ้านหลายคนมองว่าการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเป็นเรื่องยาก เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้านจริง ๆ ส่วนมากพ่อแม่ปู่ย่าพาทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น แต่นับเป็นโชคดีของตนเองที่ในช่วงการเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินได้มีโอกาสได้ไปพบเกษตรกรจากภาคอื่น ๆ ทำให้ได้เห็นการทำเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถพึ่งพาตนเองจนอยู่ได้
ตนเองมีที่นาประมาณ 20 ไร่ เมื่อก่อนก็ทำนาปี ปีหนึ่งก็ได้ปลูกข้าวครั้งเดียว ถ้าราคาข้าวดีก็ทำให้พอได้ใช้หนี้ ทำให้คิดว่าถ้าเราจะรอผลผลิตในรอบปี แล้วจะเอาอะไรมาแก้ปัญหาหนี้สิน อีกทั้งรายจ่ายในครอบครัว จึงเริ่มปรับการผลิตไม่ทำนาเพียงอย่างเดียว เริ่มสร้างแหล่งน้ำ แบ่งที่ครึ่งหนึ่งไว้เพาะปลูกอย่างอื่น
ทำให้เพาะปลูกและมีรายได้ทั้งปี ซึ่งพอปลูกแล้วมันดี และขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดตลาดในท้องถิ่นพอดี ทำให้ผลผลิตที่ปลูกเอง 20-30 อย่าง สามารถเก็บหมุนเวียนไปสู่ตลาดได้ตลอดทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง และยังทำให้ตนเองไม่ต้องไปหาซื้อกิน แต่ได้เก็บกินจากสิ่งที่ปลูก ซึ่งกินเองไม่หมด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน แบ่งปันกับพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง
สวาท เล่าต่อว่า การทำพืชอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะเรายังมีความต้องการอย่างอื่นอยู่ ปีต่อมาจึงเริ่มเติมเรื่องการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา หลังจากเข้าปีที่ 2 มีกลุ่มเชฟที่ทำร้านอาหารอินทรีย์ มาต่อตรงเพื่อขอรับซื้อผลผลิต ซึ่งตอนนี้มีความต้องการมากขึ้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้การทำเกษตรอย่างเดียวเหมือนซื้อหวย ทำแล้วได้ราคาก็เหมือนถูกหวย ขายได้ราคาดีก็ดีใจ แต่ก็รู้กันว่าตอนนี้ราคาข้าวตกต่ำ 4-8 บาท เมื่อขายก็ขาดทุน สุขภาพก็เสื่อมลง ทรัพยากรก็เสื่อมลง เป็นการเสี่ยงในหลายด้าน
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตนเองแทบไม่ได้ไปตลาดเลยเพราะที่บ้านมีเพียงพอ จะไปบ้างก็ซื้อเฉพาะที่ตนเองต้องการ ทำให้อยู่ได้ มีรายได้ต่อเนื่องไม่ต้องกังวล ทุกวันนี้ได้ส่งของไปตลาดเกือบทุกวัน ทั้งหมู ไก่ ไข่ หลายสิ่งที่เป็นผลผลิตที่ทำขึ้นมาเป็นอินทรีย์ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น มีความสัมพันธ์เข้ามาดูถึงแปลงผลิต ตอนนี้ผักบางอย่าง มีออเดอร์ 30-50 กิโลกรัม เป็นของพื้นบ้านง่าย ๆ แต่ก็เป็นที่ต้องการของตลาด
พื้นที่ที่ผมอยู่นั้นใกล้บึง ในบึงก็มีทรัพยากรอย่างบัว สายบัว หัวบัว สาหร่ายหรือเทา ซึ่งขายดีมาก ทุกวันนี้ชาวบ้านมีรายได้วันละ 1,500-2,000 บาท จากการเก็บเทา หรือหัวบัว ฝักบัว ตอนนี้มีคนหาอยู่ประมาณ 40 ราย เขามีรายได้ เก็บตอนเช้า เที่ยง เย็น วันละ 3 รอบ มีรายได้ถึงวันละ 1,200 บาท ซึ่งเมื่อก่อนนี้ทรัพยากรพวกนี้ไม่มีมูลค่า วันนี้กลายเป็นสิ่งมีค่าจากฐานทรัพยากรในท้องถิ่นสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
ตนเองปลูกผักเข้าปีที่ 3 ข้าวอินทรีย์เข้าปีที่ 8 ไม้ผลอย่างอื่นผลผลิตเริ่มออก เริ่มได้กินผล ถ้าต่อเนื่องอีก 2-3 ปี ที่ทำอยู่นี่คิดว่าจะอยู่ได้ดี วันนี้เอาไปขายที่ตลาดทุกวันศุกร์สัปดาห์ละครั้ง ได้ครั้งละ 5,000-6,000 บาท ขายเนื้อหมูอินทรีย์ขายผลผลิตต่าง ๆ รายได้คิดว่าเพียงพอที่จะใช้จ่ายในครัวเรือน มีความสุขมากกว่าทำอย่างอื่น
ทุกวันศุกร์เราเหมือนไปธนาคาร แต่ต่างที่เบิกเงินที่ตลาดได้เลย มีลูกค้าประจำมารอซื้อตลอด ชีวิตมีความมั่นคงมากขึ้น ถ้าหากจะมองในเชิงธุรกิจ ตนคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ แต่ทุกวันนี้มีรายได้อยู่อย่างเพียงพอ
เมื่อก่อนความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจะสร้างความตื่นตัวในแต่ละเรื่องก็ยาก แต่เมื่อเรามีปัญหาเรื่องสิทธิ์ ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน ที่ดินแถวที่อยู่ประมาณ 2 พันไร่ เกี่ยวข้องกับคน 14 หมู่บ้าน เป็นจุดสำคัญที่ให้เจอผู้มีชะตากรรมเดียวกัน จึงก่อให้เกิดเป็นขบวนการในการสร้างกลุ่มช่วยเหลือและต่อสู้ร่วมกัน
ถามว่าการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตยากไหม คำตอบคือจะยากก็ยาก เพราะชาวบ้านเขาทำกันอย่างนี้มาตลอด ใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้สารเคมี เมื่อจะให้เขาเปลี่ยนจะมีคำถามตามมาเสมอว่าจะทำได้จริงไหม แต่เมื่อลองทำให้ดูตัวอย่าง ปีแรกที่ทำนาอินทรีย์ ข้าวไม่งาม หลายคนก็ยังเฉยๆ ปีที่ 2 ใช้ปุ๋ยคอก ทำให้ข้าวงามขึ้น แต่พอปีที่ 3 ถึงปัจจุบันไม่ใช้อะไรเลย แต่ข้าวก็งามและแข็งแรง ชาวบ้านหลายคนจึงยอมรับและพูดกันไปปากต่อปาก จากที่แต่ก่อนบางคนมีของก็ไม่กล้าไปขายตลาด แต่ตอนนี้ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
สถานการณ์นโยบายเกษตร 7 เรื่องที่ต้องจับตา
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี พูดถึงสถานการณ์นโยบายเกษตรว่า จะมี 7 เรื่องใหญ่ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราจะได้รับผลกระทบ และก็เช่นกันที่เราจะทำให้ทิศทางนโยบายไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องได้ ทั้งนโยบายภายในและที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ คือ
1) การเจรจาระหว่างประเทศ หุ้นส่วนทางการค้าประเทศอาเซม (Asia-Europe Meeting: ASEM) อาเซียน 10 ประเทศ กับประเทศคู่ค้า 6 ประเทศ ที่ยังมีข้อกังวลการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีที่ต้องจับตาความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ด้านพันธุกรรมพืช เพราะมีการผลักดันให้การคุ้มครองพันธุ์พืชกับนักปรับปรุงพันธุ์ให้สิทธิในการคุ้มครอง หากเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์และนำไปเพาะขยายต่อจะเป็นความผิดทางอาญา
2) นโยบายจีเอ็มโอ กำลังจะมีการนำกฎหมายมาเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในการเตรียมการขับเคลื่อน หน่วยงานรัฐในหลายองค์กรก็ไม่เห็นด้วย
3) นโยบายเรื่องสารเคมี ที่เราผลักดันให้มีการแบนฟูราดาน ฯลฯ ตอนนี้บรรลุผลในระดับหนึ่ง และมีการเสนอแบนพาราควอต ซึ่งหลายประเทศได้แบนไปแล้ว 2 เดือนที่แล้วประกาศให้ยกเลิกพาราคอวต และสารเคมีที่ให้มีการยกเลิกซึ่งมีผลต่อสมอง ต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสท ที่เรานำเข้าปีละ 60 ล้านกิโลกรัม แต่กรมวิชาการเกษตร และสื่อมวลชนที่ได้ประโยชน์บางกลุ่ม ก็กำลังไปขับเคลื่อนดึงเรื่องให้ยืดเยื้อออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตา
4) นโยบายการเกษตรที่เกี่ยวโยง คือนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งฟังแล้วดูดี ใช้เครื่องจักรร่วม ซื้อปุ๋ยซื้อยาร่วมราคาลด ซึ่งเป้าสำคัญอยู่ที่พืชอย่างอ้อย และข้าวโพด ซึ่งกลุ่มทุนที่ทำเรื่องนี้ได้เข้าไปนั่งในประชารัฐ
5) นโยบายลดพื้นที่การปลูกข้าว 2 ล้านไร่ ที่อ้างว่าหลายพื้นที่มีความไม่เหมาะสม เพื่อนำไปปลูกอ้อย
6) นโยบายเกษตรยั่งยืนที่มี 3 เรื่องใหญ่ คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กำหนดเป้าหมาย เกษตรยั่งยืน 5 ล้านไร่ ที่จะมีทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่หมุนเวียนก็กำลังขับเคลื่อนผ่าน คกก.ส่งเสริมฯ โดยจะมีการประชุมในระดับภาคซึ่งเราต้องไปผลักดันกันต่อไป
อีกเรื่องคือยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ระหว่างปี 2560-2564 ที่ประกาศจะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์จาก 2 แสนกว่าไร่ เป็น 6 แสนไร่ รวมทั้งนโยบายข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ โครงการที่เรียกกันง่ายๆ ว่า 2 3 4 พัน ที่จะผลักดันข้าวอินทรีย์พื้นที่ใหม่
โดยเกษตรกรเข้าร่วมจะได้เงินสนับสนุนปีแรก 2 พันบาท ปีที่ 2 3 พันบาท ปีที่ 3 4 พันบาท ถ้าจะเข้าร่วมโครงการนี้จะใช้มาตรฐานออแกนนิก ที่หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องมาตรฐานการรับรอง และไปทำลายมาตรฐานการรับรองอย่างอื่น ซึ่งเป็นนโยบายที่รวมศูนย์
7) นับเป็นเรื่องดี ๆ ที่รัฐจะผลักดันนโยบายการสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเราก็ได้ปรับปรุงข้าว และกำลังพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผัก ที่ผ่านมามีการส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่ดำเนินการ แต่ขณะนี้กำลังมีการเริ่มปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพด ของไร่สุวรรณ ที่จับมือกับกระทรวงเกษตรและเครือข่าย จะร่วมกันจัดกระบวนการกับเกษตรกร เป็นทิศทางความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และกำลังจะมีผลในไม่กี่เดือนข้างหน้า หลายอย่างยังไม่จบต้องเคลื่อนกันต่อ
เกษตรแปลงใหญ่ ไปไม่ถึงฝัน
อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวถึงนโยบายภาคเกษตรที่มีผลต่อเกษตรกรรายย่อย และสถานการณ์ในพื้นที่ โดยระบุว่า ปัจจุบันครบ 3 ปี ของการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ปัจจุบันมีข้าวอยู่ในโกดัง 14 ล้านตัน ที่เป็นปัญหาจุกอกรัฐบาล เป็นปัญหาที่หาตลาดระบายข้าวไม่ได้
นโยบายแก้ปัญหาตลาดข้าว ด้านหนึ่งรัฐก็ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยผลักดันนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ข้าว อ้อย มัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในทางการผลิต การต่อรองตลาดของกลุ่มเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงนั้นเกิดขึ้นได้ในเฉพาะบางกลุ่ม บางกลุ่มสมาชิกยังไม่รู้ว่าตนเองก็อยู่ในเกษตรแปลงใหญ่
ในความเป็นจริงเป็นนโยบายที่ล้มเหลว ที่ไปไม่ถึงอำนาจในการจัดการของชาวบ้าน เกษตรแปลงใหญ่จึงเป็นการรวบพื้นที่ให้นายทุน ไปไม่ถึงความเข้มแข็งการจัดการร่วมและการต่อรองของชาวบ้าน
การลดพื้นที่ปลูกข้าว ผลผลิตในปี 2559/2560 ตั้งเป้าจะคุมให้อยู่ที่ 27 ล้านตัน แต่ผลผลิตที่ได้ 33 ล้านตัน จึงมีการตั้งเป้าลดพื้นที่ปลูกข้าว โดยใช้แผนที่ชุดดินเป็นหลักในการกำหนดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวได้เพียงบางพันธุ์ หากใช้การดูแผนที่ชุดดิน หลายพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นนโยบายเดียวแต่ใช้ทั้งประเทศ โดยไม่คำนึงถึงนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่
ในอีกด้านเราควรจะเปลี่ยนเป็นการปลูกข้าวที่เจาะจงตลาด เป็นนิชมาร์เก็ต (Niche Market) หรือตลาดเฉพาะกลุ่มที่ควรส่งเสริมนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว และการอนุมัติเร่งให้สร้างโรงงานน้ำตาลสร้างให้เสร็จในปี 2561 จำนวน 12 โรงงาน อยู่ในอีสาน 8 โรงงาน คือ อำนาจเจริญ สกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เป็นปฏิบัติการลดพื้นที่ปลูกข้าวได้อย่างรวดเร็ว
มีการพูดว่าอีสานน้ำน้อยปลูกอ้อยดีกว่า สมัครปุ๊บได้เงิน 500 ทันที เป็นเรื่องที่จะก่อผลกระทบ ไม่ยากที่คนอีสานจะเรียนรู้เรื่องนี้เพราะมีโรงงานตั้งอยู่แล้ว 20 โรง และปลูกอ้อยมานาน จะเป็นผลให้ฐานทรัพยากรอาหารลดลง ผลที่กำลังจะเกิดขึ้น เฉพาะหน้าก็มีความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งสนับสนุนและต่อต้าน
เกษตรที่ยั่งยืนต้องเข้าถึงความรู้เชิงระบบนิเวศ-ภูมิอากาศ-ระบบเศรษฐกิจ
สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวถึง สถานะความรู้เกษตรยั่งยืนว่า ความรู้เป็นเรื่องที่เกษตรกร และเครือข่ายฯ ต้องการ พัฒนาการเรื่องเกษตรอินทรีย์ ถูกพัฒนามานอกมหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่กับรัฐ แต่อยู่ในแปลงนาชาวบ้าน ความรู้ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นความรู้ที่ชาวบ้านพัฒนามา
ตอนนี้ทำข้าวอินทรีย์ได้ไหม ทำผักอินทรีย์ได้ไหม ขณะนี้ชาวบ้านสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้แล้ว ปัจจุบัน มีคนเข้าใจเกษตรทางเลือกเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีงานวิจัยในปัจจุบันมีเป็นร้อยเรื่อง เป็นความรู้ด้านเทคนิค ตั้งแต่การปรับปรุงดินจนถึงแปรรูป
อย่างไรก็ตามยังคงมีช่องว่างระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน เป็นช่องว่างทางความรู้ ซึ่งต้องมีความรู้ที่ให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างชาวบ้าน และหน่วยงาน ร่วมกัน ตอนนี้มีไปถึงเรื่องช่างชาวนา น่าจะมีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ทิศทางปัญหาที่เราต้องเผชิญคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ บางพื้นที่ได้ข้าวดี บางที่ไม่ดี บางแห่งปลูกแตงโมดี บางพื้นที่ไม่ดี เป็นความเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ภูมิอากาศ และระบบการเกษตร พืชหลังนา การเลี้ยงสัตว์ แล้วจะช่วยเหลือเรื่องเกษตรอย่างไร ความรู้นิเวศ ระบบภูมิอากาศเราต้องมีความรู้
รวมทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคาข้าวไม่ดี สิ่งที่ต้องคิดไปข้างหน้าเรื่องเศรษฐกิจ เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ เราจะอยู่อย่างไรในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิมมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น และสังคมมีความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ ลูกหลาน คนข้างนอกซื้อที่ทำเกษตร สังคมเปลี่ยน เครือข่ายต้องคิดอีกแบบ จะเชื่อมโยงรวมกลุ่มกันแบบไหน
ความรู้ลักษณะนี้ต้องมีการศึกษา เพราะปัจจุบันไม่มีสังคมชาวนาแล้วหรือไม่ แต่เป็นสังคมผู้ประกอบการ จริงไหม ต้องรวมกลุ่ม แปรรูป ขายผลผลิต ถ้าไม่ทำก็อยู่ลำบาก สถานะทางสังคมจะเป็นอย่างไร เป็นสังคมที่ผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลง เป็นโจทย์ร่วมของคนในสังคม
ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่เราผลิตมีคุณค่าความหมายอย่างไรในสังคม เศรษฐกิจท้องถิ่น เราคงต้องชัดเจนว่าเราไม่ได้ทำการผลิตอย่างเดียว แต่ลุกขึ้นมาประกอบการ จับมือกับรายย่อย ระหว่างภาคอย่างไร
ในยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์มีข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับความรู้ ทั้งที่ความรู้จะมีบทบาทต่อเกษตรกร และผู้บริโภค เราควรเสนอความรู้ที่เราต้องการ ควรมีข้อเสนอกลับไปที่หน่วยงานรัฐ ถ้ากลไกในพื้นที่ทำได้ ก็เสนอไม่แค่เสนอจากเคมีเป็นอินทรีย์อย่างเดียว แต่เกี่ยวพันธ์กับระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึง
ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมครั้งนี้ นอกจากจะมีการเสวนาทางวิชาการแล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ การสาธิตการแปรรูปผลผลิต เทคโนโลยีการเกษตร การชิมข้าวหลากสายพันธุ์ การประกวดพันธุ์ข้าวอีกด้วย