‘เตือนใจ’ แนะการพัฒนาที่เป็นธรรม ชาวบ้านต้องใช้ SDGs เป็นเครื่องมือต่อสู้

‘เตือนใจ’ แนะการพัฒนาที่เป็นธรรม ชาวบ้านต้องใช้ SDGs เป็นเครื่องมือต่อสู้

‘เตือนใจ ดีเทศน์’ ร่วมเวทีระดมความคิด ‘ปัญหาการพัฒนาชุมชน : ชุมชนท้องถิ่นใต้ขอบฟ้าอุษาคเนย์ ครั้งที่ 5’ ชี้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรุกภาคอีสาน กระทบทั้งปัญหาที่ดิน-แรงงาน แนะภาคประชาชนสร้างเครือข่ายมุ่งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือสู้

รายงานโดย : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
ภาพ : นิสิตสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มมส

วันนี้ (8 พ.ค. 2560) สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่นอุดรธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน Focus on the Global South สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนา “ปัญหาการพัฒนาชุมชน : ชุมชนท้องถิ่นใต้ขอบฟ้าอุษาคเนย์ ครั้งที่ 5”

เพื่อเปิดมุมมอง สะท้อนความคิด ให้นิสิตมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดประชุมเชิงวิชาการด้านการพัฒนาชุมชน รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ของชุมชน นโยบายรัฐด้านการพัฒนาชุมชน และปัญหางานพัฒนาชุมชนของไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ชุมชนจะอยู่อย่างไร ภายใต้กระแสการพัฒนา” โดยระบุว่า ทิศทางการพัฒนาในภาคอีสานจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ที่มุ่งเน้นเชื่อมโยงการลงทุน ระบบการขนส่งให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว หากจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องมีการเชื่อมโครงข่ายเส้นทางรถไฟในอาเซียน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ โครงข่ายทางหลวงไฮเวย์ และโครงข่ายพลังไฟฟ้า เขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำเทิน และเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน และทิศทางการพัฒนาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มองว่าภาคอีสานจะเป็นฐานผลิตพืชอาหาร พลังงานทดแทน เป็นฐานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเอทานอล รวมทั้งเป็นประตูการค้า การท่องเที่ยวสู่อินโดจีน และแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี อย่างเช่นในแถบอีสานใต้

ภายใต้ข้อตกลงในระดับโลกระดับภูมิภาค ย่อมมีอิทธิพลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ และก่อให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง ในบ้านเรารัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนิคมอุตสาหกรรม ภาคอีสานมี 2 จังหวัด คือหนองคาย และมุกดาหาร ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีปัจจัยที่รองรับ ที่ดิน ระบบการขนส่ง ไฟฟ้า แหล่งน้ำ แรงงาน และวัตถุดิบที่จะป้อนอุตสาหกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีข้อร้องเรียนมาถึง อนุฯ กสม. ในด้านที่ดิน เกิดการเวนคืนที่ดินจากประชาชน ที่ดินสาธารณะ ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ การกว้านซื้อที่ดิน ตัวอย่างการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่แม่สอด หรือที่ทุ่งงิ้ว จ.เชียงราย  การก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี บางปะอิน-โคราช การเวนคืนที่ดินก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ในด้านแรงงาน การเคลื่อนย้านแรงงานข้ามชาติ คนในอีสานจะเคลื่อนไปสู่แรงงานในอุตสาหกรรมและบริการ ด้านแหล่งน้ำ จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองของอุตสาหกรรม เช่น โครงการผันน้ำโขงชีมูล การขยายตัวของพืชที่เป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรม อ้อย ยางพารา ยูคาลิปตัส และระบบเกษตรแปลงใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยี สวนทางกับแนวเกษตรพอเพียง คนจะมุ่งทำการเกษตรในเชิงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น กรณีตัวอย่างที่ จ.เชียงราย มีการเช่าที่ปลูกกล้วยหอม โรงงานน้ำตาลที่ จ.สกลนคร กรณีเหมืองแร่โปแตสที่ อ.วานรนิวาส จ.อุดรธานี และการขุดเจาะปิโตเลียมที่บ้านนามูล จ.ขอนแก่น เป็นต้น

“สหประชาชาติได้กำหนดวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย 5 หลักการสำคัญ จะเป็นเครื่องมือของภาคประชาชนสามารถนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประชาชนต้องได้รับประโยชน์จาการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ชาวบ้านต้องรวมกลุ่ม ทำงานเครือข่าย สร้างเครือข่าย เป็นเครื่องมือของภาคประชาชน ที่จะเป็นพลัง หากชาวบ้านรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่น ไม่แตกคอกัน เป็นหนทางสู่ชัยชนะ” ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และทรัพยากร กล่าว

ทั้งนี้ในการสัมมนาทางวิชาการ มีหัวข้อสำคัญในการอภิปรายรวม 7 หัวข้อ ที่เริ่มต้นด้วย “ชุมชนจะอยู่อย่างไรภายใต้กระแสการพัฒนา” การอภิปราย “เสรีนิยมใหม่เหนือขอบฟ้าอุษาคเนย์” การแบ่งกลุ่มย่อย “การเปลี่ยนแปลงสังคมอีสาน และการรับมือของชุมชน” “เสียงจากราวป่า” “สวัสดิการสังคมสู่สังคมสวัสดิการและกระบวนการจัดการความเสี่ยงของกองทุนสวัสดิการชุมชนอีสาน” “การพัฒนาและการใช้ทรัพยากร ภัยพิบัติและการฟื้นฟู” และ “การพัฒนาอนุภาคลุ่มน้ำโขง” ซึ่งมีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้ได้รับผลกระทบ นิสิตและหน่วยงานเข้าร่วมอภิปราย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ