คนอีสานถกปัญหา ‘อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล’ ชี้ ‘นิเวศอีสาน’ ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก

คนอีสานถกปัญหา ‘อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล’ ชี้ ‘นิเวศอีสาน’ ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก

ภาคประชาชนอีสานจัดวงร่วมวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล และสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ก่อนประกาศ “มูนมังต้องหวงแหนรักษา นิเวศอีสาน ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก” ชี้นโยบายส่งเสริมการเกษตรต้องเหมาะสมกับระบบนิเวศ-สภาพสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล

20 เม.ย.2560 ตัวแทนจากภาคประชาสังคม เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นักวิชาการ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน และชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสาน อาทิ อำนาจเจริญ ยโสธร ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สกลนคร เลย และสุรินทร์ ร่วมจัดสัมมนา นิเวศอีสาน เกษตรวิถี : อุตสาหกรรมน้ำตาล “อ้อยโรงงานพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลอีสาน” ความท้าทายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ณ อาคารรัตนพิทยา ชั้น 4 ห้อง 4 A1-A3 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลทั้งระบบ สถานการณ์ทางนโยบาย และสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่

มูนมังต้องหวงแหนรักษา นิเวศอีสาน ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก20 เมษายน 2560 ตัวแทนจากภาคประชาสังคม เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นักวิชาการ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน อำนาจเจริญ ยโสธร ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สกลนคร เลย และสุรินทร์ ประมาณ 60 คน ได้จัดสัมมนานิเวศอีสาน เกษตรวิถี : อุตสาหกรรมน้ำตาล “อ้อยโรงงานพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลอีสาน” ความท้าทายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ณ อาคารรัตนพิทยา ชั้น 4 ห้อง 4 A1-A3 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทั้งระบบ สถานการณ์ทางนโยบาย และสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ โดยมีการแถลงคำประกาศ “มูนมังต้องหวงแหนรักษา นิเวศอีสาน ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก”ซึ่งมีข้อเสนอเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคอีสานต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและสภาพสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นซึ่งดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงทางอาหาร การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น นโยบาย การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการพัฒนาที่ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างกว้างขวาง ควรใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเป็นสิทธิชุมชนที่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการกำหนดอนาคตของตนเอง 2. รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดของที่ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ โรงงานน้ำตาลขอย้ายที่ตั้ง และโรงงานน้ำตาลขอขยายการผลิตเพิ่ม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานผลิตเอทานอล หรือโรงงานอื่นที่มีการขออนุญาติพร้อมกัน และสถานะปัจจุบันของโรงงานทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูล

โพสต์โดย Rungroj Petcharaburanin เมื่อ วันพุธที่ 19 เมษายน 2017

ที่มา: Rungroj Petcharaburanin

สืบเนื่องจาก เมื่อปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 10 แห่ง ในจังหวัดภาคอีสาน 8 จังหวัด เป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอีกกว่า 2 ล้านไร่ โดยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ได้ศึกษา หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งนี้ 10 โรงงานใหม่ที่เพิ่งได้รับอนุมตินี้จะต้องทำอีไอเอให้เสร็จภายใน 1 ปี และต้องเปิดดำเนินการโรงงานให้ได้ภายใน 5 ปี

ขณะที่ อุตสาหกรรมน้ำตาลถูกระบุว่าเป็นระบบผูกขาดที่เข้มแข็งที่สุด อ้อยเป็นพืชที่มีกฎหมายมีโครงสร้างของตัวเองเต็มรูปแบบ มีคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล มีสมาคมชาวไร่อ้อยแทบทุกจังหวัด มีระบบโควตาซึ่งกลายเป็นผู้อิทธิพลในท้องถิ่น และการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาลผูกขาดไว้เฉพาะแค่ผู้ประกอบการรายเดิมเท่านั้น

ทั้งนี้ ในการจัดเสวนามีการแถลงคำประกาศ “มูนมังต้องหวงแหนรักษา นิเวศอีสาน ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก” ซึ่งมีข้อเสนอเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในภาคอีสานต่อรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและสภาพสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นซึ่งดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงทางอาหาร การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น นโยบาย การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการพัฒนาที่ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างกว้างขวาง ควรใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเป็นสิทธิชุมชนที่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการกำหนดอนาคตของตนเอง

2. รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดของที่ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ โรงงานน้ำตาลขอย้ายที่ตั้ง และโรงงานน้ำตาลขอขยายการผลิตเพิ่ม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานผลิตเอทานอล หรือโรงงานอื่นที่มีการขออนุญาติพร้อมกัน และสถานะปัจจุบันของโรงงานทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูล

000

ประกาศ
นิเวศอีสาน ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีกแล้ว
โดย เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคอีสาน

ก่อนปฏิวัติเขียวจะนำพืชเชิงเดี่ยวเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทย ภายใต้ปฐมบทของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 อีสานเคยมีผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา ป่าโคก ป่าดอน ห้วย หนอง กุด บุ่ง ทาม นา ได้สร้างวิถีชีวิตสร้างวัฒนธรรม “เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน” อาศัยพึ่งพิงและดูแลธรรมชาติ เพียงพอยังชีพ เป็นมังมูนสืบสานส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ผ่านยุคสมัยแห่งการรุกคืบของ ปอแก้ว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน พื้นที่ทางการเกษตรในภาคอีสาน 37.4 ล้านไร่ กลายสภาพเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปแล้วกว่า 14.7 ล้านไร่ วัฒนธรรมเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน เปลี่ยนไปเป็น ซื้ออยู่ซื้อกิน และเชื่ออยู่เชื่อกินในขั้นเลวร้าย ครอบครัวบ่เคยอึดอยากกลับตกต่ำยากจน หนี้สินรุงรัง ที่ดินหลุดมือ นาไม่ได้ดำ น้ำไม่ได้ตัก ผักไม่ได้ปลูก ลูกไม่ได้เลี้ยง หนุ่มสาวผันตัวไปเป็นแรงงาน ย้ายถิ่นที่อยู่ พ่อแม่ลูกหลานล้วนเป็นกำพร้า

การแย่งยึดพื้นที่ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมเป็นสถานการณ์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง วิถีชีวิตชุมชนอีสานต้องเผชิญกับผลกระทบด้านต่างๆ ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เป็นต้น แต่ในขณะที่ปัญหานับวันยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงและทวีความซ้ำซ้อน ภายใต้การเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11 รัฐบาลได้ซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ 12 แห่ง ซึ่งโรงงาน 10 แห่งในจำนวนนี้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสาน 8 จังหวัด รวมถึงการดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่

คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) เป้าหมายคือการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 MW เพิ่มการผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร และได้ผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทย โดยจะประกาศพื้นที่ 1,000 ไร่ บริเวณ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่นำร่อง “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร” และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเปิดให้โรงงานน้ำตาลสามารถขยายฐานการผลิตได้โดยไม่มีข้อจำกัด และเปิดให้มีการตั้งโรงงานประเภทอื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ แต่ไม่ได้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานผลิตเอทานอล โรงงานผลิตพลาสติกและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ โรงงานผลิตกรดต่างๆ ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อยไม่น้อยกว่า 6 ล้านไร่ รวมถึงการขยายพืชเชิงเดี่ยวเป็นแปลงใหญ่ชนิดอื่นๆ โดยมีอีสานเป็นเป้าหมาย ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นานที่ดินเกษตรกรรมของภาคอีสานเกินกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

แม้ในอดีตพืชเชิงเดี่ยวได้บุกม้างป่าโคก ป่าดอน ไถนาดอนไปจนเกือบหมดแล้ว แต่อีกไม่นานอีสานกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ในการ “ไถโพนทิ่ม ม้างคันแทนา” ซึ่งจะทำให้คุณค่าของระบบนิเวศ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของอีสานถูกบดบังและถูกทำลายจนเข้าสู่ภาวะวิกฤต

เศรษฐกิจพืชเชิงเดี่ยวที่สร้างผลประโยชน์แก่นายทุนในการขยายการผลิตเพื่อสร้างกำไร จะนำพาชุมชนไปสู่หนี้สินมากยิ่งขึ้น ดินน้ำป่าแหล่งอาหารเสื่อมโทรมกลายเป็นแหล่งรองรับและสะสมสารเคมีอันตราย ข้าว ปลา พืชพรรณพื้นบ้าน อาหารตามฤดูกาล ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตจะยิ่งลดลงและหายไป

หลายสิบปีหลังเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรกรรมด้วยการปฏิวัติเขียวและลัทธิบริโภคนิยม ชาวอีสานมีบทเรียนและตระหนักแล้วว่าอุดมการณ์ของระบบเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชุมชนที่สั่งสมมายาวนาน เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเติบโตจากภายใน สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนอีสานที่มีมิติด้านศีลธรรม ความเคารพต่อธรรมชาติ และการพึ่งตนเอง

ณ เวลานี้ คำประกาศของพวกเราเป็นฉันทามติ

มูนมังต้องหวงแหนรักษา ระบบนิเวศ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาต้องได้รับการฟื้นฟู คืนสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ปกป้องไม่ให้ชุมชนล่มสลาย

“นิเวศอีสาน ไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีกแล้ว”

ข้อเสนอ

1.รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและสภาพสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นซึ่งดำรงไว้ซึ่งความมั่งคงทางอาหาร การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น นโยบาย การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างกว้างขวาง ควรใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเป็นสิทธิชุมชนที่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการกำหนดอนาคตของตนเอง

2. รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดของที่ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ โรงงานน้ำตาลขอย้ายที่ตั้ง และโรงงานน้ำตาลขอขยายการผลิตเพิ่ม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานผลิตเอทานอล หรือโรงงานอื่นที่มีการขออนุญาตพร้อมกัน และสถานะปัจจุบันของโรงงานทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ