มนตรี จันทวงศ์ – มติ ครม.ระเบิดแก่ง คำถามต่อความรับผิดชอบต่ออธิปไตยของรัฐ

มนตรี จันทวงศ์ – มติ ครม.ระเบิดแก่ง คำถามต่อความรับผิดชอบต่ออธิปไตยของรัฐ

มนตรี จันทวงศ์

เหตุการณ์ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนกับหน่วยงานอย่างกรมเจ้าท่า รีบร้อนมาพูดคุยกับกลุ่มรักษ์เชียงของในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นในวันที่ 27 ธันวาคม คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2558 – 2568 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ รวมทั้งหลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็ปรากฏเรือสำรวจของจีน ลอยลำอยู่แถว ๆ อำเภอเชียงของ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยขึ้นไปซีลอุปกรณ์สำรวจ (พอเป็นพิธี) และรองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวอ้างว่าการปรับปรุงร่องน้ำ(ระเบิดแก่ง) ให้เรือขนาด 500 ตัน(DWT)เดินเรือได้ จะได้ประโยชน์ในการลดต้นทุนค่าขนส่งได้มากถึง 10 เท่า เหตุการณ์ทั้งสามสี่อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน เพียงแต่ในระยะสั้น ๆ เฉพาะหน้าในขณะนั้น ภาพความเกี่ยวข้องกันของสี่เหตุการณ์นี้ ยังอาจไม่ชัดเจนมากนัก แต่ถึงวันนี้ก็มีความแจ่มชัดมากขึ้นทั้งที่มาและที่จะไปข้างหน้า ที่ประมวลสรุปได้ดังนี้

ที่มาของเรื่องเริ่มด้วย จดหมายของกระทรวงคมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในเรื่องแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2558 – 2568 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ได้กล่าวถึงความเป็นมาและเหตุผลที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยสรุปคือ

1. รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของจีน ลาว เมียนมา และไทย ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2543 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 และหลังจากนั้น ในวันที่ 15 มีนาคม 2544 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงสี่ฝ่ายว่าด้วยการเดินเรือเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือ JCCCN ซึ่งมีภาคผนวกแนบท้าย 6 ฉบับ โดยเฉพาะในภาคผนวกฉบับที่ 3 เป็นเอกสารแนบท้ายบันทึกความเข้าใจ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ให้ประเทศสมาชิกพึงใช้มาตรการที่จำเป็นในการขจัดอุปสรรคและอันตรายใดๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ รวมถึงร่วมมือกันในการรักษาและปรับปรุงทางเดินเรือในแม่น้ำโขงบริเวณที่ไหลผ่านประเทศสมาชิก” และ “จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึก (Thalweg) กระแสน้ำ รวมถึงเส้นเขตแดนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศสมาชิก”

2. คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ในวันที่ 29 มกราคม 2545 และเป็นที่มาของแผนงานปรับปรุงร่องน้ำ 2 ระยะ คือ การปรับปรุงร่องน้ำให้เรือขนาดไม่น้อยกว่า 100 ตัน(DWT) เดินเรือได้ภายในปี 2545 และเรือขนาด 300-500 ตัน(DWT) เดินเรือได้ภายในปี 2550 ตามลำดับ ซึ่งมีการดำเนินการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำในระยะแรกไปแล้ว เป็นระยะทาง 231 กิโลเมตร จำนวน 11 แก่ง ซึ่งยังคงไม่สามารถดำเนินการได้เพียงแห่งเดียวคือ แก่งคอนผีหลวง(หรือแก่งคอนผีหลง) ด้วยเหตุผลว่า ต้องมีการหารือในเรื่องการปักหลักเขตแดนให้เรียบร้อยก่อน

แผนการระเบิดแก่งคอนผีหลง ในปี 2545 นำไปสู่การประท้วงทั้งจากชุมชนท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องผลกระทบด้านชุมชน สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศแม่น้ำโขง และเขตแดนระหว่างประเทศ การเคลื่อนไหวในขณะนั้นได้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาล ต้องสั่งให้กรมเจ้าท่าดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการระเบิดแก่ง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับลาว และในที่สุดก็ต้องชะลอออกไป เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเขตแดนระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง

ความพยายามของจีนหวนกลับมาเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ด้วยการผลักดันผ่านกรรมการ JCCCN จนได้ข้อสรุปในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ให้รับรองแผนการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 และนำไปสู่ แผนงานการดำเนินงานเบื้องต้น โครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการสำรวจศึกษา ออกแบบการปรับปรุงร่องน้ำระหว่างชายแดนจีนถึงเมืองหลวงพระบาง มีระยะเวลา 365 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ถึงเดือนเมษายน 2560 โดยคณะสำรวจจากจีน เมียนมา และลาว และเป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมต้องเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งแผนการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. 2558-2568 และ แผนการดำเนินการเบื้องต้นฯ ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เนื่องจากการสำรวจในแม่น้ำโขงส่วนอื่นได้เสร็จสิ้นแล้ว คงเหลือเพียงแม่น้ำโขงส่วนที่เป็นเขตแดนไทย-ลาวเท่านั้น

แผนการเดินเรือฯ ฉบับใหม่นี้ เพื่อรองรับเรือ 500 ตัน(DWT) ประกอบด้วย กรอบแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือ พัฒนาร่องน้ำทางเดินเรือ เครื่องหมายช่วยการเดินเรือ พัฒนาระบบสนับสนุนการเดินเรือ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต่อสร้างเรือช่วยเหลือกู้ภัย การอบรมคนประจำเรือและบุคลากรบนฝั่ง จัดทำระบบสารสนเทศ และแบ่งการดำเนินการไว้ 2 ระยะ คือ ในระยะแรก (2558-2563) จะดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 631 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-เมียนมาถึงหลวงพระบาง และระยะที่สอง (2563-2568) จะดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กิโลเมตร จากเมืองซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา งบประมาณทั้งสองระยะ รัฐบาลจีนเป็นผู้จัดหาผ่าน China-ASEAN Maritime Cooperation Fund จำนวนประมาณ 377 และ 278 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ และเนื่องจากเป็นการใช้เงินจากจีน ดังนั้นการจัดหาบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาในโครงการนี้ จึงมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นบริษัทจากประเทศจีนเท่านั้น

ดังนั้นโดยนัยยะของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมนั้น จึงเป็นการรื้อฟื้นและผลักดันโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่เรื่องนี้ต้องชะลอไปกว่าทศวรรษ ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติยังจะต้องมีขั้นตอนของการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ขอความเห็นจากประเทศในลุ่มน้ำโขง และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในลำดับสุดท้าย แต่ก็เป็นเพียงพิธีกรรมอำพราง ที่จะต้องให้มีการระเบิดแก่งให้ได้ตามแผนระยะที่ 1 ในช่วงปี 2558-2563 เพื่อให้เรือขนาด 500 ตันของจีนเดินเรือได้ในที่สุด

ประเด็นสำคัญที่ทำให้โครงการระเบิดแก่งต้องชะลอมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งรัฐบาลในอดีตได้วางกรอบไว้คือ “จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึก (Thalweg) กระแสน้ำ รวมถึงเส้นเขตแดนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศสมาชิก” และในประเด็นปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ตอบกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต่างมีข้อห่วงใยในเรื่องแทบทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นจากกรมแผนที่ทหาร มีความชัดเจน กล่าวคือ“ปัจจุบันคณะทำงานจัดทำร่างแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่(TOR) ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางน้ำร่วมระหว่างไทย-ลาว ยังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง แต่ละฝ่ายยังมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีการกำหนดเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยเห็นว่าควรใช้ร่องน้ำลึก ณ วันสำรวจ ส่วนฝ่ายลาวเห็นว่าควรกำหนดเส้นเขตแดนไปตาม Trace de la Frontiere Franco – Siamoise du Mekong (มาตราส่วน 1 : 25,000 ฉบับปี ค.ศ.1928-1931)

กรมแผนที่ทหาร มีความเห็นว่าการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึกในอนาคตของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในแม่น้ำโขง ตามวิธีการทางเทคนิคของฝ่ายไทยต้องการใช้ร่องน้ำลึก ณ วันสำรวจ มากำหนดเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตามหากการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือดังกล่าว โดยการดำเนินการไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึก (Thalweg) กระแสน้ำ รวมถึงเส้นเขตแดนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศสมาชิกแล้ว ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามแผนพัฒนาการเดินเรือดังกล่าวอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อมิให้ฝ่ายไทยเสียท่าทีในการเจรจาทางเทคนิค เพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในแม่น้ำโขงภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-ลาว ในอนาคตต่อไป”

กล่าวได้ว่า กรมแผนที่ทหารซึ่งมีหน้าโดยตรง ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในแม่น้ำโขง ยังคงยึดหลักการ  “ไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึก (Thalweg) กระแสน้ำ รวมถึงเส้นเขตแดนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ” และมีความกังวลว่าฝ่ายไทยจะเสียท่าทีในการเจรจาทางเทคนิคในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเรื่องเขตอธิปไตยของดินแดน และไม่ว่าด้วยเหตุผลใด จดหมายนำส่งของกระทรวงคมนาคมต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 ธันวาคม 2559 เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีนั้น กลับไม่ปรากฏความเห็นของกรมแผนที่ทหาร ประกอบแนบไปด้วย มีเพียงความเห็นจากส่วนราชการอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการเจรจาเขตแดนระหว่างประเทศ

กลับมาที่ภาพของเหตุการณ์ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น บริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนกับกรมเจ้าท่า มาทำท่าทีขอพูดคุยกับกลุ่มรักษ์เชียงของ ก็เพื่อสร้างภาพเรื่องการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคม และเก็บแต้มความรู้สึกเป็นมิตรไว้ก่อน ในเวลาเดียวกันกับที่กรมเจ้าท่าอีกพวกหนึ่ง กำลังสาละวนกับการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพราะเรือสำรวจของจีน สำรวจแม่น้ำโขงส่วนอื่นเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่เฉพาะเขตแดนไทย-ลาว ซึ่งจะครบกำหนดต้องแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2560 ขณะที่รองอธิบดีก็เบี่ยงประเด็นไปในเรื่องผลประโยชน์ด้านต้นทุนที่ลดลง 10 เท่า ซึ่งไม่มีอะไรอ้างอิงคำพูดนี้ได้ แม้ในจดหมายที่เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ก็มิได้กล่าวถึงผลประโยชน์ด้านนี้ไว้เลย มีแต่ผลประโยชน์การเดินเรือของจีนเป็นหลักเท่านั้น

ณ วันนี้ หากพิจารณาเพียงมิติของมติคณะรัฐมนตรี ในโครงการระเบิดแก่งนี้ ความหวังในเรื่องการปกป้องรักษาเขตอธิปไตยแห่งดินแดนของรัฐไทย ยังคงเป็นคำถามต่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้ทั้งคณะ ว่าจะรับผิดชอบต่อความสูญเสียอย่างไรในอนาคต

อะไรเอ่ย………….ข้อกังวลการระเบิดเกาะแก่ง แม่น้ำโขง

โพสต์โดย ทรายโขง ณผาถ่าน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2016

คลิปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559  ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนกับหน่วยงานอย่างกรมเจ้าท่า มาพูดคุยกับกลุ่มรักษ์เชียงของ  Live โดย ทรายโขง ณ ผาถ่าน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ