3 ปี ‘บิลลี่’ สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ร้องเร่งคืนความจริงและความยุติธรรม-ยุติการบังคับให้สูญหาย

3 ปี ‘บิลลี่’ สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ร้องเร่งคืนความจริงและความยุติธรรม-ยุติการบังคับให้สูญหาย

ครบรอบ 3 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหาย และเร่งค้นหาความจริงต่อการสูญหายอย่างเร่งด่วน

17 เม.ย.2560 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยแพร่แถลงการณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปี การหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ที่ด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม และการสืบสวนหาข้อเท็จจริงยังไม่มีความคืบหน้า

แถลงการณ์ของ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายและเร่งค้นหาความจริงต่อการสูญหายอย่างเร่งด่วน 4 ข้อ คือ 1.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนในการรับคดีบิลลี่และกรณีการบังคับสูญหายอื่นๆ อาทิ นายเด่น คำแหล้ เป็นคดีพิเศษ และต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายและนำผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

2.รัฐต้องเร่งดำเนินการตราร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … อย่างเร่งด่วน และทำให้เนื้อหาของกฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศในการป้องกันการกระทำผิด และมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3. รัฐต้องทบทวน ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้เป็นเวลานานและโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ

4. รัฐต้องเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาปรากฏแล้วว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นเรื่องที่ดินตกเป็นเป้าของการบังคับสูญหายและสังหารอยู่เสมอๆ ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหา รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน/ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกขั้นตอน ไม่ใช่กีดกันประชาชนออกไปและตัดสินใจโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว และรัฐต้องให้การเคารพสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ รายละเอียดของแถลงการณ์ดังกล่าวมีดังนี้

แถลงการณ์ “3 ปีบิลลี่ เร่งคืนความจริงและความยุติธรรม”

3 ปีแล้วที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นบิลลี่ได้หายตัวไปโดยไม่ทราบชะตากรรมจนกระทั่งปัจจุบัน

บิลลี่เป็นนักปกป้องสิทธิชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และผู้ช่วยทนายความในคดีที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งกระจานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แม้จะปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว ขณะที่บิลลี่หายตัวไปนั้นอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว

หลังจากที่บิลลี่หายตัวไป ครอบครัวได้พยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนหาตัวบิลลี่และนำตัวผู้กระทำมาลงโทษ ผ่านการใช้กลไกทางกฎหมายหลากหลายช่องทาง แต่ผ่านไป 3 ปี กระบวนการยุติธรรมยังหยุดชะงักอยู่ที่ชั้นสอบสวน

ที่ผ่านมาภรรยาของบิลลี่ได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาดำเนินการสืบสวนสอบสวนในกรณีนี้ แต่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 มกราคม 2560 ถึงนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ แจ้งว่าคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยมติดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมวันที่ 10 มิถุนายน 2559 หรือราว 7 เดือนที่แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมการแจ้งเรื่องดังกล่าวถึงล่าช้าตั้ง 7 เดือน แม้ล่าสุดในระหว่างที่ประเทศไทยต้องไปรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีข่าวว่านายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดีเอสไอ ดำเนินการสืบสวนคดีทนายสมชายและคดีบิลลี่ต่อไป แต่ก็ยังไม่มีเอกสารที่เป็นทางการออกมายื่นยัน

อีกทั้งเหตุผลของการไม่รับกรณีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยการอ้างว่าการสืบสวนดำเนินมาเป็นเวลานานแล้วไม่มีความคืบหน้าก็ดี หรือการอ้างว่านางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ยื่นคำร้อง ไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของบิลลี่ จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องก็ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลและเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อที่ถูกบังคับสูญหาย

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องไปรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีข่าวว่านายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสืบสวนคดีบิลลี่ต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฎเอกสารที่เป็นทางการว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีสิ่งน่ากังวลเกิดขึ้น เมื่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินการร่างขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายมานานหลายปี ผ่านการรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นความหวังในการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อที่ถูกบังคับสูญหายและครอบครัว แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีกลับไป โดยอ้างว่าไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้าน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายฉบับ สามารถออกมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ถูกแต่งตั้งขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร แม้จะมีเสียงคัดค้านมากมาย อาทิ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจในการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านดังเช่นร่างพระราชบัญญัตินี้

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีแกนนำชาวบ้าน นักเคลื่อนไหว นักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกคุกคาม สังหาร บังคับให้หายสาบสูญอยู่เสมอๆ การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติมักจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมารัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการค้นหาความจริงเพื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมได้

กรณีของทนายสมชาย นายบิลลี่ และนายเด่น คำแหล้ประธานโฉนดชุมชนโคกยาวที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายกรณี ซึ่งความล้มเหลวในการค้นหาความจริงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา รวมถึงขาดกลไกในการค้นหาความจริงที่เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายและเร่งค้นหาความจริงต่อการสูญหายอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

1. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนในการรับคดีบิลลี่และกรณีการบังคับสูญหายอื่นๆ อาทิ นายเด่น คำแหล้ เป็นคดีพิเศษ และต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายและนำผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและอำนาจพิเศษเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนอาชญากรรมร้ายแรงหรือมีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งกรณีการบังคับสูญหาย เป็นการทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นคดีที่ซับซ้อน ยุ่งยากต่อการสืบสวนสอบสวน อีกทั้ง ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในคดีมักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น การดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เทคนิคเฉพาะเพื่อคลี่คลายคดี เพื่อคืนความจริงและความยุติธรรมต่อผู้เสียหาย และหยุดยั้งวงจรอุบาทของการบังคับสูญหายและการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

2. รัฐต้องเร่งดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … อย่างเร่งด่วน และทำให้เนื้อหาของกฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศในการป้องกันการกระทำผิดและมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3. รัฐต้องทบทวน ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้เป็นเวลานานและโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ

4. รัฐต้องเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาปรากฏแล้วว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นเรื่องที่ดินตกเป็นเป้าของการบังคับสูญหายและสังหารอยู่เสมอๆ ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหา รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน/ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกขั้นตอน ไม่ใช่กีดกันประชาชนออกไปและตัดสินใจโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว และรัฐต้องให้การเคารพสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ