เรื่อง : แพร อารียา ติวะสุระเดช
เสียงเครื่องยนต์ของเรือโดยสารดัง ตรืออออออออออออออ
นี่มันก็วันที่ 5 แล้วในการเดินทางรอบโตนเลสาบ แพรออกมาสำรวจความเป็นอยู่ของคนในทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำโขงกับเพื่อนกลุ่มใหม่ที่เราเพิ่งเจอกันครั้งเมื่อ 5 วันที่แล้ว
เรือของเราเป็นเรือขนาดปานกลาง จุคนได้มากสุดก็คงไม่เกิน 10 คน
มองไปข้างหน้าก็น้ำ ซ้ายขวาก็น้ำ ข้างหลังก็น้ำ
คนแถวนี้มีแพเป็นบ้าน เคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาลและปริมาณน้ำในโตนเลสาบ ถ้าเป็นช่วงน้ำลด (หน้าแล้ง) หลายบ้านจะพยายามอยู่ใกล้ป่าเพื่อให้เป็นที่กำบังลมและแหล่งอาหารสมุนไพร แต่ป่าเหล่านี้จะจมอยู่ใต้น้ำในช่วงมรสุม และกลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งผสมพันธุ์ให้ปลา หากเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ฝั่งหน่อย เขาก็จะสร้างบ้านบนเสาสูง สูงพอที่จะไม่ให้น้ำท่วมบ้านในช่วงมรสุม
ตลอดทริป เราออกสัมภาษณ์ชาวบ้านโตนเลสาบเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เวลาที่เราถามพวกเขาว่าจับปลาได้บ้างไหมปีนี้ หลายคนตอบว่า ได้บ้าง แต่ปลาก็น้อยลงทุกปี ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วหน่อย เพราะยังมีน้ำ ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมีปลา ปีที่แล้วมีไฟป่าช่วงแล้ง ทะเลสาบตื้นเขินมาก จับปลาไม่ค่อยได้เลย
ชาวประมงส่วนใหญ่บอกว่าปลาลดลงมาก บางคนเล่าประสบการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนว่า
“ตอนนั้นปลาเยอะมาก เราไม่ต้องใช้อะไรจับเลย ปลามันกระโดดขึ้นมาบนเรือเอง”
“ตอนนั้นปลาเยอะมาก เราใช้เวลาเกือบสามวันกว่าจะเก็บปลาออกจากเรือได้หมด”
“ตอนนั้นปลาเยอะมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมจับปลาบึกยักษ์ได้ หนักเกือบร้อยกิโล ตอนนั้นลุ้นแทบแย่ว่าจะเอาเรือเข้าฝั่งได้ไหม ปลามันหนักมาก ผมหล่ะกลัวเรือมันจะคว่ำก่อนถึงบ้าน แต่ก็เอามาจนถึงบ้านได้ ตอนนั้นแบ่งกินกันทั้งหมู่บ้าน ใช้เวลา 3-4 วันกว่าจะแบ่งกันครบ”
แต่แล้วตอนนี้ ไม่ว่ามองจะยาวขนาดไหน ตาข่ายจะเล็กขนาดไหน ถ้าจับได้ปลาถึง 5 กิโล ก็ถือว่าพอกิน พอขาย
ชาวประมงหลายคนบอกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลาในโตนเลสาบลดลงคือ การทำประมงผิดกฎหมาย เช่น ใช้ไฟฟ้าช๊อตบ้าง ใช้อวนลากบ้าง ใช้มองที่มีตาเล็กมาก บางคนก็เข้าไปจับปลาในเขตอนุรักษ์ ซึ่งตอนนี้จำนวนปลาก็น้อยลงมากแล้วเนื่องจากการสัมปทานประมงในโตนเลสาบและแม่น้ำโตนเลสาบ ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าหลายทศวรรษจนกระทั่งเมื่อปี 2555 นายกฮุนเซนประกาศยกเลิกสัมปทานเพราะประชากรปลาลดลงมากจนเป็นที่น่าตกใจ แล้วสั่งปรับพื้นที่ให้กลายเป็นเขตอนุรักษ์
แต่ไม่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของโตนเลสาบจะเป็นเขตสัมปทานประมงหรือเขตอนุรักษ์ สิ่งที่ยังเป็นอยู่คือ ชาวบ้านริมโตนเลสาบถูกจำกัดพื้นที่ในการหาปลา
แม้ว่าชาวประมงพื้นบ้านจะมีองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศแม่น้ำและทะเลสาบโตนเลสาบ ฤดูกาล การอพยพของปลา รวมถึงทักษะในการประดิษฐ์อุปกรณ์จับปลาที่ซับซ้อนเหมาะสมเฉพาะปลาบางชนิดและบางฤดูกาล รวมถึงรู้ว่าควรจับปลาที่ไหนและไม่ควรจับปลาที่ไหน (เพราะเป็นที่วางไข่หรือผสมพันธุ์) แต่ความรู้เหล่านี้ถูกเอาเปรียบด้วยการหาปลาแบบกอบโกยมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ชาวประมงยังหวังว่าถ้าชาวประมงที่ทำประมงผิดกฎหมายมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงผลกระทบต่อพันธุ์ปลา พวกเขาอาจจะหยุดช็อตไฟ หยุดกอบโกย และยังมีกฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่จะมาช่วยลดจำนวนประมงผิดกฎหมายและช่วยให้ปลากลับคืนสู่โตนเลสาบ
แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ สิ่งก่อสร้างบนลำน้ำ เช่น เขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา โครงการชลประทานบนแม่น้ำพระตะบองและลำน้ำสาขาอีกเกือบสิบที่ไหลหล่อเลี้ยงโตนเลสาบ
สิ่งก่อสร้างเหล่านี้กำลังปรับเปลี่ยนระบบนิเวศแม่น้ำด้วยการควบคุมการไหลของน้ำและปริมาณน้ำตามอำเภอใจ เพียงเพื่อผลิตรายได้ให้ผู้ลงทุนในโครงการเหล่านั้น ไม่ใช่คนที่ยังพึ่งพาอาศัยทรัพยากรและความรู้ความเข้าใจของระบบนิเวศ อันเป็นฐานเศรษฐกินและฐานความมั่นคงทางอาหารของคนเป็นล้าน
ชาวประมงหญิงผู้หนึ่งบอกว่า “ตอนนี้ปลาลดน้อยลง หลัก ๆ เป็นเพราะประมงผิดกฎหมาย แต่ถ้าคนทำตามกฎหมาย ปลาก็จะเยอะขึ้น แต่ถ้ามีเขื่อนบนแม่น้ำ เราจะไม่มีน้ำ เราจะไม่มีแม่น้ำอีกเลย”
ชาวประมงหลายคนไม่คิดว่าลูกหลานตัวเองจะเป็นคนหาปลาอีกในอนาคต หลายคนไม่ต้องการให้ลูกหลานเติบโตเป็นชาวประมง เพราะว่ามันลำบาก มันไม่คุ้มเม็ดเหงื่อที่ต้องเสียไปในการหาปลา ไม่คุ้มค่าลงทุนซึ้อมอง ซึ้อเรือ เติมน้ำมันเพื่อออกไปหาปลา
ชาวประมงรุ่นพ่อรุ่นแม่หวังว่าลูก ๆ จะได้เรียนสูง ๆ แล้วหางานทำ หรือไม่ก็ออกไปหางานที่มีรายได้ประจำดีกว่า แต่ปัญหาก็คือ ในชุมชนเขาไม่มีโรงเรียนให้เด็กได้เรียนสูง ๆ ถ้ามี ครูก็ไม่ค่อยมา แต่เด็กส่วนมากก็อาจจะจบการศึกษาที่ ป.2 ใครที่จบสูงกว่า ป.6 ได้ก็ถือว่าโชคดีไป
ชาวประมงหลายคนอยากสละบ้านลอยน้ำแล้วย้ายขึ้นไปอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เพราะมันใกล้สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า มีโอกาสหางานหารายได้เสริมมากกว่า ถ้าอยู่บนบ้านลอยน้ำ พวกเขาก็ได้แต่จะรอคอยให้สวัสดิการสังคม(ที่ทุกคนพึงได้รับ)ลอยมา แต่กว่าจะถึงตอนนั้น บ้านลอยน้ำก็อาจโดนลมพายุพัดคว่ำไปก่อน
การเดินทางครั้งนี้จุดประกายให้แพรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงและความวิปริตของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจที่จมปลักกับการปล่อยคาร์บอน แพรพบว่ามีงานวิจัยและรายงานนับร้อยของนักวิชาการและองค์กรนานาชาติอย่าง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่พยายามประเมินผลกระทบต่อประมง ต่อระบบนิเวศ ต่อเศรษฐกิจของกัมพูชาและลุ่มน้ำโขง ต่อความเป็นอยู่ของผู้คน
เช่น การสูญพันธุ์ของปลาที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนและสารอาหารที่จะลดลงเนื่องจากอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น การโดนตัดทอนเส้นทางอพยพของปลาขาวอย่าง ปลาสร้อย ที่เป็นปลายอดนิยมในการทำปลาร้า/ปราฮกของคนในลุ่มน้ำโขง
งานวิจัยโดย MRC ระบุว่าปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขง เพราะร้อยละ 50 ของโปรตีนที่คนเหล่านี้กินมาจากปลา หรือคิดเป็น 46 กิโล/คน/ปี ประมงยังเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งลุ่มน้ำโขง คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี การเคลื่อนไหวของทุนในภาคประมงคิดเป็นร้อยละ 12 ของจีดีพีของกัมพูชา และร้อยละ 7 ของจีดีพีของลาว
แต่ในอนาคตประมงพื้นบ้าน ประมงในแม่น้ำและทะเลสาบ อาจกลายเป็นภาพประกอบของการเลี้ยงปลาบ่อ เพราะระบบนิเวศแปรปรวนเกินกว่าที่ปลาและคนจะนอนอย่างสบายใจได้
ในช่วงที่แพรกำลังนั่งเรือล่องผ่านเขตอนุรักษ์ในโตนเลสาบ แพรรู้สึกสลดกับสภาพธรรมชาติที่ใกล้พังทลายที่คนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อไปต้องแบกรับ ต้องดิ้นรนให้สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ แพรเริ่มตั้งคำถามว่าเราจะทำวิจัยรวบรวมข้อมูลต่อไปทำไม ในเมื่อมันมีงานวิจัยเยอะแยะมากมาย มีนักวิชาการนักวิทยาศาสตร์มากมายที่พยายามทำข้อมูลให้เห็นถึงผลกระทบจากเขื่อนและความวิปริตของสภาพภูมิอากาศ แพรเริ่มตั้งคำถามว่าเราจะยังรณรงค์ต่อไปทำไม ในเมื่อคนรุ่นต่อไปคงยากที่จะเลือกจะเป็นชาวประมง หรือจะมีโอกาสได้ลิ้มลองปลาแม่น้ำที่ว่ายไปมาอย่างอิสระที่คนรุ่นก่อนมักเม้าท์มอยว่าอร่อยนักหนา
“ฟืออออ….”
แพรหันฟึบตามทิศทางที่มาของเสียง เพียงเสี้ยววินาทีแพรเห็นปลาสีขาวเทาสะท้อนแสง ท้องโค้ง ยาวกว่า 1 ฟุต มีจุดสีดำสามจุดตรงปลายหางด้านล่าง ปลาตัวนี้กระโดดขึ้นมาเหนือน้ำแล้วก็มุดหายลงไปใต้น้ำ ฟือออออ
แล้วเลือดในร่างกายก็แล่นไปทั่วทิศที่เส้นเลือดจะพาไป หัวใจแพรเต้นแรงขึ้น อาการง่วงก็หายไปทันที เรานึกภาพที่ชาวประมงเล่าให้ฟังว่าปลามันกระโดดขึ้นมาบนเรือเองออกเลย
แรงงานและแรงใจที่ลงไปมันไม่ได้เสียเปล่า มันเป็นต้นทุนที่เราเลือกจะใส่ลงไปเพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสารอาหารที่จะไปหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้แห่งความเมตตาและความเป็นธรรมงอกเงยขึ้นมาต่างหาก
ต้นไม้เหล่านี้ ต้นกล้าที่อยู่รอบข้าง คือผู้คนที่ยังพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต พึ่งพาความเข้าใจธรรมชาติในการหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ สายใยเช่นนี้เป็นเส้นใยที่คนที่มีหัวใจเป็นคนเมืองถูกตัดขาดไปนานแล้ว
ชาวบ้านแห่งลุ่มน้ำโขงคือกลุ่มคนที่ยังคงครอบครองความลับในการปรับตัวให้อยู่รอดตามฤดูกาลที่แปรปรวน พวกเขาเป็นนักปฏิบัติการที่กำลังหยุดโลกร้อนและเขื่อนเพื่อให้โลกนี้เป็นโลกเย็นที่เป็นธรรม แต่เนื่องจากโอกาสที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภค การศึกษาที่มีคุณภาพและสวัสดิการรัฐยังคงต้องรอมันลอยแพมา รวมทั้งความเคารพต่อทักษะในการใช้ชีวิตกับแม่น้ำที่ถูกระบบเศรษฐกิจแบบขูดรีดบีบคั้นให้สละตัวตนของเขาให้ศิโรราบต่อการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ
หากเราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของป่าไม้แห่งผู้กล้า ลองคิดดูว่าครั้งล่าสุดที่กินปลาน้ำจืดคือเมื่อไหร่ มันเป็นปลาอะไร แล้วลองค้นดูว่าปลาตัวนั้นอาศัยอยู่ระบบนิเวศแบบไหน ถ้าเป็นปลาแม่น้ำ บางทีเราอาจจะรู้จักคนหาปลาหรือคนเลี้ยงปลาคนนั้นมากกว่าที่เราคิดก็ได้
อ้างอิง: www.mrcmekong.org
เรื่องเล่าการเดินทางชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Uncovering Security โครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารของ The Thomson Reuters Foundation, Stanley Foundation และ Gerda Henkel Stiftung.