เมื่อวันที่ 31 มี.ค. – 2 เม.ย. 2560 นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มเพื่อนกันสร้างสรรค์ชุมชน (พสช.) ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมสร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อชุมชนรวมทั้งบุคคลทั่วไป ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน และความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างชุมชน กับองค์กรภาคีต่างๆ
เชี่ยวพิรุณ ฉะอ้อน นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า จากที่ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม รู้สึกถึงความมีกำลังใจในสิ่งที่จะต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ภายหลังได้แลกเปลี่ยน พูดคุยถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพ่อแม่พี่น้องในชุมชนแห่งนี้ ทราบว่าได้รับผลกระทบปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย แต่ว่าช่วงเวลากว่า 30 ปี ที่ผ่านมา คนในชุมชนได้ร่วมกันเรียกร้องต่อสู้มาอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งต่อความหวงแหน ไม่คิดที่จะยอมแพ้ และไม่คิดจะท้อถอย เพื่อที่จะปกป้องสิทธิและที่ดินทำกินที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ
เชี่ยวพิรุณ เผยความรู้สึกอีกว่า การได้มาออกค่ายศึกษาและใช้ชีวิตในชุมชน แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ เพียง 4 วัน แต่ความรู้ถึงความสุขมันมีมากกว่านั้น ได้ร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านช่วยกันเทพื้นปูนศูนย์การเรียนรู้ ทั้งได้ล่องเรือหาปลา เก็บพริก และอะไรหลาย ๆ อย่าง มันทำให้ผมมีความสุขมากกับการได้มาสัมผัสชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความรัก ความอบอุ่น พ่อ ๆ แม่ ๆ ทุกคนในชุมชนก็ดูแลห่วงใยเหมือนลูกหลาน โดยเฉพาะเวลาที่ได้เห็นรอยยิ้มและได้ยินเสียงหัวเราะของคนในชุมชน ทำให้ตัวเองมีความสุขไปด้วย
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำให้ตัวเองเกิดแรงใจในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ จากที่คิดว่าชีวิตตัวเองลำบากแล้ว พอได้มาสัมผัสกับคนที่เขาลำบากกว่า เพราะการได้ออกมาศึกษาเรียนรู้ถึงปัญหาผลกระทบที่คนในชุมชนร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ดำเนินวิถีชีวิตการประมงและทำเกษตรกรรมในพื้นที่พิพาทที่เป็นที่ทำกินของตัวเองด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า รวมทั้งร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกด้วย เหล่านี้ทำให้ตัวเองเกิดแรงบันดาลใจในการต่อสู้ชีวิต และสุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินเป็นผลสำเร็จ” เชี่ยวพิรุณ กล่าว
ด้าน สุวิมล ขวัญทอง นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาการบัญชี บอกว่า สิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่นั้นมากมายหลายอย่าง แม้ความรู้สึกในเบื้องต้นยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ออกค่ายแบบนี้ แต่ในขณะที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนนี้ เกิดความรู้สึกประทับใจ ในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมิตรภาพที่ดีจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทุกคน
สุวิมล บอกอีกว่า แต่ทั้งนี้ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นมาและประทับใจไปอย่างยาวนานที่สุดคือ พ่อ ๆ แม่ ๆ ที่ให้การต้อนรับและคอยดูแลเป็นอย่างดี ช่วยทำทุกอย่างขาดเหลืออะไรก็หาให้ ไม่ทำให้ต้องกังวลว่าจะอยู่จะกินกันอย่างไร พ่อ ๆ แม่ ๆ ในชุมชนนี้ ต่างคอยดูแลให้ความสะดวก ความปลอดภัย รวมถึงให้ความรักเราเหมือนเป็นลูกหลานแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สิ่งที่ได้สัมผัสคือ ได้เรียนรู้ถึงสภาพวิถีการดำเนินชีวิต ที่สำคัญได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์กับพ่อแม่พี่น้องในชุมชนดอนฮังเกลือเป็นอย่างดียิ่ง
“การได้มาออกค่ายลงพื้นที่ทำกิจกรรมในครั้งแรกนี้ ในอีกมุมหนึ่งก็เกิดความรู้สึกที่หดหู่ เศร้าใจ ที่ได้รับรู้ถึงปัญหาที่ชาวบ้านได้รับปัญหาผลกระทบ การไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องแบบนี้จะมีมากมายเพียงนี้ ภายหลังได้รู้ความเป็นมาก็รู้สึกสงสารคนในชุมชนนี้มาก เพราะหากไม่ใช่เป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาด้วยตัวเอง ก็ไม่มีทางเข้าถึงปัญหาเหล่านี้ได้”
เช่นเดียวกับ อวิรุทธ์ อินอุ่นโชติ นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกด้วยว่า การได้ลงไปสัมผัสพื้นที่จริงด้วยตัวเอง ใช้ชีวิต ได้เรียนรู้ ได้ร่วมทำกิจกรรมและศึกษาวิถีชีวิต ในพื้นที่ชุมชนดอนฮังเกลือ นั้น ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทั้งนี้ปัญหาความยากลำบากและการต่อสู้ที่มีอยู่เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่จะมีสักกี่คนที่จะมองเห็นและร่วมแก้ไขปัญหา สำหรับพ่อแม่พี่น้องในชุมชนแห่งนี้ เป็นอีกแบบอย่างหนึ่งในอีกหลายชุมชน ที่กล้าออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิอันชอบธรรมของตน โดยใช้หลักเหตุผลข้อเท็จจริงในการต่อสู้ด้วยความไม่ท้อถอย อดทน มาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้ตัวเองมีความรู้สึกที่อยากจะร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วย
“แม้จะสามารถทำได้เพียงน้อยนิด แต่ก็ถือว่าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจและมีความสุขมาก และยังคงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่พวกเราไปร่วมสร้างนั้น จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวชุมชนดอนฮังเกลือ รวมทั้งชุมชนอื่น ๆ และบุคคลทั่วไป ที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิต และประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน อย่างแท้จริง” อวิรุทธ์ กล่าว
ส่วนทองสา ไกรยนุช ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า สมาชิกทุกคนมีความดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการที่ลูกหลานนักศึกษาลงพื้นที่มาออกค่ายอาสา ร่วมทำกิจกรรมก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และร่วมกันช่วยเก็บพริกในแปลงเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งช่วยกันลงน้ำทำความสะอาดเก็บผักตบชวาในบึงเกลือ ถือเป็นการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เป็นการสร้างจิตสำนึกต่อสังคมและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
ทองสา กล่าวอีกว่า ชุมชนพยายามรวบรวมเงินเพื่อก่อสร้างศูนย์ฯ ปรับปรุงแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม แต่ยังขาดงบเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำหนังสือประสานไปหลายหน่วยงาน กระทั่งช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้มีจิตศรัทธาและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมบริจาคมาเป็นระยะ จนสามารถรวบรวมเงินมาซื้อเสาปูนลงไว้ก่อน ต่อมาได้รับริจาคอีก ก็ซื้อเหล็กทำโครงหลังคา กระทั่งเมื่อวันที่ 17 – 27 ก.พ. 2560 นักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม – อีสาน มาออกค่ายอาสาพัฒนา เพื่อบริจาคเงินมาร่วมทำกิจกรรมมุมหลังคา มาครั้งนี้ (31 มี.ค. – 2 เม.ย. 2560) นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่มาออกค่าย เพื่อสมทบเงินบริจาคร่วมกันเทพื้นปูน
ทั้งนี้ชุมชนจะพยายามขอรับบริจาคเพื่อการก่อสร้างศูนย์ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เป็นการต่อไป เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับวิถีชีวิตการเกษตรและการประมง และเพื่อเป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยน กับคนในชุมชนและบุคคลทั่วไป
สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวต่อว่า ชุมชนดอนฮังเกลือ ประกอบอาชีพ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งบนผืนดินและในผืนน้ำ กล่าวคือ บนผืนดิน ชุมชนทำการเกษตรด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล เช่น ช่วงฤดูฝนทำการปลูกข้าว หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็มาปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น พริก มะนาว ข้าวโพด แตง ถั่ว
ส่วนทรัพยากรทางน้ำในบึงเกลือ หรือที่เรียกว่า “ทะเลอีสาน” บนเนื้อที่กว่า 5 พันไร่ ได้ประกอบอาชีพการประมง และยังช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากร โดยชุมชนร่วมกันจัดพื้นที่ในบริเวณบึงเกลือประมาณ 1 ไร่ เพื่อทำโรงเรียนอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยให้ปลาตัวเล็กได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ร่วมกันปักเขตไว้ เพื่อให้ปลาได้มีการขยายพันธุ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ อีกทั้ง บึงเกลือ มีความหลากหลายในระบบนิเวศ และถือเป็นโรงครัวใหญ่เพื่อรักษาไว้ให้เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งในสมาชิกของชุมชน และชุมชนใกล้เคียงให้เกิดความยั่งยืนสืบไป
“ด้านปัญหาผลกระทบที่ได้รับความเดือดร้อน แม้ชุมชนจะอาศัยอยู่ที่นี่มาแต่บรรพบุรษ ประกอบอาชีพหารายได้มาเลี้ยงชีวิต แต่ภายหลังจากที่ที่ดินทำกินถูกประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ดอนฮังเกลือ กระทั่งนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา หน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม อย่างไรก็ตามชาวบ้านร่วมกันต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งได้ผลักดันทางนโยบายร่วมกับองค์กรภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ปัจจุบันมีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อชุมชนได้ถือกรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการที่ดินในสิทธิรวมหมู่ในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน” ทองสา กล่าวเพิ่มเติม
……………………………………
รายงานโดย : อรรถพล สิงพิลา นักศึกษาวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาสาสมัครสำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน