จากที่เคยสนทนากันมาพอสมควร ผมรู้แน่ว่าเธอพูดจริง
จริงที่ว่าคือ …
‘อย่างน้อยครั้งหนึ่งมันต้องลองไปดู อยากเห็นความจริง อยากไปทุกเวที
อยู่ที่บ้านดูแต่จอไม่รู้อะไรหรอก อันไหนความจริง อันไหนโกหก อยากไปดู’
ครับ-เชื่อผมเถอะว่าเธอพูดจริง! และที่จริงกว่านั้น ตรงประโยค อันไหน ‘โกหก’ เธอใช้คำว่าตอแหลเลยด้วยซ้ำ
ชัดเจน ตรงไปตรงมา กระทุ้งกันจนคนบางคนในม็อบถึงกับเลือดกลบปากเอาได้ง่ายๆ แม้จะหยาบ แม้จะไม่น่ารักสมเป็นหญิงไทย แต่อย่างน้อยๆ ผมว่ามันก็ดีและน่าเคารพกว่าพวกที่ชอบตอแหลหลอกมวลชนอยู่บนเวที
ทำไมต้องไปเคารพหญิงฮาร์ดร็อคแบบนี้ คำตอบง่ายมาก เพราะผมว่านับหัวดูได้เลย กับคนที่อยากฟังความหลายข้าง ในยุคสมัยที่แดงเชียร์แดง เหลืองเชียร์เหลือง สลิ่มไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นสลิ่ม
กระทั่ง พวกแดงแอ๊บชอบเหลือง เหลืองแอ๊บชอบแดง สลิ่มแอ๊บว่าไม่รักเหลือง
พูดไปให้สุดกว่านั้น ก็หมายรวมถึงพวกที่บอกเข้าใจโลก แต่ไม่ยอมให้แตะต้องกฎหมาย ม.112 ไม่เข้าใจว่าการถนอมของบางสิ่งไว้จนหน้ามืดตามัว นั่นแหละ จะเป็นบ่อเกิดแรกของการพังทลายของสิ่งนั้นๆ
มิตรสหายท่านหนึ่งคนที่ผมพูดถึง เธอมีอาชีพเป็นนักข่าว-สายใต้ การงานที่ต้องผูกพันเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย รวมถึงเรื่องราวสารพัดสารพัน แน่นอน นั่นอาจทำให้เธอจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้าน มิเช่นนั้น เขียนสื่ออะไรออกไป มีหวังได้ออกลูกหน่อมแน้ม ขาดการศึกษา กระทั่ง อาจทำให้หนังสือพิมพ์ที่เธอสังกัดกลายเป็นเศษขยะไร้คุณค่าได้
ใช่-ที่ผมกล่าวว่าเป็นอาชีพที่ผูกโยงเกี่ยวร้อยกับเรื่องราวนานา แต่นั่นมิได้หมายความว่า นักข่าวทุกคนจะมีสปิริตขนาดจะศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้านเสมอไป ผมเคยเห็นมากับตา กับนักข่าวที่หัวรั้น จะเชื่อแต่ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เชื่ออย่างเดียวไม่พอ ยังจะไปบังคับให้คนอื่นเชื่อเหมือนตัว
บังคับแบบปากต่อปากนั่นเรื่องเล็ก แต่ประเภทที่ไปบังคับคนหมู่มากด้วยการเขียนออกสื่อสาธารณะนี่อันตราย เพราะมันหมายถึงการหว่านโปรยทัศนคติคับเคบ ใจดำ ลุกลามเลยเถิดอาจถึงขั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเกลียดชังกัน
นักข่าวคนเล็กคนน้อยนั่นผมว่าน่าสงสาร เพราะผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปด้านบนนั่นต่างหาก ที่มีส่วนอย่างมากในการยัดเยียดความเกลียดชังไปสู่มือนักข่าว เพื่อส่งไม้ต่อสู่สาธารณะ
ความเกลียดชังคือความเสื่อมที่นำไปสู่การฆ่าแกงกันของมนุษย์
นี่ผมมิได้พูดเอง สงครามทุกๆ ครั้งเป็นพยานยืนยันได้ หมายรวมถึงสงครามสีที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ที่บอกว่ายาวนาน นั่นเพราะ ไม่มีปัญหาใดที่เกิดปุบปับแล้วจะระเบิดโครมครามในชั่วพริบตา ทุกปัญหา ล้วนเกิดจากปมขัดแย้งที่ก่อร่างสร้างตัวอยู่ใต้ดินของความรู้สึก
นั่นส่งผลให้ทุกการพิพาทภายใน ระเบิดตูมออกสู่ภายนอกอย่างรุนแรง
มีใครกล้าเถียงไหมว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ มิได้เกิดขึ้นจากการที่คนเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบมาอย่างยาวนานจากผู้ปกครอง
มีใครกล้าเถียงไหมว่า การทะเลาะเบาะแว้งของสีแดงกับสีเหลือง มิได้เกิดจากการความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและความยากจนของคนเหล่านั้น
และ มีใครกล้าเถียงไหมว่า การคอรัปชั่นในประเทศเรา มิได้เกิดจาก นิสัยรักความสบาย อยากรวยเร็ว ไม่ปรารถนาภาวะลำบากในการประกอบสัมมาชีพ
ผมไม่ได้บอกว่าการคอรัปชั่นเป็นสิ่งประเสริฐ สมควรเชิดชู น่าเอาไปบรรจุไว้ในแบบเรียน จนไม่สามารถออกไปเดินขบวนได้ การชุมนุมเป็นสิ่งดี เป็นวิถีหนึ่งในระบอบประชาธิไตย เพราะแม้เสียงข้างมากเลือกมา แต่นั่นมิได้หมายความว่า เก้าอี้เยอะกว่าในสภาฯ แล้วจะตักตวงทุกสิ่งได้ตามใจปรารถนา เสียงเยอะ ก็ถูกไล่ได้ ถ้าคุณโกง แต่นั่น ต้องอยู่ในบริบทของการไล่แบบศึกษาหาข้อมูลมาแล้วอย่างถี่ถ้วน มิพักต้องพูดถึง มันเป็นคนละความหมายกับการออกไปชุมนุมเพื่อหาเรื่องให้รถถังมาวิ่งบนท้องถนน หรือรวมตัวกันเพื่อจะไปฆ่าฟันคู่อริ
ไล่ก็ส่วนไล่ แต่ผมกราบเท้าขอร้องด้วยความเคารพ จะให้กราบงามๆ 3 ทีก็ยอม กรุณาอย่ายุแยงทำให้เกิดความเกลียดชังจนคนต้องฆ่าคนได้ไหม กรุณาอย่าพูดจายัดเยียดให้เกิดความเหม็นขี้หน้าขึ้นในหมู่คนไทยด้วยกัน ยิ่งเป็นพวกนักคิดนักเขียน กรุณาอย่าทำเช่นนั้นเลย คุณถนัดเขียนแนวไหนได้โปรดทำไป เก่งเรื่องกฎหมายก็เขียนรณรงค์เรื่องกฎหมาย เขียนแบบให้ความรู้ และเตือนสติผู้คนว่า ความรุนแรง ไม่เคยเกิดผลดีต่อใคร
การจับคนมาแขวนคอกับต้นมะขามในสมัย 6 ตุลา 19 ยังไม่โหดร้ายพออีกหรือ ยังไม่รุนแรงพออีกหรือ หรือใครคิดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งเลอค่า มาท้าชกกันสักยกไหม
ผมเคยสัมภาษณ์ ‘อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ’ นักวิชาการหนุ่มแห่งยุคสมัย ผู้เขียนหนังสือเล่มหนากว่า 600 หน้า ‘และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา’ ซึ่งพยายามอธิบายการก่อตัวทางความคิดของนักศึกษาปัญญาชนก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญ
ผนวกด้วยเชิงอรรถกว่า 500 เชิงอรรถ บรรณานุกรมและดรรชนีอีก 60 หน้า ซึ่งไม่อาจอธิบายเป็นอื่นใด นอกจากความพยายามที่จะเข้าใจและเรียนรู้อดีตอย่างเป็นระบบ หนังสือเล่มนี้นับเป็นงานวิชาการเกี่ยวกับ 14 ตุลา ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยังได้รับรางวัล TTF AWARD สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2548 เป็นงานเขียนเรื่องเดือนตุลา โดยคนรุ่นหลังที่เอาจริงเอาจัง
นอกจากนั้น อาจารย์ประจักษ์ท่านยังแสดงให้ผมประจักษ์แจ้งถึงการเป็นคนหน้าตาดี ก็มีวิสัยทัศน์คมกริบว่า เหตุการณ์ 14 ตลา 16 เองก็มีด้านลบ ถ้าเราเอาเหตุการณ์ 14 ตุลามาเป็นข้อจำกัด มาเป็นตัวเปรียบเทียบ มาเป็นมาตรวัด เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เราไปยก 14 ตุลาขึ้นหิ้งไว้ แล้วก็มาบ่นว่านักศึกษาเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน มันเลยกลายเป็นข้อจำกัดไป
ท่านยกตัวอย่างใกล้ตัวว่า นักศึกษาในรุ่นท่านก็มีที่รู้สึกว่าทำไม่ได้เหมือนคนรุ่นก่อน รู้สึกท้อ เพราะเอา 14 ตุลามาเป็นมาตรวัดตลอด ซึ่งท่านไม่เห็นด้วย เพราะคนหนุ่มสาวในแต่ละยุคสมัยต้องค้นหาบทบาทของตัวเองให้เจอ ซึ่งไปจำเป็นต้องเหมือนในอดีต
ทั้งยังกรุณาแสดงทัศนะที่แสนน่าฟังว่า เผด็จการเต็มรูปอย่างในสมัยก่อนนั้นเหี้ยมจริงๆ มีความเสี่ยงสูงมากๆ ในการแสดงความคิดความเห็น นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะจอมพลสฤษดิ์จับคนประหารชีวิตได้ตามความพอใจ ท่านเอาเอาจริง กระนั้น ก็ง่ายตรงที่โจทย์มันขาวดำ เรียกได้ว่านักศึกษาปัญญาชนเกือบทั้งหมดเห็นพ้องตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นรอยัลลิสต์ ฝ่ายซ้าย หรือเสรีนิยม ว่าเผด็จการทหารไม่มีประโยชน์ต่อใครทั้งสิ้น ไม่มีใครเสียสติเชียร์เหล่าจอมพล
แต่ภายใต้เผด็จการแบบซ่อนรูปอำพราง ความเสี่ยงในชีวิตอาจน้อยกว่า ไม่โหด เอ่อ…พูดแบบนั้นก็อาจไม่ถูกนัก เพราะเหตุการณ์ตอน 19 พฤษภาเองก็โหดร้ายมาก แต่สิ่งที่ต่างกว่าสมัยก่อนคือ การมีฉากหน้าที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง
ฉะนั้น จึงดูไม่เป็นขาวดำเหมือนสมัยก่อน ถ้าไม่วิเคราะห์ให้ดีก็จะมองไม่เห็น อย่างที่ชนชั้นกลางจำนวนมากซึ่งเชียร์รัฐบาลบางรัฐบาล บอกว่าไม่เห็นเผด็จการตรงไหน ฉันไม่เดือดร้อน สิทธิเสรีภาพไม่ถูกกระทบกระเทือน
เหนืออื่นใด ในปัจจุบันมันมีความแตกแยกทั้งในวงการสื่อและวงการปัญญาชนสูงมากในการมองและวิเคราะห์ปัญหา
โปรดฟังอีกหลายๆ ครั้ง
ในปัจจุบันมันมีความแตกแยกทั้งในวงการสื่อและวงการปัญญาชนสูงมากในการมองและวิเคราะห์ปัญหา
ในปัจจุบันมันมีความแตกแยกทั้งในวงการสื่อและวงการปัญญาชนสูงมากในการมองและวิเคราะห์ปัญหา
ในปัจจุบันมันมีความแตกแยกทั้งในวงการสื่อและวงการปัญญาชนสูงมากในการมองและวิเคราะห์ปัญหา
ครับ-ที่เขียนมาทั้งหมด เพียงเพื่ออยากบอกว่า ผมเห็นด้วยหมดใจ อย่างที่มิตรสหายรุ่นน้องท่านหนึ่งว่าไว้ตอนต้นเรื่องว่า ควรไปดูในที่ชุมนุมให้ครบทุกความเชื่อ เพราะท่านจะได้เห็นถึงความจริงความลวง แต่ท่านต้องแยกให้ออกเสียก่อนนะครับว่า ในม็อบนั้นๆ มีความจริง-ความลวงเจือปนอยู่ในอัตรามากน้อยแค่ไหน
พูดแล้วก็พูดให้ถึงที่สุด เพราะนี่ไม่ได้เป็นการเขียนให้ตัวเองดูฉลาด แต่ใคร่อยากขอฝากถึงพวกที่รังเกียจนักการเมืองว่า ถ้ามันไม่ชอบระบอบการปกครองที่มีนักการเมืองเป็นปากเสียงแทนผู้คนในสภาผู้แทน
ผมเสนอให้เอาทหารมานั่งโก้ๆ ใครมีปากมีเสียงหรือเห็นต่าง จะได้เอาท็อปบู๊ตเหยียบยอดหน้ากันได้สะดวกๆ
เอากันไหมครับพี่น้องผู้รักชาติทั้งหลาย
ตีพิมพ์ครั้งเเรก : เนชั่น สุดสัปดาห์ คอลัมน์ ขอคุยดีๆ