ทีมงานอยู่ดีมีแฮงลงพื้นที่บ้านสมสะอาด ต.หนองสามสี อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่า จะมีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่ และหนึ่งในนั้นคือพลังสามัคคีที่ไม่ค่อยได้เห็นในสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่และรวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ สามพลังหลักที่เปรียบเสมือนเสาสามต้นคอยพยุงบ้านสมสะอาดแห่งนี้ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้
สายลมเย็นสบายในแสงแดดอ่อนๆ ในช่วงเช้าของวันที่ 16 มกราคม 2559 ศูนย์เล็กๆ ของชมรมกลุ่มเยาวชนร่วมใจพัฒนาถิ่น ตั้งอยู่ติดกับศาลากลางบ้าน ทีมงานได้ปักหลักประชุมหารือ นัดแนะเรื่องขั้นตอน ฉากในการถ่ายทำกันที่นั่นโดยมี น.ส.ชุติมา มรีรัตน์ หรือคุณก็อบ ผู้ก่อตั้งชมรมให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของหมู่บ้านและกลุ่มเยาวชน และยังช่วยจัดการดูแลเรื่องสวัสดิการให้แก่ทีมงาน รวมถึงน้องๆ กลุ่มเยาวชนที่กำลังช่วยกันล้างจานอย่างแข็งขัน เพราะในวันพรุ่งนี้มีงานบุญประจำหมู่บ้าน
ทีมงานเริ่มลงถ่ายทำในฉากแรกคือ กล่าวเปิดรายการที่ทุ่งนาของชาวบ้าน พร้อมกับเก็บภาพ inserts รอบๆ บริเวณทุ่งนาทางเข้าหมู่บ้าน รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยแสงแดดที่ร้อนมาปะทะกับสายลม จึงช่วยผ่อนคลายความร้อนและความตึงเครียดได้บ้าง ฉากบรรยากาศท้องทุ่งที่มีตอซังข้าวยังหลงเหลือหลังจากการเก็บเกี่ยวสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงอยู่ วัว ควาย ของชาวบ้านกำลังแทะเล็มหญ้าที่สลับกับซังข้าว ส่งกลิ่นอายความเป็นอีสานโดยแท้
ช่วงบ่ายทีมงานเริ่มลงมือถ่ายอย่างจริงจัง โดยเทปแรกคือการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งชมรมกลุ่มเยาวชนร่วมใจพัฒนาถิ่นหรือคุณก็อบ ก่อนที่จะพาเด็กๆ กลุ่มเยาวชนไปขุดปู ซึ่งเป็นวิธีการทำมาหากินของชาวบ้านอีสาน เด็กๆ ที่นี่ให้ความร่วมมือกับทีมงานเป็นอย่างมาก พวกเขาช่วยกันตั้งแต่หาอุปกรณ์ในการขุดปู หารูของปูรวมไปถึงขุดปู ซึ่งเป็นที่น่าทึ่งมากสำหรับเด็กที่มีอายุเพียง 9-12 ปีเท่านั้น เด็กๆ ที่นี่รู้จักวิธีการหาอยู่หากินซึ่งเมื่อเปรียบกับเด็กๆ ในเมืองแล้ว พวกเขามีความสุขในสิ่งที่มีและกำลังทำมากกว่าการใฝ่หาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะพวกเขาได้ถูกปลูกฝังให้มีความรักและหวงแหนถิ่นที่เขาอยู่และพร้อมจะเก็บรักษาความดีงามนี้ไว้เพื่อสืบสานต่อไป นอกจากนี้ทีมงานมีโอกาสได้สัมภาษณ์หัวหน้ากลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ ว่าด้วยเรื่องบทบาทหน้าที่และความสำคัญของกลุ่มเยาวชน
วันที่ 2 ของการลงพื้นที่ถ่ายทำรายการอยู่ดีมีแฮง สายหมอกหนาตาบริเวณผืนนา เป็นภาพที่ดูเย็นสบายเช่นเดียวกับสภาพอากาศที่เย็นสบายในช่วงเช้า ทีมงานเก็บภาพ inserts รอบบริเวณหมู่บ้าน พระที่มาบิณฑบาตในช่วงเช้า และชาวบ้านที่กำลังเดินทางไปทำบุญที่วัด สิ่งที่เห็นคือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ชาวบ้านดำรงอยู่ การปฏิบัติตนของชาวพุทธ ในบ้านสมสะอาดนี้ยังคงดำรงตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า หมู่บ้านนี้มีคนเข้าวัดฟังธรรมเป็นจำนวนมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ ที่ทีมงานเคยพบเห็นมา
ณ ศาลากลางหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งกำลังทยอยนำข้าวมากองรวมกันเพื่อทำ “บุญคูณลาน” หรือ “บุญกุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจัดรวมกันกับบุญเบิกบ้านตามประเพณีของชาวอีสานที่เรียกว่าฮีต 12 และบุญคูณลานก็มักจะจัดขึ้นในเดือนสองของทุกปี โดยมีชาวบ้านช่วยกันอย่างแข็งขัน กลุ่มเยาวชนร่วมกันจัดสถานที่ ผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยกันจักตอกและห่อหมากห่อเมี่ยงตามความเชื่อ ศาลากลางบ้านที่ใหญ่กว้างขวาง แต่เมื่อทุกคนเข้ามารวมกัน กลับเล็กลงถนัดตา แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น
ทีมงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์เรื่องประวัติที่มาของชุมชน โดยมีพ่อเตียง กาญจนจันทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านสมสะอาด โดยพ่อเตียงกล่าวว่าเดิมทีนั้นหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้ชื่อสมสะอาดและไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณนี้ เริ่มต้นมาจากบ้านกุดปลาแต่เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านติดลำห้วยและเกิดอัคคีภัยบ่อยครั้ง นายช้างผู้ใหญ่บ้านคนแรกจึงย้ายถิ่นฐานมาอยู่โนนกกบกและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านบก ซึ่งเป็นความเชื่อของโบราณว่าเมื่อย้ายไปอยู่ที่แห่งใดก็ควรตั้งชื่อสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์นั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านบก แต่ต่อมาทางการเห็นว่าบ้านบก คำว่าบกในภาษาอีสานแสดงถึงความตื้นเขิน ขาดๆ เกินๆ จึงตั้งชื่อหู่บ้านขึ้นมาใหม่ว่าบ้านสมสะอาด นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน รวมถึงปราชญ์ชุมชน ว่าด้วยเรื่องของการบริหารและกล่าวถึงบุญประเพณีฮีต 12 ของชาวอีสาน
ความประทับใจเมื่อได้มาสัมผัสหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีพลังของความสามัคคีเป็นตัวตั้งและวิถีชีวิตที่สอดแทรกกลิ่นอายของความเป็นอีสานแห่งนี้ ยังหลงเหลือขนบ ธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมไว้อย่างครบถ้วน ถึงแม้ว่าลักษณะการจัดงานบุญต่างๆ จะดูเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตามความสะดวกไปบ้าง แต่ก็ยังดำรงคงอยู่ไว้เสมอมา กลุ่มเยาวชนที่พร้อมจะสืบสานต่อจากคนรุ่นเก่าที่เริ่มจะล้างลาไป มีผู้ใหญ่ที่พร้อมอบรมสั่งสอนภูมิปัญญาให้ลูกหลาน ให้ความดีงามนี้คงอยู่คู่สมสะอาดต่อไป
เรื่อง : เพ็ญนภา ขันเดช มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์