โดย : โกวิท โพธิสาร คอลัมน์ : นินทาสารคดี
เวลา 13.30 น. ของวันที่ 18 มีนาคม 2557 เราบรรจุเทปที่มีชื่อว่า “ขุมทรัพย์ใต้เขื่อน” ลงไปในผังรายการที่นี่บ้านเรา มันเป็นรายการสารคดีความสั้นขนาด 24 นาที ที่เปิดพื้นที่เสมือนลานกว้างให้นักผลิตสารคดีมือสมัครใจจากหลากหลายกลุ่มเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสรรค์การเล่าเรื่อง โดยมีแนวคิดสำคัญของเรื่องเล่าคือ การให้คุณค่ากับท้องถิ่นที่ตนเองผูกพัน
ก่อนวันออกอากาศ เราส่งประเด็นคำถาม 4 ข้อไปให้ “ประวิทย์ ตอพล” หนึ่งในทีมผลิตสารคดีจากคณะสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี ช่วยเล่าให้ฟังถึงเบื้องลึกในการทำสารคดีเรื่องนี้
มันเป็นสารคดีธรรมดาๆ ที่จะพาผู้ชมดำดิ่งลงไปใต้เขื่อนสิริธร เพื่อตามติดชีวิตคน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กับการปรับตัวเยี่ยงผู้ชนะหลังความพ่ายแพ้ต่อเขื่อนใหญ่แห่งนั้น
++สื่อสร้างสุข : เจ้าแหม่นไผ?
สื่อสร้างสุขมีสถานะเป็นมูลนิธิที่ทำสื่อเพื่อการพัฒนาเน้นพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ผลิตสื่อหลายอย่างที่เรียกว่ามัลติมีเดีย รวมทั้งงานฝึกอบรมการผลิตสื่อเบื้องต้นให้กับองค์กรอื่นๆ ด้วย งานสื่อของเราไม่เน้นเรื่องเพื่อการตลาดแต่เป็นสื่อที่เน้นสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้านหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นประเภทสื่อทางเลือก
++เลือกเล่าเรื่องเขื่อนแบบผู้ชนะ
เพราะเรื่องราวที่เกี่ยวโยงจากการสร้างเขื่อนมีหลายมิติมาก ที่ผ่านมาเราหยิบยกเฉพาะบางประเด็นที่ดูเหมือนว่าชาวบ้านจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ ไม่มีทางสู้กับอำนาจรัฐหรืออะไรก็ตามที่ทำให้ภาพชาวบ้านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เมื่อสู้กับเรื่องเขื่อน ฉะนั้นจึงอยากลองมองในมุมใหม่ดูบ้างที่เสนอภาพชาวบ้านในมุมที่ชนะ มันคงไม่ใช่ในแง่หยุดเขื่อนได้ แต่ชนะในแง่ที่พวกเขาสามารปรับตัว อยู่กับมัน ใช้ประโยชน์จากมันได้ เลยคิดหาสักชุมชนที่พวกเขาเลิกฟูมฟายแล้วทำอะไรบางอย่างเพื่อเยียวยาตัวเอง บ้านบากชุมผุดขึ้นมาในหัวทันที เพราะเราเคยไปซื้อเฟอร์นิเจอร์เขามาใช้เมื่อหลายปีก่อน และอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรานัก ใช่เลยที่นี่แหละจะเล่าเรื่องเขื่อนในมิติอื่นได้
++ความง่ายนำมาซึ่งความยาก
เป็นเทปที่ทำงานง่ายในแง่การเล่าเรื่อง เพราะเมื่อเข้าไปในหมู่บ้านมันมีอะไรให้เล่าได้เยอะมาก แต่ที่ยากก็คือมันเล่าได้ไม่หมดเพราะมีเวลาจำกัดแค่ 24 นาที ต้องหั่นทิ้งไปเยอะ มันมีความน่าสนใจอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
ยิ่งเราลงพื้นที่ถ่ายจริง เรายิ่งรู้สึกสนุกและตื่นเต้นในสิ่งที่เห็น และเชื่อแน่ว่าคนที่ไม่มีเขื่อนอยู่แถวบ้านจะไม่เคยเห็นภาพอย่างนี้มาก่อน ตอนถ่ายเราก็คิดไปด้วยแล้วว่าจะตัดต่อยังไง ประมาณว่าตัดต่อเสร็จตั้งแต่อยู่กลางเขื่อนแล้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ยากคือในขั้นตัดต่อ เราไม่รู้ว่าได้เลือกช็อตที่ดีที่สุดมาใส่แล้วหรือยังจากฟุตเทจที่มีให้เลือกว่า 10 ชั่วโมงกับไฟล์มหาศาลเกือบ 130 GB
++ขุมทรัพย์ใต้เขื่อนในความหมายของชาวบ้าน
อันที่จริงชาวบ้านเขาไม่ได้คิดว่านี่เป็นขุมทรัพย์ มันเป็นเพียงแค่สิ่งที่หลงเหลือจากขุมทรัพย์ดั้งเดิมเขาพวกเขานั้นก็คือ ที่นา ป่า ลำธาร ที่อุดมสมบูรณ์ ถามคนหลายรุ่นหากเลือกได้พวกเขาก็ไม่อยากมาเก็บของพวกนี้เพื่อยังชีพ แต่อยากได้ทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมามากกว่า แต่เมื่อมันเป็นๆไปไม่ได้แล้ว ชาวบ้านจึงต้องสร้างรากฐานของครอบครัวขึ้นมาใหม่จากสิ่งที่มี
มันเป็นการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง แต่อย่างที่ในสารคดีบอกไว้ว่าพวกเขาประเมินว่าไม้จะมีให้เก็บเกี่ยวได้อีกเพียงแค่ 10 ปี สิ่งที่วางรากฐานไว้ก็คือพยายามสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แพที่พวกเขาเคยใช้ดึงและขนไม้จะถูกพัฒนาให้เป็นแพที่ขนนักท่องเที่ยวไปดูน้ำในเขื่อน บางทีพวกเขาอาจไม่ได้อธิบายว่าเขื่อนมันสวยงามยังไง แต่จะไปชี้จุดว่าข้างใต้นี้ ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นบ้านของพวกเขามาก่อน
……….
เรื่องย่อของ 24 นาที
ก่อนปี 2511 ชาวบ้านโดมบน โดมลุ่ม บ้านฝางและอีกหลายหมู่บ้านของอำเภอสิรินธร จ.อุบลราชธานี ตั้งหลักปักฐานอยู่ริมแม่น้ำโดมน้อย พวกเขายึดอาชีพหาปลาและทำไร่ทำนาเหมือนชุมชนทั่วไป แต่หลังจากการประกาศให้อพยพออกจากพื้นที่ เพราะทั้งหมู่บ้านจะต้องจมอยู่ใต้บาดาลจากโครงการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลสมัยนั้น
ชาวบ้านไม่มีปากเสียงได้แต่ก้มหน้าย้ายออกจากชุมชนเดิมมาตั้งรกรากอยู่บนพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ส่วนหนึ่งย้ายขึ้นมาทางทิศเหนือตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบากชุม หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากทำนามาเป็นชาวประมง แต่ปลานั้นก็หาไม่ได้ง่ายๆ เพราะน้ำลึก
พวกเขาไม่ชิน หลายคนก็ต้องย้ายไปทำงานที่ กทม.
ปี 2549 มีชาวบ้านบางคนเริ่มสังเกตเห็นท่อนไม้จมอยู่ใต้น้ำเป็นจำนวนมาก นั่นคือท่อนไม้ที่นายทุนกลุ่มผู้สัมปทานป่าเอาไปไม่หมดเมื่อตอนก่อนสร้างเขื่อน พวกเขาจึงเริ่มขนขึ้นมาบนบกเพื่อใช้งานทำบ้านเรือนหรือเครื่องใช้ไม้สอย
ไม้คุณภาพดีอย่างตะเคียน มันปลา สัก ประดู่ มีมากมายใต้ท้องน้ำนั้น พวกเขาหาวิธีเพิ่มมูลค่าของมันโดยแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้คุณภาพสูง และเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วเพราะเฟอร์นิเจอร์ไม้แท้นั้นหายาก
ในห้วงเวลาแค่ไม่กี่ปี ปริมาณความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้ใต้น้ำของพวกเขามีมากไม่มีที่สิ้นสุด ท่อนไม้และตอไม้เริ่มหายาก พวกเขาต้องออกไปหาในน้ำที่ลึกขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้น
เมื่อหาไม้มาได้จึงเกิดระบบซื้อขายด้วยการประมูล สินค้าเล็กๆของพวกเขากลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ชาวบ้านทุกครอบครัวเลิกทำงานอย่างอื่นหันมาทำเฟอร์นิเจอร์ขายสร้างเนื้อสร้างตัวก่อนที่ขุมทรัพย์นี้จะหมดลง