แม่น้ำโขง แม่น้ำแห่งชีวิตของ ตามุย
ความผูกพันของผู้คนริมฝั่งโขง ที่บ้านตามุย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว สายน้ำแห่งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษและสืบทอดต่อลูกหลาน
เด็กที่นี่ต่างเข้าใจว่า แม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิต หากมีแม่น้ำโขงพวกเขาก็จะมีที่อยู่อาศัย มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มีอาชีพ และยังเผื่อแผ่แบ่งปันไปถึงเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ในชุมชน ภาพของเด็กๆ บ้านตามุยที่คุ้นชินกับการหาหอย ช้อนกุ้ง เก็บผักริมโขงมาให้พ่อแม่ทำกับข้าว คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นทั้งความผูกพันและการพึ่งพิงแม่น้ำสายนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่วันนี้ คนที่นั่นบอกว่า แม่น้ำโขงไม่เหมือนเดิม
วัย ป้องพิมพ์ ประธานชุมชนบ้านตามุยอาศัยอยู่ที่นี่มาอย่างยาวนาน เขาเฝ้ามองแม่น้ำโขงมาตราบเท่าชีวิตของตนเองถึงกับออกปากว่า การมีเขื่อนเกิดขึ้น ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป
“เขื่อน…ถ้าไม่มีเขื่อนแม่น้ำโขงไม่เปลี่ยนไป ระบบนิเวศเหมือนเดิม การทำมาหากินก็สะดวก แต่พอมีเขื่อน มันก็กระทบอย่างรุนแรง หาอาหารยากมากขึ้น”
คนในหมู่บ้านตามุยเห็นตรงกันว่า แม่น้ำโขงและระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตภายหลังการสร้างเขื่อน ทั้งการขึ้นลงของน้ำที่ไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ ส่งผลให้การหาปลาไม่เป็นไปตามฤดูกาล การปลูกพืชผักริมตลิ่งได้รับผลกระทบ บางครั้งน้ำท่วมสูงทำให้พืชที่ปลูกไว้เน่าเสียหาย สภาพแวดล้อมและวิถีริมโขงเป็นชะตาชีวิตที่ชาวบ้านที่นี่กำหนดไม่ได้
ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ ลูกหลานไม่มีอาชีพทำกิน ต้องทิ้งบ้านและครอบครัวไปหางานทำนอกพื้นที่ในหมู่บ้าน จึงเหลือเพียงเด็กและคนแก่
ประยูร วงศ์จันทรา นักวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยข้อมูลว่า ในการสร้างเขื่อนแต่ละครั้งจะมีผลกระทบทางธรรมชาติ แต่จะเกิดขึ้นน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับระบบการจัดการของผู้ที่ดูแลรับผิดชอบ
“วันนี้ตัวเขื่อนได้สร้างแล้ว แต่ที่มันเกิดปัญหาอยู่ปัจจุบัน ที่มีเสียงคัดค้านมีปัญหาเดือนร้อนอยู่ อาจารย์มองว่า มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ คนที่จะสร้างก็มองเรื่องประโยชน์ของการใช้น้ำ ส่วนคนที่คัดค้านก็มองว่ามีผลกระทบ จริงๆ แล้วในระบบการสร้างเขื่อนมันเป็นการพูดคุยในวงกว้างพอสมควร”
วิถีชาวบ้านที่เปลี่ยนไปของชาวบ้านตามุย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมต่อชะตากรรมนี้ หากแต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดได้ เป็นความอยู่รอดที่ไม่ใช่เฉพาะเพื่อชีวิตของคนในพื้นที่เท่านั้น หากแต่ชาวบ้านริมโขงทุกคนตระหนักว่าจะต้องร่วมกันดูแลรักษาชีวิตของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงพวกเขาอีกด้วย
นักข่าวพลเมือง C-Reporters มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ข่าวเที่ยงไทยพีบีเอส 13 ก.ค. 2558