นักข่าวพลเมือง : ตัดไม้ตะเคียนที่เขาบูโด

นักข่าวพลเมือง : ตัดไม้ตะเคียนที่เขาบูโด

หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการช่วยเหลือลูกนกเงือกสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ซึ่งถูกขโมยไปจากรังเพื่อนำไปขายเอาไว้ได้ เมื่อวันที่ 15-16 พ.ค.2559 คุณวิชัย จันทวาโร นักข่าวพลเมืองได้ลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายของระบบนิเวศร่วมกับชาวบ้านและนักวิจัย บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ต้องตกใจอีกครั้ง เมื่อพบร่องรอยการลักลอบตัดไม้ตะเคียนชันตาแมว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของผืนป่าแหล่งอาศัยของนกเงือก 

ติดตามในนักข่าวพลเมืองทาง ที่นี่ThaiPBS ออกอากาศวันที่ 23 พ.ค. 59  เวลา 21.10 น. 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวชายขอบ รายงานสถานการณ์ลักลอบโค่นป่าบนเทือกเขาบูโด ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีที่มีการลักลอบขโมยลูกนกเงือกและตัดไม้ทำลายป่าในเทือกเขาบูโด ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี รอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า ในป่าที่อยู่ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสนั้น ยังคงมีการลักลอบตัดไม้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการสั่งการจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ให้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกับฝ่ายปกครองและทหารออกลาดตะเวนมากขึ้น แต่ปัญหาการลักลอบตัดไม้ในป่ายังไม่มีทีท่าจะเบาบางลง

ทั้งนี้ จากการที่ผู้สื่อข่าวลงเดินสำรวจร่วมกับชาวบ้าน ยังคงพบร่องรอยการตัดไม้และแปรรูปไม้หลายจุด โดยตลอดการเดินป่า 2 ชั่วโมง ในพื้นที่รัศมี 4-5 ไร่ พบไม้ตะเคียนชันตาแมว และไม้หลุมพอขนาดใหญ่ 6-7 คนโอบถูกตัดไปกว่า 30 ต้น โดยเฉพาะจุดรอบต้นรังหรือโพรงของนกเงือก พบว่ามีต้นตะเคียนชันตาแมวถูกตัด 19 ต้น 

มีการประมาณการว่าบนเขาบูโดในพื้นที่รือเสาะมีต้นไม้ถูกตัดและชักลากออกไปถึงเดือนละ 200 ต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของผืนป่าอันเป็นแหล่งอาศัยของนกเงือก สัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์

ส่วนความคืบหน้าหน้าคดีขโมยลูกนกเงือกจากป่าเทือกเขาบูโด ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโดนั้น ล่าสุดตำรวจสถานีตำรวจภูธรบาเจาะพบผู้ต้องสงสัย 8 คน แต่ไม่มีใครให้การรับสาภาพ จึงจำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอจากวัตถุพยานที่คนร้ายทิ้งเอาไว้ในที่เกิดเหตุ 6 ชิ้น ซึ่งมีการส่งตรวจแล้ว คาดว่าใน 1 เดือน จึงจะรู้ว่าผู้ต้องสงสัยคนใดคือคนร้ายที่ขโมยลูกนกจากโพรงที่ 29 และเป็นนกตัวเดียวกับลูกนกที่ยึดมาได้หรือไม่ แต่ระหว่างรอผลพิสูจน์ออกมา ตำรวจจะพยายามติดตามตัวผู้ต้องสงสัยรายอื่นไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงของขบวนการลักลอบจับสัตว์ป่าที่ชัดเจนที่สุด

พ.ต.ท.ตรีเทพ ทองนอก รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรยี่งอ เปิดเผยว่า มีการดำเนินคดีกับนายมะลาเย็ง ลาเตะ ที่เป็นผู้รับซื้อของป่า และสอบสวนขยายผลไปยังขบวนการค้าสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้อง แต่ได้ให้ประกันตัวในวงเงิน 150,000 บาท โดยมีการยอมรับว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ได้รับซื้อลูกนกจากชายชาวบ้านบาเจาะ 2 คน อายุประมาณ 20 ปี และ 40 ปี ซึ่งไม่รู้จักมาก่อนในราคา 3,200 บาท โดยบอกว่าได้ลูกนกมาจากชาวซาไกใน อ.สุคิริน 

ก่อนจะมีลูกค้าชาวนราธิวาสมาซื้อต่อไปในราคา 4,500 บาท แต่เมื่อตำรวจมาจับกุมจึงสงสัยว่าลูกนกเงือกน่าจะมาจากเทือกเขาบูโด จึงได้ติดต่อให้ลูกค้ารีบนำนกไปคืนให้ตำรวจ โดยชายชาวบาเจาะ 1 ใน 2 คนที่นำลูกนกมาขาย เป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ สภ.บาเจาะจับกุมได้ จึงเชื่อว่าลูกนกเงือกหัวแรดตัวนี้เป็นลูกนกจากโพรงที่ 29 

ด้าน ร.ต.อ.ไพบูลย์ เกื้อดำ รองสารวัตรสอบสวน สภ.บาเจาะ กล่าวว่า ขอโทษทีมนักวิจัยที่ไม่รับแจ้งความลูกนกเงือกหาย เนื่องจากไม่ได้มีเจตนา เพียงแต่จำเป็นต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย ที่ระบุให้ผู้เสียหายคือ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นผู้แจ้งความ จึงต้องแจ้งไปเช่นนั้น อีกทั้งขณะนั้นยังไม่มีความแน่ชัดว่าเหตุเกิดในพื้นที่ความรับผิดชอบของใคร และจุดเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงที่เคยเกิดเหตุยิงคนเก็บของป่า 6 ศพ จึงทำให้การเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ต้องแจ้งเหตุกับทุกฝ่ายและสนธิเพื่อกำลังร่วมกัน

ร.ต.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า แต่ทันทีเมื่อมีการเข้าแจ้งความและเข้าตรวจที่เกิดเหตุแล้ว ตำรวจได้พยายามเร่งติดตามตัวคนร้าย จนนำมาซึ่งการจับกุมในวันที่ 16 พ.ค. 2556 คือ นายเซ็ง ขาเดร์ ชาวบ้านบาเจาะที่มีการจับกุมพร้อม นกกก 1 ตัวอายุ 1 เดือน มีการดำเนินคดีมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัวและฝากขังไปแล้ว โดยคดีนี้มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

คดีนี้ขยายผลเข้าทลายแหล่งรับซื้อของป่าที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ที่มีการยึดลูกนกเงือกหัวแรด พร้อมสัตว์ป่าหลายชนิด แม้ขณะนี้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่าลูกนกที่พบจะเป็นตัวจริงที่ถูกขโมยจากโพรงที่ 29 หรือไม่ แต่ผลดีเอ็นเอที่ออกมาน่าจะยืนยันได้ชัดเจน 

ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ทีมนักวิจัยนำลูกนกเงือกหัวแรดที่ยึดได้ไปคืนโพรงที่ 29 เพื่อต้องการให้พ่อแม่นกที่ยังคงวนเวียนส่งเสียงร้องอยู่บริเวณนั้น กลับเข้าป้อนอาหารและเลี้ยงลูกนกตามธรรมชาติ แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 1 วัน พ่อแม่นกไม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกนก และลูกนกส่งเสียงร้องน้อยลง ซึ่งอาจมีหลายปัจจัยที่พ่อแม่นกอาจทิ้งรัง เพราะลูกนกถูกจับจากโพรงไปประมาณ 7 วัน หรือลูกนกตัวนี้อาจไม่ใช่ลูกนกที่มาจากโพรงที่ 29 ซึ่งต้องรอผลยืนยันจากดีเอ็นเอ

ทีมนักวิจัยจึงตัดสินใจนำลูกนกที่อยู่ในสภาพอ่อนเพลียออกจากโพรงลงมาป้อนอาหาร และนำไปอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ จ.นราธิวาส เพื่อรอผลพิสูจน์ที่แน่ชัดอีกครั้ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ