เปิดประตูอาเซียน ผ่านมิติสังคมวัฒนธรรม

เปิดประตูอาเซียน ผ่านมิติสังคมวัฒนธรรม

2

เรื่อง: กองบรรณาธิการ            ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

มิติความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญและซับซ้อนพอสมควร ยิ่งในยุคสมัยที่ความเป็นรัฐชาติขีดแบ่งประชากรออกเป็นหมู่เหล่าอย่างชัดเจนและแข็งกร้าว นั่นยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความปริร้าวในความเข้าใจ

31 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส มีการจัดเสวนาน่าสนใจ เปิดประตูสู่อาเซียน รู้เขา รู้เรา ผ่านมิติสังคมวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ ในหัวข้อ ก้าวสู่ประชาคมเดียวอย่างกลมเกลียวผ่านมิติวัฒนธรรม โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ (ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม) ประภัสสร เสวิกุล (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 ผู้บุกเบิกโครงการวรรณกรรมเพื่ออาเซียน) อานันท์ นาคคง (อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร) และ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เเละนักเขียนรางวัลศรีบูรพา)

เเละถือเป็นการเปิดตัวรายการ ใกล้ตาอาเซียน ด้วย

ในฐานะที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ กล่าวติดตลกก่อนว่า เวลาทำงานกับคนในอาเซียนมักมีเสียงกระซิบกันว่า อาเซียนไม่ได้ต้องการเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังนั้น เรื่องสังคมวัฒนธรรมเธอจึงให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น

“วัฒนธรรมเป็นตัวผลักสิ่งต่างๆ ถ้าปราศจากวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นไม่ได้ เศรษฐกิจก็ไม่ยั่งยืน อีกทั้ง ปัญหาทางสังคมต่างๆ ก็เกิดจากการละเมิดทางวัฒนธรรม”

3

เธอมองว่า วัฒนธรรมมีอำนาจในการผลักดันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาความยากจน และความไม่เท่าเทียม อีกทั้งเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย

“เราต้องมองถึงเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายจิตวิญญาณของคน”

กระนั้น สาวิตรียอมรับว่า ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ผ่านมา ถูกส่งลงมาจากข้างบน เป็นการเทลงมาเพื่อให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ เป็นเรื่องตามกลไกราชการ

“จริงๆ มันเป็นเรื่องของประชาชน ในสิ่งที่เป็นพิมพ์เขียวการสร้างบ้านของอาเซียน เต็มไปด้วยถ้อยคำโตๆ มาจากโลก มาจากสหประชาชาติ เราต้องอาศัยสื่อร่วมกันย่อยในสิ่งที่เป็นวิชาการ ให้มีความหมายสำหรับชาวบ้าน เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องของภาครัฐเท่านั้น”

ทั้งนี้ เธอย้ำว่าต้องไม่ลืมด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ที่ต้องดำเนินคู่กันไป

“เราควรเรียนรู้จากอดีต สันติภาพจะเกิดได้ ต้องอาศัยวัฒนธรรมเป็นสายโซ่” สาวิตรีกล่าว

ด้าน ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ และผู้บุกเบิกโครงการวรรณกรรมเพื่ออาเซียน เล่าให้ฟังว่า โครงการวรรณกรรมเพื่ออาเซียน เกิดขึ้นบนฐานความคิดที่ว่า คนไทยนั้นอ่านเรื่องอาเซียนมามาก แต่ก็เพียงเชิงตำรา

“มันยังไม่เข้าถึง คนไทยชอบเรื่องที่เบากว่านั้น คิดว่าวรรณกรรมที่มีตัวละคร เป็นคนพื้นเมืองบ้าง คนไทยบ้าง จะเข้าถึงกว่า วรรณกรรมสะท้อนความเป็นไปของคนในชาติ ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ผมเดินทางไปทั้ง 9 ประเทศ พบผู้นำทางความคิด ผู้นำทางศาสนา เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เอาข้อมูลทั้งหมดเพื่อมาเขียนเป็นนวนิยายแล้ว 6 เล่ม”

ประภัสสรย้ำว่า เราต้องคบกันในฐานะเพื่อน

มุมมองของศิลปินอย่าง อานันท์ นาคคง มีว่า ถ้าพูดถึงศิลปะการแสดงในภาพรวม มันยืนยันอยู่แล้วถึงการหลอมรวมของอาเซียน ไม่ใช่เป็นการเพิ่งมากำหนดนโยบายแบบบนลงล่างอย่างเมื่อเร็วๆ นี้

“การมีดนตรีที่มองเห็นทั้งกายภาพ ได้ยินเสียง และสื่อสารกันได้ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ของการมีวัฒนธรรมร่วม แต่จะมีทิศทางของตัวที่อาจถูกกำหนดโดยรสนิยมเฉพาะ การเมืองเฉพาะ ความเชื่อเฉพาะ หรือเศรษฐกิจเฉพาะแบบ”

อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร บอกว่า โลกของการแสดง สามารถทำลายพรมแดนของความแตกต่าง ทั้งในโลกของการเมือง ของศาสนา โลกของเศรษฐกิจ โลกของการออกแบบ งานครีเอทีฟ ทำให้เรามองเห็นวัฒนธรรมอันก้าวหน้าของผู้คนอยู่เสมอ ถ้าเราเข้าใจพลังทางปัญญาของผู้คนทางอาเซียน”

ถ้าเรารู้จักสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ดนตรี บทกวี เราจะเข้าใจญาติ เข้าใจสายเลือด มีจังหวะหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะเดียวกัน – คือสิ่งที่อานันท์กล่าวในตอนท้ายๆ

unnamed

ส่วน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เกริ่นให้เราเห็นก่อนว่า ดินแดนที่เรียกว่าเอเชียอาคเนย์ มีความสมบูรณ์ทางชีวภาคมากที่สุดในโลก อาทิ มีป่านานาชนิด

“ในระบบนิเวศ เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของพืชและสัตว์ จะมีความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันมากกว่าสังคมที่ไม่ค่อยหลากหลาย คนในสังคมก็เช่นกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ช่วยให้สังคมน่าอยู่ มีเสน่ห์ และเป็นจุดเริ่มต้นของความสร้างสรรค์ ความหลากหลายทางธรรมชาติเป็นตัวสร้างวัฒนธรรม”

แต่สิ่งที่ รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เเละนักเขียนรางวัลศรีบูรพา อยากเน้นคือ ความขัดแย้งนั้น ก็เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

“ความขัดแย้งรุนแรงคือ การคิดว่าความเชื่อและวัฒนธรรมของตนเหนือชั้นกว่าคนอื่น เหมือนอย่างมุสลิม กับชาติตะวันตก กรณี ISIS ก็เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนโลก ไม่ใช่เศรษฐกิจ หรือการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของสังคมวัฒนธรรม ในอาเซียนเราต้องยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม หากไม่สามารถจัดการตรงนี้ และคิดว่าวัฒนธรรมของตัวเป็นใหญ่ ก็จะนำไปสู่ความรุนแรง”

เขายกตัวอย่างถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งคือปัญหาระหว่างผู้มีอำนาจกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการปะทะกันทางวัฒนธรรม หรือเรื่องชาวโรฮิงญา ว่าเราปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยอย่างไร

“มีคนพูดกันว่า ก้าวแรกของการเปิดประตูอาเซียน คือการผลักโรฮิงญาลงทะเล” คือความจริงที่น่าเศร้าซึ่งวันชัยหยิบยกขึ้นให้เห็น

“เราต้องยอมรับความหลากหลาย ยอมรับการลื่นไหลของวัฒนธรรม ไม่มีวัฒนธรรมใดจะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ  ขนมไข่ ทองหยิบ ทองหยอด ไม่ใช่ของไทย มาจากโปรตุเกส นั้นคือวัฒนธรรมที่ไหลอยู่ตลอดเวลา แต่แน่นอนว่า หลายๆ เรื่องก็เกิดจากไทย อย่างแมวไทย มวยไทย”

เรารับมา และเราก็แลกเปลี่ยน – น่าจะเป็นประโยคที่ข้าใจได้ง่าย

“ต้องยอมรับการปรับตัว อย่าคิดว่าเราเป็นใหญ่กว่าใคร ประเทศที่ปรับตัวได้ดีที่สุดคือ สิงคโปร์ เมื่อก่อนเป็นศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางท่าเรือ แต่ในอนาคต เขาประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมโลก ทั้งๆ ที่เขาไม่มีอะไรเลย เด็กสิงคโปร์รุ่นใหม่ ถูกส่งเสริมให้เป็นศิลปิน ครีเอทีฟ ให้ทำงานช่าง

“ทุกวันนี้ ถ้าเราไปที่นั่น จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย เพื่อการรองรับการเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม  เป้าหมายสูงสุดคือไม่ใช่แค่เมืองท่องเทียว แต่เป็น Smart City เป็นเมืองน่าอยู่ มีทางจักรยาน มีการรีไซเคิล ทำให้คนในสังคมมีความปลอดภัย”

ในฐานะรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขากล่าวว่า หากเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม บทบาทหนึ่งของสื่อคือทำหน้าที่ฉายให้เห็นความลื่นไหล ไม่ใช่แค่การนำภาพสวยๆ มาใส่  เพราะไม่มีสิ่งไหนคงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง

4

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ