“หน้าที่สำคัญกว่าสิทธิ” ทหารร่วมเวที EIA นามูล แจงอยู่ข้างประชาชน แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ

“หน้าที่สำคัญกว่าสิทธิ” ทหารร่วมเวที EIA นามูล แจงอยู่ข้างประชาชน แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ

20150805131500.jpg

ภาพจาก: กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

8 พ.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานวานนี้ (7 พ.ค.) ว่า ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการจัดเวทีวิชาการ “EIA นามูล: ความไม่เป็นธรรมของปิโตรเลียมบนบกอีสาน” โดยก่อนที่เวทีจะเริ่มขึ้น ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ถูกเรียกให้เข้าไปคุยกับตำรวจ และ กอ.รมน. ในห้องประมาณ 10 นาที เขาเปิดเผยว่า ตำรวจที่ไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุยข้อตกลงก่อนหน้านี้ ให้เขาอัพเดทสถานการณ์ให้ฟังก่อนเริ่มงาน

20150805131440.jpg

ส่วนเนื้อหาในเวที เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ศูนย์นิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึง “มุมมองต่อนโยบายการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกภาคอีสาน” ว่า ปัญหาเชิงนโยบายก็คือ กฎหมายเขียนไว้ว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรจึงไม่ได้เป็นของประชาชน นอกจากนี้ การทำ EIA (รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ซึ่งต้องทำก่อนการขุดเจาะ วางท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซ แยกในแต่ละขั้นตอน แต่ในปัจจุบันมักจะทำ EIA แบบเหมารวม แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ของกฎหมายและความละเลย เพิกเฉยต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ด้าน อลงกรณ์ อรรคแสง เห็นว่า ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องเห็นทุกคนเท่ากัน เวลาใช้กฎหมายต้องใช้เท่ากัน ไม่ใช่หยิบใช้กับเฉพาะบางกลุ่ม รวมถึงไม่ควรอ้างเรื่องผลประโยชน์เพื่อชาติ แต่มองข้ามความเดือดร้อนของประชาชน

ส่วนอาภา หวังเกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง “ปัญหาของ EIA ปิโตรเลียมบ้านนามูล ดูนสาด” ว่า หลุมเจาะ DM-5 เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์กับขอนแก่น การทำ EIA ก็ควรจะไปสอบถามพูดคุยกับประชาชนทั้งสองจังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ถามแค่คนที่อยู่ในเขตพื้นที่กาฬสินธุ์ซึ่งเป็นพื้นที่ขุดเจาะเท่านั้น 

ขณะที่ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ กล่าวว่า การทำ EIA ทั้งหมดในประเทศไทย ประเมินผลกระทบที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็น EIA ที่เขียนไว้ว่าสามารถแก้ไขได้

ณัฐพร อาจหาญ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด ให้ข้อมูลว่า มาตรการใน EIA ระบุว่า การขนย้ายอุปกรณ์ จะต้องมีการแจ้งก่อนขนย้าย 15 วัน แต่บริษัท อพิโก้ ก็ไม่ได้แจ้งก่อน 15 วัน นอกจากนี้ในรายงาน EIA เขียนไว้ว่า เศษหิน เศษโคลน ที่นำขึ้นมาจากการขุดเจาะ เป็นสิ่งที่ปนเปื้อนสารพิษต้องเอาไปทำลายอย่างถูกวิธีที่สระบุรี แต่ชาวบ้านก็เกิดความกังวลใจว่า ทางบริษัทจะปฏิบัติเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะระยะทางจากขอนแก่นไปสระบุรีมันไกล 

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านนามูลได้แสดงความรู้สึกอึดอัดใจที่ถูกห้ามพูดพาดพิงรัฐบาล ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

20150805171518.jpg

ภาพจากเพจ : Sineru Fiat 

ด้าน พ.ท.นพสิทธิ์ พงศ์วราพิศาล รองผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ที่เข้าสังเกตุการณ์ได้ร่วมแสดงความเห็นว่า ทหารอยู่ข้างประชาชน แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ สำหรับเขา หน้าที่สำคัญกว่าสิทธิ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ก่อนหน้าการจัดงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามซึ่งปรากฏชื่อเป็นวิทยากร ประกอบด้วย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อลงกรณ์ อรรคแสง และ วชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ได้รับการติดต่อให้เข้าชี้แจงรายละเอียดการสัมมนา ณ กองบัญชาการกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดมหาสารคาม 

ทั้งนี้ หลังการพูดคุยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงว่า ภายในงานจะไม่มีการกล่าวโจมตีรัฐบาล การแขวนป้ายผ้า หรือการแสดงสัญลักษณ์อื่นๆ รวมทั้ง ให้เชิญตัวแทนของฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมงานด้วย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ