“สื่อมวลชน” ความคาดหวังท่ามกลางสถานการณ์การเมือง

“สื่อมวลชน” ความคาดหวังท่ามกลางสถานการณ์การเมือง

นอกจากจะทำหน้าที่รายงานความเป็นไปในแต่ละวันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว  สิ่งหนึ่งที่เป็นความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ “สื่อมวลชน” ท่ามกลางสถานการณ์ขณะนี้  คือ สามารถชี้นำสังคมไปสู่ทางออกของปัญหา แบบที่เรียกว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้

“สื่อเองควรเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเป็นแหล่งข่าว และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องมามีบทบาทในสื่อ  ไม่ใช่เพียงแต่เกาะติดสถานการณ์อย่างเดียว ควรเปิดช่องทางหารือ หาทางออก…”

การพูดคุยกับ ธำรงค์    จิตตะปะสาทะ  เจ้าหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์สื่อ มีเดียมอนิเตอร์  โครงการกลไกสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ได้ย้ำชัดถึงความคาดหวังนี้อีกครั้ง

กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ของสถานการณ์ทางการเมืองสื่อมวลชนมีทิศทางในการนำเสนอเนื้อหาอย่างไร

โดยภาพรวมแล้ว ตั้งแต่เริ่มอาจจะยังไม่เต็มที่มาก แต่พอผลการศึกษาของเรารวมไปถึงการที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปเยี่ยมเยียนตามสื่อต่างๆก็จะเห็นได้ว่าสื่อมีการตื่นตัวมากขึ้น ทั้งในเรื่องของปริมาณการนำเสนอ ทั้งการเจาะลึกในเรื่องของเนื้อหา ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดว่ามีเพิ่มมากขึ้น

แต่ส่วนใหญ่ก็ยังจะเน้นการเกาะติดสถานการณ์  หมายถึงว่า  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน อย่างไร และมีบางช่องที่เปิดโอกาสในการหาทางออก  มีการเชิญบุคคลต่างๆมาสัมภาษณ์

มีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการนำเสนอเนื้อหาไหม

สื่อเองควรเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเป็นแหล่งข่าว และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องมามีบทบาทในสื่อ  ไม่ใช่เพียงแต่เกาะติดสถานการณ์อย่างเดียว ควรเปิดช่องทางหารือ หาทางออก แต่ไม่ใช่เอาคู่ขัดแย้งมาชนกัน เพราะมีกลุ่มหลากหลายกลุ่ม  ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ถ้าเชิญกลุ่มที่หลากหลายก็จะได้ข้อมูลที่หลากหลายในการที่จะช่วยกันหาทางออก

มองว่าควรมีการสร้างพื้นที่ให้เสียงที่แตกต่างได้สื่อสารกับสังคม

สื่อควรจะเปิดพื้นที่ให้มากกว่านี้ ทั้งในเรื่องของเวลาและการเจาะลึกในเนื้อหา  เพราะว่าทุกคนมีสิทธิ์พูด ยิ่งการเมืองส่อเค้าความขัดแย้งที่รุนแรง ทุกคนอยากมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ในเมื่อบางคนคิดว่าสื่อกระแสหลักไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ทุกคนก็มุ่งเข้าสู่สื่อออนไลน์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิแชร์ทุกคนมีสิทธิ์บอก  มีสิทธิไปกด Like เพื่อบอกว่าตัวเองมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร ซึ่งถือว่ามันเป็นโอกาสดีที่สื่อใหม่จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการเมืองมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักต้องทำงานเป็นอิสระ เสนอข่าวแบบตรงไปตรงมาปราศจากอคติ ถ้าทำงานในสภาวะกดดันทั้งจากผู้ชุมนุม หรือว่าการทำงานภายใต้คำสั่งของใครก็ไม่รู้ อาจจะทำให้สื่อทำงานได้ไม่อย่างเต็มที่ อาจจะทำให้ข้อมูลเอนเอียงได้

เรามองเห็นว่าสื่อมวลชนเป็นสถาบันหนึ่งที่สังคมคาดหวัง  ว่าจะไม่เอนเอียง ไม่เข้าข้างใคร เรียกว่าต้องปฎิบัติตามแนวทางของจริยธรรมสื่อ  ซึ่งจากการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์  แนวทางจริยธรรมหรือแนวปฎิบัติการรายงานสถานการณ์ มันยังไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งตัวนักข่าวหรือผู้ประกาศเองก็อาจไปปรับใช้อย่างไม่เต็มทีเพราะว่าข้อความหรือ เนื้อหาในแนวจริยธรรมมักเป็นคำกว้างๆ

สิ่งสำคัญที่คนทำงานด้านสื่อสารมวลชนต้องคำนึงถึง ?

อย่างแรกต้อง ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในฐานะที่เราเป็นสื่อสารมวลชนต้องพูดความจริง ไม่ทำงานภายใต้ความกดดันใดๆ  เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าผู้รับสื่อแต่ละคนก็รับสื่อที่หลากหลาย ถ้าคนใดคนหนึ่งรับสื่อเพียงแค่ด้านเดียว เขาก็จะเชื่อตรงนั้น เหมือนช่องทีวีดาวเทียม  ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่าพรรคการเมืองจะมีสื่อของตนเองเป็นปากกระบอกเสียง เป็นพื้นที่สื่อสารกับสังคม

นอกจากสื่อมวลชนแล้ว  ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ มีข้อแนะนำแก่ผู้รับสารอย่างไร

คือ ต้องรับสื่อหลายๆ ด้าน การเลือกรับสื่อด้านเดียวจะทำให้เราเชื่อไปในทางด้านเดียว เพราะสมัยนี้สื่อมีความหลากหลาย เราต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากในการรับสารจากแต่ก่อน เพราะทุกคนมีสื่อเป็นของตนเอง ประชาชนก็ต้องใช้วิจารณญาณในการติดตามข่าวสาร  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ