“ร้านน้ำชา” สังคมเล็กๆ ในเมืองเก่า สงขลา

“ร้านน้ำชา” สังคมเล็กๆ ในเมืองเก่า สงขลา

 

“ร้านน้ำชา” สังคมเล็กๆ  ในเมืองเก่า สงขลา 

หากใครเคยลงไปภาคใต้ คงคุ้นชินกับภาพร้านน้ำชา ภาพวงคุย  ที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำ  วันนี้นักข่าวพลเมือง ทีม พีชมีเดีย (PEACE MEDIA) ลงพื้นที่ไปสำรวจบรรยากาศร้านน้ำชา และพูดคุยกับคนในพื้นที่ ถึงพื้นที่สาธารณะและสังคมเล็กๆ ในย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา  

ชุมชนบ้านบน อ.เมือง อยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลา ที่ยังคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้และเป็นพื้นที่ที่สามารถสะท้อนความหลากหลายในการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่น่าสนใจในเมืองเก่าเล็กๆแห่งนี้ที่เป็นตัวหล่อหลอมความหลายหลาย ความแตกต่างให้กลายเป็นมิตรภาพ  นั่นคือ ร้านน้ำชา  สถานที่ที่ผู้คนบริเวณนี้มาพบปะพูดคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวันกันเสมอ  


จันทรวรรณ   มาสะพันธ์  เจ้าของร้านน้ำชาเก่าแก่ในชุมชนบ้านบน  เล่าว่า ร้านน้ำชาของเธอ ได้ชื่อว่าเป็นร้านหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ ซึ่งเธอเองก็สืบทอดกิจการมาเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้คนเข้ามาพูดคุยที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เรื่องราวที่นำมาพูดคุยก็หลากหลายไปด้วย  

 

“ถ้าเกิดว่าเรามานั่งกินน้ำชากัน คนต่างศาสนาเยอะมาสำหรับร้านพี่ เขาทะเลาะกันเรื่องศาสนาไหม เขาก็ถามกันเรื่องสาระทุกข์ สุขดิบ พูดเรื่องราวที่เขาไปเจอมาในแต่ละวัน พูดเรื่องการเมือง พูดเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองคนนั้นคนนี้ พูดคุยกันในเรื่องทั่วไป ถ้าถามว่าเรามานั่งคุยกันเรื่องศาสนารึป่าว ไม่ อะไรที่เป็นการแลกเปลี่ยนของคนตรงนี้”


เธอเล่าต่อว่า  มุมมองความหลากหลายทางศาสนาไม่ได้สร้างความแตกต่าง แต่กลับทำให้แต่ละคนเข้าใจเรื่องราวของเพื่อนที่พูดคุยได้มากขึ้น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำให้เรียนรู้และเข้าใจแนวทางปฎิบัติของแต่ละคน ยังก่อให้เกิดมิตรภาพและช่วยเหลือดูแลกัน

“ความหลากหลายทางศาสนาทำให้เราปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปทำกิจกรรมอะไรกับเขา ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง สามารถที่จะพูดอะไรที่เกี่ยวกับเราให้เขาฟังได้ด้วย ทำให้เขาเองก็มีความรู้ในเรื่องของเรา เขาเองก็มีความรู้ในของเค้า ถ้าต่างศาสนามาคุยในเรื่องต่างศาสนาไม่มีหรอก แต่ อย่างน้อยๆ เราไปไหนมาไหน เขาคือเพื่อนบ้านเรา ถึงไม่ใช่ศาสนาเดียวกับเรา ดีเสียอีกที่เขารู้ว่าอันไหนสิ่งไหนที่อิสลามทำได้ ทำไม่ได้อันนี้คือสิ่งที่เขาซึมซับไปกับเราเหมือนกัน และเราก็รู้อันไหนที่เขาทำได้ทำไม่ได้ อันไหนคือสิ่งที่เราปฎิบัติกับเขาได้ และสิ่งไหนที่ปฎิบัติไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเจอมาทุกวัน ซึมซับมาตั้งเเต่เด็กๆ แน่นอนว่าเราอยู่กับสิ่งที่มันปะปนอย่างนี้ ถ้าเรารับเขาโดยที่ไม่ศึกษาของเรา เราก็เอนไปตามเขา แต่ถ้าเราก็ศึกษาของเรา เรามีหลักของเรา เหมือนต้นไม้กะอย่างอื่นมาเพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ เราสามารถแยกแยะได้ คนที่นี่ไม่ทะเลาะกัน ช่วยเหลือกันตลอด” จันทรวรรณ กล่าว 

“ร้านน้ำชา”  นอกจากเป็นพื้นที่สาธารณะของคนในชุมชนในการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้ว  ยังก่อให้เกิดมิตรภาพและสันติภาพท่ามกลางความหลากหลายของสังคมในขณะนี้  

ขอบคุณภาพและเรื่องราว จาก นักข่าวพลเมือง ทีมพีชมีเดีย (PEACE MEDIA)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ