คุมตัว 16 ผู้ชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ส่งฟ้องศาล ตั้งข้อหา ‘ขวางการจราจร-ขวางการจับกุม-ทำร้ายเจ้าพนักงาน’

คุมตัว 16 ผู้ชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ส่งฟ้องศาล ตั้งข้อหา ‘ขวางการจราจร-ขวางการจับกุม-ทำร้ายเจ้าพนักงาน’

ฝากขัง 16 ชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่ายนี้ รักษาการผบช.ภ.9 ยืนยันตำรวจทำตามขั้นตอน ด้านทนายความเตรียมยื่นขอประกันตัวต่อศาลพร้อมกับการยื่นฝากขัง คาดหลักทรัพย์ประกันตัวต้องใช้คนละ 1 แสน ขณะที่ นศ.ม.อ.ปัตตานี จัดกิจกรรมให้กำลังใจผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว

ที่มาภาพ: Wanchai Phutthong
ที่มาภาพ: Wanchai Phutthong

28 พ.ย. 2560 จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และได้จัดกิจกรรมเดิน “เดิน….เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน….หานายก หยุดทำลายชุมชน” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา

การปะทะทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองสงขลา 16 ราย โดยมีการจดแจ้งชื่อแต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ขณะที่กลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 ราย ถูกควบคุมตัวอยู่ที่มัสยิดเก้าเส้ง ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับจุดปะทะ โดยมีเจ้าหน้าที่วางกำลังอยู่ภายนอก

กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.เมืองสงขลา ประกอบด้วย
1.นายดิเรก เหมนคร
2.นายรุ่งเรือง ระหมันยะ
3.นายเอกชัย อิสระทะ
4.นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์
5.นายอัยโยบ มูเซะ
6.นายอานัส อาลีมาส๊ะ
7.นายอามีน สะมาแอ
8.นายเนติพงษ์ ชื่นล้วน
9.นายเจะอาแซ เพ็ชรแก้ว
10.นายสรวิชญ์ หลีเจริญ
11.นายวิรพงษ์ หวังหวิน
12.นายอิสดาเรส หะยีเด
13.นายสมบูรณ์ คำแหง
14.นายสมาน บิแหละ
15.นายยิ่งยศ ดามะลี
16.นายฮานาฟี เหมนคร (เยาวชนอายุ 16 ปี)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วันนี้ (28 พ.ย. 2560) เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ทั้ง 16 คน จากสภ.เมืองสงขลา ส่งฟ้องศาลสงขลา โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งติดตามให้กำลังใจและรอการปล่อยตัวที่หน้าศาลจังหวัดสงขลา

 

#Live 28-11-2560 (ต่อ)13.09 น.เครือข่ายสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน นั่งอย่างสันติ เพื่อรอการปล่อยตัวเพื่อนที่ถูกจับกุม(หน้าศาลจังหวัดสงขลา)การปกป้องสิ่งแวดล้อมจะต้องไม่มีใคร ถูกกระทำดำเนินคดี

โพสต์โดย หยุดถ่านหินสงขลา เมื่อ วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2017

 

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) รายงานบทสัมภาษณ์ของ นายอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทีมทนายความกลุ่มผู้ชุมนุมว่า มีการตั้งข้อหากับกลุ่มผู้ชุมนุมฯ จำนวน 16 คน จำนวน 3 ข้อหา คือ 1.ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดบนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตราย หรือเสียหายแก่ยานพาหนะ มีบุคคลเดินขบวนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง และจราจร

2.ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปต่อสู้ ขัดขวางการจับกุม และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย และ 3.พาอาวุธไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร

“ช่วงดึกที่ผ่านมามีการสืบสวนสอบสวนเสร็จประมาณตี 4 โดยการแยกสอบเป็นรายบุคคลใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อคน กลุ่มผู้ชุมนุมทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่าจะให้การในชั้นศาล วันนี้จะมีการนำตัวทั้ง 16 คนไปขออำนาจศาลฝากขังผลัดแรก คาดว่าน่าจะเป็นช่วงบ่าย ส่วนเรื่องการประกันตัวทางทีมทนายความกำลังเตรียมการอยู่ โดยจะยื่นขอประกันตัวต่อศาลพร้อมกับการยื่นฝากขัง จากการสอบถามเจ้าพนักงานสอบสวนคาดว่าการขอประกันตัวน่าจะอยู่ที่คนละไม่เกิน 1 แสนบาท” นายอธิวัฒน์ กล่าว

ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) กล่าวถึงการจับกุม 16 แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาว่า เป็นการดำเนินคดีตามกฎหมายปกติ เป็นความผิดซึ่งหน้า ใน 2 ข้อหา คือทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ และขัดขวางการจับกุม ซึ่งยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาความผิดในการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ไม่ได้ขออนุญาต

ยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามขั้นตอน มีการเจรจามาตลอดให้ยุติการชุมนุม และการจับกุมเป็นไปตามอำนาจศาล โดยในบ่ายวันนี้จะมีการฝากขัง ส่วนจะให้ประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับศาล

รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ย้ำด้วยว่า ไม่กังวลกับภาพที่เผยแพร่ออกไปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมเพราะหลักฐานมีภาพหลายมุมและยืนยันว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน โดยการเข้าจับกุมมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 3 นาย กลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 3 คนเช่นกัน ส่วนกรณีนายมุสตาซีดีน วาบา ครูสอนศาสนาโรงเรียนดรุณศาสตร์ หนึ่งในแกนนำที่มีกระแสข่าวว่าถูกอุ้มหายระหว่างถูกจับกุมว่าไม่เป็นความจริง

ขณะที่ องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตนี (ม.อ.ปัตตานี) จัดกิจกรรมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และให้กำลังใจชาวเทพาที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว

 

รวมตัวพลังนักศึกษา คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และให้กำลังใจชาวเทพา ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว

โพสต์โดย องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา ม.อ. ปัตตานี เมื่อ วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2017

 

ทั้งนี้ ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เริ่มเคลื่อนขบวตั้งแต่เช้าของวันที่ 24 พ.ย. 2560 จากหาดบางหลิง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อเคลื่อนขบวนเข้าไปยังบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ รวมระยะทางประมาณ 75 กม.

จดหมายที่ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เตรียมไว้จะนำไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถูกตำรวจเข้าสลายและถูกจับกุม มีใจความดังนี้

000

เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพราะมีความไม่ชอบธรรมนานับประการ
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สืบเนื่องจากการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้จะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานีในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นี้ ชาวเทพาและเครือข่าย มีมติเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีถึงความไม่เป็นธรรม ความฉ้อฉล และผลกระทบ ที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากระทำต่อชุมชนคนเทพาและรวมถึงคนสงขลาและคนปัตตานี

ความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านเทพาโดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่สำคัญได้แก่

– การมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1, ค.2 และ ค.3 โดยที่ไม่มีการพูดคุยหรือรับฟังถกแถลงสองทางกับกลุ่มคัดค้านทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักวิชาการเลยแม้แต่ครั้งเดียว

– การศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีการลักไก่มากมายเพราะไม่เห็นลงมาเก็บข้อมูลเลยแต่กลับมีข้อมูลรายงาน อีกทั้งมีข้อมูลที่เป็นเท็จไม่ตรงข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก

– กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยทราบว่าจะมีการชงให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปก่อน โดยไม่รอ EHIA ท่าเรือขนถ่านหินซึ่งไม่ผ่านและยังต้องปรับแก้อีกมาก

– พื้นที่ทำโครงการเกือบ 3,000 นั้น ต้องมีการบังคับโยกย้ายคนบ้านบางหลิงและคลองประดู่ออกจากพื้นที่แผ่นดินเกิดกว่า 180 หลังคาเรือน ร่วม 1,000 คน “แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน” นับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ในยุคนี้ ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

– คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน แสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

กระแสของทั้งโลกกำลังทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะทำให้โลกร้อนและก่อมลพิษ อีกทั้งยังทำลายวิถีชุมชนเทพาที่สุขสงบ ประเทศไทยมีทางเลือกที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายทางเลือก จึงขอเพียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมโลกตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้

ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงขอให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี รับฟังเสียงประชาชน “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่มีความชอบธรรมใดๆที่จะสร้าง” จึงขอให้ทางรัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และชี้นำการสร้างสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ