‘เอกชัย อิสระทะ’ คำถามถึง กสม. ความคลางแคลงในภารกิจปกป้องสิทธิของประชาชน

‘เอกชัย อิสระทะ’ คำถามถึง กสม. ความคลางแคลงในภารกิจปกป้องสิทธิของประชาชน

20162908001722.jpg

นับจากเหตุการณ์เครือข่ายประชาชนใต้ “วอล์คเอาท์” ออกจากเวทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบปะประชาชนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 หลัง นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.ห้ามอ่านแถลงการณ์ของภาคประชาชนในเวที จนต้องออกมาจัดแถลงข่าวที่บันไดหน้าโรงแรม ก่อให้เกิดกระแสตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของประธาน กสม.

จากนั้นในวันถัดมาเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้กว่า 58 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของนายวัสและมีข้อเรียกร้องให้ปลดจากตำแหน่ง พร้อมระบุจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง (อ่านแถลงการณ์ด้านท้าย)

ปัญหาในประเด็นเรื่องการอ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ชุดที่ 3 ที่มีนายวัสเป็นประธาน เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งแรกในเวที กสม.พบประชาชนที่ จ.ขอนแก่น โดยขบวนการอีสานใหม่ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิ์ และนักศึกษา นักกิจกรรมในภาคอีสาน ได้ขออ่านแถลงการณ์ข้อเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน แต่ประธาน กสม.ปฏิเสธที่จะรับฟังและวอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุม (คลิกอ่านข่าว)

20162908002635.jpg

ทีมข่าวพลเมือง สัมภาษณ์ เอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา หนึ่งในเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนจากกรณีเหมือนหินในภาคใต้ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมุมมองความหวังของประชาชนที่ต่อการทำงานของ กสม.ทั้งคณะ ในภาวะทางสังคมการเมืองที่ประชาชนต้องการการหนุนเสริมเรื่องสิทธิในปัจจุบัน

เล่าเหตุการณ์จุดฉนวนจี้ปรับประธานกรรมการสิทธิฯ 

กสม.จัดเวทีพบประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งก็มีทั้งภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ มาร่วมกัน ประมาณ 300 คน การประชุม 2 วัน วันแรกมีการแบ่งกลุ่มย่อยไประดมความคิดเห็นว่าแต่ละประเด็น แต่ละหมวดเป็นอย่างไร ส่วนวันที่ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือว่าในช่วงเช้าก็มีการนำเสนอจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มขึ้นมาบนเวที แล้วพวกเราหลายส่วนที่มาพบปะกันแล้วในส่วนขององค์กรภาคประชาชน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่ภาคใต้ จากโครงการเมกะโปรเจกต์ หรือจากประเด็นต่างๆ มารวมตัวกัน เพราะฉะนั้นเราก็มีการคุยกันว่าน่าจะมีแถลงการณ์ เอกสารอย่างเป็นทางการที่จะสื่อสารไปยังหน่วยงานของภาครัฐ โดยเฉพาะโดยตรงไปถึงนายกรัฐมนตรี 

เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะคิดว่าการแถลงการณ์ แถลงข่าวน่าจะเป็นเรื่องปกติที่ภาคประชาชนก็ควรที่จะต้องใช้สิทธิในการแถลงด้วย ประกอบกับทาง กสม.ก็มีกำหนดการที่ต้องเร่งรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ เราจึงคิดว่าคงต้องใช้ช่วงเวลาของการอภิปรายช่วงท้ายนี้ จึงได้ไปของผู้ดำเนินรายการซึ่งเป็นอาจารย์ที่อยู่ในพื้นที่ อาจารย์ท่านก็อนุญาต บอกว่าช่วงท้ายหากภาคประชาชนจะแถลงก็แถลงได้เลย 

ท่านก็อนุญาตบนเวที เราก็คิดว่าไม่มีอะไร เพราะจริง ๆ การแถลงของพวกเราเราก็ต้องรับผิดชอบตัวเราเองอยู่แล้วว่าเราแถลงไปจะเป็นอย่างไร แต่ว่าท่านประธาน กสม.ที่นั่งอยู่ตรงโซฟาด้านข้างเวที ท่านกลุกขึ้นมาบนเวที แล้วก็โบกไม้โบกมือห้ามไม่ให้เราแถลงข่าว 

มี 2-3 เรื่องที่เรารู้สึกสงสัยกับท่าทีแบบนี้ เพราะว่าถ้าเป็นประชาชนทั่วไปหรือว่าเป็นคนที่อาจไม่เข้าใจประเด็นเนื้อหาเรื่องของสิทธิมากนัก เราก็จะไม่รู้สึกกังวล แต่ท่านเป็นถึงประธาน กสม.ซึ่งท่าทีต่อกันในความเป็นมนุษย์ เราก็คิดว่าท่าทีท่านควรจะมีการสื่อสารอย่างที่น่าจะสื่อสารกันอย่างที่ผู้ที่มีวุฒิภาวะ มากกว่าการออกมาโหวกเหวกโวยวาย เหมือนกับเราไม่ใช่คนที่อยู่ในห้องนั้น เหมือนกับเราเป็นคนข้างนอกที่ไม่เคยเจอกันแล้วเดินเข้ามาทำลายเวทีการประชุม ซึ่งไม่น่าจะใช่

มันน่าจะเป็นเรื่องของการคุยกันดี ๆ แล้วบอกว่าเอาหละ ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่การเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เราบอกว่าเราไม่ได้ไปเกี่ยวกับวาระของท่านแต่เราเกี่ยวอยู่ในเนื้อหาช่วงของการอภิปราย ซึ่งเราก็มีสิทธิในการขอแถลงอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะสื่อสารให้กับสังคมได้รับรู้ด้วยว่าเราคิดอย่างไร

เพราะฉะนั้นโจทย์ที่เราพบก็คือว่า ถ้าท่านมีวุฒิภาวะและการแสดงออกแบบนั้น อย่างที่บอกครับ เราคิดว่า กสม.ก็ควรเป็นผู้มีคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษชน ควรเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารอย่างเข้าใจ และฟังมนุษย์ได้ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าท่านมีพฤติกรรมแบบนี้ และการใช้ท่าทางแบบที่มีอำนาจแบบนั้นในการสั่งการให้คนของท่านต้องทำภาระกิจที่เหมือนกับว่าเราจะไปละเมิดหรือบุกรุกเวทีของเขา ผมรู้สึกว่าท่าทีอย่างนั้นไม่เหมาะสม

แล้วหลังจากนั้นท่านก็พูดว่าเดี๋ยวจะพูดให้ฟัง เราก็นั่งฟังอยู่อีกประมาณ 1-2 นาที คิดว่าท่าจะอธิบายหรือพูดคุยกันต่อประเด็นที่เกิดขึ้น แต่ท่านก็แถลงในสิ่งที่ท่านอยากจะแถลงให้พวกเราฟังอีก ซึ่งเราก็รู้สึกว่าประเด็นที่กำลังจะคุยกันท่านก็ไม่คุย ท่านกำลังนำพยายามนำเสนอไปในสิ่งที่ท่านต้องการ อย่างนี้ความหมายคืออะไร เราก็เลยแสดงออกว่าเราคงเคารพท่านไม่ได้ จึงวอล์คเอาท์ออกจากห้อง ภาคประชาชนที่มีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของห้องก็วอล์คเอาท์ออกมา แล้วมาแถลงข่าวด้านหน้า

การแถลงข่าวเราไม่ได้เตรียมประเด็นของท่านไว้เลย เราเตรียมประเด็นเนื้อหาที่จะสรุปสถานการณ์เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษชนในพื้นที่ภาคใต้ทุกประเด็นที่มีอยู่ ซึ่งรายละเอียดอยู่ในแถลงการณ์อยู่แล้ว แต่ว่าประเด็นของท่านเป็นประเด็นที่ต้องโดดขึ้นมาบอกว่าเราต้องแถลงซ้ำทั้งที่ไม่มีเอกสาร ว่าท่าทีต่อประชาชน ต่อการฟัง นักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นก็ควรจะต้องมีการฟังอย่างตั้งใจ และฟังอย่างที่จะเอาความจริงจากเนื้อหาเรื่องราวเหล่านั้นออกมา แล้วดึงมาสู่ประเด็นที่จะมาพูดคุยและถกเถียงกันอย่างที่มีท่าทีต่อความเป็นมนุษย์ด้วยกัน 

ผมคิดว่านี่คือเรื่องที่เรารู้สึกเรียกร้องมาก และเราคิดว่าหากว่าท่านที่เป็นประธาน กสม.ทำอย่างนี้น่าที่จะต้องทบทวน ผมคิดว่าข้อเสนอแรกที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ก็ออกแถลงการณ์เป็นฉบับที่ 2 ไปแล้วเมื่อเช้านี้ (26 ส.ค. 2559) ว่า อยากให้มีการทบทวนในบทบาทหรือตำแหน่งของประธาน 

เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของ กสม.ทั้ง 7 ท่าน อาจจะต้องมาพูดคุยและทบทวนบทบาทหน้าที่ใหม่ว่า บทบาทหน้าที่ของท่านซึ่งจะนำพาองค์กรไปอีก 6 ปี 

ถ้าบทบาทเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าควรรีบทบทวนเลยครับ เพราะว่าบทบาทของประธานสามารถทำภารกิจได้อีกหลายประเด็น แล้วกลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งภาคประชาชนเราเองคิดว่าการมีส่วนร่วมในการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือกติกาทั้งหลายของ กสม.ก็น่าจะถูกติดตามมากขึ้น และการที่ท่านเองมีบทบาทอย่างนี้ ทำให้พวกเรารู้สึกว่ากติกา หรือกลไกของกรรมการสิทธิฯ ที่จะมาปกป้องสิทธิของชาวบ้านมันจะบกพร่องไปอย่างไร นี่คือสิ่งที่อาจต้องเพิ่มวาระเข้ามา

ถ้ามาตรการเบื้องต้น การทบทวนเบื้องต้น ถ้ามีและทำให้พวกเราเข้าใจได้ หรืออาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของคณะกรรมการภายใน อันนี้เป็นข้อเรียกนร้องในขั้นต้น แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนก็อาจมีมาตรการขั้นที่ 2-3 ซึ่งอาจจะต้องคุยกัน 

ประเด็นแบบนี้อาจต้องเชิญชวนพี่น้อง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนด้วยว่ากับกรณีแบบนี้ ที่เราต้องมีประธานกรรมการสิทธิฯ แบบนี้ไปอีก 6 ปี อาจต้องมีการชวนพูดคุยกันว่าเราอาจต้องแสดงบทบาทของพวกเราอย่างไรกับเรื่องนี้

 

ทบทวนการหน้าที่กรรมการสิทธิฯ ชุดก่อนหน้า

กสม.ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเรา พวกเราเองในส่วนภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่ก็ถือว่าเป็นความหวัง โอเคในสมัยแรกก็เป็นยุคสมัยที่ทำให้เราพอจะมีความหวังต่อการคุ้มครองและปกป้องสิทธิ์ ในยุคที่ 2 เราเห็นการทำงานของ กสม.บางท่าน โดยเฉพาะคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ซึ่งก็ทำงานอย่างเต็มที่และเห็นชัด

มีหลายบทที่มีข้อสรุปชัดเจนตรงกัน อย่างในที่ประชุมของพวกเราในภาคใต้ที่คุยกันชัดว่า ประเด็นที่ กสม.ช่วยเราได้ก็คือ 1.การมาหยุดกระบวนการละเมิดสิทธิ์ของเรา การลงพื้นที่เป็นปฏิบัติการที่ดีที่สุด กสม.อย่างคุณหมอนิรันดร์ลงพื้นที่อย่างน้อยกลไกของรัฐหรือกลไกของทุนที่ละเมิดสิทธิ์จะหยุดชะงัก และทำให้เรามีเวลาที่จะตั้งตัว จัดการระบบข้อมูล เตรียมความคิดเห็น เตรียมประเด็น สามารถมาสู้กันเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่ารูปแบบนี้ใช่ และสิ่งที่ กสม.ได้เรียกข้อมูลก็เป็นส่วนที่ 2 ที่จำเป็นมากกว่าการนั่งฟังอย่างเดียว เรียกข้อมูลมาตรวจสอบ ทั้งเอกสาร ทั้งการประชุมและพูดคุยตรงนี้ดึงประเด็นออกมาได้

ส่วนที่ 3 สิ่งที่เราต้องการก็คือว่าตัวมติหรือความคิดเห็นที่ต้องออกมาของ กสม. แม้ว่าจะมีหลายกรณีที่ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่ทันเหตุการณ์ อย่างที่เขาคูหาเราได้ใช้มติของ กสม. ข้อมูลพยานในชั้นศาล ซึ่งคุณหมอนิรันดร์ก็ได้เข้าไปอ่านเอกสารที่ได้มาจาก กสม. ซึ่งก็เป็นผลดีต่อประชาชนอย่างชัดเจนว่า กสม.ได้ตรวจสอบอะไรมาแล้วบ้าง มีเหตุผลมีหลักการอย่างไร และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา ซึ่งเอกสารนี้ถูกใช้ในศาลอย่างเป็นทางการ นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากเห็นต่อไป

 

จับตากรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน 

สำหรับชุดนี้เห็นอยู่ 2 ท่าน คือคุณอังคณา นีละไพจิตร และคุณเตือนใจ ดีเทศน์ คิดว่าทั้ง 2 ท่านก็แสดงความจริงใจ มีความพร้อมที่อยากจะทำภารกิจนี้ แล้วเราก็คิดว่าอบอุ่น แต่ว่าในขณะเดียวกัน พอเห็นบทบาทของประธาน กสม.กับภาพรวมของบทบาทของ กสม.เราก็ไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะพูดคุยจนกระทั่งมีมติที่จะไปหนุนช่วยการปกป้องสิทธิของประชาชนมันจะทำได้จริงแค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นว่าตำแหน่งประธานก็มีความจำเป็น

เราอยู่ท่ามกลางประชาชนเกือบ 300 คน แต่ท่านแสดงท่าทีบทบาทในเชิงอำนาจแบบนั้นท่ามกลางสาธารณะ เราคิดว่าเอ๊ะ… ถ้าในที่ประชุมของคณะกรรมการแค่ 7 ท่าน แล้วถ้าท่านมีบทบาทและภาวะแบบนั้นจะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้น

 

ความหวังที่เคยมีท่ามกลางความสิ้นหวังของประชาชนหลายกลุ่มต่อการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ในภาวะทางสังคม การเมืองที่ในปัจจุบัน 

ผมคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ คือเวลาพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่พวกผมซึ่งอยู่ในฐานการทำงานกับชุมชนและการจัดการทรัพยากรเราจะมองมิติทางการเมืองอาจจะน้อยกว่า อันนี้อาจเป็นปัญหาที่เราไม่ได้ติดตามลงลึกว่าในมิติโครงสร้างเป็นอย่างไร แต่ถ้าถาม ผมคิดว่าโดยโครงสร้างกลไกกรรมการสิทธิมีความจำเป็น แต่ว่าที่ไปที่มาและกระบวนการคัดสรร อันนี้ก็เป็นโจทย์อีกโจทย์ใหญ่ที่เราก็ไม่ได้ติดตามรายละเอียด 

ถามจริงๆ ว่าเราได้ไปใส่ใจรายเอียดไหมว่าที่ไปที่มา กลไก กระบวนการที่ได้มาคัดสรรเป็นอย่างไรบ้าง แต่ว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการได้ใช้ประโยชน์และทำให้เกิดการปกป้องสิทธิของพวกเราได้บ้าง ถ้าถามผม ผมก็คิดว่ากลไกโครงสร้างนั้นจำเป็นต้องมี แต่จะทำให้สมบูรณ์หรือใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์ของการปกป้องสิทธิอย่างไร อาจเป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันดู แต่ถ้าเราไม่มีเลยก็กลายเป็นคำถามเหมือนกันว่าเราจะคาดหวังกับอะไร เหมือนกับปัจจุบันที่เวลาเราเห็นเรื่องนี้ ถ้ากลไกมันเป็นแบบนี้ก็ทำให้เราสนใจมากขึ้น

ต้องขอบคุณท่านประธาน กสม.ด้วยที่ทำให้พวกเราคิดว่า เอ๊ะ… กสม.ที่เราละเลยต่อการตรวจสอบ หรือดูที่ไปที่มา ดูกระบวนการคัดสรร ดูองค์ประกอบของกระบวนการ และดูไปต่อว่าเนื้อหารายละเอียดของระเบียบกลไกเป็นอย่างไร ตรงนี้ท่านทำให้เราสนใจมากขึ้นว่ากระบวนการเหล่านี้น่าจะต้องเข้าไปจับตามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจต้องยอมรับว่าพวกผมเองก็ละเลย คาดหวังว่าอาจต้องมีการติดตามมากขึ้นและต้องช่วยกันกำกับ

 

จากภาคประชาชนด้านฐานทรัพยากรถึงกรรมการสิทธิฯ เพื่ออนาคตการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิ์ที่ดีขึ้น

สิ่งที่อาจต้องเริ่มต้นใหม่ จากประเด็นที่ยืนยันไปแล้วว่า 1.การลงพื้นที่ของ กสม. 2.การเชิญหน่วยงานมาพูดคุย ให้ข้อมูลและเอกสารโดยตรง 3.การประมวลเป็นข้อสรุป มติ ข้อคิดเห็นของกสม.ออกมา 3 อย่างนี้ถือเป็นภาระกิจหลักที่ช่วยพวกเราได้ แต่สิ่งที่จำเป็นไปมากกว่านั้น และก่อให้เกิดความกังวลและเป็นห่วงแล้วก็คือกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นจะเป็นอย่างไร 

ที่ผ่านมาเราอาจเห็นบางหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้เหมือนกันแต่เรียกเอกสารอย่างเดียว และเอกสารนี่เองเป็นข้ออ่อนของประชาชนและชุมชนอยู่แล้วว่าเรามักไม่มีเอกสาร ไม่มีเนื้อหาที่เป็นเอกสารอ้างอิง แต่ส่วนราชการมักจะมี เพราะฉะนั้นการที่ได้ทั้งตัวเอกสารและข้อมูลจริง รูปธรรมในทางปฏิบัติ การลงพื้นที่ มีความจำเป็นมากพอๆ กับการที่จะเรียกร้องเอกสาร เพราะฉะนั้นกระบวนการหลังจากนี้ถ้าหากว่าทัศนคติหรือมุมมองของคณะกรรมการไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นปัญหา

ถ้าประเด็นสำคัญเราคิดว่า 3 ประเด็นแรกนี้กับการให้น้ำหนักการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและขั้นตอนน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคสมัยหลังนี้

คือพวกเราก็เรียกร้องเชิงโครงสร้างนะ คิดว่าถ้า กสม.จะไปให้พ้นการแก้ปัญหาเป็นรายๆ ก็อาจต้องมาดูการละเมินสิทธิเชิงนโยบายและกฎหมาย ซึ่งน่าจะกลายเป็นเรื่องหลักที่หลังจากนี้เราก็มีข้อเสนอในเวทีที่ประชุมไปแล้วว่า กสม.อาจต้องเข้ามาดูว่าตั้งแต่ในระดับนโยบายที่ออกมา การจัดทำนโยบายแผนพัฒนาภาคใต้หรือแผนพัฒนาประเทศทั้งหมด การจัดการเหมืองทั่วประเทศ การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ทำได้หรือไม่ เพื่อคลี่คลายและแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ไม่ใช่ไปแก้รายย่อยๆ แล้วกฎหมายที่ว่าทีกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นมีจริงหรือเปล่า มันทำให้สิทธิของชาวบ้านและชุมชนถูกลิดรอนหรือไม่ ถ้าพบแล้วก็แก้เลย

ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้คนอยู่ในกรอบของกฎหมาย และกระบวนการที่จะติดตามมาตรการทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งพวกเราก็จะได้สิทธิเท่ากัน ไม่จำเป็นต้องมาคลี่คลายปัญหาเป็นรายๆ อันนี้คือความคาดหวังว่า กสม.ยุคใหม่ถ้าขยับไป ผ่านเหตุการณ์แบบนี้ไปได้ก็น่าจะต้องทำ

 

การลุกขึ้นห้ามอ่านแถลงการณ์อาจไม่ได้สะท้อนแค่ความคิดของตัวบุคคล แต่อาจบอกถึงบริบทของสังคมในปัจจุบัน แล้วเราจะผ่านข้อจำกัดตรงนี้ไปได้อย่างไร

อาจจะต้องมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ผมคิดว่าทางเดียวที่พวกเราทำได้ก็คือการที่ต้องรวบรวม เคลื่อนไหว ผมคิดว่าการตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นหลังจากนี้ อย่างน้อยมาตรการแรกภายในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ 1 – 2 สัปดาห์ เราจะดูท่าทีว่ากสม.มีท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่พวกเรามีข้อเสนอ และเราอาจมีหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึง กสม.ว่าขอให้ทบทวนบทบาท ส่วนปฏิกิริยาตอบรับจะเป็นอย่างไรค่อยมาว่ากันเป็นช็อตๆ แต่เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน หากปล่อยไปอย่างนี้ เราคงไม่รอไปถึง 6 ปี ไม่ต้องรอเลือกตั้งกันใหม่

 

20162908002359.jpg

 

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมเผยบทสัมภาษณ์ ประธาน กสม. แฉเบื้องหลังเบรคอ่านแถลงการณ์

ด้าน นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เพื่ออธิบายความในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยสรุปประเด็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือข่ายชาวบ้านธรรมดาอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประธานไม่ให้พูด ซึ่งความจริงก็สามารถชี้แจงได้ตรงนั้นทันที แต่ส่วนตัวได้รักษาหน้าของ กสม.คนหนึ่งไว้ ซึ่งในที่สุดการรักษานั้นก็ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ แต่ก็โอเคมีจิตใจมั่นคงพอแม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ปลดออก

“ในอดีตผมเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา รับเงินเดือนเท่ากับประธานศาลฎีกาและนายกรัฐมนตรี ผมมาเป็นประธาน กสม.ค่าตอบแทนน้อยกว่า ผมไม่ได้มีผลประโยชน์ใดในการมาอยู่ที่นี่ หากถูกปลดจริงผมก็กลับไปทำงานที่เดิมไม่เดือดร้อน” นายวัส กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า คนที่กลัวการถูกปลดแท้จริงคือใคร

“จริงๆ แล้วตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 ผมก็เริ่มระแคะระคายและได้ข่าวว่ามีการเคลื่อนไหว หลังจากที่ผมมีแนวคิดจะแบ่งคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ใหม่ให้มีความเหมาะสม ซึ่งคงจะมีแรงต้านอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะอนุกรรมการบางชุดจะถูกยุบไปรวมกับชุดอื่น

“ที่ผ่านมามีปัญหาบางอย่าง เช่น คณะอนุกรรมการบางชุดก็ทำงานอุ้ยอ้าย กสม.บางคนก็รับผิดชอบงานอนุกรรมการถึง 3 ชุด แล้วถามว่าจะมีเวลาทำงานยังไง เมื่อตั้งอนุกรรมการขึ้นมาก็เอาเครือข่ายของตัวเองมาเป็นส่วนใหญ่ จนมีข้อครหาว่ามีการตั้งอนุกรรมการในเครือข่ายพวกเดียวกันหมด ไม่มีความหลากหลาย แทนที่จะมีอย่างน้อย 2 ฝ่ายมาช่วยกันกลั่นกรอง ดังนั้นต่อไปถ้าจากอนุกรรมการ 3 ชุด เหลือ 2 ชุด ก็จะมีคนบางคนที่อยู่ในนั้นอาจจะหลุดออกไป

“นอกจากนี้ยังมีเทคนิคหลายอย่างที่อนุกรรมการใช้ เช่น บางเรื่องการตรวจสอบควรจะเสร็จแล้วแต่ชะลอไว้ไม่ให้เสร็จ เพื่อใช้อำนาจของอนุกรรมการในการเรียกเอกสารข้อเท็จจริงไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น เพราะในเรื่องที่ร้องเรียนมันจบแล้ว เป็นต้น ความจริงมีมากกว่านี้อีก ก่อนหน้าที่ผมเข้ามาก็ไม่เคยรู้ว่ามีการทำกันแบบนี้งานก็เลยช้า มันมีปัญหาเยอะกว่านี้แต่เรื่องเหล่านี้ก็กำลังแก้ไขอยู่ ซึ่งในตอนนี้ก็แก้ไขไปในระดับหนึ่ง” นายวัส กล่าว (คลิกอ่านข่าว)

000

แถลงการณ์ฉบับแรก

แถลงการณ์
เรื่อง หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการหรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้

ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนตามมา อาทิ เช่น

1. นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จังหวัดสงขลา รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย เช่น การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือสองฝั่ง การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน และการเปิดพื้นที่การลงทุนแบบใหม่ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา

2. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา ที่มีการเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างมีนัยยะในช่วงปีที่ผ่านมา

3. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงข้อระเบียบ หรือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพื้นที่

4. นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ อันส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนยาง ในหลายพื้นที่ 

5. การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆเช่น การถูกรุกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเล หรือการรับรองสิทธิพลเมืองของกลุ่มมันนิ

6. สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน

ทั้งที่โดยหลักการแล้วการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อีกทั้งต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่านโยบาย และหลายโครงการที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมที่จะได้รับการตัดสินใจผลักดันเดินหน้าในรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการออกแบบหรือสร้างกติกาทางสังคมแบบใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาลเองที่ต้องการปฏิรูปประเทศนี้ให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในภาคใต้ อันเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายวงเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเสนอให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น และให้หันมาสร้างบรรยากาศของประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้วยความเคารพ
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้
วันที่ 25 สิงหาคม 2559

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 2 

แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้
เรื่อง ขอตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของ นายวิส ติงสมิตร และให้ปลดจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ.2559 ณ โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีประชาชนจากเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ รวมถึงข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้เข้าร่วมกว่า 300 คน

การประชุมดังกล่าวมีการวิเคราะห์สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ และการระดมข้อเสนอเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ได้นำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

โอกาสนี้ ทางเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ ได้จัดทำข้อเสนอเตรียมออกเป็นแถลงการณ์ เพื่อนำผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลให้หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

และด้วยหวังจะให้คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับทราบเนื้อหาสาระของข้อเสนอในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย โดยได้ประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิฯ บางท่านไว้ล่วงหน้า เพื่อขอช่วงเวลาก่อนการปิดเวทีการประชุมในการจัดแถลงข่าวนี้

แต่กลับได้รับการปฏิเสธจาก นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยท่าทีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระในคำแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นมิได้กระทบต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้แต่อย่างใด หากเป็นการสื่อสารไปยังรัฐบาลเท่านั้น

เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดรู้สึกไม่พอใจต่อท่าทีดังกล่าว จึงได้ประท้วง นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วยการเดินออกจากห้องประชุมก่อนที่จะกล่าวปิดการประชุมแล้วเสร็จ จากนั้นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ทั้งหมด ได้ใช้พื้นที่หน้าห้องประชุมอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน

พร้อมกันนี้ ได้มีการกล่าวตำหนิท่าทีที่ไม่เหมาะสมของประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งทราบมาว่า ในเวที กสม.พบประชาชนที่ได้จัดไปก่อนหน้านี้ในภาคอื่นๆ ก็เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งอย่างยิ่งต่อคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ที่จะทำหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ จึงมีฉันทมติร่วมกันว่า ไม่สามารถยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของ นายวัส ติงสมิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อีกต่อไป ด้วยว่าการรับรู้ การได้ยินเสียง คือต้นทางของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หากไม่รับฟังก็ไม่อาจรู้ข้อเท็จจริง หากไม่รับรู้ข้อเท็จจริงก็ไม่อาจวินิจฉัยคุ้มครองใครได้ การรับฟัง จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของผู้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทุกคน แต่พฤติกรรมของ นายวิส ติงสมิตร หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เราจึงขอตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งหมด แสดงความรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ต่อไป เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ และเรียกความศรัทธา ความเชื่อมั่นขององค์กรดังกล่าวนี้กลับคืนมาอีกครั้ง
 
เครือข่ายภาคประชาชน 58 องค์กรภาคใต้ ตามที่มีรายชื่อแนบกับแถลงการณ์ฉบับนี้ตกลงร่วมกันไว้ว่า หลังจากนี้ จะมีการส่งตัวแทนติดตามเรื่องที่ร่วมกันเรียกร้องอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยจะให้เวลาคณะกรรมการ กสม.ได้ตัดสินใจดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เพียงระยะเลาหนึ่ง แต่ไม่น่าจะนานนัก
 
องค์กรประชาชนที่ได้ร่วมออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ด้วย ได้แก่
 
 1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้
 2. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้
 3. เครือข่ายชนเผ่าภาคใต้
 4. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
 5. เครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา
 6. เครือข่ายชาวเลภาคใต้
 7. เครือข่ายชาติพันธุ์ชนเผ่ามอแกน-มอแกลน
 8. สภาชนเผ่าพื้นเมือง
 9. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 10. เครือผู้ประสบภัยสีนามิ
 11. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
 12. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล
 13. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
 14. สมาคมรักษ์ทะเลไทย
 15. มูลนิธิอันดามัน
 16. มูลนิธิป่าทะเลเพื่อชีวิต
 17. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดพังงา
 18. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
 19. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
 20. เครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้
 21. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศภาคใต้
 22. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้
 23. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน
 24. สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา
 25. สมาคมรักษ์ทะเลกระบี่
 26. สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
 27. สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
 28. เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา
 29. สถาบันศานติธรรม
 30. เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
 31. เครือข่ายพลเมือง
 32. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานสงขลา
 33. เครือข่ายรักษ์อ่าวปากบารา
 34. ชมรมประมงพื้นบ้านสตูล
 35. ชมรมมัคคุเทศก์สตูล
 36. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
 37. สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี
 38. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
 39. เครือข่ายสตรีธรรมาภิบาล
 40. เครือข่ายชาวพุทธปัตตานี
 41. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้
 42. กลุ่มสิทธิมนุษยชนปาตานี
 43. เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิตภาคใต้
 44. มหาลัยลานหอยเสียบ
 45. โครงการพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่
 46. เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง ประจวบฯ
 47. ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำสิทธิมนุษยชนลุ่มน้ำปากพนัง
 48. เครือข่ายรักษ์ชุมพร
 49. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจังหวัดกระบี่
 50. กลุ่มอนุป่าชายเลบ้านท่าน้ำเค็ม
 51. กลุ่มคนรุ่นใหม่ใจอาสาภาคใต้
 52. เครือข่ายปกป้องอุทยานแห่งชาติเภตรา-ตะรุเตา
 53. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
 54. กลุ่มศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม
 55. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
 56. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 57. กลุ่มรักจังสตูล
 58. อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านอำเภอหัวไทร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ