‘มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม’ เสนอถอนแจ้งความ ‘3 นักสิทธิฯ’ ชี้ฟ้องคดีเพื่อศักดิ์ศรีรัฐไม่แก้ปัญหา

‘มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม’ เสนอถอนแจ้งความ ‘3 นักสิทธิฯ’ ชี้ฟ้องคดีเพื่อศักดิ์ศรีรัฐไม่แก้ปัญหา

21 มิ.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมออกแถลงการณ์ ‘กรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดี’ ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2559 ระบุความเห็นต่อวิธีการแก้ปัญหาด้วยการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวของรัฐ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ว่ามีความไม่เหมาะสม และไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 

จากกรณี เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2559

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ให้ความเห็นว่า ตลอดระยะเวลาของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่าย ได้มีบทบาทในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ จนศาลได้มีคำพิพากษาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น คดีอีหม่ามยะผา กาเซ็ง คดีอัสอารี สะมาแอ คดีอดิล สาแม ฯลฯ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ภายใต้ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงโดยใช้อาวุธ สังคมมักจะมองว่าการซ้อมทรมาน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ในความเป็นจริงการซ้อมทรมาน เป็นการใช้ความรุนแรงอันร้ายแรงของรัฐ และผู้กระทำผิดถือว่าเป็นอาชญากร เพราะการปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 

แต่ในทางกลับกัน ได้ทำลายความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐ พร้อมกับริดรอนศักดิ์ศรีของการปกครองภายใต้กฎหมาย และนำไปสู่วงจรแห่งความรุนแรง โดยสร้างความรู้สึกคับแค้นใจของเหยื่อและสังคมในพื้นที่ และในขณะเดียวกันเป็นการสร้างวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของความขัดแย้ง ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการแถลงข่าวของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ผ่านทางสื่อมวลชนว่า การดำเนินคดีดังกล่าวกระทำเพื่อศักดิ์ศรีของรัฐ แต่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เห็นว่า การดำเนินคดีดังกล่าวไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา เพราะนักปกป้องสิทธิเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิในสังคม และรัฐควรรักษาความลับของข้อมูล เพื่อปกป้องความปลอดภัยของเหยื่อตามหลักสากล 

“ในฐานะที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรช่วยเหลือทางกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ (rule of law) เรามีความเชื่อมั่นว่า ศักดิ์ศรีของรัฐจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการยอมรับความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ พร้อมทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน” แถลงการณ์ระบุ

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มีข้อเสนอต่อ กอ.รมน.ภาค 4 สน. 3 ข้อ คือ 1.ถอนแจ้งความดำเนินคดี 2.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ โดยมีองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นสมาชิกร่วมคณะกรรมการ และ 3.สร้างกลไกในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน

แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้

 

20162206001753.jpg

แถลงการณ์ กรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดี

ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ (ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม)นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ (ประธานกลุ่มด้วยใจ) ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายมนุษยชนปาตานี ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกสถาบันทดสอบภาษาอาหรับ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดและสี่อำเภอชายแดนภาคใต้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีความเห็นต่อกรณีวิธีการแก้ปัญหาด้วยการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวของรัฐ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ว่ามีความไม่เหมาะสม และไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เนื่องจากตลอดระยะเวลาของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่าย ได้มีบทบาทในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ จนศาลได้มีคำพิพากษาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น คดีอีหม่ามยะผา กาเซ็ง คดีอัสอารี สะมาแอ คดีอดิล สาแม ฯลฯ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง

ในกรณีดังกล่าวมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายในปี พ.ศ.๒๕๔๗ และจากการร้องเรียนดังกล่าว เคยดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยตัว นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาผ่านสื่อสาธารณะ ตลอดจนให้คำแนะนำต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัด ได้ใช้ความพยายามให้เหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อได้รับความเป็นธรรม แต่เหยื่อไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ภายใต้กลไกในกระบวนการยุติธรรมปกติได้ แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเคยมีนโยบายให้เหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ แต่ปรากฏว่า มีบางกรณีตำรวจไม่รับแจ้งความ โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐาน หรือแนะนำให้ลงลายมือชื่อว่าไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ หรือบางกรณีรับแจ้งความแต่ไม่มีการสอบสวนใดๆ จนบางรายมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยเนื่องจากมีการคุกคามภายหลังได้แจ้งความแล้ว สุดท้ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้มีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว ซึ่งทำให้เหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานไม่มีที่พึ่ง หรือมีความรู้สึกว่าไม่สามารถได้รับการปกป้องจากกลไกของรัฐ จึงนำไปสู่การเสนอรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลไกระหว่างประเทศ

ภายใต้ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงโดยใช้อาวุธ สังคมมักจะมองว่าการซ้อมทรมาน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ในความเป็นจริงการซ้อมทรมาน เป็นการใช้ความรุนแรงอันร้ายแรงของรัฐ และผู้กระทำผิดถือว่าเป็นอาชญากร เพราะการปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ในทางกลับกัน ได้ทำลายความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐ พร้อมกับริดรอนศักดิ์ศรีของการปกครองภายใต้กฎหมาย และนำไปสู่วงจรแห่งความรุนแรง โดยสร้างความรู้สึกคับแค้นใจของเหยื่อและสังคมในพื้นที่ และในขณะเดียวกันเป็นการสร้างวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของความขัดแย้ง ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการแถลงข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ทางสื่อมวลชน (ข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) วันที่ 12 มิถุนายน 2559) ว่า การดำเนินคดีดังกล่าวกระทำเพื่อศักดิ์ศรีของรัฐ แต่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เห็นว่า การดำเนินคดีดังกล่าวไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา เพราะนักปกป้องสิทธิเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิในสังคม และรัฐควรรักษาความลับของข้อมูล เพื่อปกป้องความปลอดภัยของเหยื่อตามหลักสากล ในฐานะที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรช่วยเหลือทางกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ (rule of law) เรามีความเชื่อมั่นว่า ศักดิ์ศรีของรัฐจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการยอมรับความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ พร้อมทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

ดังนั้น มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ขอแนะนำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ถอนแจ้งความดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ (ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม) นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ (ประธานกลุ่มด้วยใจ)

2. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ โดยมีองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นสมาชิกร่วมคณะกรรมการ

3. สร้างกลไกในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
20 มิถุนายน 2559

 

 

“อังคณา นีละไพจิตร” จี้รัฐหามาตรการปกป้องนักสิทธิฯ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2559 อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง เผยแพร่ข่าวแจก ‘รัฐควรหามาตรการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน’ ระบุว่า เป็นที่น่ายกย่องที่ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากมิตรประเทศ ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ UPR ทั้งหมด 181 ข้อ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะในการหามาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน และการสร้างหลักประกันว่าสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  นักปกป้องสิทธิชุมชน จำนวนไม่น้อยที่ถูกข่มขู่ คุกคาม ในจำนวนนี้รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงด้วย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกสังหาร ถูกบังคับสูญหาย ถูกข่มขู่ คุกคามซึ่งรวมถึงการคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่างๆ ทั้งจากรัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านการทำเหมืองทอง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ร่วมกันจัดทำรายงานเรื่องปัญหาการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ  สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ

“ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ดิฉันมีความกังวลใจอย่างยิ่งที่รัฐใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แทนที่จะแสวงหาหนทางในการสร้างความร่วมมือในการหามาตรการเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”  

“การฟ้องร้องดำเนินคดีจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่กลับจะทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว และประชาชนที่ถูกละเมิดจะไม่กล้าที่จะร้องเรียนหากเกิดการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยมีข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวมานาน จนประชาชนหวาดระแวง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรหาแนวทางในการตรวจสอบร่วมกันเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม” 

“ดิฉันขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจากสหประชาชาติในการหามาตรการเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน และขอเน้นย้ำว่า การแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดประโยชน์ใดต่อสาธารณะ ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะนำสู่การการสร้างมาตรฐานการให้ความคุ้มครองป้องกัน และยุติการทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง” อังคณา ระบุ

20162206001426.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

January 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

30
31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2

3 January 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ