‘มีชัย’ ย้ำร่าง รธน.ไม่ลดสิทธิประชาชน หวัง ‘สภาองค์กรชุมชน’ ขยายความเข้าใจเพื่อประโยชน์ชาติ

‘มีชัย’ ย้ำร่าง รธน.ไม่ลดสิทธิประชาชน หวัง ‘สภาองค์กรชุมชน’ ขยายความเข้าใจเพื่อประโยชน์ชาติ

กรธ.จัดเวทีสร้างความเข้าใจร่าง รธน. สมาชิกสภาองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศกว่า 120 คนร่วมฟัง ‘มีชัย’ แจงหวังสิทธิของประชาชนต้องเกิดดอกออกผลอย่างแท้จริง-ขจัดการทุจริตในวงการเมือง ด้านสภาองค์กรชุมชนยื่น 5 ข้อเสนอต่อ กรธ.สร้างชุมชนให้เป็นฐานที่มั่นคงของสังคมไทย

เรื่องและภาพ: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

5 ก.พ. 2559 เมื่อเวลา 9.00 – 12.00 น. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความเห็นของประชาชน จัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ ให้แก่สมาชิกสภาองค์กรชุมชน จากทั่วประเทศกว่า 120 คน ณ ห้องประชุม 213-216 อาคารรัฐสภา 2 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ

20160502123740.jpg

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ตามที่มีคนบิดเบือนเข้าใจผิดต่อร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น การร่าง รธน.นั้น มีความมุ่งหวังในเรื่อง 1) สิทธิของประชาชนต้องเกิดดอกออกผลต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างที่เป็นอยู่ 2) ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง 3) ทำให้การเมืองสุจริต ขจัดการประพฤติผิดมิชอบให้หมดไป

การทำงานขององค์กรชุมชนมีค่าใช้จ่าย รัฐจะสนับสนุนก็ยากเย็น รัฐบอกไม่มีเงินถ้าจะจ่ายให้ปีละ 50 ล้าน แล้วที่ สส.แปรญัตติเป็นหมื่นล้านเงินหาย 50-60 % ถ้าขจัดการทุจริต ทำให้การทุจริตเหลือน้อยที่สุด เราจะมีเงินเหลือมหาศาล ที่รัฐลงทุน 5 แสนล้าน ถ้ามีการโกง 20 % ก็เป็นแสนล้าน มีคนมาเล่าให้ฟังว่าบางโครงการทุจริต 100 % การทุจริตนั้นอันตรายต่อประเทศ อีกไม่เกิน 10 ปี จะทำให้ประเทศเราล้มได้ ร่าง รธน.นี้จึงค่อนข้างเข้มกับการทุจริต 

ส่วนการมีส่วนร่วมวางกลไกไว้หลายอย่าง และให้พออยู่กันได้ ไม่เอาชนะจะเป็นจะตายจนทำให้อีกข้างไม่มีที่อยู่ ซึ่งการจัดกลไก สว.คือการมีส่วนร่วมแบบหนึ่ง

ประธาน กรธ. กล่าวต่อว่า ตอนที่คิดเรื่อง สว.หากให้เป็นการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองก็จะเข้ามาอีก เพราะใครที่ไม่ได้อิงกับการเมืองก็จะไม่ได้เข้ามา ถ้าทำวุฒิสภาให้เป็นกลางเป็นปากเป็นเสียงกำกับบ้านเมือง ก็ไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด องค์กรแรกนึกถึงคือองค์กรชุมชน ที่จะเป็นตัวอย่างการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน เพราะรู้ปัญหารากหญ้ากว่าองค์กรอื่นๆ จากนั้นจึงคิดถึงการเข้ามาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ  

การเลือกตั้งกาใบเดียว นั้นเป็นการจัดสรรที่ให้พออยู่กันได้ เมื่อก่อนเลือกคนเลือกพรรค แต่ข้อเท็จจริงพรรคกับคนแยกกันได้ไหม เราต้องดูทั้งพรรคทั้งคนไปพร้อมกัน การออกแบบเป็นการให้เกิดความรอมชอมในการเลือกตั้ง หลายเขตคนที่ได้รับคะแนนสูงสุด แต่ไม่ถึงครึ่งของประชาชนทั้งหมดในเขตนั้น สมมุติมีผู้สมัคร 4 คน มีคะแนนทั้ง 5 หมื่น คนแรกได้ 2 หมื่นคะแนน คนที่ 2-4 ได้คนละหมื่นคะแนนรวมกันแล้ว 3 หมื่นที่ถูกทิ้งน้ำ คนลงคะแนน 2 หมื่น เป็นฝ่ายชนะมีความสุข ส่วนคนอีก 3 หมื่นคนจะหงุดหงิด ทำไมเราไม่แบ่งสรรปันส่วนกัน 

ประธาน กรธ. เปรียบถึงการเลือกเมนูอาหารในบ้าน อยากกินอะไรก็ลงคะแนนมี 7 คน 3 คน บอกอยากกินแกงโฮ๊ะ อีก 2 คน มัสหมั่น อีก 2 คน กินผัก สรุป 4 คนแพ้กินแกงโฮ๊ะทั้งสัปดาห์ การเฉลี่ยแบ่งสรรปันส่วนคะแนน ทำให้ได้กินอาหารที่หลากหลาย

20160502123757.jpg

ส่วนประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ต้องดูทั้งพรรคทั้งคน แล้วให้พรรคเลือกคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี เสนอ 3 คน เวลาเลือกเราก็ได้ดูคน ดูพรรค ที่เราจะเอาใครมาเป็นนายก ทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลก่อน เมื่อพรรคเสนอใครต่อสภา พรรคต้องเลือกจากคนเหล่านี้ ที่ว่าคนนอกมาเป็นนายกมาเป็นรัฐมนตรีจะเป็นไปได้ไง  ก็พรรคเป็นคนเลือก คนนอกคนในก็ได้สำคัญขอให้เป็นคนดี เมื่อประกาศก่อนเลือกตั้ง หากอยากได้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก สส. ก็ให้ไปกำหนดในกติกาของพรรคเอา แต่หากหัวหน้าพรรคไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เป็นนายก เท่าที่เห็นข้อมูลของบางพรรคบางพวก 

อยากให้ย้อนมาดูตัวจริงในร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน คงไม่รอบครอบ ต้องการรับฟังจากคนที่สนใจ เพื่อดูส่วนที่ขาดไปภายใน 15 ก.พ. จะได้นำไปเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ที่สุด 

สำหรับสิทธิของประชาชนน้อยไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับปี 2540-2550 ประธาน กรธ. ระบุว่า ไม่ได้ตัดทิ้งไป แต่ได้เอามารวมไว้ และทำให้สิทธิประชาชนเกิดมรรคผล มากกว่าการเขียนลอยๆ อยู่ในรัฐธรรมนูญ มีหนทางใดให้เกิดสิทธิขึ้นได้จริง ต้องได้ทุกคนไม่แค่คนที่มาต่อสู้เอา ที่ผ่านมาใครต่อสู้ขึ้นศาลก็ได้เฉพาะกลุ่มคนนั้น

สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แบ่งเป็นสิทธิตัวบุคคล ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การพูด การแสดงออก เฉพาะปัจเจก สิทธิอะไรที่ประชาชนควรต้องมีของกลุ่มบุคคล ได้ไปเขียนไว้ในหน้าที่ของรัฐ ประชาชนอยู่เฉยๆ ประชาชนจะได้รับสิทธิ ถ้ารัฐไม่ปฏิบัติตามก็จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือสิทธิทางสาธารณสุข หากรัฐบกพร่อง ประชาชนที่ฟ้องชนะก็ได้เงินภาษีของทุกคนไป รัฐมนตรีไม่ได้ทำก็อยู่ในหน้าที่ต่อ แต่ถ้าในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไม่ทำก็ต้องพ้นจากหน้าที่ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐ สิทธิหลายอย่างบังคับให้รัฐทำ ประชาชนก็รู้สึกว่าแต่ละคน แต่ละกลุ่มมีความขมขื่นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐค่อนข้างมากจนหมดความไว้วางใจ จึงเหมารวมไม่ไว้ใจ บางเรื่องเขียนไว้เป็นหน้าที่ของรัฐ ใครมีหน้าที่ต่อเราก็เกิดสิทธิขึ้นมาแล้ว 

มีการบิดเบือนเรื่องสิทธิชุมชนว่าตัดออกไปหมด ข้อเท็จจริงในเรื่องชุมชนเขียนได้ไว้ 6 แห่ง ในมาตรา 42 มาตรา 43 หน้าที่ของรัฐให้ชุมชน มาตรา 50, 53, 54 และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กำหนดไว้ที่มาตรา 66  ที่มีการพูดกันนั้นไม่จริง สิทธิชุมชนยังอยู่ครบ เราคุ้มครองการใช้ทรัพยากรที่ต้องคำนึงถึงชุมชนว่าได้รับประโยชน์ ไม่ทำลายสิทธิ มีส่วนร่วมบำรุงรักษา เขียนไว้อย่างครอบคลุม และคุ้มครองมากกว่า รธน.ปี 2540 และปี 2550 บริบทการร่างอาจไม่เหมือน 2540-2550 ขณะนั้นปัญหาประเทศไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง สิทธิทั้งปวงไม่น้อยลง อะไรที่รัฐธรรมนูญไม่ห้ามทุกคนมีสิทธิทุกประการ

อีกเรื่องคือ ตัดสิทธิในการศึกษาออก 3 ปี ไม่รู้ไปเอามาจากไหน ปี 2550 รัฐพึงจัดการศึกษา 12 ปี รัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย เขียนใหม่การศึกษาภาคบังคับเราให้หมด คนรวยเราจำเป็นต้องออกเงินให้เขาด้วยหรือ คนตีนถีบปากกัด เงินคนชรา เศรษฐีเถ้าแก่ก็ได้รับ เราจะกันไม่ให้เศรษฐี ตัดส่วนนั้นมาให้คนไม่มีได้ไปเรียน อ่านดูให้ดี ช่วยบอกว่าเราเฉลี่ยความสุข คนมีแล้วอย่ามาเอาของคนไม่มีจะได้ใช้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีศาสตราจาร์ยบอกว่ามีการตัดสิทธิสาธารณสุข ทุกคนต้องได้รับการรักษาพยาบาล สงสัยจะอ่านไม่แตกเป็นศาสตราจาร์ยได้ไง เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการให้กับประชาชนอย่างมีมาตรฐาน ที่ต้องดูแลประชาชนยามเจ็บไข้ได้ป่วย

แต่ได้ย้ายมาไว้ที่หน้าที่ของรัฐ การถูกจำกัดสิทธิจะน้อยลง และกฏหมายที่จะตราในภายหลังต้องห้ามจำกัดสิทธิที่เกินกว่าเหตุ รัฐจะทำอะไรกระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หากเป็นความเข้าใจผิดก็ชี้แจง ขาดตกบกพร่องเราเติม เพราะ รัฐธรรมนูญใช้กับคนทั้งประเทศ จึงเขียนไว้กว้างๆ รายละเอียดจะไปอยู่ในกฏหมายลูก ถ้าประชาชนเข้าใจจะผ่านประชามติหรือไม่ก็แล้วแต่ประชาชน ประธาน กรธ. กล่าวในตอนท้าย 

หลังจากนั้นจึงมีการเปิดอภิปราย ตั้งคำถามต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี ประพันธ์ นัยโกวิท,  ชาติชาย ณ เชียงใหม่ และภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตอบข้อซักถามสร้างความเข้าใจต่อผู้เข้าร่วมการประชุม

20160502123816.jpg

อย่างไรก็ตาม จินดา บุญจันทร์ ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ให้ข้อมูลว่า สภาองค์กรชุมชนมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งแก้ไขปัญหาทางการเมือง การปกครอง การทุจริต คอรัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาโครงส่วนบน จนละเลยการสร้างความมั่นคงจากชุมชนท้องถิ่นฐานราก รวมทั้งมุ่งจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การจัดโครงสร้างการเมืองการปกครอง กระบวนการยุติธรรม แนวนโยบายและหน้าที่ของรัฐ องค์กรอิสระ ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น จนเสมือนเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐมากกว่าที่จะเพิ่มอำนาจประชาชน/ชุมชน 

เนื่องจากมีการยึดโยงกับประชาชนเพียงการมีส่วนร่วม ไม่ได้เปิดทางให้ภาคประชาชนไปเป็นองค์ประกอบ ละเลยเรื่องสิทธิชุมชน การสร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นเครื่องมือของการรวมคน รวมความคิด สร้างทุนทางสังคมให้ชุมชนเป็นฐานที่มั่นคงของสังคมไทย

20160502123830.jpg

สภาองค์กรชุมชนจึงขอเสนอต่อ กรธ.ดังนี้

1) เพิ่มอำนาจชุมชนและประชาชนให้ตำบล/จังหวัดจัดการตนเองตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน องค์กรชุมชน รวมกลุ่มรวมตัวกันทำประโยชน์ให้สังคม เป็นกลไกเป็นเครือข่ายระดับตำบล จังหวัด ที่มีอำนาจหน้าที่ มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่และเสริมสร้างความเข้มแข็ง 

2) ให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของทรัพยากรในพื้นที่ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้ง มีสิทธิในการปกป้อง การจัดการ การบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3) กระจายอำนาจจากส่วนกลาง ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง คนฐานรากมีสิทธิ มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนตนเอง 

4) ควรปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองการปกครองเพื่อชุมชนท้องถิ่น ให้มีการเพิ่มอำนาจชุมชนและประชาชนให้ตำบล/จังหวัดจัดการตนเองตามวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีแผนการปฏิรูปอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนฐานราก โดยประชาชนมีส่วนร่วมและมีกลไกยึดโยงกับประชาชน

5) รัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ความสำคัญกับกลไกภาคประชาชน โดยบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่ให้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักของชุมชน ของภาคประชาชน ประสานภาคีเครือข่าย ท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมรับผิดชอบการจัดทำแผนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับตำบลและจังหวัด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ