ผ่านช่วงเวลาอันยาวนานกว่า 25 ปี สำหรับการผลักดัน “กฎหมายป่าชุมชน ฉบับประชาชน” ที่รับรองสิทธิของชุมชนในการดูแลรักษาป่า ท่ามกลางความเห็นต่างของคน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ข้าราชการประจำผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าตามกฎหมาย กับประชาชนผู้ดูแลจัดการป่าชุมชน
นับจากปี พ.ศ.2532 ที่มีการจุดกระแสการเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชนเป็นครั้งแรก จากกรณีชาวบ้านห้วยแก้ว กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ รวมพลังคัดค้านนายทุนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ป่าสาธารณะเพื่อปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ จนมีการร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน โดยชาวบ้าน นักวิชาการ และเอ็นจีโอ และผลักดันสู่การตราเป็นกฎหมายเรื่อยมา แต่ก็ต้องประสบกับภาวะชงักงันหลายต่อหลายครั้ง จากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมทั้งปัญหาการแก้ไขร่างกฎหมายโดยลิดรอนประเด็นสิทธิชุมชน ไม่ยึดโยงกับเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ยื่นเสนอกฎหมาย
ล่าสุด คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการป่าไม้และที่ดิน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายใต้รัฐบาลทหารในปัจจุบันได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. … ขึ้น ท่ามกลางคำถามเดิมๆ คือ เนื้อหากฎหมายเป็นที่รับรู้ ยอมรับ และสนับสนุนจากกลุ่มคนผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ เพียงใด
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2558 เครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน และเครือข่ายป่าชุมชนจากทั้ง 6 ภาคของประเทศไทยเดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. … ฉบับคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการป่าไม้และที่ดิน พร้อมอ่านคำประกาศคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว
เครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ระบุว่า เครือข่ายฯ ได้พิจารณาและหารือต่อร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับดังกล่าวอย่างรอบด้านแล้ว จึงได้มีมติคัดค้านการร่างกฎหมายดังกล่าว โดยระบุเหตุผลสำคัญของการคัดค้าน ดังนี้
1.ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนไม่ได้สะท้อนหัวใจของป่าชุมชน และไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนการจัดการป่าไม้ที่เป็นสากลซึ่งให้การยอมรับสิทธิ และอำนาจแก่ ชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการในการปกป้อง ดูแล บริหาร และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน แต่มุ่งเน้นการควบคุมและมุ่งเน้นเพียงด้านการอนุรักษ์โดยให้อำนาจและสิทธิในการบริหารและตัดสินใจอยู่ที่เพียงฝ่ายรัฐ
2.ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ โดยประมาณคาดว่ามีประชากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายฉบับนี้มีมากกว่า 10 ล้านคน แต่จากการสำรวจของเครือข่ายฯ พบว่ามีเครือข่ายป่าชุมชนจำนวนน้อยมากที่ทราบว่า ณ ขณะนี้กำลังมีการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้เกิดขึ้น ถือว่าขาดการมีส่วนร่วมแม้แต่ในระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งเนื้อหาและกรอบคิดทั้งหมดวางอยู่บนฐานคิดของภาครัฐ แต่เพียงฝ่ายเดียว
3.ลิดรอนสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่าและทำป่าชุมชนมาแต่ดั้งเดิม โดยการตัดสิทธิที่จะจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ออกไป นอกจากนี้คำนิยามของเขตอนุรักษ์ที่กำหนดไว้นี้มีความหมายกว้างขวางมาก ทำให้การจัดตั้งป่าชุมชนนั้นเต็มไปด้วยข้อกำจัด
4.การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชนต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนและมีกติกากำกับที่ชัดเจน จากการศึกษาบทเรียนสำคัญในการจัดการป่าชุมชน ทุกแห่งล้วนมีการใช้ประโยชน์จากไม้ที่มีกฎระเบียบชัดเจน โดยกฎระเบียบดังกล่าวปรับปรุงมาจากกฎจารีต ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น และความรู้สมัยใหม่ กำหนดเป็นแนวทางในการฟื้นฟู ดูแลรักษา ควบคู่กับการใช้ประโยชน์ ส่งผลทำให้สภาพพื้นที่ป่ายังคงความสมบูรณ์ และชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี การจำกัดสิทธิในการในการใช้ประโยชน์จากไม้ ไม่เพียงสร้างภาระให้กับชุมชนในการดำรงชีวิต ยังได้ทำลายกฎจารีตและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาและบั่นทอนคุณค่าของป่าชุมชน
นอกจากนั้น เครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค มีข้อเสนอให้พิจารณาถอนร่างกฎหมาย และเริ่มต้นจัดทำร่างกฎหมายนี้ใหม่ โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และควรเปิดให้มี การรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและอิสระ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งการจัดทำกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ควรรีบเร่งจัดทำขึ้นเพียงเพื่อให้ได้มีกฎหมายขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ Bright News รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) พร้อมด้วยเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ, เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงประธาน สปช. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการป่าไม้และที่ดิน ภายใต้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช.
การเข้ายื่นหนังสือดังกล่าว เนื่องจากในวันที่ 25 พ.ค. 2558 สปช. จะมีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมเห็นตรงกันว่าเป็นร่างกฏหมายที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง ทั้งยังมีเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงในการประชุม “วาระปฏิรูปที่ 11 : ปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน เพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” ในวันเดียวกันนั้น (25 พ.ค.) ว่าพร้อมรับฟังทุกความเห็น และยืนยัน กฎหมายป่าชุมชนไม่ได้เอื้อประโยชน์หรือสร้างเงื่อนไขกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกอย่างเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำและผืนป่า และประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่หลักการของป่าชุมชนไม่ใช่เอาคนออกจากป่า แต่จะเป็นการช่วยให้คนอยู่ข้างเคียงป่าได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่า
ส่วนประเด็นเขตอนุรักษ์นั้น ยึดตามหลักสากล เพราะหากพื้นที่เหล่านี้หมดไป คงไม่สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้ พร้อมย้ำว่า ยังต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์อย่างชัดเจนว่าป่ามาก่อนคน หรือคนมาก่อนป่า นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการใช้กฎหมายภาษีที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง (คลิกอ่านข่าว: กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติฯ เสนอ 4 หลักการ ปฏิรูปและการจัดการที่ดิน)
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวครั้งหลังสุด ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2550 แต่หลังจากนั้นสมาชิก สนช.จำนวนหนึ่งได้ร่วมกันลงชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหาในกฎหมายขัดต่อบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนหนึ่งนำโดยข้าราชการในฝ่ายของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เสนอให้ “ตัดสิทธิชุมชนในการจัดป่าชุมชนซึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ออกไป”
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังถูกคว่ำบาตรโดยองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายป่าชุมชนจากทั่วประเทศ ในฐานะเป็น ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับถอยหลังเข้าคลองยุครัฐบาลรัฐประหาร’ ซึ่งมีสาระสำคัญในการกีดกันสิทธิใน 5 ประเด็น คือ 1.กีดกันไม่ให้ชุมชมขอจัดตั้งป่าชุมชนนอกเขตป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าซึ่งมีส่วนราชการหรือเอกชนที่ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ 2.กีดกันไม่ให้ชุมชมขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ที่ทางราชการกำหนดให้สงวนรักษาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อการคุ้มครองหรือการศึกษา หรือการวิจัยทางวิชาการ หรือประโยชน์อย่างอื่นของรัฐ
3.กีดกันไม่ให้ชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนได้ใช้ประโยชน์แม้เพียงเพื่อความอยู่รอด 4.กีดกันไม่ให้ชุมชนที่จัดการพื้นที่ป่าชุมชนสามารถใช้ไม้ฟืนและไม้ไผ่ จากร่างกฎหมายเดิมที่ถือว่าไม้ฟืนและไม้ไผ่เป็นของป่าที่ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ แต่ร่างกฎหมายของรัฐบาลกลับไม่ยอมให้ไม้ฝืนและไม้ไผ่เป็นของป่าอีกต่อไป 5.ไม่ยอมให้มีกองทุนป่าชุมชนอันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ชุมชนมีความสามารถในการจัดการปุ่มชนและขยายการมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต (คลิกอ่านข่าว: เครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศแถลงคว่ำร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ยุคอำมาตยาธิปไตย)
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาในปี พ.ศ.2553 ว่าร่างกฎหมายป่าชุมชนผ่านการพิจารณาของ สนช.โดยมิชอบ เนื่องจากจำนวนสมาชิกของ สนช.ไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนด ร่างกฎหมายป่าชุมชนจึงตกไปโดยไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยว่าเนื้อหากฎหมายนั้นขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ เสมือนการปิดฉากการขับเคลื่อนอันยาวนานของ ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ของประชาชน จนกระทั่งถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งโดย สปช. ในรัฐบาลปัจจุบัน
ลำดับเหตุการณ์การผลักดันการออกกฎหมายป่าชุมชน
ที่มา: การเมืองเรื่องป่าชุมชน: บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ
ปี พ.ศ. |
ลำดับเหตุการณ์ |
ยุคสัมปทาน |
รัฐเป็นผู้จัดให้มีการทำสัมปทานป่าไม้ ธุรกิจเอกชนทั้งในและต่างประเทศต่างเข้ามาเช่าผืนป่าเพื่อประกอบธุรกิจต่าง ๆ เช่น รีสอร์ท อุตสาหกรรมไม้ เป็นต้น |
2521 – 2525 |
เกิดการตื่นตัวในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากบทบาทขององค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และธนาคารโลก (world bank) เป็นต้น |
2528 |
รัฐบาลสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ – ได้ริเริ่มนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี พ.ศ. 2528 เป็นปรากฏการณ์แรกของการจัดการป่าไม้โดยการวางกรอบที่ชัดเจนจากภาครัฐและเริ่มมีแนวคิดป่าชุมชนปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของการมอบสิทธิทำกินแก่ประชาชน |
2531 |
รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ – แนวคิดป่าชุมชนที่ปรากฏในรัฐบาลนี้เกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการมอบสัมปทานรัฐให้เอกชน แรงกดดันทำ ให้กรมป่าไม้ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นมาฉบับแรก |
2532 |
ชาวบ้านที่บ้านห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน ร่วมตัวกันต่อต้านบรรดานายทุนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ป่าสาธารณะในการปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชนจากภาคประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรก |
2534 |
รัฐบาลนายอานันท์ ปัณยารชุน – ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในกระบวนการของพระราชบัญญัติป่าชุมชน จะมีก็เพียงการดำ เนินการจัดการป่าในรูปแบบของสวนป่าเพื่อการพาณิชย์ |
2535 |
รัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร – กรมป่าไม้ร่างกฎหมายป่าชุมชนขึ้น แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนเนื่องจากเอื้อแต่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลนายอานันท์ ปัณยารชุน – เกิดเหตุการณ์ประท้วงขับไล่เหตุการณ์การประท้วงขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร รัฐบาลนายชวน หลีกภัย – รัฐบาลได้ยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนของกรมป่าไม้ขึ้นมา ในรัฐบาลนี้มีการเสนอร่างเพื่อพิจารณาทั้งสิ้น 5 ร่างรวมทั้งร่างที่ประชาชนร่วมกันร่างด้วย แต่รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาในปลายปี พ.ศ. 2537 จากประเด็นการแจกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่มีการทุจริตเกิดขึ้น |
2536 |
ชาวบ้านได้ร่วมกันร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชนขึ้น |
2537 |
ชาวบ้านเริ่มรณรงค์ให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับป่าชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาของผู้แทนราษฎร |
2538 |
รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปะอาชา – ให้มีมติมีมติจัดตั้งคณะกรรมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค (กนภ.) เพื่อดำเนินการประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาระหว่างรับกับประชาชนในปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าชุมชน |
2539 |
วันที่ 30 เมษายน คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับ กนภ. แต่ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ฉบับ กนภ. แต่ได้ถูกคัดค้านจากองค์อนุรักษ์ 4 องค์กรที่ต่อต้านการเข้าไปทำ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ได้แก่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิธรรมนาถ และสมาคมอนุรักษ์ ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้มีพื้นที่ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติป่าชุมชนดำเนินการต่อไปไม่ได้ |
2540 |
รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ – การคัดค้านขององค์กรอนุรักษ์ส่งผลให้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับ กนภ. หลังจากการทำประชาพิจารณ์นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการแก้ไขร่างตามผลการประชาพิจารณ์ แต่ผลการแก้ไขไม่สอดคล้องกับผลการประชาพิจารณ์ ชาวบ้านจึงพากันคัดค้านร่างฉบับนายโภคิน |
2541 |
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้แต่งตั้งนางลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นประธานในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน (ฉบับนายโภคิน) ให้สอดคล้องกับผลการประชาพิจารณ์ แต่ยังคงห้ามไม่ให้มีการจัดทำป่าชุมชนในเขตพื้นที่อนุรักษ์ จากนั้นนายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน (ฉบับลดาวัลย์) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรส่งเรื่องให้กรมป่าไม้พิจารณาประกอบ |
2542 |
รัฐบาลนายชวน หลีกภัย – สมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ ประกาศเจตนารมณ์ร่วมผลักดันกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน ระดม 50,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน ในเดือนพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่กรมป่าไม้เสนอผ่านความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีร่างดังกล่าวจึงเป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอเข้าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันก็มีร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอโดยการให้พรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดนั้นมีมติเสนอได้ทำ ให้เกิดร่างกฎหมายป่าชุมชนที่มาจากพรรคการเมืองอีก 4 พรรค ได้แก่ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ร่างของพรรคชาติไทย ร่างของพรรคความหวังใหม่ และร่างของพรรคชาติพัฒนา รวมมีร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนทั้งสิ้น 6 ฉบับ |
2543 |
ในเดือนมีนาคม ชาวบ้านมีการเสนอกฎหมายป่าชุมชนยื่นต่อประธานสภา ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลมีการรับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน วาระที่ 1 ทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เดือนพฤศจิกายนมีการยุบสภา ร่างกฎหมายจึงตกไป |
2544 |
รัฐบาลพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร – ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันาวาคม ครม. พรรคไทยรักไทยยืนยันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ค้างให้รัฐสภาพิจารณาต่อ จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายป่าชุมชน |
2545 |
เดือนมีนาคม ส.ว. มีมติเสียงข้างมากมาผ่านมาตราที่ให้มีการตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วน |
2546 |
เครือข่ายป่าชุมชนระดมรายชื่อ 1,000 นักวิชาการสนับสนุน พ.ร.บ.ป่าชุมชน |
2547 |
เดือนพฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ของวุฒิสภาจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจำนวน 12 คนเพื่อพิจารณาในประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันโดยเฉพาะประเด็นการขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หลังจากนั้นวุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 12 คนเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนร่วมกับกรรมาธิการจากสภาผู้แทนราษฎรการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมยังไม่แล้วเสร็จ ก่อนการปิดสภาทำให้ผลการพิจารณาตกไป |
2548 |
ภายใต้รัฐบาลของพรรคไทยรักไทย 2 มีการเสนอเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ยังคงค้างสภาในรัฐบาลชุดก่อนแก่คณะรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรีรับทราบและเสนอเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อ จนกระทั่งในเดือนเมษายนสภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 12 คน |
2550 |
รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ – เดือนเมษายน เครือข่ายป่าชุมชน 4 ภาคออกมาเรียกร้องโดยกล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับรัฐบาล สุรยุทธ์ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เดือนพฤศจิกายนสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติผ่าน พ.ร.บ.ป่าชุมชน (พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับ สนช.) ด้วยคะแนนเสียง 57 ต่อ 2 เสียง โดยมีมาตราสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของกฎหมายคือ มาตรา 25 กำหนดการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ทำได้เฉพาะชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และได้จัดการดูแลรักษามาไม่น้อยกว่า 10 ปี และ มาตรา 34 กำหนดห้ามไม่ให้มีการทำไม้ในป่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ |
2554 |
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ – คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มีข้อเสนอ เกี่ยวกับการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดย (1) ใช้ “หลักการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคนกับป่า” (2) มุ่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (3) ลดอำนาจบริหารจัดการป่าของรัฐ |
คำประกาศคัดค้านร่าง โดย เครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค 11 มิถุนายน 2558 เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค เป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชนและเครือข่าย ป่าชุมชน ซึ่งมีตัวแทนจาก 6 ภาคของประเทศไทย ได้มีการประชุมติดตามและทำความเข้าใจ ตัวร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะ อนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้มาเป็นระยะและต่อเนื่อง จากการศึกษาและประชุมหารือกันเครือข่ายฯ มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อเนื้อหาสาระสำคัญและกระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวซึ่งพบว่าขาดทั้งการสะท้อนเจตนารมย์และสาระ สำคัญของความเป็นป่าชุมชน และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียหลักของกฎหมายฉบับนี้ หลังจากได้มีการพิจารณาและหารือกันอย่างรอบด้านแล้วองค์กรสมาชิกของเครือข่ายฯ จึงได้มีมติคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมธิการที่ดินและป่าไม้ โดยเหตุผลสำคัญของการคัดค้านมีดังนี้ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนไม่ได้สะท้อนหัวใจของป่าชุมชนและเรียนรู้จากบทเรียนการจัดการป่าไม้ที่เป็นสากล หัวใจสำคัญของการบริหารและจัดการป่าไม้โดยชุมชนตามหลักสากล คือการให้การยอมรับ สิทธิ และอำนาจแก่ ชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการในการปกป้อง ดูแล บริหารและใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้ข้อตกลงและขอบเขตการจัดการที่ชัดเจน ซึ่งได้มีงานศึกษาจำนวนมากมายที่แสดงหลักฐาน ให้เห็นถึงความสำเร็จของของการจัดการป่าไม้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นใน พื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าที่ต้องการการฟื้นฟู แต่เนื้อหาหลักของร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ร่างโดยคณะอนุกรรมการฯ นี้มิได้ สะท้อนเป้าหมายและแนวทางดังกล่าว ร่างพ.ร.บ.นี้มิเพียงไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการ แต่มุ่งเน้นการควบคุมและมุ่งเน้นเพียงด้านการอนุรักษ์โดยให้อำนาจและสิทธิในการบริหารและตัดสินใจอยู่ที่เพียงฝ่ายรัฐ ซึ่งบทเรียน ที่ผ่านมานั้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการจัดการป่าโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่สามารถชะลอการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และจะไม่นำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ ในปัจจุบันตามสถิติของกรมป่าไม้ ประเทศไทยมีป่าชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ จำนวนมากกว่า 9,300 แห่ง และมีจำนวนป่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อีกไม่ น้อยกว่า 2,000 แห่ง โดยประมาณน่ามีประชากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายฉบับนี้มีมากกว่า 10 ล้านคน อย่างไรก็ดี จากการสำรวจของเครือข่ายฯ นั้นพบว่ามีเครือข่ายป่าชุมชนจำนวนน้อยมากที่ทราบว่า ณ ขณะนี้กำลังมีการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้เกิดขึ้น การขาดการมีส่วนร่วมแม้แต่ในระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดของการมีส่วนร่วมนั้นสะท้อน ปัญหาประการสำคัญของร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ ซึ่งเนื้อหาและกรอบคิดทั้งหมดวางอยู่บนฐานคิดของภาครัฐ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและร่วมเสนอแนะว่ากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและต่อการจัดการป่าชุมชนได้อย่างไร ดังนั้นการคาดหวังว่าจะให้ประชาชนเข้ามาร่วมกับรัฐใน การดูแลและบริหารจัดการป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชนที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตหลังจากมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และจะทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีตอบเป้าหมายการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม นี่คือการริดรอนสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่าและทำป่าชุมชนมาแต่ดั้งเดิม ตามที่ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนนี้ได้ระบุไว้ในมาตราที่ 18 ในหมวดการจัดตั้งป่าชุมชน พื้นที่ที่จะสามารถขอจัดตั้งเป็นป่า ชุมชนได้นั้น คือ “ชุมชนในท้องถิ่นที่ใดที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า ซึ่งไม่ใช่เขตอนุรักษ์…” ซึ่งคำนิยามของคำว่าเขตอนุรักษ์ ตามร่างพ.ร.บ. นี้หมายถึง เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตอื่นที่เป็นพื้นที่ ต้นน้ำลำธารหรือพื้นที่ที่มีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมอันควรแก่การอนุรักษ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น ถือเป็นการริดรอนสิทธิ ขั้นพื้นฐานของชุมชน และจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยและจัดทำป่าชุมชนมาตั้งแต่ก่อนการ ประกาศของพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนี้คำนิยามของเขตอนุรักษ์ที่กำหนดไว้นี้มีความหมายกว้างขวางมากเกินไป เพราะสามารถตี ความรวมถึงกฎกระทรวงที่กำหนดเขตอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดิน กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนด พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้การจัดตั้งป่าชุมชนนั้นเต็มไปด้วยข้อกำจัด และพื้นที่ป่าที่ยังคงเหลือที่ชุมชนเข้าไป จัดตั้งป่าชุมชนขึ้นมานั้นล้วนเป็นพื้นที่ที่สามารถตีความให้เข้าตามคำนิยามนี้ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ป่าชุมชนหลาย แห่งที่ชุมชนดูแลมาตั้งแต่ดั้งเดิมอาจจะไม่สามารถจัดตั้งได้ตามกฎหมายนี้ นอกจากนี้ จากการศึกษาของงานวิจัยการจัดการป่าไม้ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นพบว่าในหลายกรณีการตัดไม้ ทำลายป่านั้นแท้จริงแล้วเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเขตป่าอนุรักษ์มากกว่าพื้นที่ป่าที่มีการจัดการในรูปแบบป่าชุมชนและมากไปกว่านั้นการที่ชุมชนมีความมั่นคงที่จะถือครองและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนนั้นมียังทำให้เกิดการขยายและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่าง มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นการตัดสิทธิที่จะจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ออกไปนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่คับแคบ และไม่ทบทวนบทเรียน ความล้มเหลวในการบริหารจัดการป่าไม้ของภาครัฐที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งหากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคงกำหนดพื้นที่การจัดตั้งป่าชุมชนเช่นนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนหลายหมื่น และแสนครอบครัวจะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย ทั้งๆ ที่ประชาชนเหล่านี้คือคนที่ได้ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ให้คงอยู่จน ถึงปัจจุบัน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชนต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนและมีกติกากำกับที่ชัดเจน หลักการประการสำคัญของการจัดการป่าชุมชนที่ทำให้ป่าชุมชนยังคงอยู่คือ การสร้างแรงจูงใจและทำให้ป่าชุมชน นั้นต้องตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพของสมาชิกป่าชุมชนได้อย่างชัดเจน แม้ในตัวร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะได้มีการให้สิทธิในการใช้ประโยชน์จากไม้ แต่การจำกัดสิทธิในการใช้เฉพาะไม้ที่ปลูกขึ้นเองในบริเวณป่าใช้สอยนั้นถือว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในหลายพื้นที่และสภาพป่าไม้ การฟื้นฟูป่าชุมชนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการปลูกต้นไม้ เพิ่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจากการศึกษาบทเรียนสำคัญในการจัดการป่าชุมชนทุกแห่งล้วนมีการใช้ประโยชน์จากไม้ที่มี กฎระเบียบชัดเจน กฎระเบียบดังกล่าวได้ปรับปรุงมาจากกฎจารีตและประเพณีของชุมชนท้องถิ่นและความรู้สมัยใหม่ กำหนดเป็นแนวทางในการฟื้นฟู ดูแลรักษา ควบคู่กับการใช้ประโยชน์ส่งผลทำให้สภาพพื้นที่ป่ายังคงความสมบูรณ์และ คุณภาพชีวิตในชุมชนมีความสุข การจำกัดสิทธิในการในการใช้ประโยชน์จากไม้ของชุมชนที่มีวิถีปฏิบัติสืบกันมาไม่เพียง สร้างภาระให้กับชุมชนในการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังได้ทำลายกฎจารีตและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาให้สูญสิ้นไปและบั่นทอนคุณค่าของป่าชุมชนในที่สุด ด้วยเหตุผลหลักข้างต้นนี้ เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอให้คณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ และเริ่มต้นจัดทำร่างกฎหมายนี้ใหม่ โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และควรเปิดให้มี การรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและอิสระ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการจัดทำกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ ควรรีบเร่งจัดทำขึ้นเพียงเพื่อให้ได้มีกฎหมายขึ้นมา เพราะกฎหมายฉบับนี้จะสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อการพัฒนาและบริหารป่าไม้ของประเทศ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก พวกเราตามราย ชื่อแนบนี้ต้องการเห็นความจริงใจจากท่าน และพร้อมที่จะร่วมให้ความร่วมกับท่านที่จะผลักดันให้เกิดร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่มีส่วนร่วม เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและสร้างป่าไม้ที่สมบูรณ์และสังคมที่มีความสุขสำหรับทุกคน ด้วยความนับถือ เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค รายชื่อสมาชิกเครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค |