‘บึงกาฬรักนก’ เผยน้ำโขงผิดฤดูกระทบนกอพยพ-นักวิชาการชี้ระเบิดแก่งทำเสี่ยง ‘ปลาบึก’ สูญพันธุ์

‘บึงกาฬรักนก’ เผยน้ำโขงผิดฤดูกระทบนกอพยพ-นักวิชาการชี้ระเบิดแก่งทำเสี่ยง ‘ปลาบึก’ สูญพันธุ์

เฟซบุ๊ก ‘บึงกาฬรักนก’ เผยข้อมูลน้ำท่วมผิดฤดูกาลทำเอานกประจำถิ่น-นกอพยพถูกกระทบหนัก เหตุจีนปล่อยน้ำโขงจากเขื่อน นักวิชาการชี้สารพัดปัญหาผลพวงจากโครงการระเบิดแก่ง ทั้งน้ำโขงเปลี่ยนทิศทาง สูญเสียระบบนิเวศ และกระทบวิถีชีวิตคนริมโขง

20160104023339.jpg

ที่มาภาพ: บึงกาฬรักนก

31 มี.ค. 2559 สถานการณ์ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชาวบ้านร่วมทั้งสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีน โดยในเฟซบุ๊กบึงกาฬรักนก ระบุว่าปริมาณน้ำที่ท่วมสูงขึ้นผิดฤดูกาล ทำให้ส่งผลกระทบกับนกประจำถิ่นและนกอพยพชนิดต่างๆ

 

 

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์แอดมินเพจเฟซบุ๊กบึงกาฬรักนกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเขาระบุว่า ในฤดูกาลอพยพของนก ช่วงน้ำแล้งตั้งแต่หลังเดือนกันยายน- มิถุนายน นกอพยพที่ “กลุ่มบึงกาฬรักนก” สำรวจและสามารถจำแนกชนิดได้มี 47ชนิด นับรวมทั้งนกหาด นกชายเลน และนกทั่วไปที่เป็นนกอพยพ  โดยนกที่อพยพมีทั้งอพยพผ่านแล้วแวะลงหากินตามชายน้ำช่วงน้ำโขงลดจนเป็นหาด และอพยพมาเพื่อทำรังวางไข่   

แอดมินเฟซบุ๊กบึกกาฬรักนกกล่าวว่า สำหรับนกที่อพยพมาเพื่อทำรังและวางไข่บนชายหาดแม่น้ำโขงที่กลุ่มบึงกาฬรักนกสำรวจ มี 2 ชนิดคือ นกแอ่นทุ่งเล็ก และนกหัวโตเล็กขาเหลือง ซึ่ง 2 ชนิดนี้จะใช้พื้นที่หาดร่วมกัน โดยเฝ้าระวังร่วมกัน การขึ้นลงของน้ำโขงที่ผิดปกติเนื่องจากการระบายน้ำของเขื่อน ส่งผลกระทบกับการทำรังวางไข่ของนก 2 ชนิดนี้มาก ในฤดูอพยพย้อนหลังไป 3 ปี  พบว่าอัตราการรอดของลูกนกไม่น่าจะถึง 60% ของนกทั้งหมดที่ทำรังอยู่ริมชายหาด  

“ปีที่แล้วอัตราการรอดไม่ถึง 50% ด้วย เพราะผลกระทบจากน้ำโขงขึ้น เขื่อนจีนปล่อยน้ำช่วงแล้ง  และการก่อสร้างแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งในเขตตัวเมืองบึงกาฬ จากการสำรวจปีนี้พบว่า นกทำรังน้อยมาก อาจเป็นเพราะปีก่อนที่นกอาจจะไม่รอดจากน้ำท่วม และจากการรบกวนของมนุษย์ มันเลยโตมาเป็นนกเต็มวัยในฤดูกาลนี้น้อย นกที่อพยพมาทุกปีคือนกแอ่นทุ่งเล็กกับนกหัวโตเล็กขาเหลือง จะอพยพมาทุกปี นกแอ่นทุ่งที่อพยพมาก็น่าจะประมาณปีละ 300-600 ตัว  ส่วนนกหัวโตเล็กขาเหลือง อพยพมาไม่น่าจะถึง 100 ตัว” นักอนุรักษ์นกกล่าว

20160104024452.jpg

20160104023501.jpg

ที่มาภาพ: บึงกาฬรักนก

ขณะที่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยถึงกรณีที่ทางการจีนมีโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะที่ 2 โดยจีนกำลังผลักดัน หลังการประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ว่า ระหว่างการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำอาจใช้เวลาถึง 3 ปี การระเบิดจะทำในฤดูแล้งหลายเดือน  ซึ่งจะมีการเปิด-ปิดเขื่อน เพื่อควบคุมกระแสน้ำ โดยอาจจะปิดเขื่อน 3 วัน เพื่อให้น้ำลดระดับลงและระเบิดแก่ง และอีก 1 วันจะปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาเพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ของจีนล่องลงมาที่ท่าเรือเชียงแสนได้ 

การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำโขงแห้งอย่างหนัก และทำให้ระดับน้ำขึ้น-ลงในแต่ละวันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศนแม่น้ำโขงและชาวบ้านที่อาศัยทรัพยากรจากแม่น้ำโขง ช่วงที่มีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะทำให้กระแสน้ำโขงเปลี่ยนทิศทาง และทำให้ตลิ่งพัง ขณะที่ตะกอนจากพังทลายของตลิ่งและการระเบิดแก่งจะไปทับถมบริเวณที่เป็น deep pool หรือวังน้ำลึกตามลำน้ำโขง  ซึ่งวังน้ำเหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของปลาในฤดูแล้ง และเป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวบ้าน  

ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่าเมื่อคราวที่จีนระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเฟสแรก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วทำให้ตลิ่งแม่น้ำโขงแถบ อ.เชียงแสน  อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย พังทลาย เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศและสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตร และบ้านเรือนของชาวบ้านที่ติดกับริมแม่น้ำโขง  ขณะที่บริเวณวังน้ำลึกในแม่น้ำโขงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “คก”  ที่ลึกหลายสิบเมตร ถูกทับถมด้วยทรายจนปลาไม่สามารถอาศัยได้ และชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำการประมง

นอกจากนี้การควบคุมน้ำจากเขื่อนจีนเพื่อให้มีการระเบิดแก่ง ยังทำให้ “ไก” หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นอาหาร และแหล่งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของชุมชนตั้งแต่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ลาว ไทย-ลาว มาจนถึงหลวงพระบาง จะไม่สามารถงอกได้ เพราะน้ำโขงจะขุ่นขึ้นจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน ในช่วงที่ต้องการเดินเรือ และจากกิจกรรมการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขง  ซึ่งคาดว่าจะทำให้การเก็บไกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30  จากที่เคยเก็บหาได้  นั่นหมายถึงการที่ชาวบ้านริมฝั่งโขงทั้งในพม่า ไทย  และลาว  ต้องสูญเสียอาหารและรายได้ทางเศรษฐกิจในช่วงดูแล้งที่มีการระเบิดแก่งในช่วงระยะเวลาถึง  3  ปี 

อีกทั้งระดับน้ำที่ขึ้น-ลง ไม่ปกติตามธรรมชาติ ยังจะทำให้ไกแห้งตายและก่อให้เกิดปัญหาไก หลุดจากหาดหินไปติดเครื่องมือหาปลาของชาวบ้านและทำให้เกิดความเดือดร้อนและต้องหาทางกำจัดไกจากเครื่องมือประมงอีก

20160104023532.jpg

นักวิชาการผู้นี้กล่าวถึงผลกระทบด้านการประมงของชาวบ้านว่า ชาวประมงจะจับปลาได้น้อยลงถึง 50 % จากที่เคยจับได้  เพราะปลาหลงฤดูจากการที่น้ำโขงผันผวน  ผลกระทบนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวไปจนถึงชาวประมงในกัมพูชาอีกด้วย รวมไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับปลาบึก (Mekong Giant Catfish) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งพบในแม่น้ำโขงแห่งเดียว และแม่น้ำโขงบริเวณเหนือเชียงของขึ้นไป เช่น ที่บ้านเมืองกาญจน์และเชียงแสน คือแหล่งวางไข่ของปลาบึก  

“ปัจจุบันปลาบึกยังอยู่ในบัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด critically endangered species ของ IUCN ในเชิงนิเวศ” 

ดร.ไชยณรงค์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะสูญเสียจากการระเบิดแก่งระยะที่ 2 ของจีน  คือการสูญเสียระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายอย่างถาวร ทั้งแก่งหิน หาดหิน หาดทราย  เพราะแม่น้ำโขงถูกทำให้เป็นช่องน้ำลึก  ระบบนิเวศนที่สูญเสียไปนี้คือแหล่งอาศัยของปลาไม่ต่ำกว่า  88  ชนิด พรรณพืชมากกว่า  65  ชนิดที่ขึ้นตามแก่ง หาด และชายฝั่ง  และสูญเสียถิ่นอาศัยสำหรับนกไม่ต่ำกว่า  20   ชนิดข้อมูลตัวเลขชนิดพรรณที่อ้างอิงนี้ นับเฉพาะแม่น้ำโขงแถบเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น เท่านั้น หากสำรวจถึงหลวงพระบางอาจมีมากกว่านี้

การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงยังมีปัญหาทางด้านเสียงและคลื่นน้ำต่อชุมชน เนื่องจากเสียงและคลื่นจากการเดินเรือขนาดใหญ่ไปจนถึง 500 ตันของจีน จะทำให้ปลาในแม่น้ำโขงไม่อพยพแล้ว  เสียงและคลื่นจากการเดินเรือขนาดใหญ่จะทำให้ชาวประมงไม่สามารถใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านได้และชาวประมงพื้นบ้านรวมทั้งชาวบ้านที่ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางสัญจรยังต้องเสี่ยงอันตรายจากคลื่นขนาดใหญ่ของเรือสินค้าจีน   ดังเช่นที่ชาวบ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงรายกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้

“อีกประเด็นคือ ข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงของ 4 ประเทศ (จีน ลาว พม่า ไทย)  ทำให้เบียดขับชาวบ้านออกไป เพราะห้ามวางเครื่องมือประมงกีดขวางการเดินเรือ แม่น้ำโขงคือพื้นที่หาปลาของชาวบ้าน เขาต้องวางเครื่องมือหาปลาในแม่น้ำโขง ชาวบ้านจะเดือดร้อนหนัก จากข้อตกลงนี้ ไทย พม่า ลาว จีน ข้อตกลงจึงไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านใช้แม่น้ำโขงอย่างไร และกีดกันชาวบ้านจากการเข้าถึงทรัพยากรปลา” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

14 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ