ที่มาภาพ: Four Regions Slum Network
วันนี้ (24 มี.ค. 2558) เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. เครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมตัวเข้ายื่นจดหมาย ‘ขอคัดค้านการนำคนสลัมขึ้นแฟลต’ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2558 เวลา 20.15 น. และอ่านแถลงการณ์ “หยุดไล่คนจนออกนอกเมือง ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง”
จดหมายของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ชี้แจงว่า แนวความคิดเรื่องแฟลต ไม่ใช่สิ่งใหม่ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ท้ายสุดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดได้เพราะ วิถีชีวิตคนจนเมืองส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ต้องใช้พื้นที่บ้านในการประกอบอาชีพด้วย เช่นเป็นที่ค้าขาย เป็นที่เก็บของเก่า เป็นที่ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ดังนั้นรูปแบบการอยู่อาศัยแบบแฟลตจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยืนยันว่า คนจนเมืองไม่ต้องการอยู่อาศัยในลักษณะของสลัม และในรอบหลายปีที่ผ่านมาในหลายรัฐบาลคนจนเมืองนับหมื่นครัวเรือนก็ได้ริเริ่มทำโครงการที่อยู่อาศัยแบบบ้านมั่นคง โดยร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชนและปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ให้มีลักษณะของการเป็นสลัม
สำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสองข้างทางรางรถไฟ จดหมายของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้มีแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ในการสร้างความมั่นคงในที่ดินโดยการเช่าที่การรถไฟฯแล้วพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง ขณะนี้มีชุมชนหลายแห่งได้สิทธิ์การเช่าตามมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย 13 ก.ย. 2543 แล้วปรับปรุงชุมชนสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่มีสภาพเป็นสลัมอย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง จิระ-ขอนแก่น และ โครงการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐาน กรุงเทพฯ – หนองคาย ที่จะต้องผ่านตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้หารือแนวทางการพัฒนาทั้ง 2 โครงการ ร่วมกับทาง สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทั่งได้มีความเห็นเรื่องการใช้พื้นที่สองข้างทางรางรถไฟ โดยขณะนี้ได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัยในลักษณะโครงการบ้านมั่นคง และสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่ให้มีสภาพเป็นชุมชนแออัด
“เครือข่ายสลัม 4 ภาค ใคร่ขอให้ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ทบทวนแนวความคิดในการแก้ปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟ โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอยืนยันให้ท่านสานต่อในนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะบ้านมั่นคง ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนในการปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณที่ดินเดิมหรือพื้นที่ใกล้เคียง โดยการเช่าที่ดินระยะยาวจากรัฐ” จดหมายระบุ
ต่อจากนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ร่วมกับ 38 องค์กรภาคประชาชน ยื่นหนังสือกับ รองประธาน สนช. เพื่อคัดค้านการพิจารณาออกกฎหมายการชุมนุม หลังจากนั้นจึงรอเจรจาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับกระทรวงคมนาคมในช่วงบ่าย
ทั้งนี้ แถลงการณ์เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีดังนี้
แถลงการณ์ “หยุดไล่คนจนออกนอกเมือง ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง” จากที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 เวลา 20.15 น. ที่ว่า “….ทำอย่างไรจะมีที่ค้าขายมีที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทางใหม่ ๆ เหล่านี้ ก็เป็นตึก เป็นคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ให้กับคนที่มีรายได้น้อยอยู่ ทำอย่างไรก็ต้องร่วมมือกัน อย่ามาอยู่กันเลยแบบสลัม แบบชุมชนที่ๆ ผมเข้าใจว่า ท่านก็ไม่มีสตางค์ รัฐก็ต้องดูแลแต่ท่านก็ต้องมาเช่า มีทั้งเช่า มีทั้งผ่อนชำระ ผ่อนส่ง เช่าซื้อก็ไปว่ากันมา ถ้าไม่เริ่มคิดอย่างนี้เป็นไปไม่ได้วันหน้าก็รกรุงรังไปหมด ริมคลองก็ทำอะไรไม่ได้ แน่นคลอง ชุมชนก็แออัดไฟไหม้อีกอะไรอีก วุ่นวาย เราจะได้มาใช้พื้นที่ในการทำสวนสาธารณะในการทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย สนามกีฬาแล้วคนเหล่านี้ก็มาขึ้นอยู่บนแฟลตหรือบนอพาร์ทเม้นท์ที่พอสมควร ก็ดี อย่างน้อยก็ดีกว่าเพิงสังกะสี หรือบ้านที่ผุพัง หน้าฝน หน้าร้อนก็ไม่สบาย ลูกหลานก็ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี…” เครือข่ายสลัม 4 ภาค เข้าใจว่าแนวความคิดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีมุ่งเน้นไปที่การสร้างแฟลต เพื่อรองรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัด ที่จะโดนผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบราง โครงการพัฒนาริมคูคลอง อย่างไรก็ตามแนวความคิดเรื่องแฟลต ไม่ใช่สิ่งใหม่ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ท้ายสุดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดได้เพราะ วิถีชีวิตคนจนเมืองส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ต้องใช้พื้นที่บ้านในการประกอบอาชีพด้วย เช่นเป็นที่ค้าขาย เป็นที่เก็บของเก่า เป็นที่ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ดังนั้นรูปแบบการอยู่อาศัยแบบแฟลตจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอยืนยันว่า คนจนเมืองไม่ต้องการอยู่อาศัยในลักษณะของสลัม และในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปจนถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนจนเมืองนับหมื่นครัวเรือนก็ได้ริเริ่มทำโครงการที่อยู่อาศัยแบบบ้านมั่นคง โดยร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชนและปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ให้มีลักษณะของการเป็นสลัม สำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสองข้างทางรางรถไฟ ที่ผ่านมาเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้มีแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ในการสร้างความมั่นคงในที่ดินโดยการเช่าที่การรถไฟฯแล้วพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง ขณะนี้มีชุมชนหลายแห่งได้สิทธิ์การเช่าตามมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย 13 กันยายน 2543 แล้วปรับปรุงชุมชนสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่มีสภาพเป็นสลัมอย่างที่นายกรับมนตรีกล่าวอ้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง จิระ-ขอนแก่น และ โครงการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐาน กรุงเทพฯ – หนองคาย ที่จะต้องผ่านตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้หารือแนวทางการพัฒนาทั้ง 2 โครงการ ร่วมกับทาง สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทั่งได้มีความเห็นเรื่องการใช้พื้นที่สองข้างทางรางรถไฟคือ ในระยะ 20 เมตรแรก จากกึ่งกลางรางออกไปทั้งสองฝั่ง ซ้ายขวา จะเป็นระยะทางการก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการ ส่วนพื้นที่เมตรที่ 20 หลังของฝั่งซ้ายและฝั่งขวาจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนที่จะปรับขยับบ้านให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัยในลักษณะโครงการบ้านมั่นคง และสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่ให้มีสภาพเป็นชุมชนแออัด ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค ใคร่ขอให้ ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรีได้ทบทวนแนวความคิดในการแก้ปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟ โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอยืนยันให้ให้ ฯพณฯ ท่านสานต่อในนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะบ้านมั่นคง ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนในการปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณที่ดินเดิมหรือพื้นที่ใกล้เคียง โดยการเช่าที่ดินระยะยาวจากรัฐ ด้วยความเชื่อมั่นพลังประชาชน |