‘กลุ่มรักษ์บ้านเกิดฯ’ ค้านเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน เตรียมจัดรณรงค์หวังรวมพลังคนพื้นที่

‘กลุ่มรักษ์บ้านเกิดฯ’ ค้านเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน เตรียมจัดรณรงค์หวังรวมพลังคนพื้นที่

20160806212603.jpg

8 มิ.ย. 2559 ชาวบ้านในนาม ‘กลุ่มรักษ์บ้านเกิดคัดค้านการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน’ ในเขต ต.พันดุง และต.หนองสรวง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เตรียมจัดขบวนรณรงค์เข้าถึงทุกหมู่บ้าน กว่า 15 หมู่บ้าน ในเขตสองตำบล เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านทั้งสองตำบลลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านการทำเหมืองเกลือหินของบริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ในวันที่ 12 มิ.ย. 2559

ขบวนจะเริ่มเคลื่อนออกจากบริเวณลานวัดพันดุง บ้านหนองหัวแหวน หมู่ 6 ต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เวลาประมาณ 08.00 น. และจะใช้เวลาทั้งวันเพื่อเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนไปสิ้นสุดที่บริเวณบริษัทกำลังขุดเจาะสำรวจชั้นน้ำบาดาลและชั้นเกลือหินใต้ดินซึ่งอยู่ที่ปลายนาท้ายหมู่บ้านหนองหัวแหวน หมู่ 6 ต.พันดุง ห่างออกไปจากตัวหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร เพื่อทำการอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์และจุดยืนในการต่อต้านคัดค้านการทำเหมืองเกลือหินของบริษัทดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559 กลุ่มรักษ์บ้านเกิดฯ ราว 100 คน ร่วมกันตั้งเต็นท์เฝ้าจับตาการเจาะสำรวจเพื่อทำเหมืองเกลือหินในพื้นที่ใกล้กับพื้นที่ทำการขุดเจาะสำรวจฯ ด้วย (คลิกอ่านข่าว: จับตา ‘เจาะสำรวจเหมืองเกลือหิน’ โคราช กลุ่มรักษ์บ้านเกิดฯ หวั่นปัญหาดินเค็ม-แผ่นดินทรุด)

ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่บริเวณที่มีการขุดเจาะสำรวจดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ทำเหมืองในอนาคต เนื่องจากบริษัทฯ ได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นรอยต่อสองตำบลประมาณ 600 ไร่ เอาไว้หมดแล้ว 

นอกจากหลุมสำรวจในพื้นที่บ้านหนองหัวแหวน หมู่ 6 ต.พันดุง 1 หลุม  บริษัทฯ ยังมีแผนขุนเจาะสำรวจที่บ้านหนองกก หมู่ 1 ต.หนองสรวง อีก 1 หลุม ตามที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่เกลือหิน จำนวน 1 แปลง 10,000 ไร่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผู้ดำเนินการเจาะสำรวจเป็นเจ้าเกลือบริโภคยี่ห้อดัง และเกลืออุตสาหกรรมที่ได้เกลือมาจากแหล่งเกลือพิมาย ของบริษัท เกลือพิมาย จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลกระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จังหวัดเดียวกัน 

รวมทั้งยังมีบริษัทลูกอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่าบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน 1 แปลง ประมาณ 200 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่บ้านแหงเหนือ หมู่ 1 และ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ที่กำลังก่อปัญหาปะทะขัดแย้งกับชาวบ้านอยู่ในขณะนี้

 

หวั่นขุดเจาะสำรวจ หนุนขอประทานบัตรจากปี 2556

ชาวบ้านส่วนใหญ่สงสัยว่าการขุดเจาะสำรวจดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นการขุดเจาะสำรวจตามที่เพิ่งได้รับอาชญาบัตรพิเศษเมื่อปี 2558 ตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการขุดเจาะเพื่อนำข้อมูลเอาไปประกอบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เพื่อขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือหินของบริษัทฯ มากกว่า

เนื่องจาก ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่เกลือหินแล้วตั้งแต่ปี 2556 บนพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ แบ่งเป็น 2 คำขอประทานบัตร คำขอละ 300 ไร่ คำขอหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.พันดุง อีกคำขอหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.หนองสรวง โดยเป็นพื้นที่ติดต่อกัน

แต่ที่ผ่านมาการขอประทานบัตรถูกต่อต้านจากกลุ่มชาวบ้าน โดยในการจัดทำประชาคมหมู่บ้านในเขตพื้นที่ทั้งสองตำบลเมื่อปี 2556 เสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบที่จะให้บริษัทดำเนินการตามคำขอประทานบัตรต่อไป รวมทั้งการประชุมสภาท้องถิ่นทั้งสองตำบลก็มีมติสอดคล้องกับการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน คือไม่เห็นด้วยที่จะให้บริษัทดำเนินการตามคำขอประทานบัตร

ต่อมา บริษัทฯ ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อขอสำรวจแร่เกลือหินหนึ่งแปลง พื้นที่ 10,000 ไร่ ในขอบเขตพื้นที่ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่ได้ทำการยื่นคำขอประทานบัตรเอาไว้แล้ว โดยอาจหวังผลักดันกระบวนการขอประทานบัตรใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยล้มเหลวไปแล้วเมื่อปี 2556

 

‘เหมืองเกลือหิน’ อุโมงค์ใต้ดินไม่ต่างเหมืองโปแตชอีสาน

ข้อมูลพื้นฐาน จากเอกสารเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน คำขอประทานบัตรเลขที่ 4/2555 ในการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือหินเมื่อปี 2556 ระบุว่า

1. โครงการเป็นการทำเหมืองผลิตเกลือหินแบบเหมืองใต้ดิน โดยการทำอุโมงค์ลงไปในระดับความลึก 170 – 200 เมตร จากผิวดิน ขนาดอุโมงค์กว้างประมาณ 6 – 8 เมตร เพื่อทำการขุดเกลือขนาดช่องกว้าง 10 x 10 เมตร สูง 10 – 15 เมตร

2. บริเวณพื้นผิวดินจะประกอบด้วยปล่องอุโมงค์ที่เป็นทางขึ้นลงของพนักงานและเกลือหิน เกลือหินที่ผลิตขึ้นได้นี้ยังเป็นที่หวั่นวิตกว่าจะนำมากองเอาไว้บนลานดินปูพื้นพลาสติกกลางแจ้งเหมือนกับโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ หรือเก็บใส่ไว้ในไซโลมิดชิดเพื่อรอขนถ่ายใส่รถบรรทุกขนส่งต่อไป

3. การขุดแร่เกลือหินใต้ดินจะทำเป็นระบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Room and Pillar)

4. กำลังการผลิตประมาณ 500,000 ตันต่อปี

 

ข้อห่วงกังวลที่สำคัญ

1. จ.นครราชสีมาเป็นพื้นที่หนึ่งที่ผ่านการสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มและตากในนาข้าวมาเนิ่นนาน ไม่น้อยกว่า 20 ปี ในยุคเดียวกับที่รัฐบาลเมื่อปี 2534 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการสูบน้ำเกลือใต้ดิน และการทำเกลือใต้ดิน ที่บริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำหนองบ่อบรบือ ต้นลำน้ำเสียว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม จึงเป็นเหตุให้นายทุน/พ่อค้าเกลือหาแหล่งเกลือแหล่งใหม่ในภาคอีสาน เช่น อ.วานรนิวาส และอ.บ้านม่วง จ.สกลนคร อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม และ อ.โนนไทย อ.ขามทะเลสอ อ.ด่านขุนทด อ.พระทองคำ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นต้น 

ซึ่งการสูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากที่ จ.นครราชสีมาประสบปัญหาผลกระทบไม่ต่างไปจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน ที่นาข้าวโดนนาเกลือรุกไล่ที่ การแพร่กระจายความเค็มลุกลามเข้าไปในพื้นที่นาบริเวณใกล้เคียงกับที่ทำนาเกลือ เกิดหลุมโพรงยุบขนาดใหญ่และลึกหลายหลุม ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านพยายามร้องเรียนมาตลอดแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่ที่ใกล้ที่สุดที่ยังมีการสูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ห่างออกไปเพียง 1 กิโลเมตรที่บ้านหนองกก หมู่ 4 บ้านโคกพัฒนา หมู่ 8 ต.หนองสรวง 

จากประสบการณ์และบทเรียนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ใกล้เคียงนี้เอง จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลว่าเหมืองเกลือหินดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุผลกระทบการแพร่กระจายดินและน้ำเค็มรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้

2. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2559 ที่ศาลาวัดหน้าเมรุ วัดพันดุง บริษัทฯ และส่วนราชการในระดับอำเภอ รวมทั้งทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.นครราชสีมา พยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหา โดยจัดเวทีชี้แจงการเข้ามาขุดเจาะสำรวจในพื้นที่ให้แก่ราษฎร แต่ชาวบ้านกว่า 650 คนในเวทีมีความเห็นพ้องกันว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้บริษัทเข้ามาขุดเจาะสำรวจในพื้นที่ เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้มีการขุดเจาะเกิดขึ้นก็จะมีความเป็นไปได้ว่าที่บริษัทจะขอทำเหมืองในขั้นตอนต่อไปได้ 

เจ้าหน้าที่ทหารจาก กอ.รมน. จึงให้ชาวบ้านส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อควบคุมการขุดเจาะสำรวจ 10 คน โดยให้นายอำเภอขามทะเลสอออกคำสั่งแต่งตั้งและนัดหมายทำบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ในวันที่ 31 พ.ค. 2559 ณ ที่ทำการอำเภอขามทะเลสอ ปรากฎว่าชาวบ้านได้ทำหนังสือแจ้งในวันเดียวกันนั้นว่าขอปฏิเสธเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อควบคุมการขุดเจาะสำรวจ และไม่ขอลงนามในเอ็มโอยู สร้างความไม่พอใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้ ชาวบ้านหวั่นเกรงว่าหากแสดงสิทธิในการชุมนุมคัดค้านโครงการ อาจถูกขมขู่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอ้างคำสั่ง คสช. เพื่อให้ชาวบ้านหยุดต่อต้านคัดค้านโครงการดังกล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ