ฟังเสียงประเทศไทย : เมืองโคราช อนาคตที่ออกแบบได้

ฟังเสียงประเทศไทย : เมืองโคราช อนาคตที่ออกแบบได้

เรียบเรียง : นาตยา สิมภา

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

เรากลับมาอีกครั้ง ณ เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน และการเดินทางในพื้นที่ภาคอีสาน รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal เดินทางมาถึงพิกัดที่ 7 แล้ว ณ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนถึง โอกาสที่จะเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองโคราชในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า “เมืองโคราช อนาคตที่ออกแบบได้” ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

ต้องขอย้ำว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคตเมืองโคราช จ.นครราชสีมา รวมถึงการร่วมกันพัฒนาเมืองและสร้างโอกาสสำหรับทุกคน เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการมีข้อมูลเพิ่มเติมของจังหวัดนครราชสีมามาแบ่งปันกัน

– โคราช ประตูสู่ภาคอีสาน –

จังหวัดนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า “เมืองโคราช” เป็นเมืองใหญ่บนดินแดนที่ราบสูง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ นครราชสีมาอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ห่างจากกรุงเทพฯทางรถยนต์ 259 กิโลเมตร มี 32 อําเภอ 289 ตำบล 3,376 หมู่บ้าน เดิมเป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในพื้นที่อําเภอสูงเนิน เรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” หรือ “โคราช” กับ “เมืองเสมา” ต่อมาผูกเป็นนามใหม่ เรียกว่า“เมืองนครราชสีมา”

จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ 20,494 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 12,808,728 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.12 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2563 พบว่ามีประชากร กว่า 2,633,207 คน มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่หลากหลายและมีความพร้อม ซึ่งมีข้อมูลนักศึกษาในปีการศึกษา 2564 ของสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง รวมกว่า 54,354 คน

  • ม.เทคโนโลยีสุรนารี
  • ม.ราชภัฏนครราชสีมา
  • ม.วงษ์ชวลิตกุล 
  • ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (ศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา)
  • ม.รามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
  • ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
  • ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาประชาบดีเถรีวิทยาลัย และศูนย์การศึกษาโคราช
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วนศ.นครราชสีมา)
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
  • วิทยาลัยนครราชสีมา
  • วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์
  • สถาบันรัชต์ภาคย์ ศูนย์วิทยบริการจังหวัดนครราชสีมา
  • สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ศูนย์การเรียนรู้จังหวัดนครราชสีมา
  • วิทยาลัยพิชญบัณฑิต นครราชสีมา

 – เมืองเก่าโคราช –

จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่เมืองเก่า 1.91 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,191.58 ไร่ ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เมื่อ 7 กันยายน 2558 ซึ่งมีโครงการพัฒนาเป็นแห่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางธรรมชาติมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” / เขตห้ามล่าสัตว์ป่าขาแผงม้า/ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง / อุทยานธรณีโคราช หรือ  Khorat Geopark

เมืองเก่าโคราชกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

  • 1. โครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่านครราชสีมา
  • ภายใต้แนวคิดการจัดการภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ (Historic Urban Landscape: HUL)
  • 2. โครงการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะและแผนแม่บทระบบจราจรในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่อง
  • 3. โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน “โคราช มหานครไร้สาย”
  • 4.งานเทศกาลประจำปี เนื่องด้วยกระแสการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้รับความนิยมอย่างมาก ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการจัดเทศกาลถนนคนเดินภายในบริเวณย่านการค้าเก่า 2 แห่ง ได้แก่ งาน “รากราชสีมา” และงาน “ตรุษจีนโคราชจอมพลถนนหัวมังกร”

แผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ปี 2566 – 2570

แผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ปี 2566 – 2570 ระบุผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP มีมูลค่า 303,996 ล้านบาท โดยมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ 1 ของภาคอีสาน และเป็นลำดับที่ 12 ของประเทศ มีรายได้จากภาคการเกษตร กว่า 40,754 ล้านบาท และนอกภาคการเกษตร กว่า 263,251 ล้านบาท โดยมีข้อมูลรายได้เฉลี่ยจากการท่องเที่ยว ปี 2561 – 2563 มูลค่ากว่า 20,586.42 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรม โคราชมีจำนวนโรงงานในพื้นที่ ณ สิ้นปี 2563 จำนวน 20 ประเภท  รวม ทั้งสิ้น 1,695 แห่ง โดย 5 ประเภทแรกที่มีจำนวนสูงสุด คือ การเกษตร จำนวน 323 แห่ง  / อาหาร 204 แห่ง/ อโลหะ 188 แห่ง/ขนส่ง 138 แห่ง  /และพลาสติก 105 แห่ง

ซึ่งระบุว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย โรงสีข้าว 51 แห่ง / โรงน้ำตาล 4 แห่ง และโรงแป้งมันสำปะหลัง 35 แห่ง

นครราชสีมากับโอกาสจากการพัฒนาเมือง

ข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ปี 2566 -2570 ระบุถึงโอกาสของโคราชดังนี้ 

  • 1. ยุทธศาสตร์โครงข่ายเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อ East-West Corridor และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอตอร์เวย์ 
  • 2. นโยบายของรัฐบาลส่งเสริมท้องเที่ยวชุมชน สินค้าชุมชนท้องถิ่น 
  • 3. การพัฒนาเทคโนโลยีและการเข้าถึงโอกาสสร้างระบบข้อมูลรวมผ่านเทคโนโลยี 
  • 4. นโยบายด้านเกษตรที่จะสร้างโอกาสให้ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าสูง
  • 5. นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากช่วยลดช่องว่างของการกระจายรายได้ 

โดยมีเป้าหมายการพัฒนา คือ  “ศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและ ศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาค นวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม และเป็นสังคมคุณภาพสูง”

เมื่อ มหานครโคราช หรือ  จ.นครราชสีมา ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ภาคอีสาน อีกหัวเมืองใหญ่ในดินแดนที่ราบสูง พร้อมด้วยทรัพยากร และเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนาคม รถยนต์ รถไฟ รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ น้อง ๆ นักศึกษา ตัวแทนภาคธุรกิจ ตัวแทนชุมชนริมทางรถไฟ อาจารย์นักวิชาการ และฟังเสียงประเทศไทยชวนล้อมวง “โสเหล่” และ “ฟัง” อย่างใส่ใจ และมองภาพอนาคตร่วมกันถึงโอกาสที่จะเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองโคราชในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า จากห้องประชุมแคแสด อาคารขวัญแก้ว มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา ซึ่งในอนาคตอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้พูดคุย ถึง “เมืองโคราช อนาคตที่ออกแบบได้”

ฉากทัศน์ A โคราช Mega city

•  นครราชสีมาเมืองใหญ่ในอีสาน มีความพร้อมเรื่องฐานทรัพยากรสำหรับรองรับผู้คน การเติบโตและการขยายเมืองจากกรุงเทพฯและปริมณฑล โคราชจะต้องพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมเชื่อมต่อเมืองในภูมิภาคทางรถยนต์ รถไฟ หรืออากาศยาน พร้อมการขยายตัวของที่อยู่อาศัยเกิดชุมชนเมืองใหม่ โดยต้องมีการสนับสนุนลงทุนจากภาครัฐ และเอกชน เพื่อสร้างเมืองใหม่ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่าแสนล้านบาท แต่การเติบโตและขยายเมืองใหญ่อย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ดิน และแหล่งน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากมีการอพยพเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่และอาจกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่จะมีความต้องการอุปโภค บริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ต้นทุนทางวัฒนธรรมอาจได้ใช้ประโยชน์

ฉากทัศน์ โคราช เมืองกรีนเทคโนโลยี

•      นครราชสีมาเมืองแห่งอุตสาหกรรมท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพชุมชน จากต้นทุนฐานการผลิตเกษตรกรรม และสินค้าชุมชน โดยต้องนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์ของโลกมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งโคราชต้องขยายจุดแข็งในการเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าทางการเกษตรกร ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง และอื่น ๆ ที่จะเป็นโอกาสเติบโตของกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งมีกำลังในการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่อาจทำให้เกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนสูญเสียโอกาส เพราะต้องใช้งบประมาณสูง ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง หาช่องทางการตลาด เกิดการจ้างงาน การเสริมองค์ความรู้ ด้วยข้อมูลวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถปรับตัวภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ฉากทัศน์โคราชชนบทดิจิทัล

•      นครราชสีมากับโอกาสของชนบทดิจิทัล ยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้ต้นทุนจากทุกภาคสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งกระจายอยู่กว่า 10 สถาบัน ที่มีจำนวนนักศึกษาคนรุ่นใหม่หมุนเวียนมาสร้างเศรษฐกิจและกระจายความรู้จากเมืองไปสู่ท้องถิ่น ปัจจุบันมีข้อมูลการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเกินกว่าร้อยละ 50 ของประชากร แต่เนื่องจากบุคคลมีต้นทุนทางสังคม รายได้ และความรู้ที่แตกต่างหลายระดับ อาจส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ต้องใช้งบประมาณสูง และระยะเวลานาน เพื่อกระจายสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานไปยังอำเภอรอบนอกเพิ่มจากเขตเมือง โดยรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ ต้องร่วมมือพัฒนาบุคคลที่อาจไม่ได้ผลลัพธ์ทางตรงในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงสวัสดิการที่ทั่วถึงและเป็นธรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากข้อมูลพื้นฐาน แผนพัฒนาและศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมาที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

–  ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A โคราช Mega city –  

ชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

“ผมมองว่าทุก ๆ คนที่อยู่ในโคราชรวมถึงต่างจังหวัดที่ไม่ใช้กรุงเทพมหานคร ทุกคนมองอยู่แล้วว่าโคราชเป็นเมืองใหญ่และใหญ่มานานแล้ว ด้วยจำนวนประชากร 2.6 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 300,000 ล้านบาท ภาพรวมเพิ่มเติมก็คือเรามีภาคเกษตรประมาณ 15% ภาคอุตสาหกรรม 35% แล้วก็ภาคบริการโลจิสติกส์ ค้าปลีกค้าส่งอีกประมาณ 50% โดยประมาณนะครับ มูลค่า 300,000 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมแสนล้าน ที่เหลือก็กระจายกันไป ถ้าให้ผมเสริมข้อมูลผมก็บอกว่าจริง ๆ แล้วโคราชมีทุกอย่างเลยนะครับไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรมเราก็เยอะ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล หม่อนไหมและภาคบริการด้วย สภาพแวดล้อมภูมิประเทศที่ใกล้กรุงเทพฯ 200 กว่ากิโลเมตรบวกกับเราเป็นที่ราบสูงแล้ว

คนบางคนชอบใช้คำว่า “โคราชเป็นทางผ่าน” จริงๆมันไม่ทางผ่าน แต่มันเป็นประตูที่ต้องเข้า จากข้อมูลที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของการท่องเที่ยว สถานที่ต่าง ๆ ผมเพิ่มเติมอีกหน่อยว่าทุก ๆ โปรเจคที่เข้ามาเราจะเห็นเลยว่านโยบายของชาติ ยุทธศาสตร์ 20 ปีของชาติลงมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ13 ที่กำลังจะใช้หล่อหลอมมาเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด 5 ปี สิ่งต่างๆเหล่านี้เราสามารถที่จะออกแบบโคราชได้นะครับ

สิ่งที่เราตั้งคำถามก็คือโคราชเป็น Mega city จริงไหม ก่อนที่เราจะรู้ว่ามันจะเป็นจริงรึเปล่าเราต้องดูนโยบายก่อนเรารู้อยู่แล้วว่าระบบราง ระบบถนนไม่ว่าจะเป็นเส้น MR5 MR2 ที่เป็นมอเตอร์เวย์ที่ถูกขีดเส้นไว้กำลังจะมาถึงบ้านเราจริง ๆ สร้างแล้วแต่ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ ทุกอย่างมันมาที่โคราชก่อนเสมอก่อนที่จะไปตรงอื่น คำถามก็คือในระยะ 10ปี 20ปี ข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โคราชรอเก็บเกี่ยวโอกาสได้มากแค่ไหนต่างหาก ถ้าเราจะเป็น Mega city จริง ๆ เราต้องเก็บเกี่ยวโอกาสเหล่านี้ให้มากนะครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเพิ่มก็คือ เรากำลังจะถูกประกาศเป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีอยู่ 4 จังหวัดก็คือ โคราช ขอนแก่น อุดร หนองคาย เส้นมิตรภาพเรานี้นะครับ ระเบียงเศรษฐกิจถูกชี้มาชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องเป็น เมืองอุตสาหกรรมด้าน ชีวภาพ ชี้อยู่แล้วว่าถ้าเป็นสินค้าเกษตรต้องเป็นอะไร ถ้าเป็นปศุสัตว์ต้องเป็นอะไร ซึ่งเรารู้ของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโคเนื้อเรามีมากที่สุดในภาคอีสาน สินค้าเกษตรเรามีอะไร รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เขตอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น

โคราชกำลังจะมีการออกแบบเมืองใหม่สุรนารี ปากช่องและบัวใหญ่ สิ่งเหล่านี้อยู่ในแผนของรัฐบาลทั้งหมดเลย สำคัญที่สุดก็คือเราจะเก็บเกี่ยวโอกาสเหล่านี้ได้มากแค่ไหน ซึ่งการเก็บเกี่ยวโอกาสเหล่านี้ต้องดูบริบทของตัวเองก่อนว่าบริบทเอกชน บริบทข้าราชการ บริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็บริบทของการเมือง 4 บริบทนี้มันสามารถล้อเป็นทิศทางเดียวกันได้ไหม เพราะที่ผ่านมาโคราชเราเจออุปสรรคต่างคนต่างทำ สุดท้ายโอกาสอีกโอกาสหนึ่งสำหรับโคราชก็คือโคราชเป็นเมืองใหญ่ที่ทำให้ Generation แต่ละ Gen มันค่อนข้างยาว โคราชเพิ่งผ่าน Generation X มาและอีกไม่นาน Gen Y จะครองเมืองใช้คำว่ามีอำนาจในการจัดการในจังหวัด เพราะฉะนั้นการที่เราเปลี่ยนถ่ายรุ่นมาเป็น Gen Y ที่มีอำนาจมากที่สุดในแต่ละยุคจะทำให้เมืองเคลื่อนไหวได้เร็ว เพราะฉะนั้นถ้าจะ Gen Y ได้เรียนรู้บริบทที่ไม่ใช่แค่อยากอย่างเดียว แต่เป็นข้อเท็จจริงว่าโคราชมีนโยบายอะไรมาแล้วเราจะเสริมสนับสนุนเพื่อให้เติบโตไปในทิศทางไหนเราก็สามารถที่จะออกแบบได้นะครับ บางคนบอกว่าโคราชถ้าเทียบกับจังหวัดอื่น จังหวัดอื่นเจริญเติบโตเร็วกว่า จริง ๆ ผมตีความอย่างนี้ครับ Generation เขาเปลี่ยนเร็วกว่าเพราะคนเขาน้อยกว่า โคราชเป็นเมืองใหญ่ก็ค่อย ๆ สานต่อแล้วเรากำลังจะพุ่งไปอย่างรวดเร็วในระยะ 10-20 ปี ข้างหน้าครับ”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B โคราช เมืองกรีนเทคโนโลยี

มารุต ชุ่มขุนทด กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟในรูปแบบ Start up

“เรื่องของกรีนเทคโนโลยีมันเป็นสิ่งหนึ่งที่เราเริ่มตระหนักถึงเยอะเพราะว่าเราเจอวิกฤตเยอะ เมืองโคราชเป็นเมืองหนึ่งที่เราเจอเรื่องน้ำท่วมเยอะแต่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้เรามักจะโทษโน่นโทษนี่ตลอดว่ามันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วเราต้องกลับมาทบทวนที่ตัวเราเองว่าเราเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป

ด้วยขนาดของเมืองที่มีขนาดใหญ่ด้วยอุตสาหกรรมขนาดยักษ์อยู่ที่นี่มันทำให้เราเองเป็นคนหนึ่งที่สร้างมลภาวะเกิดขึ้น พอมันเป็นเรื่องพวกนี้ทำให้เราเองต้องพยายามกลับมาช่วยกันทบทวนกันหรือช่วยกันว่าน้ำท่วมเนี่ยเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน โลกเปลี่ยนและโลกป่วน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะ ด้วยความเป็นเมืองของคนรุ่นใหม่ ความเป็นประชากรโลกเนี่ย Global Citizen คือสิ่งที่เราจะต้องคำนึงว่าเราทำลายโลกเราไปขนาดไหนและเราเองทิ้งขยะ เราแยกขยะหรือยัง เริ่มต้นจากตัวเราเองอันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ที่อยากให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ในฐานะที่เป็นคนที่ขับเคลื่อนมองภาพที่ใหญ่ขึ้นแล้วก็รักโลกของเรามากขึ้น

ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเวลาเราเข้าเมืองโคราชเราจะเห็นกังหันลมขนาดใหญ่ ในอดีตโคราชก็ใช้พลังงานจากน้ำจากเขื่อนเยอะ ปัจจุบันพลังงานลมก็เข้ามาเยอะ พลังงานแสงอาทิตย์ก็เข้ามาเยอะ กลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยน เราพยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงพวกนี้เยอะการมาที่เมืองโคราชจะได้ช่วยโลกไปด้วย มาจัดประชุมที่นี่ใช้พลังงานสะอาดเข้ามาช่วย ในฝั่งเทคโนโลยีด้วยความที่เป็นเมืองที่มีวัยรุ่นเยอะมีคนรุ่นใหม่เยอะโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ การสร้าง Start up ให้เกิดขึ้นจากน้อง ๆ ที่มีหัวใจที่รักษ์โลกอันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเกิดขึ้นเยอะ ๆ ในเมืองโคราช ถ้าน้อง ๆ กว่า 700,000 คนที่อยู่ในเมืองตามข้อมูลเมื่อสักครู่หันมาสร้าง Start up ที่ดีต่อโลกมันจะเกิดโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น

โอกาสตอนนี้โลกกำลังขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนถ้าเราเกิดเศรษฐกิจใหม่ที่ดีต่อโลกด้วยไปพร้อม ๆ กันเกิดภาคการเกษตร เกิดการเพาะปลูกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่มันจะกลายเป็นโอกาสขนาดใหญ่ที่ทำให้โคราชเข้าสู่ระดับโลกได้เพราะเป็นเมืองที่อุตสาหกรรมก็ดีต่อโลก Start up ก็ดีต่อโลก เกษตรกรรมก็ดีต่อโลก อันนี้คือสิ่งที่อยากให้เราคว้าโอกาสที่กำลังเดินไปข้างหน้าแล้วทำให้เมืองของเราเองที่มีศักยภาพเยอะอยู่แล้วที่จะระเบิดศักยภาพออกมาเปลี่ยนแปลงโลกนี้ด้วยพร้อม ๆ กัน นี่คือสิ่งหนึ่งที่มองเห็นในแง่ของโอกาส การท่องเที่ยวเรามีธรรมชาติที่ดีมาก ๆ เรามีเขาใหญ่ มีปราสาทหินพิมาย เรามีทุกอย่างอยู่แล้วจะทำยังไงให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น การท่องเที่ยวที่ดีต่อเมืองดีต่อคนรุ่นใหม่แล้วก็ไม่ทิ้งร่องรอยที่ทำร้ายธรรมชาติ สุดท้ายพอเราสร้างโอกาสได้มันก็วนกลับไปสู่เมืองได้ อย่างเรื่องของผลิตภัณฑ์ เช่น นม เนื้อต่าง ๆ เราเป็นเมืองแห่งการผลิต พอเราผลิตสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเราก็ต้องตระหนักเหมือนกันว่าเราเลี้ยงปศุสัตว์เยอะ ๆ เราทำร้ายธรรมชาติอะไรไปบ้าง เราคืนอะไรสู่ธรรมชาติได้บ้าง เราสร้างอะไรกลับคืนมาไว้บ้าง อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่อยากสร้างความตระหนักที่ผมมองนะครับแล้วก็อยากจะบอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องช่วยกันทำครับ”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ โคราชชนบทดิจิทัล


ปรัชญา เพชรวิสิทธิ์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ KOLLAGE

“โคราชชนบทดิจิตอล ผมคิดว่ามันต้องเริ่มจากการลงทุนก็คือชวนคนโคราชนี่แหละครับ ร่วมกันลงทุนกับคนรุ่นใหม่ลงทุนกับอนาคต คือไม่ใช่การลงทุนกับตึกแต่เรากำลังลงทุนกับคนที่จะไปสร้างเมืองต่อ ผมโตมาแล้วก็ดูวิดีโอเมื่อกี้ผมไม่เคยทราบเลยว่ามีแผนยุทธศาสตร์อะไรมากมาย แล้วก็ตกใจมากที่วันหนึ่งโตขึ้นมาแล้วเมืองที่เราอยู่ถูกผลักเป็นเมืองเก่า ในขณะที่เราเพิ่งโตเรารู้สึกว่าพื้นที่เมืองยังฟังก์ชันกับเราอยู่

ตัว Kollage เราตั้งใจกันอย่างนี้ครับ เวลาเรารวมกลุ่มวัยรุ่นกันเรารู้สึกว่าเราเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เราเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่รุ่นใหม่น่าจะได้รับเราพยายามมองหาทรัพยากรที่สนับสนุนต่อคนรุ่นใหม่ต่อการเติบโตกับคนรุ่นใหม่ ตอนนี้ทางทีมเราโฟกัสในพื้นที่คูเมืองซึ่งเป็นพื้นที่แผนยุทธศาสตร์บอกว่าจะเป็นเมืองเก่า เราพยายามจะเอานวัตกรรมอะไรเข้าไปกัน แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะถูกบล็อกโดยยุทธศาสตร์หรือเปล่าอันนี้ก็ตั้งคำถามไว้นะครับ

เรามีคนรุ่นใหม่อยู่ในโคราชเราเยอะมาก ทั้ง เป็นคนโคราชแล้วก็เรียนที่นี่ รวมไปถึงคนที่อยู่ต่างจังหวัดนอกพื้นที่มาเรียนแล้วก็ใช้ทรัพยากรในจังหวัดนครราชสีมา ผมคิดว่าคนเหล่านี้วัยรุ่นเหล่านี้ก็ควรได้รับความสะดวกที่จะเอื้อต่อการเติบโตของเขาผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เรื่องการเดินทางคนรุ่นใหม่วัยรุ่นเราโตมากับการต้องเรียน กว่าจะออกจากเรียนก็ 5-6 โมงเย็น กว่าจะเดินทางด้วยรถเมล์ที่ต้องรอนานกว่าจะไปถึงพื้นที่ที่เขาทำกิจกรรม สัก 18.00-19.00 น. และ 21.00 น. รถเมล์หมด กิจกรรมที่เขาชื่นชอบถูกจำกัดเวลา ซึ่งเราพยายามพูดถึงเรื่องพื้นที่ของคนรุ่นใหม่พื้นที่การรวมตัวกันอย่างพื้นที่กลางเราพยายามมองหาพื้นที่ที่ให้วัยรุ่นมาแชร์กิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบในหลากหลายมิติ

อย่างตรงลานย่าโมมีกิจกรรมมากมายมาใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างเช่น การเต้นบีบอยและสเก็ตสราญรมย์ พบว่ามีบีบอยคนหนึ่งมาซ้อมแล้วก็มีน้องชายมานั่งรอ ปรากฏว่าไปเห็นกิจกรรมข้างที่ไม่ใช้บีบอย แต่เห็นสเก็ตสราญรมย์ก็ขอพี่ไปเล่น ซึ่งเล่นไปเล่นมาปัจจุบันก็เป็นทีมชาติสเก็ต/ไอซ์สเก็ต ก็เกิดจากพื้นที่ที่มีการแชร์มากมายถ้ามีพื้นที่กลางคิดว่าก็น่าจะลงทุนครับคนรุ่นใหม่ได้ มีอีกเป้าหมายครับผมไม่แน่ใจว่าทางภาครัฐให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณหรือฟาซิลิตี้ทั้งหลายให้กับคนรุ่นใหม่อย่างไร

ผมคิดว่าเมืองต้องสนับสนุนการเรียนรู้คนรุ่นใหม่ แค่ตื่นขึ้นมาเจอสวนสาธารณะที่มีรูปทรงเลขาคณิต และได้ชื่นชมกับงานศิลปะบ้างน่าจะทำให้เมืองมีสีสัน รวมไปถึงสร้างพื้นฐานด้านการมองงานศิลปะให้กับคนรุ่นใหม่ได้ รวมไปถึงโคราชที่จะเป็น Mice city เป็นไปได้ไหมที่จะมีสัดส่วนให้เด็กวัยรุ่นโคราชเข้าไปเรียนรู้งานไปเป็นสตาฟ รวมไปถึง Art School โคราชอยากเป็นเมืองศิลปะแต่ Art School ในจังหวัดเลยที่จะสนับสนุนแล้วก็ต้องอ้างอิงกับวัฒนธรรมวัยรุ่นด้วย เช่น ด้าน NFT ,Digital art ,Graphic หรือ Velaverse ผมเชื่อว่าเมืองโคราชต้องการครีเอทีฟถ้าไม่มีครีเอทีฟก็เมืองตายไม่มีงานครับ ผมพยายามหาที่ที่จะทำคอมมูนิตี้กัน ที่ติดถนนในเมืองราคา 30,000 บาท เดินเข้าไปในซอย 5 ก้าว ราคา 3,000 บาท คือวัยรุ่นคนรุ่นใหม่โคราชถูกผลักเข้าไปอยู่ในซอย ร้านกาแฟเท่ห์ ๆ ร้านชิค ๆ ของคนโคราชของคนรุ่นใหม่ไปอยู่ในซอยหมดเลย ทำให้เมืองตายพื้นที่มากมายที่เป็นพื้นที่ของราชการที่ยังไม่ถูกยกให้เทศบาลสักที คนรุ่นใหม่ไปยืนมองแบบ ขอได้ไหมตรงนี้ ตึกนี้ขอได้ไหม ซึ่งไม่ได้ถูกใช้งาน”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

นี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตามโจทย์เรื่องของการพัฒนาเมือง  

โจทย์เรื่องอนาคตโคราช ยังเป็นเรื่องที่ชาวโคราชทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงาน เอกชน คนรุ่นใหม่ และ คนรุ่นใหม่ ยังต้องหารือและขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งนอกจากเสียงของคนโคราชแล้ว ผู้ที่สนใจในพื้นที่อื่น ๆ สามรถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบเมืองให้เป็นของทุกคนได้ สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

ร่วมโหวตฉากทัศน์ เมืองโคราช อนาคตที่ออกแบบได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ