ไล่รื้อบ้านเก้าบาตร กรรมการสิทธิฯ เตรียมเสนอ คสช.ใช้ ม.44 แก้ปัญหานโยบาย คสช.

ไล่รื้อบ้านเก้าบาตร กรรมการสิทธิฯ เตรียมเสนอ คสช.ใช้ ม.44 แก้ปัญหานโยบาย คสช.

กสม. เปิดเวทีหาแนวทางแก้ปัญหาชาวบ้านถูกให้ออกจากที่ทำกินบ้านเก้าบาตร และคลองชัน หมอนิรันดร์สรุปจะเสนอหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 แก้ปัญหาจากนโยบาย คสช.เอง

20150504225447.jpg

5 เม.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2558 คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ กรณีกองทัพเรือดำเนินคดีกับชาวบ้านคลองชัน ต.จันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และกรณีบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถูกอพยพออกจากป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่

กรณีบ้านคลองชัน คณะอนุกรรมการฯ ได้เคยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อสรุปว่า จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน 14 ราย ที่ไม่มีที่ทำกิน เนื่องจากศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ–เขาวังแจง ในระหว่างนั้น ชาวบ้านจะยังทำกินต่อไปได้ โดยกองทัพเรือซึ่งเป็นผู้ฟ้องให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เนื่องจากต้องการพื้นที่ในการซ้อมรบ แม้จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านร้องว่า ไม่สามารถเข้าไปดูแลพืชผล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ได้ อีกทั้ง มีความหวาดกลัวว่าจะถูกจับ เนื่องจากมีการบังคับคดีให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านเรือนออกจากพื้นที่

ป้องกันจังหวัดจันทบุรี ให้ข้อมูลว่า ทางจังหวัดได้จัดหาพื้นที่ทำกินรองรับ ในโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง เขตปฏิรูปที่ดินเขาสอยดาว โดยจัดสรรให้ครอบครัวละ 3 ไร่ แต่ชาวบ้านยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเนื้อที่ที่จัดสรรไม่เพียงพอ และอยู่ห่างไกล 

ด้านตัวแทนกองทัพเรือ ชี้แจงว่า ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ แต่ กสม.ต้องส่งสัญญาณให้ชาวบ้านรู้ว่า ไม่มีสิทธิอยู่ ต้องออกจากพื้นที่ 

ขณะที่ อนุกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ทางจังหวัดยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องที่ดินรองรับที่เพียงพอ ค่าชดเชย และการหาอาชีพเสริม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ประธานคณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือถึง ผวจ.จันทบุรี ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีตัวแทนกองทัพเรือ และชาวบ้านร่วมอยู่ด้วย โดยในระหว่างนี้จะยังไม่มีการบังคับคดี และชาวบ้านเข้าไปดูแลพืชผลได้

กรณีบ้านเก้าบาตร ซึ่งถูกอพยพออกจากป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ คณะอนุกรรมการฯ ได้เคยมีการประชุมเมื่อ 21 ก.ค. 2557 และมีข้อสรุปว่า ทางป่าไม้ และ สปก.จ.บุรีรัมย์ จะจัดหาพื้นที่รองรับให้กับชาวบ้าน แต่จนถึงวันนี้ ผ่านไป 8 เดือน ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านต้องอพยพเร่ร่อน ไม่มีอาชีพ ไม่มีข้าวกิน ชาวบ้านจึงขอเข้าทำกินในพื้นที่เก่าจนกว่าจะมีพื้นที่รองรับ

ตัวแทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 และ สปก.จ.บุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ได้มีกระบวนการคัดกรองชาวบ้าน จนกระทั่งมีข้อสรุปว่า ชาวบ้านกลุ่มที่อยู่ใน อ.โนนดินแดงมีจำนวน 36 ราย ซึ่งเดิมจะหาพื้นที่รองรับให้ แต่พื้นที่ที่จัดหามีเกษตรกรทำกินอยู่แล้ว จึงจัดสรรงบช่วยเหลือจากกระทรวงมหาดไทยให้รายละ 50,000 บาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครได้งบดังกล่าว เนื่องจากยังติดขั้นตอนรายละเอียด อย่างไรก็ตาม บ้านเก้าบาตรไม่มีชื่ออยู่ในกลุ่มนี้ เนื่องจากชาวบ้านไม่เข้ากระบวนการคัดกรอง 

ด้านอนุกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการอพยพคนออกจากป่าในทันที ขณะที่แผนฟื้นฟูป่า และการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันต้องการที่ดินทำกิน เงินชดเชยเยียวยาไม่มีทางเอาไปซื้อที่ได้ ถ้าให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เฉพาะหน้านี้จะให้อยู่อย่างไร

กรณีบ้านเก้าบาตร นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการที่ดินและป่า กล่าวสรุปว่า ต้องแก้ทั้งในเชิงนโยบายและพื้นที่ คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่แล้วมีรายงานการตรวจสอบแล้วว่า บ้านเก้าบาตรมีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท ชาวบ้านจึงได้เรียกร้องโฉนดชุมชน แต่ปัญหาการเมืองในขณะนี้ทำให้ข้อเรียกร้องนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบสนอง 

ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเป็นความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือสรุปการประชุมถึง ผวจ.บุรีรัมย์ กอ.รมน.จ.บุรีรัมย์ และ คสช. ให้เห็นถึงปัญหาจากนโยบายของ คสช. และจะเสนอให้ใช้อำนาจเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 มาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ