ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางศึกษาผลกระทบจาก TPP ด้านสุขภาพ ห่วงอุตสาหกรรมยาในประเทศมีปัญหาหนัก หากรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมในความตกลงฉบับนี้ ขณะที่คนไทยอาจเข้าถึงยารักษาโรคยากขึ้น วางกรอบจัดทำ HIA ให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2560 หวังเสนอทางเลือกเชิงนโยบายพร้อมมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยาให้แข่งขันในโลกการค้าเสรี
ที่มาภาพ: ส่วนหนึ่งของอินโฟกราฟฟิกโดยมูลนิธิพรมแดนอิเลิกทรอนิกส์ (คลิกดู)
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ในการประชุม คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานโครงการศึกษาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกและผลกระทบสุขภาพ : มาตรการสุขภาพและการติดตามผลกระทบ (HIA-TPP) ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมสุชน 1 ชั้น 2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี ที่มี นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุขด้านส่งเสริมสุขภาพ เป็นประธาน พร้อมด้วยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และด้านเภสัชศาสตร์ ผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมเป็นอนุกรรมการ ได้พิจารณาเห็นชอบกรอบการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจาก TPP กรณีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ และประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะส่งกระทบต่อระบบสุขภาพของคนไทยด้วย ดังนั้น จึงนำกระบวนการ ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) มาใช้ในความตกลง TPP โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม และมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทาง การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายการเข้าร่วมความตกลง TPP ในอนาคต
ทั้งนี้ กระบวนการทำ HIA-TPP ครั้งนี้ ได้ศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่าง “ประเทศเวียดนาม” ที่ได้ลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP แล้ว โดย มหาวิทยาลัยเว้ กับ “ประเทศไทย” ที่ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ องค์การเภสัชธรรม สปสช. นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เช่น กลุ่ม FTA-Watch สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PREMA) เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและเสนอทางออกร่วมกันต่อไป
“คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางฯ ให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคายาที่อาจสูงขึ้น การเข้าถึงยารักษาโรคที่มีอุปสรรคจากสิทธิบัตร รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาในประเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปนำเสนอต่อผู้กำกับนโยบายต่อไป”
รศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จะเป็นการศึกษาเชิงลึกต่อผลกระทบใน ระบบยาและข้อเสนอทางเลือกระดับนโยบายเพื่อเสนอต่อรัฐบาลได้ใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมความตกลง TPP หรือไม่ พร้อมมาตรการในการส่งเสริมความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ จากการทบทวนพบว่า มีหลายหน่วยงานที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยผลกระทบจากความตกลง TPP ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายด้านสาธารณสุขในความตกลง TPP ได้ศึกษาผลกระทบในผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) ภูมิปัญญาและการแพทย์แผนไทย 2) ยา วัคซีน และชีววัตถุ 3) เครื่องมือแพทย์ 4) เครื่องสำอาง 5) อาหาร 6) ยาสูบ 7) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 8) บริการทางสุขภาพ ขณะที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ศึกษาการประเมินผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งได้ประสานเพื่อทำงานร่วมกันแล้ว
โดยได้กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบร่างรายงาน HIA-TPP กรณีนี้ โดยสาธารณะ (Public Review) ในการประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ที่จะเป็นเวทีเปิดให้ภาคส่วนอื่น ๆ ได้รับรู้ถึงผลกระทบและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และจะได้ร่วมกับประเทศเวียดนาม นำเสนอผลการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการประชุมวิชาการนานาชาติ The 2nd ASEAN IA Conference ณ เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 ก่อนเสนอต่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป