เรื่องของ “แรงงาน” ในพื้นที่สื่อที่หายไป..สะท้อนอะไรกับเราทุกคนที่ต่างเป็นแรงงาน ?
โจทย์ใหญ่จากวงเสวนาเรื่อง “หนังสือพิมพ์ กรรมกร จากคุ้นเคยกลายเป็นอื่น” ซีรีย์วงถกเถียงภาคยาว จากนิทรรศการแรงงานไม่มีประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2559 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
จากหนังสือพิมพ์กรรมกร สู่พลังการสื่อสารบนโลกออนไลน์
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน ได้เปิดการเสวนาโดยเล่าถึงยุคเริ่มต้นของแรงงานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่ “แรงงานจีน” ในยุคนั้น ถูกมองเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ภายในกลุ่มแรงงานเองยังคงมีการสื่อสารด้วยการใช้ “ใบปลิว” ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกควบคุมและถูกตรวจสอบโดยภาครัฐ
การเพิ่มขึ้นของ “ลูกจ้าง” ผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ ที่ต่อสู้เพื่อเป็นปากเสียงให้กับคนงาน และเกิด “หนังสือพิมพ์กรรมกร” คอยสะท้อนปัญหาและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงาน ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ทั่วไปเริ่มมีการเสนอประเด็นเรื่องแรงงานมากขึ้น และมีการแต่งเพลงแรงงานตามมา
ในยุคนั้นเรื่องแรงงานยังคงถูกมองเป็น “เรื่องของคนส่วนใหญ่” โดยมีสื่อสิ่งพิมพ์เป็นช่องทางการสื่อสารหลักของกลุ่มแรงงาน ต่อเนื่องมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วง 14 ตุลาคม 2516 ประเด็นเรื่องแรงงานยังคงได้รับความสนใจ และอยู่ในกระแสพาดหัวข่าวมาโดยตลอด
ศักดินา ยอมรับว่า มาในวันนี้เรื่องของ “แรงงาน” ในพื้นที่สื่อที่หายไป ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี แรงงานจำเป็นต้องพยายามใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงสื่อกระแสหลัก หรืออีกด้านหนึ่งภายใต้บริบทสื่อใหม่ อาจเป็นโอกาสของคนงานที่จะใช้ “สื่อออนไลน์” ในการสื่อสาร ด้วยลักษณะที่ไม่ได้ผูกขาดโดยรัฐ หรือทุน แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถจัดการการสื่อสารได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่คือ ทางเลือกใหม่ที่จะให้คนงานสามารถสื่อสารได้โดยตรงอย่างสื่อออนไลน์ จะต้องมีวิธีการสื่อสารประเด็นแรงงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ด้านศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สะท้อนว่าในโลกของสื่อใหม่ การแพร่ระบาดของข้อมูลไม่ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีการสื่อสารในรูปแบบ “ข่าว” แต่เป็นการแพร่ระบาดผ่าน “ความรู้สึก” ดังนั้นชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่ต่างมีเรื่องเล่า ย่อมได้รับความสนใจ ถ้าเล่าเรื่องเป็น ผู้คนสามารถเจ็บปวดไปกับเรื่องของแรงงานได้
ไม่ต่างจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับพนักงานหญิงที่ทำงานบนรถเมล์ ขสมก.จำนวนมาก ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะไม่สามารถยืนปัสสาวะที่ไหนก็ได้เหมือนกับพนักงานชาย สะท้อนถึงระบบการทำงานที่มีปัญหา ไปจนถึงการออกแบบเมืองที่ไม่เอื้อต่อระบบการทำงานของร่างกายผู้หญิง
ในยุคนี้จึงอาจไม่จำเป็นต้องนึกถึงข่าวผู้ใช้แรงงานในแง่การเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ แต่หัวใจที่ทำให้คนสนใจผู้ใช้แรงงาน คือ การทำให้คนสนใจ “ความเป็นมนุษย์” ด้วยการเล่ารายละเอียดของชีวิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะ “ในความเป็นผู้ใช้แรงงานมีความเป็นมนุษย์อยู่”
ฉัน (และคุณ) เป็นแรงงาน
สื่อไม่สนใจแรงงาน แรงงานไม่มีพื้นที่สื่ออาจไม่ใช่เรื่องหลัก ศิโรตม์ ได้พากลับไปตั้งข้อสังเกตเรื่องของแรงงานในยุค พ.ศ.2475 ใต้เงื่อนไขของสภาพสังคม ที่แรงงานคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในมุมมองของชนชั้นกลาง ไปจนถึงชนชั้นล่าง หรือคนจน จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ต่างรู้สึกว่าตนเองเป็นแรงงาน
ชื่อของ ถวัลย์ ฤทธิเดช ปัญญาชนในยุค 2475 กับการก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์กรรมกร” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ในฐานะของผู้ก่อตั้งและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ที่ว่าด้วยเรื่องแรงงาน ซึ่งอยู่ได้ในยุคนั้น ต่างจากปัจจุบันที่หนังสือพิมพ์กลายเป็นตัวแทนของความเป็นชาติ เช่น ชื่อของหัวหนังสือพิมพ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ แนวหน้า บ้านเมือง เป็นต้น
“หนังสือพิมพ์กรรมกร” จึงโดดเด่นด้วยการเป็นตัวแทนของการต่อสู้ และบอกกลุ่มผู้อ่านว่า “เราคือใคร” โดยคงอยู่ได้ในลักษณะการวางจำหน่าย ซึ่งสะท้อนว่าจิตวิญญาณของความเป็นแรงงานนั้นมีอยู่ในยุคนั้น ประโยคที่ว่า “คนชั้นล่างโง่ ไม่มีการศึกษา ไม่สนใจประชาธิปไตย” จึงไม่เป็นความจริง
แนวคิดของถวัลย์ได้สื่อสารเรื่องคนชนชั้นล่างด้วยความเข้าใจ อธิบายภาพให้เห็นว่า แม้ช่วงก่อน พ.ศ.2475 เราจะมีการเลิกทาสไปแล้ว แต่คนไทยยังคงเป็นทาสอยู่ นั่นคือ “ความเป็นทาส” ที่อยู่ในโรงงาน และโรงสี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นายทุนทำให้คนงานกลายเป็นทาส
ศิโรตม์ อธิบายว่า ยุคนั้น “การกดขี่ ขูดรีด” อยู่ในไวยากรณ์การคิดของคนไทย โดยมีการพูดเรื่องความไม่เป็นธรรม และการเมืองมากขึ้น เช่นเดียวกับในบันทึกฉบับหนึ่งของปรีดี พนมยงค์ ที่เคยพูดถึงถวัลย์ ไว้ว่า เขาได้รวมกลุ่มกับกรรมกรรถรางสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นยุคที่ผู้ใช้แรงงานชัดเจนในแนวคิดที่ว่า จะต้องปกป้องประชาธิปไตย เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนชนชั้นล่างมีชีวิตที่ดีที่สุด
แม้ในยุคหนึ่งอาจมีความคิดที่ว่า ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ใช่คนไทย ไม่ได้เป็น “พวกเดียวกับเรา” จึงไม่แปลกที่เกิดปรากฏการณ์แรงงานข้ามชาติถูกละเลย หรือมองเป็นอื่น ซึ่งต่างจากยุคของถวัลย์ ที่แรงงานไทยร่วมเคลื่อนไหวกับกรรมกรโรงสี หรือแรงงานจีนในยุคนั้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อการสไตรค์ ที่จบลงด้วยตำรวจเข้ามาปราบผู้ชุมนุม
ศิโรตม์ จึงอธิบายว่าที่สุดแล้วหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ขบวนการแรงงานไปได้ไกล จึงอาจอยู่ที่การมีอุดมการณ์เหมือนผู้ใช้แรงงานรุ่นแรก ที่ประกาศชัดเจนว่า “ฉันเป็นแรงงาน” เช่น การมีแบรนด์ของสื่อ “หนังสือพิมพ์กรรมกร” ที่เป็นสื่อของผู้ใช้แรงงาน และประกาศด้วยความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของการเป็นลูกจ้าง
ไปจนถึงความเชื่อมั่นในความเป็นประชาธิปไตย ว่าจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน เช่น การเคลื่อนไหวของแรงงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุค 2475 และสุดท้ายคือการไม่แบ่งแยกชนชาติในการเคลื่อนไหว ด้วยผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน กรรมกร หรือคนจนนั้นไม่มีการแบ่งชนชาติ ไม่ว่าคุณจะเป็นกรรมกรรถราง กรรมกรโรงสี หรือลูกจ้างใดๆ ก็ตาม “ถ้าทะลุได้ ขบวนการแรงงานไปได้ไกล”
สุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สะท้อนมุมมองที่สอดคล้องกันว่า “ถ้าไม่ติดมายาคติระหว่างคำว่า ปัญญาชน กับผู้ใช้แรงงาน ทุกคนก็มีนายจ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐ หรือภาคเอกชน เพราะถ้าคุณรับค่าจ้างก็ถือเป็นแรงงานแล้ว”
ถึงอย่างนั้นยังคงเป็นเรื่องลำบากที่จะสื่อสารปัญหาแรงงานให้เข้าใจ เพราะในฐานะคนทำสื่อเองก็ยังคงมีปัญหา ไม่ต่างกับเรื่องราวที่พูดกันเล่น ๆ ในวงการสื่อภาคสนามที่ว่า กลุ่มสื่อมวลชนที่เรียกร้องสิทธิให้แรงงานผ่านการนำเสนอข่าวนั้น ยังคงไม่เคยเรียกร้องสิทธิของตนเองในฐานะของนักข่าวซึ่งเป็นแรงงานประเภทหนึ่งเช่นกัน
“เราไม่เคยเรียกร้องเลย วันนี้ข่าวสิทธิของแรงงานด้านสื่อยังไม่มีเลย ผมจึงไม่กล้ารับประกันว่าข่าวที่เป็นของพี่น้องจริง ๆ มันจะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน”
ความหวังจึงอาจอยู่ที่การร่วมกันสื่อสารเรื่องแรงงานออกไปในยุคของสื่อออนไลน์ ที่อาจเป็นเพียงการเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน ชีวิตการทำงานปกติ วงจรของการนั่งอยู่กับคอมพิวเตอร์ 12 ชั่วโมง การป่วยด้วยออฟฟิศซินโดรม ซึ่งสะท้อนว่าข่าว หรือข้อมูลเกี่ยวกับแรงงาน อาจไม่จำเป็นต้องดราม่าทะเลาะกับนายจ้างเสมอไป
ตกลง… อุดมการณ์ใครเปลี่ยน ?
ศักดินา อธิบายในฐานะนักวิชาการด้านแรงงานว่า แท้จริงแล้วทั้งสื่อและแรงงานต่างเปลี่ยนไป เห็นได้จากความชาชินกับปัญหาแรงงานของสื่อ และการขับเน้นประเด็นที่ไม่น่าสนใจพอสำหรับสังคมของขบวนการแรงงาน ทำให้สุดท้ายการพึ่งสื่อกระแสหลักได้ยากขึ้น
และต้องยอมรับว่า แต่เดิมหนังสือพิมพ์ขายให้คนอ่าน เอาใจคนอ่าน แต่ตอนนี้รายได้ของสื่ออยู่ที่กลุ่มทุน ส่วนสนับสนุน โฆษณา จึงต้องเอาใจตามความต้องการของทุน จิตวิญญาณการเป็น “นักธุรกิจ” ใน “สื่อมวลชน” ได้แสงหน้าจิตวิญญาณของการเป็นสื่อมวลชนอย่างแท้จริงไปแล้ว หรือแท้จริงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าคนที่ทำสื่อไม่ได้เปลี่ยนไป “อำนาจต่อรอง” ของคนที่เป็นนักข่าวก็ต่ำมากเหลือเกิน
“ถึงเวลาต้องพูดเรื่องยุทธศาสตร์การใช้สื่อของแรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องมาช่วยกันทำ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของคน 40 ล้านคน ที่จะสื่อสารให้คนในสังคมได้รับรู้ เพราะกลุ่มที่สำคัญที่สุดของการสร้างประชาธิปไตยในทุกสังคม คือ ผู้ใช้แรงงาน” ศิโรตม์ กล่าว
ส่วนแนวคิดที่ว่าด้วย “คลื่นความถี่เพื่อสาธารณประโยชน์” ศิโรตม์ ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยืนยันว่า อาจต้องเลิกหวังเรื่องคลื่นความถี่ เพราะใน พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่จะไม่มีคลื่นความถี่สาธารณประโยชน์อีกแล้ว สื่อใหม่จึงเป็นช่องทางเดียว แต่จะเล่นกับมันอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ต้องคิดให้ดี ๆ