โรงเรียนชุมชน โรงเรียนขนาดเล็ก ไปให้ถึงฝั่งฝัน

โรงเรียนชุมชน โรงเรียนขนาดเล็ก ไปให้ถึงฝั่งฝัน

โรงเรียนชุมชน โรงเรียนขนาดเล็ก ไปให้ถึงฝั่งฝัน

บ้านห้วยหินลาดเป็นหย่อมบ้านหนึ่งของหมู่ 7 ในตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ร่วมกับบ้านห้วยหินลาดใน และบ้านผาเยืองที่อยู่ในหมู่เดียวกันร่วมดูแลรักษาและร่วมปกป้องป่าอย่างแข็งขันหลายหมื่นไร่ จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวต่อเนื่องมา 5 ปี แล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังมีการรวมกลุ่มของเยาวชนในการเรียนรู้สืบทอดความรู้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชนเผ่าตนเองกันตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 มาจนถึงปัจจุบัน ฉันลงมาทำงานที่บ้านห้วยหินลาดนอกเพื่อมาสนับสนุนการทำงานของเยาวชน โดยจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกลุ่ม การจัดค่ายเยาวชน การอบรมเพิ่มทักษะ หรือการจัดสัมมนาเยาวชนในระดับเครือข่ายภาคเหนือ ที่ผ่านมาเยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังที่สำคัญของชุมชนในการจัดทำข้อมูลของชุมชน การเฝ้าระวังไฟป่า การป้องกันการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ นอกจากนั้นเยาวชนยังสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่าตนเอง และจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนให้กับเด็ก

ความชุ่มฉ่ำของสายฝนทำให้มองชุมชนดูเขียวไปหมด ทั้งภูเขาที่ดูเขียวขจีเพราะต้นไม้ใหญ่น้อย และทุ่งนาที่เต็มไปด้วยต้นข้าวที่กำลังเติบโตดูจะเขียวไปหมด แถมยังมีหมอกสีขาวที่ลอยลงมาอยู่บนยอดเขาสูง ดูแล้วสบายสายตาเหลือเกิน วันนี้ที่โรงเรียนเด็กๆ อยู่กันหลายคน ถึงแม้ว่าฝนจะตกและเป็นวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดเรียนก็ตาม พวกเขาก็ชักชวนกันมาดูแปลงผักหลังอาคารเรียนซึ่งพวกเขาได้ช่วยกันปลูกเพื่อเป็นอาหารกลางสำหรับพวกเขาเอง

โรงเรียนชุมชนคือความฝัน

โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอกเดิมเคยเป็นโรงเรียนในสังกัดของศูนย์การศึกษานอกระบบ(กศน.) ประมาณปีพ.ศ.2527 แล้วถูกยุบไปในปีพ.ศ.2548 และเปิดศูนย์กศน.อีกครั้งในปีพ.ศ.2552ซึ่งจะเน้นการสอนสำหรับเด็กที่จบชั้นประถมศึกษาและต้องการเรียนต่อในระดับชั้นมัธยม และการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กในชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเดินไปเรียนกันที่โรงเรียนบ้านป่าตึงซึ่งห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 3.5 กิโลเมตร และเด็กบางคนได้ไปเรียนที่โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดในที่มีระทางห่างจากบ้านห้วยหินลาดนอกราว 8 กิโลเมตร ซึ่งเด็กจะต้องไปพักบ้านญาติพี่น้องของตนเองและกลับบ้านในช่วงวันเสาร์อาทิตย์
   
โรงเรียนบ้านป่าตึงนับว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต2 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมดจำนวน 90 คน ซึ่งมาจากบ้านห้วยหินลาดนอก บ้านห้วยไม้เดื่อเป็นชาวปกาเกอะญอ และบ้านป่าตึงซึ่งเป็นชาวลีซู ส่วนครูมีทั้งหมดจำนวน 6 คน สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก สิ่งที่ชาวบ้านห้วยหินลาดนอกสะท้อนถึงโรงเรียนบ้านป่าตึง คือ เด็กที่ไปเรียนไม่มีคุณภาพเพราะครูสอนไม่มีศักยภาพ เด็กบางคนอยู่ป.4 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก ครูมักจะเปิดโทรทัศน์ให้ดูมากกว่าสอนด้วยตนเอง นี่เป็นคำสะท้อนของชาวบ้านจากเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเมื่อเดือนกันยายน 2553

นอกจากปัญหาคุณภาพของเด็กแล้ว ผู้ปกครองหลายคนยังห่วงความปลอดภัยของลูกหลานในการเดินทางไปโรงเรียนทั้งฝนตก ถนนลื่น กิ่งไม้หักใส่ และสงสารเด็กที่ต้องเดินเท้าไปกลับจากบ้านถึงโรงเรียนไกลเกือบ 8 กิโลเมตร นี่เป็น 2 สาเหตุหลักๆที่ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดนอกต้องการมี “โรงเรียนชุมชน” นอกจากนั้นแม่บ้านหลายคนยังสะท้อนว่าหากลูกหลานตนเองได้เรียนใกล้บ้านพวกเขาจะมีเวลาทำการบ้าน ทบทวนการเรียน และช่วยงานบ้านได้อีกด้วย ส่วนแกนนำเยาวชนหลายคนเสนอว่าถ้ามีโรงเรียนในชุมชนจะได้ให้เด็กได้เรียนความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชั่วโมงเรียน เด็กจะได้ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง และมีความภูมิใจในความเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอของตนเองอีกด้วย นี่เป็นสิ่งที่คนในชุมชนสะท้อนออกมาและต้องการให้มีโรงเรียนเกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา

แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการยังคงเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมหรือเปล่า จริงหรือที่ประชาชนต้องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ลูกหลานตนเอง อยากมีโรงเรียนใกล้บ้าน อยากให้ลูกมีความปลอดภัย อยากให้ลูกมีการศึกษาเหมือนกับเด็กคนอื่นๆในสังคม สิทธิ์ที่พวกเขาควรจะได้รับมันจึงได้ไม่เท่ากันนั้นเป็นเพราะว่าเขาเกิดมาเป็นชนเผ่าหรือเกิดในป่าในเขา หลายปีมาแล้วที่ชาวบ้านได้ล่ารายชื่อเพื่อขอเสนอจัดตั้งโรงเรียนในชุมชนแต่ไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อปีที่แล้วราวๆเดือนตุลาคมนี่เองชาวบ้านก็ได้ทำจดหมายไปยังเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 2 เพื่อขอจัดตั้งโรงเรียน โดยมีเหตุผลที่ต้องการมีโรงเรียนในชุมชนนั้นมีดังนี้

  • เพื่อให้เด็กได้มีเวลาเรียนตามปกติเรียนเต็มเวลาเหมือนนักเรียนทั่วไปและเรียนรู้หลากหลายทั้งภายในและภายนอก
  • เพื่อให้ผู้ปกครองมีความใกล้ชิดกับเด็กและช่วยสอนในทางที่ถูกที่ควรทั้ง กริยา มารยาท ประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นมาของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่รุ่นสู่รุ่น
  • ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน(ผู้ปกครองบางคนส่งด้วยรถจักรยานยนต์)
  • เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับภาครัฐ ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย
  • เพื่อให้เด็กมีเวลาช่วยงานพ่อแม่หลังเลิกเรียนเป็นการฝึกนิสัยและความรับผิดชอบในตัวเด็ก

แต่คำตอบที่ได้จากเขตพื้นที่การศึกษา คือ

  • ชุมชนไม่มีความพร้อมเรื่องอาคารและสถานที่ในการจัดตั้งโรงเรียน
  • ไม่สามารถจัดตั้งเป็นโรงเรียนสาขากับโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดในได้เพราะทางเขตไม่มีบุคลากรลงไปช่วยสอนเด็กเพิ่ม
  • รัฐมีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เพิ่มโรงเรียนขนาดเล็ก

นี่เป็นคำตอบด้วยกระดาษ 5 แผ่นจากเขตพื้นที่การศึกษาฯ 

แต่ชาวห้วยหินลาดนอกยังไม่หมดความพยายาม พวกเขายังคงทำจดหมายขอไปทางเขตการศึกษาอีกครั้ง นอกจากนั้นยังได้พูดคุยกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดในเพื่อขอเป็นสาขาเพราะเป็นเขตปกครองหมู่เดียวกัน คำตอบที่ได้คือแล้วแต่เขตพื้นที่การศึกษาฯ และชาวบ้านยังได้ไปขอเด็กออกจากโรงเรียนบ้านป่าตึงซึ่งในช่วงปิดเทอมทางผู้อำนวยการก็ไม่เคยมาโรงเรียน กว่าที่ชาวบ้านจะได้คุยกับทางผอ.โรงเรียนบ้านป่าตึงก็ตอนเปิดเทอมแล้ว คำตอบที่ได้คือทางผอ.ไม่ยอมให้เด็กออกโดยมีข้ออ้างว่าเด็กยังไม่มีโรงเรียนรองรับและถ้าเรียนกับกศน. การศึกษาจะไม่มีคุณภาพ เมื่อไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเหลือชาวบ้านตามที่ร้องขอไป ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจเปิดโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอกด้วยตัวเองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 โดยความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนและการออกค่ายของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าพระนครเหนือจึงได้อาคารเรียนหนึ่งหลัง ส่วนการสอนนั้นได้ครูอาสาที่เป็นคนในชุมชนอาสาช่วยสอน 5 คน โดยสอนประจำ 2 คน  ส่วนอาหารกลางวันให้เด็กห่อข้าวมากินกันเอง กับข้าวก็ขอรับบริจาคจากวัดในอำเภอเวียงป่าเป้า โดยมีผู้ปกครองเด็กมาช่วยทำอาหารกลางวันให้ นี่เป็นความพยายามของชาวบ้านห้วยหินลาดนอกที่ต้องการมีโรงเรียนในชุมชนของตนเองโดยที่รัฐไม่เคยให้ความช่วยเหลือ

การเรียกร้องยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ แต่ชาวบ้านทำได้ไม่ถึงเดือนทางโรงเรียนบ้านป่าตึงได้ออกจดหมายส่งถึงผู้ปกครองเด็กมีใจความคร่าวๆ ว่าถ้าผู้ปกครองไม่ส่งเด็กไปโรงเรียนจะผิดกฎหมายและมีโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท ด้วยความกลัวการถูกดำเนินคดีทำให้ผู้ปกครองเด็กหลายคนจึงจำต้องยอมส่งลูกไปยังโรงเรียนบ้านป่าตึงเหมือนเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กโตชั้นป.5 และป.6 ทำให้เหลือเด็กที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอกจำนวน 7 คนจากเด็กทั้งหมด 15 คน แต่ถ้าโรงเรียนสามารถเปิดอย่างเป็นทางการได้จะมีเด็กในชุมชนมาเรียนเพิ่มมากกว่า 10 คน และยังมีเด็กจากบ้านป่าคาซึ่งอยู่หมู่บ้านใกล้เคียงมาเรียนอีกกว่า 15 คน รวมๆแล้วจะมีเด็กมาเรียนไม่ต่ำกว่า 40 คน

การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน

สิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้ลูกหลานของเขาได้จากการเรียนหนังสือคือการอ่านออกเขียนได้เพื่อให้เอาตัวรอดได้และไม่ถูกใครหรอกได้ง่ายๆ แต่เมื่อลูกหลานของเขาไปเรียนโรงเรียนบ้านป่าตึงเด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เพราะฉะนั้นความคามหวังต่อโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอกคือต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ นอกจากนั้นจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายๆ ครั้งทำให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความสำคัญของการสืบทอดความรู้และวิถีของชนเผ่าตนเอง จึงได้จัดให้มีการเรียนรู้วิถีชีวิต พิธีกรรมความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม และภาษาของตนเอง ผสมผสานกับการเรียนหลักสูตรแกนกลาง ที่สอนเป็นหลักก็จะเป็นวิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่นๆ บูรณาการเข้ากับวิชาท้องถิ่น เช่น วิชาการงานพื้นฐานอาชีพก็จะชวนเด็กไปทำนา เป็นต้น การเรียนรู้วิชาแกนกลางที่ผ่านมาครูอาสาจะเป็นผู้สอนรวมถึงตัวเขียนภาษาปกาเกอะญอ ส่วนวิชาท้องถิ่นอื่นๆ จะให้ชาวบ้านที่เป็นผู้รู้ช่วยถ่ายทอดความรู้ให้

ปัจจุบันมีเด็กเรียนอยู่ 7 คน อยู่ชั้นป.4 จำนวน 1 คน ชั้นป.3 จำนวน 1 คน ชั้นป.2 จำนวน 2 คน และชั้นอนุบาลจำนวน 3 คน

ส่วนสถานที่การเรียนรู้ก็จะไม่จำกัดแค่ในห้องเรียนเท่านั้น เด็กๆจะได้เรียนรู้จากสถานที่จริงที่มีอยู่ในชุมชน เช่น เรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติก็จะชักชวนเด็กไปป่า ไปเล่นน้ำที่ลำห้วยใกล้หมู่บ้าน ลักษณะการเรียนรู้จึงเป็นการเล่นไปด้วยเรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆกัน นอกจากนั้นยังมีการจัดการเรียนผ่านการปฏิบัติจริงเช่น การทำข้าวซ้อมมือด้วยกันเพื่อหาทุนให้กับโรงเรียน เด็กจึงมีความสุขที่ได้มาโรงเรียน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียน ผ่านไป 2 เดือนจากการพูดคุยกับครูอาสาได้เล่าให้ฟังว่าเด็กที่เคยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ซึ่งอยู่ระดับชั้นป.4 แล้วตอนนี้เขาสามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว เธอเล่าด้วยความภูมิใจที่เห็นนักเรียนของเธอมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด
 
วันนี้รัฐบาลใหม่มีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศ นี่คงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการศึกษาไทยใช่หรือไหม การใช้เทคโนโลยีสร้างความรู้มากกว่าที่จะหาความรู้จากภูมิปัญญาที่ตนเองมีอยู่ ทำไมรัฐต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่มีหลายเสียงคัดค้านถึงความไม่เหมาะสม แต่โรงเรียนที่ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดนอกเรียกร้องมากว่า 10 ปีป่านนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนสนใจฟังเสียงของคนชายขอบเหล่านี้บ้าง ทำไมรัฐถึงไม่สนับสนุนพวกเขา มันใช้งบประมาณน้อยกว่าที่จะซื้อแท็บเล็ตเสียอีก เพราะสิ่งที่ชาวบ้านที่ต้องการคือการสนับสนุนการจัดการศึกษาในชุมชน มีครูส่งมาช่วยสอน มีหนังสือเรียนและมีอาหารกลางวันเหมือนกับเด็กที่อื่นๆเท่านั้น ฉันก็ยังงงๆกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาของรัฐไทย วันนี้วันที่ฉันมาถึงที่นี่..บ้านห้วยหินลาดนอก ฉันเห็นคนในชุมชนให้ความสำคัญต่อการศึกษาและเห็นศักยภาพของชุมชนในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลานตนเอง แต่ทำไมภาครัฐจึงไม่เปิดใจและให้โอกาสกับชาวปกาเกอะญอ กลุ่มนี้ ฉันจึงอยากรู้ว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่และท่านนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทยจะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง

ด้วยจิตคาราวะ
สาวิตรี  พูลสุขโข
สถาบันฝึกอบรมเพื่อการจัดการตนเอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ