เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เพื่อเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชภาคอีสานเดินหน้าร้องผู้ว่าฯ อุดร สอบพฤติกรรม ‘สภาเครือข่ายประชาชน จ.อุดรธานี’ เอียงข้าง ส่อแววสร้างความขัดแย้งในพื้นที่
วันนี้ (18 มิ.ย. 2558) เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เพื่อเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชภาคอีสานเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและบทบาทการทำงานของสภาเครือข่ายประชาชน จ.อุดรธานี ว่ามีความจริงใจและยืนเคียงข้างประชาชนจริงตามเจตนารมณ์ขององค์กรหรือไม่ จากกรณีการเข้าไปมีบทบาทเพื่อผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มเติมขึ้นในพื้นที่
เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่ฯ ระบุว่า เครือข่ายสภาประชาชน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นโดยระเบียบของจังหวัดอุดรธานี ที่ผ่าน องค์กรฯ ดังกล่าว ได้เข้ามาบทบาท เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายบริษัทเอกชน ทั้งการโทรศัพท์ลอบบี้และขอข้อมูลจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านโครงการฯ ทั้งที่โดยบทบาทหน้าเป็นเพียงหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่ใช่ประสานงานตามโครงสร้างของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช อีกทั้ง ที่ผ่านมาพบว่าได้มีการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์เข้าข้างฝ่ายบริษัทเหมืองแร่โปแตช เพื่อที่จะให้โครงการฯ สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่
เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่ฯ ซึ่งทำงานติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อพฤติกรรม ของ เครือข่ายสภาประชาชน จ.อุดรธานี และได้เชิญชวน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ร่วมแสดงพลังร่วมกัน เพื่อปกป้องชุมชน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาร่วมกัน ในชื่อเครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตชภาคอีสาน และแสดงจุดยืนผ่านการร่วมลงชื่อแนบท้ายหนังสือ
นอกจากการยื่นหนังสือ เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่ฯ ยังได้มีการอ่านแถลงการณ์สภาเครือข่ายประชาชนอุดรฯ ต้องยืนเคียงข้างประชาชน ระบุเนื้อหา ดังนี้
ที่ พิเศษ/2558 เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เพื่อติดตามและเฝ้าระวัง 17 มิถุนายน พ.ศ.2558 เรื่อง ขอให้ตรวจสอบบทบาทและพฤติกรรมการทำงาน สภาเครือข่ายภาคประชาชน จ.อุดรธานี สภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี เป็นหน่วยงานภาคประชาสังคม จัดตั้งขึ้นมาภายใต้บทบาทและหน้าที่ ในการให้เป็นพื้นที่ ที่มีความเป็นกลาง สร้างความรัก ความสามัคคี โดยการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อนำสู่การพัฒนาจังหวัดอุดรธานี แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา บทบาทและพฤติกรรมของผู้ขับเคลื่อนสภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี กลับไม่สอดคล้องดังเจตนารมณ์ตามที่ได้กล่าวอ้างถึง แต่กลับมีพฤติกรรมที่เป็นการหนุนเสริมความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี อาทิเช่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 สภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี เป็นตัวตั้งตัวตีในการ ผลักดันให้เกิด ” เวทีปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ” กรณีโครงการเหมืองแร่โปรแตช จ.อุดรธานี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว เวทีในครั้งนั้น ไม่ได้เป็นเวทีที่เชิญทุกภาคส่วนที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่โปแตชมาร่วมพูดคุยกัน แต่กลับแค่แจ้งเอกสารไปยังนายอำเภอ ให้เชิญชาวบ้านในพื้นที่ปัญหาเข้าร่วม หมู่บ้านละ 10 คน อีกทั้ง ปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี มีปัญหาเรื้อรังมายาวนานมากว่า 14 ปี โดยมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการและนำเสนอข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวที พร้อมกันนี้ ประธานสภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการในเวที ยังมีท่าทีเชื้อเชิญและสนับสนุนให้มีเกิดขึ้นของโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตลอดเวลาการดำเนินรายการในเวที จนนำมาสู่การไม่พอใจของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และตั้งมวลชนประท้วงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว ถือเป็นการส่งเสริมความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่มากกว่าการเสริมสร้างความปรองดอง และ ตามหนังสือ ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2558 ออกโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายผจญ กิ่งมิ่งแฮ ประธานสภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ร่วมในการลงชื่อแนบท้ายหนังสือดังกล่าว ที่เสนอความเห็นร่วมกันในการเสนอจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อขอประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตช ในเขตพื้นที่ ตำบลนาม่วง และ ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยไม่กังวลถึงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่หากมีการจัดประชุมผลักดันโครงการขึ้น เนื่องจากเขตพื้นที่ ตำบลนาม่วง และ ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ในการออกหนังสือเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อขอประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตชในครั้งนี้ จึงเท่ากับการส่งเสริมความขัดแย้งให้เกิดเพิ่มมากขึ้น โดยการเลือกสนับสนุนขั้นตอนการขอประทานบัตรของ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ ในส่วนของพื้นที่ อ.หนองแสง และ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ซึ่งกำลังมีปัญหาในประเด็นการขุดเจาะก๊าชธรรมชาติในพื้นที่ ตัวแทนสภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี ได้ลงพื้นที่เสนอตัวเป็นตัวแทนชาวบ้านในการต่อรองและไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่าง ชาวบ้าน และบริษัทขุดเจาะก๊าชธรรมชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า สภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี กลับเป็นแค่ตัวแทนของฝ่ายบริษัทในการเสนอผลประโยชน์แก่ชาวบ้านเพื่อไม่ให้ลุกขึ้นมาคัดค้าน ให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้อย่างสะดวก เห็นได้ชัดว่า เป็นการเข้าข้างผลประโยชน์กลุ่มทุน ไม่ยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตชภาคอีสาน ซึ่งประกอบด้วย นิสิตนักศึกษา และ คนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมทางสังคมและการพัฒนาในภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน อาทิประเด็นปัญหา เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี,ปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกแม่น้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู,ปัญหาการพัฒนาในแม่น้ำโขง และ ล่าสุดประเด็นการพัฒนาพลังงานธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.หนองแสง จ.อุดรธานี จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อบทบาทหน้าที่และพฤติกรรมการทำงานของ สภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี ว่าโดยแท้จริงแล้วได้ทำงานเคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ เห็นได้ชัดจากการเข้ามามีบทบาทข้างต้น เสมือนหนึ่งตัวแทนของฝ่ายบริษัท ทั้ง บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และ บริษัท อพิโก้ โคราช จำกัด ซึ่งกำลังดำเนินโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.หนองแสง และ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ในการนี้เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตชภาคอีสาน จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะผู้มีอำนาจในการหนุนเสริมจัดตั้ง และ เจ้าของผู้อนุญาตในการให้ใช้สถานที่ในการทำงานของ สภาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี ได้มีการตรวจสอบพฤติกรรมและบทบาทของ เครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุดรธานี จากการเข้าไปทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มเติมขึ้นในพื้นที่ดังที่กล่าวมาข้างต้น มา ณ ที่นี้ ด้วย และพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยกำชับและดูแลหน่วยงานและองค์กรที่อยู่ภายใต้ความดูแล ให้ทำงานเคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง มากกว่าการเข้าข้างนายทุน และ กลุ่มผลประโยชน์ ที่จะเข้ามารุกรานชุมชน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ด้วยความเคารพอย่างสูง เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่ |