โต้ ‘หม่อมอุ๋ย’ ประเด็นใหญ่ ‘โปรแตชอีสาน’ ขาดการมีส่วนร่วม ไม่ใช้เทคโนโลยี

โต้ ‘หม่อมอุ๋ย’ ประเด็นใหญ่ ‘โปรแตชอีสาน’ ขาดการมีส่วนร่วม ไม่ใช้เทคโนโลยี

เอ็นจีโอเผยเอกชนแห่ยื่นขอสัมปทานเหมืองโปแตชอีสานกว่า 3.5 ล้านไร่ จวกหน่วยงานรัฐอย่าทำตัวเป็นนายหน้าขายสมบัติประชาชนให้ต่างชาติ โต้ ‘หม่อมอุ๋ย’ ทำเหมืองขณะที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ เป็นประเด็นใหญ่สำคัญมากกว่าเทคโนโลยี

20152007002922.jpg

นายเดชา คำเบ้าเมือง 
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

19 ก.ค. 2558 จากกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีช่วงหนึ่งกล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรที่น่าสนใจคือโปแตช เป็นกระทะใหญ่โปแตชใต้ดินในอีสาน โปแตชอยู่กับหิน 2 อย่างเค็มทั้งคู่ ซึ่งโปแตชหินเรามีเทคโนโลยีที่สะอาดอยู่ที่เยอรมัน สามารถทำหินโปแตชที่สะอาดเหมือนเดิม และรับประทานได้

“โปแตชข้างใต้ดินมีเท่าไหร่รู้ไหม มีอยู่ 400,000 ล้านตัน นึกภาพแล้วยังใหญ่ ไม่รู้จะใหญ่ยังไง ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่เขาบอกว่า ขณะนี้เทียบแล้วอาจใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ ผมยังไม่ยืนยันนะครับ ตรงนี้จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่อีกเยอะเลย โปแตชขึ้นใหม่จะผลิตปุ๋ยได้ ผลิตยางบางชนิดที่ใช้โปแตสเซียม และจะผลิตอะไรที่ใช้โปแตสเซียมได้อีกเยอะ อันนี้คือฐานอุตสาหกรรมใหม่ พวกนี้แหละ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่เราจะสร้างที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน  (กป.อพช.อีสาน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากข้อมูลที่กำลังมีการยื่นขอสัมปทานจำนวนกว่า 3.5 ล้านไร่ ถ้ามีการทำเหมืองโปแตชหรือเหมืองเกลือ จะทำให้เกิดเป็นอุโมงค์ใต้ดินและเกลือขาวไปทั้งภาค ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ควรทำการศึกษา ประเมินทางเลือกการพัฒนาภาคอีสาน ซึ่งเคยมีข้อเสนอของนักวิชาการและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียื่นไปแล้ว โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนในการประเมินทั้งภาค และประชาชนหรือคนอีสานจะได้ผลประโยชน์อะไรรัฐจะต้องชี้แจง

“บทบาทของรัฐบาลชุดนี้ควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วไม่ใช่สนับสนุนการทำเหมือง และหน่วยงานรัฐหรือกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ควรทำตัวเป็นนายหน้าขายสมบัติของประชาชนให้ต่างชาติ เพราะจากที่เห็นข้อมูลพบว่าเกินครึ่งเป็นบริษัทของจีนหรือนอมินีที่กำลังยื่นขออนุญาต” สุวิทย์กล่าว

สุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมักอ้างตลอดว่าบริษัทที่ยื่นขออนุญาตเขาได้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตนก็อยากตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายที่ว่านั้นได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้นายสุวิทย์ ยังตอบโต้กรณีการกล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ว่า การที่รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ อ้างการทำเหมืองแร่โปแตชจากเยอรมัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดนั้น ส่วนตนมองว่า ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานรัฐ และข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดเลย เห็นได้จากกรณีเหมืองทองคำ จ.เลย และพิจิตร เป็นต้น

“การจะทำเหมืองแร่โปแตชขณะที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ เป็นประเด็นใหญ่สำคัญมากกว่าเทคโนโลยี” นายสุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

20152007002439.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลว่า ช่วงเวลาก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน โดยได้อนุญาตประทานบัตร อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ดำเนินการคำขอประทานบัตรและคำขออาชญาบัตรพิเศษ ไปแล้วรวม 3,521,796 ไร่ อาทิ การอนุญาตประทานบัตร 1 ราย คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) พื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ 9,700 ไร่ จะสามารถผลิตปุ๋ยโปแตช ได้ในปี 2562

อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอประทานบัตร 2 ราย ได้แก่ 1.) บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ต.โนนเมืองพัฒนา ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 1 แปลง เนื้อที่ 9,005 ไร่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม 

และ 2.) บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง ต.นาม่วง และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี 4 แปลง 26,446 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี (ต้องดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน)

ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษแล้ว จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.) บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ 2.) บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 3.) บริษัท ศักดิ์ศรีไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 4.) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียมกรุ๊ป จำกัด อ.เมือง และ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา 13 แปลง เนื้อที่ 130,000 ไร่ 5.) บริษัท สหชาติเศรษฐกิจ จำกัด อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 

ปัจจุบันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเตรียมการเจาะสำรวจแร่ มีเพียงบริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด ที่ได้ดำเนินการเจาะสำรวจไปแล้วจำนวน 3 หลุมเจาะ และกำลังยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชอีก จำนวน 34 ราย (ดูรายละเอียดhttp://www.dpim.go.th/ProjectRemark/article?catid=254&articleid=6019)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ