โจทย์ท้าทายคนสื่อรุ่นใหม่ ‘จับหัวใจ’ งานทีวีในยุคดิจิทัล

โจทย์ท้าทายคนสื่อรุ่นใหม่ ‘จับหัวใจ’ งานทีวีในยุคดิจิทัล

อุตสาหกรรมสื่อกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ไม่เกินปี 2561 จะมีทีวีดิจิทัลทั้งหมด 48 ช่อง ซึ่งความเป็นจริงในภาพรวมคาดว่าประเทศไทยจะมีช่องทีวีไม่ต่ำกว่า 1,000 ช่อง รวมทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และกล่องรับสัญญาณแบบดิจิทัล จำนวนช่องที่มากมายคือทางเลือก จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะทำสื่อ ‘ข้ามสื่อทีวี’ ให้ทันในยุคดิจิทัล

รายงานโดย: 
พิมพ์กมล พิจิตรศิริ
อลิษา มูฮำหมัดอารี
อัสมีนี แวสมาแอ

20150209215124.jpg

เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนทำสื่อ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2558 สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดอบรม “รายการพัฒนาโทรทัศน์ รุ่น2”เพื่อผลิตคนข่าวที่มองผู้ชมไม่ใช่แค่ผู้บริโภค แต่ต้องมีจริยธรรมในการนำเสนอ และร่วมมองหาทางเลือกให้คนทำสื่อ เพื่อตามให้ทันสถานการณ์ โดยมีผู้ผลิตที่เคยร่วมงานกับไทยพีบีเอสและผู้เข้าอบรมใหม่ที่มีคอนเทนท์ของตัวเอง เข้าร่วมอบรม

กระบวนการคิด ‘ทำสื่อข้ามสื่อ’ ให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน

ในวงการสื่อนั้น มีการพัฒนาชุดความคิดผ่านการทำสื่อที่ใหม่อยู่เสมอ สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานอบรมถึงกระบวนการคิดทำรายการสื่อทีวียุคใหม่ว่า กระบวนการทำรายการสื่อทีวียุคใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่จะยิ่งซับซ้อนและเข้มข้นมากขึ้น จึงต้องมีความเชื่อที่ว่า “คนทำสื่อต้องผ่านไปได้”

20150209215202.jpg

ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ กล่าวด้วยว่า คนทำสื่อควรปรับตัวให้สามารถตอบโจทย์คนดูทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้ และสำหรับการขยายกลุ่มคนดูของไทยพีบีเอส ไม่ใช่การตอบสนองแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องตอบสนองกลุ่มคนดูอย่างหลากหลาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ และยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ 

สมเกียรติ ยังเสนอหลักของการทำรายการของสื่อในยุคใหม่ว่า ควรมีเนื้อหาที่ข้ามสื่อ มีขั้นตอนการทำเนื้อหาออนไลน์ การออนดีมานด์ และการทำสื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน

‘จับหัวใจ’ งานทีวี สัมพันธ์กับคนดู 

จากข้อมูลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมผู้ชมไทยพีบีเอสในระบบดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 65,000 คน ซึ่งลดลงมาเกินครึ่ง และกลุ่มคนดูของไทยพีบีเอสมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นยังจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องสร้าง ‘ผู้ชมกลุ่มใหม่’ เป็นการตั้งคำถามชวนคิดของผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ

สมเกียรติ ยังชวนมองถึงเนื้อหา การเข้าถึงความหลากหลาย และหลักการทั่วไปของคนทำสื่อ ให้เป็นสื่อที่แตกต่างจากสื่อทีวีแบบเดิมที่เน้นความบันเทิง คนดูดูเพื่อลดทอนความทุกข์จากการใช้ชีวิตประจำวัน

ด้าน ประสาน อิงคนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด โปรดิวเซอร์-พิธีกรที่โด่งดังจากรายการ “คนค้นคน” และ“กบนอกกะลา” กล่าวในการอบรมถึงความสำคัญของหน้าที่ของผู้ผลิตงานในการจับหัวใจงานทีวี เช่น ความแข็งแรงของความคิดที่ต้องประเมินความเหมาะสมของงบประมาณ เครื่องมือ คน และความโดดเด่น อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับคอนเทนท์ที่ต้องมิกซ์ไอเดีย เพื่อทำให้แตกต่างจากคนอื่น

แนะสื่อยุคใหม่มองภาพใหญ่ หาความแตกต่าง

20150209220039.jpg

ประสาน เล่าถึงรูปแบบรายการที่หลากหลายว่า มีความจำเป็นที่คนทำสื่อต้องขยับตัวเองออกมา เพื่อมองภาพให้เป็นเรื่องใหญ่ โดยต้องค้นหาคอนเทนท์ มิกซ์ไอเดีย พรีเซ้นท์เทชั่น และมูด-โทน โดยเฉพาะพรีเซ้นท์เทชั่น ต้องมีความน่าสนใจ มีเสน่ห์ มีความเป็นเมนคอนเซ็ปต์ และเป็นอะไรที่มากกว่าสารคดีบรรยาย ไม่ใช่การวิเคราะห์อย่างเดียว 

โปรดิวเซอร์รายการกบนอกกะลา ยกตัวอย่าง 3 ประเด็นสำคัญ สำหรับคนทำสื่อ ประเด็นแรก การตามหาคำตอบคือสีสันของการมิกซ์ไอเดียการทำรายการ โดยอธิบายถึงประสบการณ์การเดินทางที่เมืองจีน ที่ทำให้คิดรูปแบบรายการให้เป็นรูปธรรมจากจุดเริ่มต้นของเพื่อนที่เห็นคนลงเรือขนรองเท้าเตะ แล้วตั้งคำถามถึงเส้นทางของรองเท้าเตะว่ามาจากไหน

“อย่างกบนอกกะลา มิกซ์ไอเดียของมันคือ ที่มา และต้องมาเป็นที่มาจาก 0 ด้วยนะ เวลาเราได้คำตอบจากคำถามแรก สิ่งที่ตามต่อมา คือ การไปหาคำตอบที่ 1 2 3… ไปเรื่อย พอคนใหม่ก็เข้ามา ก็ทำต่อไปเหมือนเดิม ความสนุกของมันก็คือสีสันที่ตามออกมา” ประสานยกตัวอย่าง

20150209215437.jpg

ประเด็นต่อมา ประสานพูดถึงความแข็งแรงเชิงคอนเทนท์และพรีเซ้นท์เทชั่น เพื่อจับและตรวจสอบความเหมือน-ความต่างของไอเดียในการทำรายการสื่อยุคใหม่ โดยชวนคิดถึงการจับไอเดีย และการตรวจสอบไอเดียตัวเองว่าอะไรที่ทำแล้วไปต่อได้บ้าง

“เราบอกว่าจะทำรายการวาไรตี้ มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป เหมือนเราสร้างบ้าน มันจะฟุ้งไปเรื่อยๆ ฉะนั้น เราคิดแล้วเหมาะสมกับขนาด เหมาะสมกับตัวเราไหม เช่น เรื่องงบประมาณ เครื่องมือและคน และมีความโดดเด่นไหม สำคัญมาก” ประสานกล่าว

ประสานยกตัวอย่างด้วยว่า เขามักดูผังรายการของสถานีโทรทัศน์เพื่อมองหาการทำรายการที่แตกต่างจากรายการที่มีอยู่ การทำรายการของสื่อยุคใหม่ควรดึงดูดความสนใจของคนดู มีการเชื่อมโยงเนื้อหาของรายการกับคนข้างนอก และที่สำคัญคือการคิดถึงการทำรายการที่มากกว่าหนึ่งตอน 

ประเด็นสุดท้าย โปรดิวเซอร์รายการกบนอกกะลา กล่าวถึง พรีเซนเทชั่นและมูดแอนด์โทน (Mood and Tone) ที่ต้องมีการคิดอย่างหลากหลาย 

“ถ้าเราจะมีพิธีกร พิธีกรจะต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องใส่ชุดสามจังหวัดหรือเปล่า ต้องอายุเท่าไร พิธีกรจำเป็นต้องเป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดไหม พวกนี้ก็เป็นรายละเอียด เป็นตัวจำกัดมูดของมัน เพราะว่ามันเป็นองค์ประกอบในงาน ถ้าเราอยากทำรายการทีวี เราต้องคิดในหลายๆ มูด อย่าคิดในมูดเดียว พยายามนึกดูว่าเราจะทำมูดไหนได้บ้าง” 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ