แอมเนสตี้ฯ ชี้วิกฤตผู้ลี้ภัย-โยกย้ายถิ่นฐานยังอยู่ แนะประชุมผู้นำอาเซียนโอกาสแก้ปัญหาระดับภูมิภาค

แอมเนสตี้ฯ ชี้วิกฤตผู้ลี้ภัย-โยกย้ายถิ่นฐานยังอยู่ แนะประชุมผู้นำอาเซียนโอกาสแก้ปัญหาระดับภูมิภาค

1 ก.ค. 2557 ผู้อำนวยการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกจดหมายเปิดผนึกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องในโอกาสหนึ่งเดือนหลังจาก 17 ประเทศได้มาประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย 16 ประเทศ รวมทั้งหมด 60,000 รายชื่อ ร่วมลงนามใน “ปฏิบัติการด่วน” ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ออสเตรเลียและบังคลาเทศ เพื่อแสดงข้อกังวลอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและการประสานงานในระดับภูมิภาคเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตที่เป็นอยู่รวมทั้งสาเหตุอันเป็นรากเหง้าของปัญหาซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในจดหมายเปิดผนึกในวันนี้ว่า หนึ่งเดือนผ่านไปหลังจากที่มีการประชุมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่มีผู้คนนับพันลอยเรืออยู่กลางทะเล แต่ทว่ารัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับล้มเหลวในการหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

การประชุมในวาระพิเศษว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียที่จัดขึ้นที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีประเทศเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 17 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องวิกฤติการณ์มนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล

ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หนึ่งเดือนหลังจากที่มีการประชุมที่กรุงเทพฯ รัฐบาลประเทศต่างๆ แทบไม่ได้ทำอะไรเลยในการจัดการกับปัญหาที่เลวร้ายของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพราะการประสานงานในปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตนั้นยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่ขึ้นฝั่งในประเทศต่างๆ
                                                                                                                                                                                         องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) ได้ประมาณการตัวเลขผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลใกล้กับประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า อาจมีมากถึง 8,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่าและบังคลาเทศ

ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ตกลงที่จะให้การคุ้มครองชั่วคราวไม่เกินหนึ่งปีแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 7,000 คน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะต้องอพยพไปประเทศที่สามหรือสุดท้ายจะต้องมีการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง

การอพยพครั้งต่อไปคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงเวลาที่คลื่นลมสงบ จึงเป็นช่วงที่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเริ่มลอยเรือเพื่อออกนอกประเทศซึ่งเคยเป็นบ้านของพวกเขาอีกครั้ง

“การไม่ดำเนินการใดๆ เลยในตอนนี้จะนำไปสู่หายนะในอนาคต เพราะถึงแม้ว่าวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยทางทะเลในตอนนี้ดูเหมือนจะดีขึ้นแล้ว แต่ปัญหาจะยิ่งบานปลายมากขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ผู้ลี้ภัยเริ่มอพยพอีกครั้ง  เนื่องจากประชาชนที่ถูกกดขี่ในประเทศของตนจะยังคงหลบหนีเพื่อแสวงหาที่พักพิงต่อไป ดังนั้นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลในภูมิภาคนี้ต้องทำคือ หามาตรการเพื่อประกันว่าจะไม่มีชีวิตที่ต้องสูญเสียเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยและกฎหมายสำหรับการแสวงที่พักพิงหรือการอพยพด้วย”

ในจดหมายเปิดผนึกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้รัฐบาลของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ออสเตรเลียและบังคลาเทศ หามาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะจัดขึ้นอีกครั้ง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในวันที่ 1-6 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะต้องรวมถึงการประสานความร่วมมือในการค้นหาและช่วยชีวิต อีกทั้งจะต้องประกันว่าสิทธิของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจะได้รับการเคารพและคุ้มครอง รวมถึงต้องมีการแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยการเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา 

“ในตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะผ่อนคลาย แต่เป็นเวลาที่ต้องเร่งเพิ่มความพยายามในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่กำลังเผชิญความเสี่ยงอยู่กลางทะเล วิกฤตที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานยังไม่จบ เรื่องนี้จึงควรเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นถือเป็นโอกาสที่ดีในการวางแผนร่วมกันเพื่อหามาตรการที่ครอบคลุมสำหรับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในระดับภูมิภาค”  ริชาร์ด กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ