แอมเนสตี้ฯ ชี้ปัญหาละเมิดสิทธิในอาเซียน ร้องที่ประชุมผู้นำฯ ร่วมแก้วิกฤตผู้ลี้ภัย-เสรีภาพการแสดงออก

แอมเนสตี้ฯ ชี้ปัญหาละเมิดสิทธิในอาเซียน ร้องที่ประชุมผู้นำฯ ร่วมแก้วิกฤตผู้ลี้ภัย-เสรีภาพการแสดงออก

19 พ.ย. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่แถลงข่าวเมื่อวานนี้ (18 พ.ย.2558) ถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 27 กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย.นี้ ระบุควรให้ความสำคัญเร่งด่วนกับแผนการประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากเมียนมาและบังกลาเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาการคุกคามเสรีภาพการแสดงออก

จากที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) แถลงการณ์แสดงท่าทีไม่สบายใจอย่างรุนแรงกับการที่ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัย 5 คนที่ได้รับการรับรองแล้วกลับไปยังประเทศที่พวกเขาลี้ภัยมา 

โดยทางการไทยได้ส่งตัวผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจีน2 ราย ซึ่งได้รับการรับรองให้ตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม และอยู่ระหว่างรอการเดินทางในอีกไม่กี่วันนี้กลับจีนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 พ.ย. 2558)

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และมิได้ยอมรับสถานะของผู้ลี้ภัย และผู้อพยพที่หนีภัยจากประเทศบ้านเกิด แต่รัฐบาลไทยระบุว่าได้ยึดถืออนุสัญญาดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัยและเสรีภาพในการแสดงออกต้องได้รับการแก้ไขในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยล่วงหน้าก่อนการเปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มาเลเซียในวันพุธนี้ ย้ำต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับแผนการประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้โยกย้ายถิ่นฐานหลายพันคนจากเมียนมาและบังกลาเทศ ซึ่งถูกบังคับให้ต้องเสี่ยงต่อการปฏิบัติมิชอบและการเสียชีวิตระหว่างอยู่ในทะเลและแก้ไขปัญหาการคุกคามเสรีภาพการแสดงออกและการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ

การประชุมสุดยอดของผู้นำรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนซัมมิทที่จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายนต้องไม่เน้นเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะที่ภูมิภาคกำลังเกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยและการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง

แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการรักษาการ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วิกฤตผู้ลี้ภัยระดับโลกได้ปะทุขึ้นมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนหลายพันคนจากเมียนมาและบังกลาเทศถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเลบนเรือที่มีสภาพย่ำแย่ ถูกผลักดันออกจากชายฝั่งและตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงาน หรืออาจถูกสังหารกลางทะเล นับเป็นโอกาสสำคัญในที่ประชุมสุดยอดสัปดาห์นี้ที่ชาติสมาชิกอาเซียนจะให้ความเห็นชอบต่อการออกแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

“รัฐบาลในภูมิภาคโดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ต้องพัฒนาระบบการให้ที่พักพิงในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอันเป็นที่ชัดเจนตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ว่า บุคคลใดๆ มีสิทธิแสวงหาที่พักพิง และต้องมีการรับพิจารณาข้อเรียกร้องเพื่อการแสวงหาที่พักพิงอย่างเป็นธรรม โดยไม่ถูกส่งกลับไปเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดการทรมานหรือการลงโทษคุกคามขึ้น”

“บรรดารัฐภาคีของอาเซียนซึ่งยังไม่บรรลุหน้าที่ของตนในด้านนี้อย่างเพียงพอ ควรริเริ่มกระบวนการที่นำไปสู่การให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494(1951 Refugee Convention)”

เสรีภาพในการแสดงออก
นอกจากนี้ รัฐบาลทุกประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะมาเลเซีย ไทย เมียนมา เวียดนามและอินโดนีเซีย ต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและต้องยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายซึ่งละเมิดสิทธิดังกล่าว 

ในมาเลเซียยังคงมีการใช้พระราชบัญญัติการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (Sedition Act) ซึ่งเป็นกฎหมายตั้งแต่สมัยอาณานิคมเพื่อสอบสวน ตั้งข้อหา หรือคุมขังบุคคลหลายร้อยคนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือราชวงศ์ ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมทางการเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว ทนายความ และบุคคลอื่นๆ รวมถึงซูกีฟลี อันวาร์อัลฮัค (Zulkiflee Anwar Ulhaque) หรือซูนาร์ (Zunar) นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาเก้าข้อตามพระราชบัญญัติการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองเนื่องจากการทวีตข้อความวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตุลาการ

ในไทยการปราบปรามของภาครัฐต่อเสรีภาพในการแสดงออกได้ทวีจำนวนเพิ่มขึ้น มีการควบคุมตัวนักโทษทางความคิดโดยพลการ ซึ่งมักถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัวและมักมีการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมจากการขึ้นศาลทหาร ผู้ต้องหาบางคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสิน ทางการยังใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายต่อต้านการล้มล้างการปกครองเพื่อคุมขังบุคคลอีกเป็นจำนวนมากซึ่งใช้สิทธิแสดงความเห็นอย่างสงบ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงต้องเผชิญกับการถูกเซ็นเซอร์ การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการประทุษร้าย ตัวอย่างเช่น นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมที่ต้องเผชิญการพิจารณาคดีในศาลทหาร เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แม้จะเพิ่งเกิดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในเมียนมา แต่ที่ผ่านมามีการจับกุมและคุมขังบุคคลที่แสดงความเห็นอย่างสงบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ได้มีการจับกุมนักโทษทางความคิดรายใหม่อย่างน้อย 19 คน อันเป็นเหตุให้มีผู้ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิของตนอย่างสงบรวมกันเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เพียวเพียวอ่อง (PhyoePhyoe Aung) แกนนำสหพันธ์สหภาพนักศึกษาแห่งพม่า (All Burma Federation of Student Unions – ABFSU) ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2558 พร้อมกับนักศึกษาและผู้ประท้วงอีกหลายคน หลังถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเข้าจับกุมระหว่างการประท้วงของนักศึกษาเพื่อต่อต้านพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

การปราบปรามกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างสงบทางสังคมและศาสนายังคงดำเนินต่อไปในเวียดนาม สมาชิกกลุ่มนักกิจกรรมต้องเผชิญการคุกคามอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะคอยสอดส่องติดตามตัว มีการจำกัดการเดินทาง การควบคุมตัวโดยพลการ การฟ้องคดีและสั่งจำคุก และยังมีการใช้กำลังประทุษร้าย เหงวียน หือ วิง (Nguyen HuuVinh) ผู้เป็นบล็อกเกอร์และเพื่อนร่วมงานของเขาคือเหงวียน ถิ มิง ทุ๊ย (Nguyen Thi Minh Thuy) ยังคงถูกควบคุมตัวในชั้นพนักงานสอบสวนตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากเขียนเว็บบล็อกวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทางการ

ในอินโดนีเซีย กองกำลังของรัฐได้จับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองชาวปาปัวอย่างน้อย 264 คนโดยพลการ เนื่องจากการประท้วงอย่างสงบระหว่างการเยือนของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด นักกิจกรรมผู้เรียกร้องเอกราชอย่างสงบหลายคนจากภูมิภาคปาปัวและมาลุกุยังคงถูกคุมขัง บางคนถูกจำคุกเพียงเพราะโบกธงเรียกร้องเอกราช ทั้งยังมีการใช้กฎหมายหมิ่นศาสนาเพื่อปราบปรามความเชื่อของชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง

“เราจะยังคงเรียกร้องต่อไปให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนในภูมิภาคนี้โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข” แชมพากล่าว

“ผู้นำอาเซียนต้องไม่เดินทางออกจากที่ประชุมสุดยอดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนจะแสดงพันธกิจที่จะยุติการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานของตนโดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกปราบปราม” 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ