เผยผลสำรวจความคิดเห็นมัคคุเทศก์ เชียงใหม่-ภูเก็ต-ตรัง ร้อยละ 80.86 ชี้สาเหตุเกิดไกด์เถื่อน มาจากกฎหมายและการดำเนินการจัดการของรัฐไม่เด็ดขาด ร้อยละ 63.11 บอกไม่เชื่อมั่นในภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหาไกด์เถื่อน
11 ม.ย. 2558 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นมัคคุเทศก์หรือไกด์ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย (เชียงใหม่ ร้อยละ 67.19 ภูเก็ต ร้อยละ 13.28 และตรัง ร้อยละ 19.53) จำนวนทั้งสิ้น 256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. – 5 เม.ย. 2558 ในหัวข้อ “ไกด์เถื่อน…แย่งอาชีพสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว”
มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจสภาพปัญหาไกด์เถื่อนในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย 2) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาไกด์เถื่อน และ 3) ความเชื่อมั่นและแนวทางการแก้ไขปัญหาไกด์เถื่อน
ผลสำรวจพบว่า ไกด์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.80 ทราบปัญหาไกด์เถื่อน ที่เข้ามาแย่งอาชีพและสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว มีเพียงร้อยละ 10.20 ที่ไม่ทราบ
เมื่อสอบถามระดับความรุนแรงของปัญหาไกด์เถื่อน พบว่า ร้อยละ 59.84 เห็นว่ามีความรุนแรง ร้อยละ 27.17 เห็นว่าปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 12.99 ที่เห็นว่าปัญหาไม่รุนแรง และเมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลต่อปัญหาไกด์เถื่อน พบว่า ร้อยละ 77.29 วิตกกังวลต่อปัญหาดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ 22.71ไม่วิตกกังวล
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุของปัญหาไกด์เถื่อน พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 80.86) เห็นว่ากฎหมาย และ การดำเนินการจัดการของรัฐไม่เด็ดขาด อันดับ 2 (ร้อยละ 57.81) เห็นว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมมาเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กๆ และจ้างคนจีนที่อาศัยในประเทศไทยเป็นไกด์แทน อันดับ 3 (ร้อยละ 52.73) เห็นว่าจำนวนไกด์ที่ถูกกฎหมายในประเทศไม่เพียงพอ และอันดับ 4 (ร้อยละ 48.44) เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทุจริต
ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาไกด์เถื่อนที่น่าเป็นห่วงที่สุด อันดับ 1 (ร้อยละ 75.78) คือ การทำให้การเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยผิดเพี้ยนสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว อันดับ 2 (ร้อยละ 74.22) เห็นว่าเกิดการแย่งอาชีพของคนไทยและส่งผลทำให้รายได้ของผู้ประกอบอาชีพไกด์ถูกกฎหมายลดลง อันดับ 3 (ร้อยละ 73.83) คือพฤติกรรมการทำงานของไกด์เถื่อนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบอาชีพไกด์ชาวไทย อันดับ 4 (ร้อยละ 72.66) เห็นว่าอาจมีปัญหาต้มตุ๋นและไม่รับผิดชอบนักท่องเที่ยว และอันดับ 5 (ร้อยละ 44.53) เกิดการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ไกด์ตัวจริงและนักท่องเที่ยว
จากปัญหาดังกล่าว พบว่า ไกด์ ร้อยละ 63.11 ไม่มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเพียงร้อยละ 36.89 ที่มีความเชื่อมั่น ในการนี้ไกด์ได้เสนอแนะแนวทางต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาไกด์เถื่อน คือ อันดับ 1 (ร้อยละ 51.52) แนะว่าต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดและจริงจังกับ การลงโทษผู้กระทำผิด อันดับ 2 (ร้อยละ 24.24) เห็นว่าภาครัฐจะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ทำงานอย่างเต็มที่ และสงวนอาชีพไกด์ไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น อันดับ 3 (ร้อยละ 17.17) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก งดรับสินบนและทุจริต ส่วนอันดับ 4 (ร้อยละ 7.07) แนะเปิดหลักสูตรบรมไกด์ใหม่อย่างสม่ำเสมอ และรับฟังความคิดเห็นของไกด์ต่อการแก้ไขปัญหา
แม่โจ้โพลล์ เผยแพร่ข้อมูลด้วยว่า ปลายปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จำเป็นที่จะต้องมี การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาทั้งทางด้านบวกและด้านลบ ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางไปมาหาสู่ของประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่รวมถึงประเทศใหญ่ๆ อย่างประเทศจีน ที่เริ่มมีการเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 4.1 ล้านคน
ว่าที่ร้อยตรีอานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยสถิติการท่องเที่ยวไทยในปี พ.ศ. 2557 อย่างเป็นทางการว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทย จำนวน 24,779,768 คน สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศถึง 1,147,653 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด 3 ประเทศแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน 4,623,806 คน นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย 2,644,052 คน และนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซีย 1,603,813 คน ตามลำดับ (กรมการท่องเที่ยว, 2558)
จากข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่สำคัญของประเทศไทย เมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดปัญหาไกด์เถื่อนตามมา ซึ่งไกด์เถื่อนที่กำลังระบาดไปทั่วในขณะนี้คือ “ไกด์จีนเถื่อน” พบว่ามีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนได้สวมรอยเข้ามาเป็นไกด์เถื่อน ทั้งๆ ที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น
ว่าที่ร้อยตรี อานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ความเห็นว่า ปัญหาไกด์เถื่อนชาวต่างชาติที่ระบาดอยู่ขณะนี้ ทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอันดีงามของไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบอาชีพไกด์ตัวจริงหรือไกด์ถูกกฎหมายที่เป็นคนไทย ได้รับผลกระทบ ทั้งยังส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยในสายตาชาวต่างชาติ
เนื่องจากไกด์เถื่อนเหล่านี้มีการหลอกลวงนักท่องเที่ยว เช่น พาไปสถานที่ท่องเที่ยวแต่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินท่องเที่ยวด้วยตัวเอง หรือการเรียกเก็บเงินค่าทัวร์เพิ่ม หากนักท่องเที่ยวไม่ยอมจ่ายก็จะมีการจอดรถและไม่ไปต่อ หรือไม่พาไปกินข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต
ส่วนใหญ่แล้วไกด์เถื่อนจะไม่มีบัตรประจำตัวไกด์ และใบอนุญาตรับรอง แต่จะแฝงมากับบริษัทนำเที่ยวที่เป็นผู้ว่าจ้าง เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น (ไทยรัฐ, 2558)
ดังนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นมัคคุเทศก์ในครั้งนี้ และจากผลการสำรวจจะเห็นว่าผู้ประกอบอาชีพไกด์ส่วนใหญ่รับทราบถึงปัญหาไกด์เถื่อน และมีความวิตกกังวลกับปัญหาดังกล่าว ที่สร้างความเสียหายทั้งต่อตัวไกด์ชาวไทย และสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว ทั้งการสื่อสารความหมายวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา ที่ผิดเพี้ยนซึ่งจะกลายเป็นผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสนใจ และกำหนดมาตรการการลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้ที่กระทำความผิด เพื่อที่จะสงวนอาชีพนี้ไว้สำหรับคนไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทยต่อไป