แม่โจ้โพลล์ ชี้ “ราคาข้าวตกต่ำ”ทำรายได้ชาวนาลด

แม่โจ้โพลล์ ชี้ “ราคาข้าวตกต่ำ”ทำรายได้ชาวนาลด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของชาวนาทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น  782 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.35 ระบุว่าราคาข้าวตกต่ำ ทำรายได้ของชาวนาลดลง รวมถึงต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นด้วย

การสำรวจความคิดเห็นนี้ทำในช่วง ระหว่างวันที่ 22 กรกฏาคม – 5 สิงหาคม 2560 ในหัวข้อ “ชาวนา..คิดอย่างไร กับนโยบายข้าวในยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา” เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตข้าว การประสบปัญหา รวมถึงความพึงพอใจต่อมาตรการแก้ไขปัญหาข้าว

ขอบคุณภาพจาก : Prawit Munchoei

กว่า 3 ปี แล้ว (ปี 2557-2560)ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ หนึ่งความท้าทายคือ การแก้ปัญหาเรื่องการเกษรกรรม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาสินค้าที่มีความผันผวน และตกต่ำจนส่งผลกระทบกับเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะราคาข้าวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ผลการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตข้าวพบว่า ชาวนาส่วนใหญ่มีพื้นที่ปลูกข้าวน้อยกว่า 10 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 40.00) รองลงมาคือ ระหว่าง 11-20 ไร่ (ร้อยละ 32.17)  และพื้นที่การเพาะปลูกข้าวปี 2560/61 เทียบกับปีที่ผ่านมานั้น พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.49 มีพื้นที่ปลูกเท่าเดิม มีเพียงร้อยละ 9.71 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น และร้อยละ 6.37 พื้นที่ปลูกลดลง

ด้านการประสบปัญหาของชาวนาปีการเพาะปลูกที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.35 ประสบปัญหา โดยอันดับ 1 คือ ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ทำให้มีรายได้ลดลง (ร้อยละ 82.35) อันดับ 2 คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง (ร้อยละ 64.43) อันดับ 3 คือ ปัญหาปริมาณผลผลิตลดลง (ร้อยละ 38.94) อันดับ 4 ปัญหาภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วมและฝนแล้ง (ร้อยละ 32.82) อันดับ 5 ปัญหาผลผลิตข้าวเสียหาย โรงสีไม่รับซื้อ (ร้อยละ 11.36) และอันดับ 6 ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด (ร้อยละ 4.40) มีเพียงร้อยละ 1.65 ที่ไม่ประสบปัญหา โดยให้เหตุผลว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเพาะปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภัยธรรมชาติและเน้นการผลิตแบบปลอดสารพิษเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ขอบคุณภาพจาก : Prawit Munchoei

ด้านความพึงพอใจต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาข้าวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยได้กำหนดมาตรการในการสำรวจความพึงพอใจจำนวน 7 โครงการ ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผลการสำรวจ พบว่า อันดับ 1 ชาวนามีความพึงพอใจต่อโครงการอุดหนุนปัจจัยการผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่และไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ในปีการเพาะปลูก 2557 ถึง 2560 ระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.91) อันดับ 2 คือ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้    แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการเพาะปลูก 2557ถึง 2560 ระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.47) อันดับ 3 คือ โครงการเร่งรัดการจ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโครงการับจำนำข้าว ช่วงปีการเพาะปลูก 2557/58 ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.40) อันดับ 4 โครงการประกันภัยนาข้าว ปีการเพาะปลูก 2557 ถึง 2560 ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.38) อันดับ 5 โครงการให้ลดค่าเช่าที่นา เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนา ปีการเพาะปลูก 2558 ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.03) อันดับ 6 สนับสนุนโครงการ “นาแปลงใหญ่” กลุ่มละ 5 ล้านบาท ปีการเพาะปลูก 2559/60 ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.00) และอันดับ 7 โครงการ “จำนำยุ้งฉาง” เพื่อชะลอการขายข้าว ปีการเพาะปลูก 2559-60 ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.91)

สำหรับข้อเสนอแนะและความต้องการของชาวนาต่อการแก้ไขปัญหาข้าว พบว่า  อันดับ 1 คือ ต้องการให้มีมาตรการที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน (ร้อยละ 72.16) อันดับ 2  คือ ต้องการให้มีการอุดหนุนค่าปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,500-2,000 บาทต่อไร่ (ร้อยละ 11.93) อันดับ 3 ต้องการให้มีการฝึกอบรม ให้ความรู้แก่ชาวนาในการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง (ร้อยละ8.53) อันดับ 4 ควรแก้ไขระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 2.84) อันดับ 5 คือ ต้องการความรู้เรื่องการผลิตข้าวคุณภาพอย่างครบวงจร (ร้อยละ 2.84) และอันดับ 6 ต้องการให้มีการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ (ร้อยละ 1.70)

จากผลการสำรวจ พบว่า ชาวนาประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งกระทบถึงรายได้ของชาวนาเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการส่วนใหญ่นั้น เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ดังจะเห็นจากผลสำรวจที่ชาวนามีความพึงพอใจต่อมาตรการของรัฐบาลส่วนใหญ่ในระดับปานกลาง แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ได้พยายามในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การสนับสนุนการดำเนินนโยบายนาแปลงใหญ่ ที่เน้นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตและมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายดังกล่าว ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ชาวนาสะท้อนกลับมาได้หรือไม่

โดย : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ