8 มี.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก จัดการสัมมนาเพื่อส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ กรณีสารปรอทและมลพิษอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมเทพนิมิตร C โรงแรมวังสำราญ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยช่วงหนึ่งของการรับฟังการแลกเปลี่ยนในเวทีดังกล่าว นายรุ่งโรจน์ สบายดี นักเรียนชั้น ม.5 ตัวแทนเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ร่วมแสดงความเห็นอย่างน่าสนใจว่า
“ผมเป็นตัวแทนของเด็กใน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่า โรงงานในบ้านเรามันน่าจะเยอะเกินไปแล้ว ถ้าหากย้อนกลับไปได้ ผมอยากจะถามคนที่จัดผังเมืองว่า ‘ทำไม! ต้องนำเขตอุตสาหกรรมไปไว้ในใจกลางของพื้นที่สีเขียว’ และผมก็รู้ว่าทุกคนในที่นี้รู้ว่า ‘ทำไมเขาต้องไว้ใจกลางพื้นที่สีเขียว’ แต่เมื่อมันมาถึงขนาดนี้ เราก็ต้องยอมรับมันไปครับ
ปัญหาหลายอย่างที่อยู่ในพื้นที่ไม่ไกลบ้านเราเลย ผมคิดอยู่เสมอว่า ‘จะทำอย่างไรได้ที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป’ เพราะแค่เมื่อผมเดินออกไป ออกจากหน้าบ้านก็มองเห็นปล่องควันมากมาย และเมื่อเดินออกไปประมาณ 50 เมตร ก็จะสามารถเห็นภูเขาเถ้าถ่าน ของโรงงานถ่านหิน และถ้าหากมองดีๆ จะรู้ได้เลยว่าเราถูกล้อมล้อมไปด้วยโรงงานทั้ง 4 ทิศไปแล้ว และถ้าหากเป็นอย่างนี้อีกไม่นาน มันต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับเราหรือครอบครัวของผมแน่ สุดท้ายการมาที่นี่ก็ทำให้ผมรู้สึกโล่งใจที่มีคนคิดต่อต้านเหมือนผมอยู่ครับ ขอบคุณครับ”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้มาเข้าร่วมเวทีในวันดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมใน จ.ปราจีนบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ร่วมสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน
ทั้งนี้ การสัมมนาเพื่อส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ กรณีสารปรอทและมลพิษอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีเวทีสำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล-ความเห็น และสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาสารปรอทและมลพิษอุตสาหกรรมอื่นในจังหวัดปราจีนบุรี รวมไปถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น คลองชลองแวง การหาแนวทางการป้องกันสุขภาพของชุมชนและอื่นๆ และมีความประสงค์ให้มีการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ แนวทางและหลักกฎหมายที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
ตามข้อมูลผู้จัดงานระบุว่า จ.ปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมหลายด้าน การพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาของที่นี่ ได้กลืนพื้นที่เกษตร รุกล้ำพื้นที่สาธารณะและทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ทำให้อากาศ พื้นดิน และแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งของจังหวัดกลายเป็นแหล่งรองรับมลพิษอากาศ ขยะอันตราย และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีการปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยที่ประชาชนไม่เคยได้รู้เลยว่าสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากแหล่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ คืออะไรบ้าง มีกี่ชนิด ปริมาณเท่าไหร่ และมีอันตรายหรือไม่
การตรวจพบสารปรอทในตัวอย่างเนื้อปลาและเส้นผมของชาวบ้านผู้บริโภคปลาที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการในต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2556 เป็นการพิสูจน์ให้ทราบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า พื้นที่นี้มีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักที่มีอันตรายสูง และโลหะหนักนี้ได้กระจายอยู่ในระบบนิเวศธรรมชาติ เข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร และอาจจะก่ออันตรายต่อคนได้ในอนาคต
เรื่องนี้ทำให้หน่วยงานราชการหลายแห่งวิตกกังวลและมีการดำเนินการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการปนเปื้อนและแหล่งที่มาของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้ง “คณะทำงานไตรภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมลพิษและสารปรอท บริเวณสวนอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2556 เพื่อตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง และร่วมกันแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารมลพิษที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยี สำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ระหว่างชุมชน โรงงาน และภาคราชการ