เวที สช.ดัน “พลเมืองตื่นรู้-ปฏิรูปราชการ-ชุมชนจัดการตนเอง” วางรากฐานใหม่ระบบสุขภาพ

เวที สช.ดัน “พลเมืองตื่นรู้-ปฏิรูปราชการ-ชุมชนจัดการตนเอง” วางรากฐานใหม่ระบบสุขภาพ

สช.เปิดเวทีสานพลังปฏิรูประบบสุขภาพ ดึงทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หวังเสนอต่อ สปช. อย่างเป็นรูปธรรม ชี้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องสร้าง “พลเมืองตื่นรู้” และผ่าตัดใหญ่ระบบราชการ ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่นและประชาชน เป็นรากฐานสำคัญการปฏิรูปสุขภาพ

20150406225231.jpg

เมื่อวันที่ 28-29 พ.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวที “สานพลังขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” โดยเชิญภาคีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ สืบเนื่องจากในช่วงปฏิรูปประเทศไทยที่สุขภาพเป็นประเด็นสำคัญหนึ่ง และ สช. ได้ส่ง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ไปยัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 เพื่อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ภาคีที่เข้าร่วม ประกอบด้วย กรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงบประมาณ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้ทรงคุณวุฒิ, ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ 

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรองประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า กรอบแนวคิดในการแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้ มี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การปฏิรูปการป้องกันโรค ภัยคุกคามสุขภาพ และระบบบริการทางสุขภาพจะไปในทิศทางใด 2.การปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ การเงินการคลัง และหลักประกันด้านสุขภาพ และ 3.การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

“โจทย์ร่วมของการปฏิรูปในทุกสาขา อยู่ที่การหาหนทางที่จะสร้าง พลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) หมายถึงพลเมืองที่มีพลัง ความรู้สึกร่วม ต่อนโยบายสาธารณะ และกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนในภารกิจของประเทศ” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนั้น คงต้องเร่ง ปฏิรูประบบราชการ ทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปสู่บูรณาการในการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน มิใช่ต่างคนต่างทำ แต่คำว่า บูรณาการ เป็นคำสวยหรูแต่ปฏิบัติยาก ถ้าระบบราชการยังตีกรอบภารกิจของตัวเองอยู่เช่นนี้ ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ

“หากระบบราชการยังอยู่แบบเดิม จะถูกกฎระเบียบบีบรัดจนก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ แต่ละหน่วยงานจะตีกรอบการทำงานเฉพาะในหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ตอบสนองหรือเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น การปฏิรูประบบราชการจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเร่งทำไปพร้อมกัน”

นพ.ณรงค์ศักดิ์ ชี้ว่า การทำงานในยุคนี้ คือ การแชร์ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน มีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่จะทำอย่างนั้นได้ ระบบราชการต้องเปิดประตูออกมา หรือให้ประชาชนเข้าไปทำงานด้วยกัน แล้วจะพบว่า นอกจากจะไม่ทำให้ราชการสูญเสียอำนาจแล้ว ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ทำให้ภารกิจเดินหน้าได้สำเร็จและยั่งยืน 

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่น เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการปฏิรูป ที่ควรดำเนินการให้เห็นผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก การประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่างๆ และการทำงานร่วมกันจะช่วยให้การปฏิรูปเรื่องต่างๆ สำเร็จได้

“บริบทใหม่ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ จากการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น และการเชื่อมโยงผู้คนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องเห็นหน้าตา ทำให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น สุขภาพจึงเป็นเรื่องของประชาชน ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย เพื่อไปสู่สุขภาวะทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา”

นพ.สุธี ฮั่นตระกูล รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก มองว่า คำตอบของการปฏิรูประบบสุขภาพ จำเป็นต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตัวเอง การปฏิรูปจึงจะสำเร็จและยั่งยืน ขณะนี้ในหลายท้องถิ่นมีการพัฒนามากขึ้น แต่บางแห่งยังต้องอาศัยเวลา ทั้งเรื่องบุคลากรทำงานและประชาชน ต้องเรียนรู้ในการจัดการตนเองไปพร้อมกัน 

“หลักการปฏิรูป คือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แต่ที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนจากภายนอกมาช่วยขับเคลื่อนแทนประชาชนในท้องถิ่น ทั้งที่ไม่มีความรู้ในบริบทของพื้นที่มากพอ ดังนั้นสิ่งที่เราจะช่วยกันได้ คือ การฝึกให้ประชาชนคิดเป็น และจัดการตนเองเป็น” 
    
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข มองว่า การปฏิรูปต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหา และดำเนินการให้เห็นผลอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ต้องรออีก 5-10 ปี โดยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของไทย จะต้องแก้ปัญหาใหญ่ คือ ต่างหน่วยงาน ต่างคิด ต่างทำ กลายเป็นช่องว่างในการบริการประชาชน 

นพ.ศุภกิจ ยกตัวอย่างในเรื่อง การผลิตแพทย์ ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้ใช้บริการอย่างกระทรวงสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลต่างๆ อย่างถ่องแท้ และอีกปัญหาคือระบบธรรมาภิบาลเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง

“2 เรื่องหลักๆ นี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องการปฏิรูปด้วยแนวคิดเรื่อง เขตสุขภาพ เพื่อให้การบริการผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ไร้ช่องว่าง โดยเฉพาะเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลต่างเขตให้บริการ และเชื่อมประสานกับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ให้การบริการสุขภาพดีขึ้น”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ