เราเดินมาจวนจะถึงฝั่ง แต่ยังไม่ถึงฝัน : สิทธิสถานะบุคคล

เราเดินมาจวนจะถึงฝั่ง แต่ยังไม่ถึงฝัน : สิทธิสถานะบุคคล

20140312163413.jpg

เมื่อวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2557 ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเครื่องมือในการพิสูจน์สิทธิสถานะบุคคล ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ทั้งนี้ได้มีตัวแทนผู้ปฏิบัติงานหลักของภาคีที่เกี่ยวข้อง คลินิกกฎหมายจังหวัดระนอง คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์ สังฆมณฑลเชียงใหม่ ผู้แทนจากมูนิธิ เพื่อเยาวชนชนบท ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงสาละวิน พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่จังหวัดอุบล พื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง

ทั้งนี้ได้มีกลุ่มตัวแทนผู้ปฏิบัติงานได้มาร่วมถกและเสนอข้อแลกเปลี่ยนในเวที และการทบทวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มปัญหาสถานะบุคลอีกรอบ ซึ่งภายหลังจากที่มีการทำความเข้าใจและมีกระบวนการทบทวนพัฒนาฟอร์มแบบสอบถามร่วมกันก่อนที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ในการเก็บข้อมูลปัญหาสถานะบุคคล นอกจากนี้ในช่วงเช้าของวันที่ 17 พ.ย. 2557 ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ และในช่วงบ่ายได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาและการเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาด้านสถานะร่วมกัน

ทั้งนี้แต่ละพื้นที่ได้สะท้อนปัญหาร่วมกัน พบว่ากรณีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยเกิดขึ้นและมีมานาน แต่ว่ากลับไม่ได้ถูกดูแลหรือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบแม้ว่ามีการผลักดันจากหลายหน่วยงานที่ร่วมกันผลักดันจนมีกฎหมายหรือกฎกระทรวงออกมารองรับ แม้นว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้สิทธิ์ตามที่กฎหมายได้ให้สิทธิไว้แต่ก็ถือว่ายังน้อยมาก หากเทียบกับวันเวลาที่กฎหมายเปิดใช้เมื่อปี 2551 ตาม พรบ.สัญชาติ อย่างเช่นกรณี ประสิทธิ์ จำปาขาว ลูกพ่อไทยที่เกิดในต่างแดน หรือ ภาคิไนย อินทะโสม กรณีมาตรา 23 ตาม พรบ.สัญชาติ ปี 2551 ที่ให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยก่อน 26 กุมภาพันธ์ 2536 ได้สัญชาติไทย ซึ่งพบว่า มีคนที่เกิดในประเทศไทยจำนวนมากเกิดในไทยและเข้าตามกรอบกฎหมายกำหนดแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย มีการยื่นคำร้องไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553 และบางพื้นที่มีการสอบผะยานไปเกือบจะทั้งหมด แต่เรื่องกลับเงียบหายและไม่มีการดำเนินการใดใด มีการเดินทางไปติดตามด้วยตัวเอง แต่คำตอบที่ผ่านมาเป็นเพียงการแจ้ง บอกกล่าวทางวาจาเท่านั้น ซึ่งในหลายๆพื้นที่พบว่ามีปัญหาในลักษณะคล้ายๆกัน 

ในวงเวทีพูดคุยได้มีการนำเสนอ มาตรการติดตามโดย STATELESSWATCE ได้เสนอแนวทางหรือ กลไกการติดตามที่ชัดเจนและให้เป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น ในเรื่องการทำหนังสือทวงถามติดตาม เนื่องจากว่าที่ผ่านเจ้าหน้าที่พยายามบ่ายเบี่ยงและหลีกเลี่ยงการดำเนินงานมาโดยตลอด ทั้งนี้ยังรวมถึงการออกคำสั่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลเช่นการจำหน่ายชื่อของชาวบ้านในพื้นที่โดยที่ไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย อย่างกรณี บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ถูกจำหน่ายชื่อทั้งหมู่บ้าน และรวมถึงกลุ่มที่ยื่นขอสัญชาติกรณีมาตรา 23 ที่มีการยื่นไปแล้วกว่า 3 ปี แต่เรื่องยังไม่คืบหน้า และไม่มีการแจ้งบอกกล่าวให้ผู้ที่ยื่นเรื่องทราบผลการดำเนินการแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ให้ความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาคดีสถานะบุคคลมีน้อยมาก อันนี้ยังเป็นเรื่องมายาคติ ความกลัวของคนในพื้นที่เพราะถือว่าเป็นการฟ้องนาย ซึ่งคำว่านาย ที่ชาวบ้านมักเรียกข้าราชการ นั้นคือมายาคติที่ติดกรงกับดักของความกลัวที่ชาวบ้านมีต่อรัฐ จึงทำให้ไม่กล้าฟ้องร้อง คดีที่ขึ้นศาลปกครองมากที่สุดพบว่ากลับเป็นการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ นายสุมิตร หัตถสาร หรือทนายแย้ ได้มีข้อเสนอให้ มีการรวบรวมข้อมูลกรณีปัญหาในระดับพื้นที่ และจัดให้มีการรวบรวมหลักฐานส่งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในการดำเนินการติดตาม หรือฟ้องร้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัดดำเนินการ เพราะที่ผ่านมางานสถานะบุคคลถือว่าเป็นงานที่ระดับผู้ปฏิบัติมองข้ามความสำคัญ รวมถึงทัศนะคติของนักปกครองที่มองว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่ประชากรของประเทศ จึงยากที่จะเกิดความสนใจใส่ใจในการดำเนินการ จึงเห็นว่าปัญหาสถานะที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่กลับไม่ได้แก้ไขปัญหา และแม้ว่าจะมีนโยบายออกมาจากส่วนกลางก็ตาม 

ภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ได้เสนอว่าควรมีส่วนกลางที่จะคอยติดตามและรับเรื่องเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้อง เพราะที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการติดตามเองในพื้นที่ การที่จะให้ชาวบ้านติดตามรวบรวมข้อมูลและนำไปฟ้องศาลปกครองเองเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะชาวบ้านมีความหวาดกลัวในหลายๆด้านเหมือนกับว่าเป็นการเอาเรื่องกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และชาวบ้านยังต้องติดต่อประสานงานกับรัฐโดยตรงอยู่แล้วยิ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากใจ หากมีศูนย์กลางรับเรื่องและเป็นตัวแทนในการติดตามฟ้องร้องคดีในศาลปกครองก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องอย่าลืมว่ากว่าจะฟ้องร้องได้ ต้องมีการยื่นคำร้องสาละพัดเพื่อให้เกิดเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางอำเภอ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ดังนั้นควรมีนักกฎหมายลงไปช่วยกำกับติดตามในประเด็นการยื่นหนังสือกับทางอำเภอก็จะทำให้เรื่องชัดเจนขึ้นและอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 

อย่างไรก็ตามการหารือในวงเวทีการติดตามการแก้ไขปัญหาสถานะยังไม่ได้มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวกรณีของตั้งศูนย์กลางรับเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แต่ก็ถือว่าเป็นการตั้งต้นที่จะหาทางออกร่วมกันในการผลักดันการแก้ไขปัญหาสถานะ และแต่ละพื้นที่ก็คงต้องกลับไปเตรียมความพร้อมในหลายๆด้านเกี่ยวกับเอกสารการติดตามการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และหากว่าเป็นไปได้จริง คดีปัญหาสิทธิสถานะบุคคลในชั้นศาลปกครองคงมีเกิดขึ้นให้เห็นในอนาคต

คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง รายงาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ