จากทุ่งยางแดงโมเดล ถึงการวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส

จากทุ่งยางแดงโมเดล ถึงการวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส

วงเสวนาวิชาการ “วิสามัญฆาตกรรม License to Kill?” แนะภาคประชาสังคมร่วมคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุการตาย “ชัยภูมิ ป่าแส” ระบุกลไก 4 ฝ่ายเดิมยังสร้างความคลางแคลง เผยตัวอย่างตรวจสอบคดีวิสามัญ 4 ศพทุ่งยางแดงนำมาซึ่งการไว้วางใจค้นหาข้อมูล ด้าน ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ชี้โมเดลทุ่งยางแดง จะทำให้สังคมคลายความสงสัยในกระบวนการ และลดความขัดแย้งในอนาคต

วันนี้ (31 มี.ค. 2560) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “วิสามัญฆาตกรรม License to Kill?” สืบเนื่องจากกรณีชัยภูมิ ป่าแส ถูกวิสามัญเสียชีวิต แต่การจัดวงเสวนาครั้งนี้ระบุว่ามิได้มีเจตนาชี้ว่าใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นการแสดงมุมมองและข้อมูลเชิงวิชาการ

วงเสวนามีผู้ร่วมวงสนทนา คือ วสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสุมิตร วอพะพอ องค์การแพลนประเทศไทย

เผยชัยภูมิ ไม่ใช่กรณีแรกที่ชนเผ่าถูกยิงทิ้ง

สุมิตร วอพะพอ ชนเผ่าปกาเกอะญอ ผู้สูญเสีย นายสิแด คอร่า พี่เขยที่เสียชีวิตเมื่อปี 2546 ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่คนชาติพันธุ์อีกหลายกรณีที่ถูกยิงเสียชีวิตทั้งที่ประวัติของนายสิแด เคยเป็นผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และอบต. มีบทบาทสนับสนุนชุมชนและหน่วยงานรัฐป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ และเป็นผู้พยายามแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐกับชุมชนในการเตรียมประกาศอุทยานขุนขาน แต่กลับถูกยิงเสียชีวิต เวลาผ่านไป 16 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าในคดี ขณะที่ผลกระทบต่อครอบครัวเกิดขึ้นมากมายตามมา นอกจากนั้น ญาติยังถูกโทรข่มขู่ว่า หากไม่อยากเป็นเหมือนพี่เขยขอให้หยุด และมีการบอกว่า พี่เขยมีชื่ออยู่ในบัญชีดำ

สุมิตรบอกว่า ทุกวันนี้ผ่านไป 16 ปียังมีคำถามว่า นายสิแดเสียชีวิตเพราะอะไร และพี่เขยของตนเป็นหนึ่งในหลายพันกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เห็นว่า ไม่ว่าใครก็ตาม จะดีหรือชั่ว ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนกว่าศาลจะพิพากษาพิจารณาความผิด ไม่ควรถูกศาลเตี้ย วิสามัญหรือฆ่าตัดตอน และควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพราะมนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดแล้วมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

แนะภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุการตายชัยภูมิ

วสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงปี 2546 ตนได้ติดตามสถิติที่เกิดขึ้นช่วงมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยสถิติ 3 เดือน 1 ก.พ. – 30 เม.ย.2546 พบกรณีทั้งสิ้น 2,500 กรณี มีผู้เสียชีวิต 2,800 ราย โดยอ้างว่าเป็นการฆ่าตัดตอน จากกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ไม่ต้องการให้สาวถึงตัวเอง มีผู้เสียหายร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ประมาณ 100 ราย เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่มียาเสพติดอยู่ใกล้ตัวเมื่อเสียชีวิตเป็นต้น

วสันต์ กล่าวว่า ข้อสังเกตุของตนในการทำคดีวิสามัญ ขณะนี้กำหนดกรณีจะสอบสวนการตาย จะต้องมีองค์ประกอบ 4 ฝ่ายคือ แพทย์ พนักงานสอบสวน อัยการ ปลัด ซึ่งในทางปฏิบัติ จะต้องมีญาติผู้เสียชีวิตด้วย แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาจะไม่ค่อยแจ้งญาติ เพราะกฏหมายบอกว่า “เท่าที่จะทำได้” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดความคลางแคลงในการสอบสวนหาสาเหตุการตายว่าจะได้ข้อเท็จจริงได้อย่างไร จะมีความมั่นใจในผลการสอบสวนได้หรือ

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยเคยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่มีการตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยภาคประชาสังคม ภาคสถาบันการศึกษาเข้าไปร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งก่อให้เกิดความไว้วางใจ และยอมรับในข้อเท็จจริงที่ร่วมกันตรวจสอบ

“ข้อเสนอของผมคือควรมีคนกลาง หรือภาคประชาสังคมร่วมสอบสวนด้วย เพราะองค์ประกอบที่เป็นไปตามกฏหมายขณะนี้อาจไม่ครบถ้วย โดยมี แพทย อัยการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจเท่านั้น ฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการก็เกี่ยวโยงกับตำรวจ คนที่จะคานอำนาจคือแพทย์ กรณีนี้แพทย์จะกล้าขัดขืนไหม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ควรให้องค์กรพัฒนาเองชน คนที่ญาติพี่น้องไว้วางใจให้เป็นตัวแทน ฝ่ายวิชาการ หรือมหาวิทยาลัยสามารถมีร่วมตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยเปิดเผยต่อสังคนเป็นระยะ ซึ่งเคยทำร่วมกันมาแล้วกรณี 4 ศพที่ทุ่งยางแดง”

กลไกตรวจสอบคดีวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่เองมีปัญหา อย่าด่วนสรุป แนะตั้งคณะกรรมการเหมือนทุ่งยางแดง

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วิสามัญฆาตกรรม คือกรณีที่มีการตายเกิดขึ้น โดย1.การกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 2.ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามกฏหมาย

“ลองนึกถึงคนที่ก่อเหตุฆาตกรรมทั่วไป และเรามองว่าคนที่ทำเช่นนั้นเป็นคนชั่ว ไม่ได้ทำในนามของเรา แต่ถ้าเป็นการตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ยิงนั้นเขาทำในนามของเราทุกคนที่เสียภาษี คำถามคือ เขาหรือเจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมอะไรว่ากระทำในทางกฏหมายโดยไม่ต้องรับผิด”

สงกรานต์กล่าวว่า คำถามต่อมาคือรัฐมีอำนาจฆ่าพลเมืองของตนเองได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบมีทั้งได้และไม่ได้ โดยขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยกเลิกโทษประหารชีวิต นั่นคือรัฐไม่มีอำนาจฆ่าพลเมืองของตนเอง แต่ยังมีอีกประมาณ 58 ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น แต่การประหารชีวิตก็ต้องผ่านกระบวนการทางกฏหมายอย่างเคร่งครัดก่อนเท่านั้น

ขณะที่หลักกฏหมายระหว่างประเทศถือว่าการวิสามัญฆาตกรรมหรือการลงโทษประหารชีวิตที่ไร้เหตุผลและรวบรัด เป็นการขาดความชอบธรรมที่ร้ายแรงและต้องคุ้มครองประชาชนจากการกระทำดังกล่าวด้วยซ้ำ ส่วนการอ้างการป้องกันตนเองตามกฏหมายอาญา มีหลักเกณฑ์คือ ต้องมีอันตรายอันละเมิดต่อกฏหมาย อันตรายต้องใกล้จะถึง และต้องกระทำไปพอสมควรแก่เหตุผล แต่ทั้งหมดคือเราจะเข้าถึงข้อเท็จจริงตอนเกิดเหตุได้อย่างไร

ปัญหาของคดีวิสามัญฆาตกรรมที่เราเจออยู่มี 3 คดีคือ 1.คดีความที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าผู้ตายกระทำความผิด 2.คดีความที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าผู้ตายขัดขืนการจับกุมและพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ และ 3.คดีความที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ต้องหาทำให้ผู้อื่นตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคดีที่ 1 และ 2 เป็นอาญาที่ยุติเพราะผู้ถูกกล่าวหาได้เสียชีวิตไป แต่คดีที่ 3 ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้พลเมืองของตนเองตาย จะมีข้ออ้างในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่อย่างไร

“ปกติเราอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐเราควรรู้สึกปลอดภัย แต่หากกระทำความผิดก็ถูกสั่งดำเนินคดี แต่พอมีการตายเกิดขึ้นกระบวนการตรวจสอบมันถึงจะต้องรอบคอบโปร่งใสกว่าการดำเนินคดีอาญาปกติทั่วๆ ไป ซึ่งในกระบวนการทำสำนวนคดีก็มีการชันสูตรศพ พนักสอบสวน เเพทย์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำให้คนตายก็จะมีการเพิ่มขึ้นมา คือพนักงานอัยการเจ้าที่ฝ่ายปกครอง แต่มันก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ ความเชื่อมั่นของผู้เสียหายต่อกระบวนการนี้ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่เพราะคนที่รับผิดชอบในการทำสำนวนคดีก็คือพนักงานสอบสวนซึ่ง หนึ่งในสมาชิกของเขาถูกกล่าวหาว่า วิสามัญฆาตกรรมผู้ตาย ซึ่งกระบวนการแบบนี้ก็ไม่สร้างความเชื่อมั่น”

สงกรานต์กล่าวด้วยว่า เคยมีการวิจัยเรื่อง กลไกการตรวจสอบกรณีวิสามัญฆาตกรรม ศึกษากรณีการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจ โดย กฤษฎีก์ ฉายาวุฒิพงษ์ พบว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันของเจ้าหน้าที่ นั่นคือ เจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาแต่เจ้าหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในสำนวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และทำความเห็นว่าฟ้องหรือไม่ฟ้องต่ออัยการสูงสุด ซึ่งในทางปฏิบัติอัยการมักจะมีความเห็นเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนคือสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฏหมาย

ข้อเสนอจากงานวิจัยชิ้นนั้น คือ 1.ให้อำนาจหน้าที่การรวบรวมหลักฐานเป็นของ DSI เพราะเป็นคดีพิเศษเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด 2.ให้อัยการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวนและทำความเห็น จากที่แต่เดิมที่ผู้ทำสำนวนคือพนักงานสอบสวน เสนอให้เปลี่ยนเป็นพนักงานอัยการทำสำนวนทั้งหมดเพื่อส่งต่ออัยการสูงสุด และ 3.ให้ศาลทำหน้าที่เชิงรุกในการไต่สวนการตาย หากศาลไม่มีความชำนาญก็สามารถตั้งผู้ชำนาญการขึ้นมาสืบเสาะข้อเท็จจริงนี้ได้ ที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้ทำหน้าที่นี้

“ผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ที่เป็นข้อเสนอทั้งหมด แต่ในกรณีของคดีของนายชัยภูมิ ป่าเเส ที่เกิดเหตุในขณะนี้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ควรเข้ามาร่วมในกระบวนการสอบสวนตั้งแต่แรกคือญาติของผู้ตายหรือผู้เสียหาย ตั้งแต่ขั้นตอนการชันสูตรผลิกศพ ให้รู้ในขบวนการตั้งแต่ตอนแรกเพื่อที่จะ 1.ทำให้กระบวนการมีความน่าเชื่อถือโดยมีบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมไม่ใช่มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว 2.ให้สังคมสาธารณะ คลายข้อสงสัย จากหลักฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างถึง ว่ามีข้อเท็จจริงหรือเปล่าเมื่อมีญาติผู้เสียหายเข้าไปเกี่ยวข้องสังคมก็จะคลายข้อสงสัยหรือและมีความเชื่อมั่นว่ามันจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความจริงมากขึ้น”

สงกรานต์ยังมีข้อสังเกตุคือ การฆาตกรรมในนามของรัฐ เป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่รอบคอบ รัดกุม โปร่งใส และน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการฆ่าในนามของพวกเราทุกคน และปัญหาความไม่เชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในคดีวิสามัญฆาตกรรมเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องแก้ไขให้ประชาชนเชื่อมั่น

การเข้าถึงพยานหลักฐานเป็นเรื่องสำคัญ การสอบสวนต้องเปิดเผยข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น กล้องวงจรปิด ญาติควรได้ดู ถ้าแม่ทัพดูได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ด่วนสรุป และตนเห็นด้วยที่ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากภาควิชาการ ภาคประชาชน เหมือนกรณีทุ่งยางแดงเพื่อให้ข้อมูลรอบด้านและได้รับความไว้วางใจมากที่สุด

ระบุสังคมใช้ข้อมูลและเหตุผลร่วมผลักดันเรียกร้อง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิ เกิดขึ้นกับหลายคน หลายพื้นที่ เช่นกรณีภาคใต้ ซึ่งตนเห็นว่า เกิดจาก 3 ส่วนคือ 1.การวิสามัญฆาตรกรรม 2.ความเป็นชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยในระบบกฏหมาย และ 3.ระบบอำนาจนิยม

ส่วนที่ 1 วิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่นกรณีโจ ด่านช้าง ตากใบ ทุ่งยางแดง รือเสาะ มาจนถึงชัยภูมิ ซึ่งคำถามคือ เคยมีการรับผิดจากการวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ ? ส่วนที่ 2 ความเป็นชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยในระบบกฏหมาย ทำให้คดียิ่งยาก เพราะเกี่ยวกับอคติที่ชาติพันธุ์ถูกมองมาโดยตลอดคือ เป็นภัยต่อความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และสร้างปัญหากับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

นอกจากนั้นในมุมของเจ้าหน้าที่อาจมีความเชื่อว่า สิ่งที่กำลังทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ปัญหาส่วนนี้ไม่ใช่เพียงตัวคนยิง แต่เป็นปัญหาความเข้าใจของสังคมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์นำมาซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ ส่วนที่ 3 ระบบอำนาจนิยม ยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ได้ง่าย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสังคมประชาธิปไตยจะไม่มีการวิสามัญฆาตกรรม อาจเกิดขึ้นได้ แต่สามารถจะถูกตั้งคำถาม และตรวจสอบได้มากกว่า

“ผมหวังว่าปรากฏการณ์ชัยภูมิ ที่เชียงดาว จะไม่เกิดกับที่อื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เราพอจะทำได้คือ ระมัดระวังตนเอง ใช้ข้อมูลและเหตุผลร่วมผลักดันเรียกร้อง สร้างเครือข่ายเพื่อร่วมตรวจสอบพิสูจน์ความจริง”

ชี้โมเดลทุ่งยางแดงเกิดความโปร่งใส ลดความขัดแย้งในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวพลเมือง ถึงบทเรียนจากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมประชาชนที่ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ถึงกรณีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิป่าเเส ว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมและสาธารณะคลายความสงสัยเรื่องนี้

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่หมู่ 6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้นและเกิดการใช้อาวุธยิงจนมีผู้เสียชีวิต 4 ศพ และมีคนถูกควบคุมตัว 22 คน เหตุการณ์นั้นเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่า ผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ และพยายามหลบหนี จึงยิงปะทะจนกระทั่งวิสามัญฆาตกรรม และยังระบุว่าผู้ตายเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย

จากนั้นได้เกิดกระเเสเรียกร้องและวิพากษ์จากชาวบ้านและมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่ออกมายืนยันว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย ทำให้ภาคประชาสังคมและองค์กรมุสลิมในพื้นที่ เกิดข้อสงสัยและต่างออกแถลงการณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบเสาะหาข้อเท็จจริงและเอาผิดกับผู้กระทำ

ต่อมา แม่ทัพภาค4 พล.ท.ปราการ ชลยุทธ ในขณะนั้น ออกคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จัดการเรื่องนี้เพื่อทำตามข้อเรียกร้อง โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบเสาะหาข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และองค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ โดยหนึ่งในคณะกรรมการฯ มีตนเองร่วมอยู่ด้วย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ 4 อย่าง คือ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้รายละเอียดในเหตุการณ์ 2.ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับตั้งแต่รับทราบคำสั่ง 3.เมื่อดำเนินการไปแล้วเสร็จ รายงานผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีทราบ 4.ดำเนินการอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้สั่งการและมอบหมาย

ในกระบวนการดังกล่าวคณะกรรมการสามารถเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหมดมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้ ทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พยานแวดล้อม เช่นผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่ออีกว่าคณะกรรมการที่ตั้งมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบเสาะหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมโดยผลสรุปที่เกิดขึ้นจะไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวโยงกับสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนและอัยการร่วมกันทำอาจจะมีผลในทางคดีต่อเมื่ออยู่ในชั้นศาล ซึ่งทนายความสามารถเรียกหลักฐานเหล่านี้ขึ้นมาได้ ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ทำให้ครอบครัว ชุมชน และสังคมหายข้อข้องใจในสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งผลการสอบเหตุการณ์นี้ยืนยันได้ว่าผู้ตายทั้ง 4 คนเป็นผู้บริสุทธิ์

นอกจากนั้นกระบวนการนี้หลังพิสูจน์ทราบเสร็จสามารถเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้เสียหายได้ ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับกรณีของนายชัยภูมิ ป่าเเส ก็จะทำให้สังคมคลายความสงสัยในกระบวนการ และรับทราบถึงข้อเท็จจริง และลดความขัดแย้งในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ