เราจะแก่ไปด้วยกัน… ข้อเสนอ TDRI วางระบบร่วมดูแล ‘ผู้สูงอายุป่วย-ตาย’ ที่บ้าน

เราจะแก่ไปด้วยกัน… ข้อเสนอ TDRI วางระบบร่วมดูแล ‘ผู้สูงอายุป่วย-ตาย’ ที่บ้าน

ปี 2560 ไทยจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึงพิง 371,978 คน 
ค่าใช้จ่ายในการดูแล 59,519 ล้านบาทต่อปี 

และอีก 20 ปี คือในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 837,484 คน 
ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 199,717 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุด้วยว่า จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึงพิง ทั้งกรณี ‘ผู้สูงอายุติดบ้าน’ และ ‘และผู้สูงอายุติดเตียง’ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นส่งผลให้ความต้องการผู้ดูแลเพิ่มขึ้นตามมา และค่าใช้จ่ายในการดูแลก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน 

20162109172501.jpg

ความท้าทายของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) นอกจากกำลังแรงงานที่ถดถอยซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เรายังต้องเตรียมพร้อมกับการดูแลความป่วยไข้ระยะยาว และระยะสุดท้ายของชีวิตของผู้คน

ใครจะเป็นคนดูแลพวกเขา?

ญาติ รัฐ ชุมชน จะมีส่วนร่วมรับมือตรงนี้อย่างไร?

สังคมไทยเตรียมพร้อมรับกับการจ่ายตรงนี้แค่ไหน?

20162109171352.jpg

“งานวิจัยนี้ออกแบบเพื่อประชาชนทุกคน รวมทั้งข้าราชการด้วย เพราะสวัสดิการที่มีอยู่ทั้ง 3 อย่างของเราไม่ได้คุ้มครอง” ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการแถลงผลการวิจัย “พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2559

งานศึกษาดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทีดีอาร์ไอ เพื่อศึกษากลไกทางการเงินการคลังในการสนับสนุน ‘การดูแลผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ พร้อมกันนี้ยังศึกษาบทบาทของรัฐ เอกชนในการจัดรูปแบบการดูแลระยะยาว รวมทั้งการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และการกำกับภาคเอกชนในการให้บริการดังกล่าว

 

ผู้สูงอายุติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ภาระที่สังคมร่วมแบ่งเบาได้

ในภาวะปัจจุบัน การดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นการจ่ายเงินระยะยาวจากกระเป๋าตัวเอง ไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งรัฐไม่จ่าย สวัสดิการของรัฐทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการไม่ครอบคลุม ส่วนประกันเอกชนก็ไม่ดูแล 

ดร.วรวรรณ กล่าวนำเสนองานวิจัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ‘การดูแลผู้ป่วยสูงอายุในระยะยาว’ ค่าใช้จ่ายหลักต่อปีมี 2 ส่วน คือ 1.ค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลือง และค่าเดินทางของผู้จัดการดูแล และ 2.ค่าผู้ดูแลและค่าเดินทางผู้ดูแล  

20162109172512.jpg

งานศึกษามีข้อเสนอในการแบ่งกันร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยให้มี ‘เงินกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว’ ที่มาจากการร่วมสมทบของ ‘ประชาชนอายุ 40-65 ปี’ จะมาดูแลในเรื่อง ‘ค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลือง และค่าเดินทางของผู้จัดการดูแล’ ร่วมกับการสมทบของรัฐ 

จากตัวเลขปี 2560 ค่าใช้จ่าย 14,984 ล้านบาท สมทบคนละ 414 บาทต่อปี ในปี 2580 ค่าใช้จ่าย 50,196 ล้านบาท สมทบคนละ 1,463 บาทต่อปี

ในส่วน ‘ค่าผู้ดูแลและค่าเดินทางผู้ดูแล’ จะเป็นการร่วมจ่ายระหว่าง ‘ผู้สูงอายุที่ใช้บริการ’ กับ ‘ท้องถิ่น’ ฝ่ายละครึ่ง 

นอกจากนั้น ภาครัฐจะมีความรับผิดชอบในฐานะผู้จัดการการดูแลและบริการสาธารณะสุขอื่น ดูแลด้านทรัพยากรทางการแพทย์ โดยใช้งบประมาณปกติของทางภาครัฐ 

20162109172557.jpg

20162109172805.jpg

ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและให้บริการต่างๆ โดยมีกลไก “คณะกรรมการกำกับและควบคุมคุณภาพสภานบริการดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งประกอบด้วย กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้สมทบเงิน เป็นหน่วยงานหลักในการออกใบอนุญาต กำหนดมาตรฐาน กำกับดูแล รวมทั้งลงโทษได้ และมีช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนเรื่องคุณภาพ

20162109173243.jpg

สำหรับธุรกิจใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น กิจการผู้ตรวจสอบคุณภาพสถานให้บริการ ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาต, บริการรับส่งผู้สูงอายุหรือผู้พิการ, บริการดูแลระยะยาว และ Day Care, ตัวแทนขายวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุที่รับประโยชน์, ตลาดสินค้ามือสองสำหรับผู้สูงอายุ, บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ ฯลฯ

‘บ้าน’ ทางเลือกของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

“ทางเลือกในการดูแลที่มากกว่าโรงพยาบาล คือการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นการดูแลที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น” ดร.วรวรรณ กล่าว

ในด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย งานศึกษายกกรณีการป่วยด้วยโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อเสนอให้ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน

20162109194926.jpg

ดร.วรวรรณ ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมัน ที่มีการเสียชีวิตที่บ้านในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 51 ส่วนญี่ปุ่น มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเสียชีวิตที่บ้านสูงถึงร้อยละ 81 นอกจากนี้มีหลายประเทศที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการใช้ชีวิตในวันสุดท้ายที่บ้าน อาทิ มาเลเซีย ร้อยละ 61 เกาหลีใต้ ร้อยละ 90 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาวะอบอุ่นทางจิตใจ

“มนุษย์ต้องการการดูแลที่ดีในวาระสุดท้าย และจากไปด้วยความรู้สึกที่ดี” ดร.วรวรรณกล่าว

ดร.วรวรรณ กล่าวด้วยว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Hospice care คือการให้การดูแล ประคับประคองอาการในช่วงสุดท้ายของโรคซึ่งรักษาไม่ได้ ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย มีระบบการติดตามอาการ และช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้มั่นใจเหมือนอยู่โรงพยาบาลแต่อบอุ่นใจกว่า 

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน ควรสร้างกลไกในการสนับสนุนทางการเงินแก่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน อีกทั้งยังเสนอให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านนี้ เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่อยู่ใน ‘ระบบประกันสุขภาพ’

 

‘ลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมคุณภาพชีวิต’ มุมดีจากงานวิจัย

นอกจากเน้นความต้องการของผู้ป่วย งานวิจัยยังเสนอข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการจัดการระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านด้วย

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งภายใต้โครงการ UC (Universal Coverage) หรือผู้ป่วยบัตรทอง มีค่ารักษาพยาบาลเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตเฉลี่ยเท่ากับ 44,974 บาท โดยสูงสุด 350,000 บาท ซี่งหากใช้สวัสดิการราชการ หรือเอกชนจะสูงกว่านี้ขึ้นไปอีก

ขณะที่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า คือ 26,821 บาท แบ่งได้เป็น ค่าอุปกรณ์ 1,500 บาท, วัสดุสิ้นเปลือง 2,787 บาท, การเดินทาง 7,534 บาท และค่าบุคลากรผู้ดูแล 15,000 บาท

สำหรับรูปธรรมของการศึกษาสู่การปฏิบัติจริง ดร.วรวรรณ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นข้อเสนอในทางวิชาการ ที่จะถูกนำเสนอต่อ สปสช.ต่อไป โดยออกแบบให้แต่ละภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในแง่ของการเงินการคลัง ทั้งในส่วนโครงสร้างประชากร และค่าใช้จ่ายมีความเป็นไปได้ แต่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริง นั้นก็ขึ้นอยู่กับการผลักดันของทุกภาคส่วนด้วย

“จะรอให้รัฐทำให้ก็คงเป็นเรื่องยาก ให้รัฐรับผิดชอบทั้งหมดรัฐคงไม่ยอมจ่าย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่สร้างภาระทางการเงินการคลัง จึงออกแบบเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบ” ดร.วรวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นข้อเสนอหนึ่งของการเตรียมรับสังคมสูงวัย แต่อาจยังไม่ได้ตอบคำถามถึงการนำมาปฏิบัติจริง ทั้งในส่วนการออกแบบให้เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งมีทางแยกระหว่างการอยู่ใต้องค์กรที่มีอยู่แล้ว อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีการแก้กฎหมายเดิมเพื่อเพิ่มเติมเรื่องนี้ หรือการตั้งองค์กรใหม่เพื่อ long term care (ระบบการดูแลระยะยาว) ซึ่งต้องมีการจัดทำกฎหมายใหม่

อีกทั้งการตั้งกองทุนใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะยาว ยังต้องตอบคำถามเรื่องการบริหารจัดการและออกแบบระบบเพื่อให้กองทุนอยู่รอด และทำงานได้จริง รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกองทุนที่เป็นสวัสดิการสังคมทั้ง 3 กองทุนที่มีอยู่เดิมจะเป็นอย่างไร… ตรงนี้ยังมีคำถาม 

 

‘เครือข่าย’ หัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชน

ด้าน รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือผู้ป่วยที่จะมีชีวิตอยู่ได้อีกราว 6 เดือน – 1 ปี และช่วงเวลา 1 เดือนสุดท้ายยิ่งต้องการการดูแลอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยต้องเข้าถึงบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแล

“นี่ไม่ใช่การรักษาโรค แต่เป็นการจัดการอาการ” รศ.พญ. ศรีเวียงกล่าว

ส่วนการดูแลผู้ป่วยของไทย โดยทั่วไปมี Primary Health Care (การสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน) ทึ่ดี โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีการทำงานกันเป็นเครือข่ายและพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลผู้ป่วย โดยปีที่ผ่านมาทำได้ถึงกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ มีแม่ข่ายอบรม 15 โรงพยาบาล 

รศ.พญ.ศรีเวียง อธิบายการถึงดูแลแบ่งเป็นลำดับขั้นที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซี่งใกล้ชิดอยู่ในชุมชนทำหน้าที่ไปดูแล ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน มีโรงพยาบาลชุมชนทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และมีโรงพยาบาลจังหวัดที่จะรับช่วงดูแลเมือผู้ป่วยมีอาการหนัก 

ตรงนี้สามารถทำให้เป็น Palliative Ward (สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง) ที่ใกล้บ้าน ดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้ผู้ป่วยวางใจที่จะจบชีวิตที่บ้านได้ โดยมีเครือข่ายเป็นหัวใจสำคัญในการดูแล

แต่การเชื่อมต่อตรงนี้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นั้นยังทำได้ยาก

ส่วนเรื่องการเตรียมบุคลากร รศ.พญ.ศรีเวียง ยอมรับว่าแพทย์เป็นหัวใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ทักษะซึ่งจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ระบบการศึกษาของแพทย์ยังไม่รองรับ 

รศ.พญ.ศรีเวียง กล่าวด้วยว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปัจจุบัน ไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งในอนาคตควรจะต้องมีเงินบริหารจัดการศูนย์ดูแล อีกทั้งยังผู้เชี่ยวชาญปัจจุบันยังมีน้อยมาก ต้องเร่งผลิต บุคลากรและมีการจัดการแบบเครือข่ายเพื่อรองรับ

 

‘Home Care’ โอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยี

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ก่อตั้ง Health at Home ธุรกิจ Startup บริการค้นหาผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้านซึ่งมีการเติบโตตามอัตราประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นว่า ในไทยไม่มีโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จะดูแลคนไขเรื้อรังได้เพียงพอ ในชนบทอาจไม่มีปัญหามากเพราะมีระบบในชุมชนดูแล แต่ในเมืองมีปัญหา ซึ่ง Home Care หรือการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้าน น่าจะเป็นคำตอบได้

นพ.คณพล กล่าวด้วยว่า การแพทย์ในอดีตผู้ป่วยอยู่ที่บ้านรอให้หมอไปรักษา แต่เมื่อระบบการรักษาซับซ้อนขึ้นคนจึงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมากในปัจจุบัน Home Care จะกลับมา เพราะการรักษาไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนบุคลากรคือ ‘ผู้ดูแล’ ซึ่งค่าตอบแทนขั้นต่ำ 15,000 บาท ต่อเดือน ทำงานผู้ดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นงานหนักมาก ขณะเดียวกันก็มักถูกเหมารวมกับแม่บ้าน เป็นปัญหาเรื่องสถานทางสังคมที่มีปัญหากับการทำงาน เพราะผู้ดูแลควรทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ มีมาตรฐาน และควรมีเวลาพักเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งควรมีการเติบโตของรายได้ตามค่าประสบการณ์ 

“การที่ลูกหลานต้องออกจากงานมาดูแลนั่นคือค่าเสียโอกาส ซึ่งอาจมากกว่าค่าจ้างผู้ดูแลด้วยซ้ำ” นพ.คณพล กล่าว

ในส่วนของการกำกับมาตรฐาน นพ.คณพล กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการต้องการมาตรฐานที่ปฏิบัติได้จริง ได้ประโยชน์จริง และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่เป็นภาระ ทั้งนี้คุณภาพการให้บริการในปัจจุบันขึ้นอยู่กับคน แต่หากมีข้อกำหนดที่ใช้เพื่อเป็นมาตรฐานของรัฐมารองรับ ก็จะสร้างระบบ ทำให้มีความมั่นใจในการทำธุรกิจมากขึ้น 

แต่สิ่งที่ยังกังวลคือการทำงานในรูปแบบของรัฐที่มีระเบียบที่มากเกินไป 

 

ที่มาภาพประกอบ: http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2016/09/ppt-20-sep_final-2.pdf

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ